ธุรกิจที่มีสินค้าคงเหลือ ต้องจัดการสินค้าให้ดี โดยเริ่มจากแยกประเภทสินค้า เพราะหัวใจของการแบ่งหมวดหมู่สินค้า คือ การช่วยให้เราเช็กได้ว่ามีสินค้าประเภทอะไร มากน้อยขนาดไหน และสินค้าคงเหลือนี้จะต้องใช้ระยะเวลานานเท่าไรจนกว่าจะสร้างเงินกลับมาให้ธุรกิจ |
รู้หรือไม่ว่าธุรกิจที่บริหารยากที่สุด คือ ธุรกิจประเภทใด?
คำตอบยอดฮิตที่มีในหัวทุกคนตอนนี้น่าจะหนีไม่พ้นคำว่า “ธุรกิจที่มีสินค้าคงเหลือไงล่ะที่บริหารยากสุดๆ” แต่ก็ใช่ว่าการมีสินค้าคงเหลือจะไม่ดีเสมอไป เพราะส่วนใหญ่แล้วธุรกิจที่มีสินค้าคงเหลือนั้นมักเป็นธุรกิจผลิต ที่สามารถผลิตสินค้าออกมาได้ไม่ซ้ำใคร เพิ่มโอกาสในการทำกำไรได้ไม่ยาก
เอาละ…แล้วถ้าเราเป็นเจ้าของธุรกิจแบบมีสินค้าคงเหลือ เราจะต้องเข้าใจอะไรบ้างเกี่ยวกับบัญชี และเริ่มต้นจัดการสินค้าอย่างไรดีนะ
วันนี้ FlowAccount จะชวนทุกคนมาทำความเข้าใจ 4 ประเด็นที่ต้องรู้เกี่ยวกับสินค้าคงเหลือกันนะคะ
เลือกอ่านได้เลย!
1. แยกประเภทสินค้าคงเหลือ
ถ้าอยากจัดการสินค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ สิ่งแรกที่เจ้าของธุรกิจควรทำ คือ การแยกประเภทสินค้า โดยจัดเป็นหมวดหมู่อย่างง่าย ตามนี้
- วัตถุดิบ (Raw Material) คือ วัสดุหรือส่วนผสมตั้งต้นของการผลิตสินค้า
- งานระหว่างผลิต (Work in Process) คือ ต้นทุนสินค้าที่อยู่ในกระบวนการผลิต แต่ยังไม่เสร็จสมบูรณ์ ซึ่งจะมีค่าแรง ค่าใช้จ่ายอื่นๆ ในระหว่างผลิตเพิ่มเติมเข้ามา
- สินค้าสำเร็จรูป (Finished Goods) คือ สินค้าที่ผลิตเสร็จแล้ว พร้อมที่จะนำออกไปขายแล้ว
หัวใจของการแบ่งหมวดสินค้า คือ การช่วยให้เราเช็กได้ว่ามีสินค้าประเภทอะไร มากน้อยขนาดไหน และสินค้าคงเหลือนี้จะต้องใช้ระยะเวลาอีกเท่าไรจนกว่าจะสร้างเงินกลับมาให้ธุรกิจ
ยกตัวอย่าง
ถ้าเราทำธุรกิจผลิตเสื้อขายส่ง วัตถุดิบก็จะเป็นพวกผ้า ด้าย กระดุม ส่วนงานระหว่างผลิตก็คือ เสื้อที่กำลังเย็บกันอยู่ และสินค้าสำเร็จรูปคือ เสื้อที่เย็บเสร็จแล้วพร้อมส่ง
แล้วถ้าเราเช็กได้ว่าจำนวนสินค้าคงเหลือทั้งหมด 100 บาท แบ่งเป็นวัตถุดิบ 80 บาท งานระหว่างผลิต 20 บาท และสินค้าสำเร็จรูปแค่ 10 บาท
ถ้าเป็นแบบนี้ แว้บแรกที่เจ้าของธุรกิจคิดก็คือ ทำไมเงินไปจมที่วัตถุดิบเยอะตั้ง 80% ในขณะที่สินค้าผลิตเสร็จมีแค่ 10% เท่านั้น ซึ่งอาจจะไม่พอขาย และถ้าผลิตใหม่ก็ต้องใช้เวลา
FlowAccount โปรแกรมบัญชี SMEs ช่วยเจ้าของธุรกิจมองเห็นสินค้ารายการเคลื่อนไหว และยอดจำนวนคงเหลือ เพื่อสร้างรายงานและนำไปวิเคราะห์สินค้าได้ง่ายและสะดวกขึ้น
2. เข้าใจความสัมพันธ์ทางบัญชี
ขั้นตอนถัดมา เจ้าของธุรกิจต้องทำความเข้าใจว่า สินค้า รายได้ และกำไรมีความสัมพันธ์กันอย่างไรค่ะ
เริ่มต้นจากสินค้ากันก่อน ตอนที่เราตุนวัตถุดิบไว้ หรือผลิตสินค้าไว้ ในช่วงนี้ยังถือเป็นสินทรัพย์ของธุรกิจ เสมือนหนึ่งเป็นการลงทุนไว้รอ สุดท้ายสินทรัพย์นี้จะเปลี่ยนเป็นค่าใช้จ่ายได้ก็ต่อเมื่อเราขายเท่านั้น และค่าใช้จ่ายที่ว่ามีชื่อเรียกเฉพาะว่า “ต้นทุนขาย”
ถ้าเข้าใจแบบนี้ เราก็จะสามารถคำนวณกำไรขั้นต้นง่ายๆ ในทุกครั้งที่มีการขายเกิดขึ้น
ยกตัวอย่าง
มีสินค้าคงเหลือต้นเดือน 10 ชิ้น ชิ้นละ 5 บาท = 50 บาท
ขายออกไป 2 ชิ้น ราคาขาย 10 บาท แปลว่า รายได้เกิดขึ้น = 20 บาท
ขณะเดียวกันต้นทุนขาย (ค่าใช้จ่าย) ก็เกิดขึ้นทันที 2 ชิ้น x 5 บาท = 10 บาท
สุดท้าย กำไรขั้นต้นของธุรกิจ จะเหลือที่ 20 – 10 = 10 บาท และเราก็ยังเหลือสินทรัพย์ (สินค้าคงเหลือ) จำนวน 8 ชิ้น = 40 บาท ไว้ขายในอนาคต
ถ้าทำความเข้าใจความสัมพันธ์ทางบัญชีดีๆ เราจะพบว่า สินค้าคงเหลือที่เราลงทุนไป จริงๆ แล้วไม่ใช่ค่าใช้จ่าย 100% ในวันแรก แต่ทุกครั้งที่รายได้เกิด ต้นทุนขาย (ค่าใช้จ่าย) จะเกิดเป็นเงาตามตัว และสินค้าคงเหลือก็จะลดลงค่ะ
3. อ่านงบการเงิน
จากที่เล่ามาเรื่องความสัมพันธ์ทางบัญชี ทุกคนคงจะคุ้นหูกับคำศัพท์ ใหม่ๆ 4 คำตามนี้
สินค้าคงเหลือ และ สินทรัพย์
ต้นทุนขาย และ ค่าใช้จ่าย
ทีนี้เราลองมาดูกันต่อค่ะ คำศัพท์ทั้ง 4 คำนี้จะไปแสดงที่ไหนในงบการเงินบ้าง
งบการเงินที่เจ้าของธุรกิจต้องรู้มีอยู่ 2 ตัวยอดฮิต
- งบแสดงฐานะการเงิน ที่จะบอกเราว่าทำธุรกิจมาแล้วรวยขึ้นไหม จากสมการ
สินทรัพย์ = หนี้สิน + ส่วนของเจ้าของ
- งบกำไรขาดทุน เป็นงบที่บอกผลประกอบการ จากสมการ รายได้ - ค่าใช้จ่าย = กำไร
ทีนี้ตัวสินค้าคงเหลือเอง และต้นทุนขาย ก็จะแยกกันแสดงในงบการเงินแบบนี้ค่ะ
สินค้าคงเหลือ เป็นส่วนหนึ่งของ สินทรัพย์ แสดงอยู่ใน งบแสดงฐานะการเงิน
ต้นทุนขาย และ ค่าใช้จ่าย แสดงอยู่ใน งบกำไรขาดทุน
วิธีการเช็กง่ายๆ ว่าสินค้าคงเหลือและต้นทุนของเราผิดปกติไหม ก็คือ
- ในงบแสดงฐานะการเงิน เช็กว่ามียอดสินค้าคงเหลือแสดงเท่ากับสินค้าที่เหลือ ณ วันนั้นจริงไหม
- ในงบกำไรขาดทุน เช็กว่าต้นทุนขายคำนวณมาถูกต้องไหม จากสูตรง่ายๆ ต้นทุนสินค้าสำเร็จรูป x ปริมาณยอดขาย
ถ้างบที่ได้จากนักบัญชี เช็กแบบนี้แล้วไม่ตรงกับสิ่งที่เรามีอยู่ นั่นแปลว่า เราต้องคุยกับนักบัญชีใหม่ เพื่อหาสาเหตุความแตกต่างค่ะ
4. ปัญหาที่พบบ่อยเกี่ยวกับสินค้าคงเหลือ
โดยปกติแล้ว ถ้าเราไม่ได้ควบคุมสินค้าคงเหลือให้ดีพอ ปัญหาหนักอกของเจ้าของธุรกิจคงหนีไม่พ้นคำว่า “สินค้าหาย” ในที่นี้หมายถึง สินค้าจริงขาดไปจากรายงาน
ในทางบัญชี นักบัญชีต้องปรับปรุงสินค้าที่ขาดหรือหายไป เป็นต้นทุนหรือค่าใช้จ่ายของธุรกิจทันที
ส่วนในทางภาษี จะมีประเด็นที่ต้องระมัดระวัง 2 เรื่อง คือ
- ถ้าเราจดภาษีมูลค่าเพิ่ม สินค้าที่ขาดไป ถือเป็นการขายต้องจ่าย Vat 7% ด้วยนะ ฮือๆ
- ภาษีเงินได้นิติบุคคล สินค้าที่อยู่ดีๆ หายไปไม่มีเหตุผลอันสมควร บันทึกเป็นค่าใช้จ่ายทางบัญชีได้ แต่ทางภาษีเป็นค่าใช้จ่ายไม่ได้ ทำให้เราเองต้องรับภาระภาษีในส่วนนี้เช่นกัน
ทั้งหมดนี้เป็น 4 ประเด็นสำคัญของธุรกิจที่มีสินค้าคงเหลือต้องทำความเข้าใจ บางทีการผลิตสินค้าดีและมีคุณภาพอาจจะไม่เพียงพอในการทำให้ธุรกิจมีกำไร แต่เราเองต้องมั่นใจว่าเราเข้าใจสินค้าดีพอ จัดหมวดหมู่เหมาะสม อ่านงบการเงินอยู่เสมอ และสุดท้ายจึงจะสามารถบริหารสินค้าอย่างเป็นระบบได้ โดยที่ไม่ต้องมีค่าใช้จ่ายส่วนเกินขาดสินค้าขาดหรือหายมากวนใจค่ะ
About Author
เพจให้ความรู้เรื่องบัญชีสำหรับเจ้าของธุรกิจ ที่อยากให้บัญชีเป็นเรื่องง่าย ใกล้ตัว และมีประโยชน์กับธุรกิจ ภายใต้แนวคิดทีว่า “ทำบัญชี แล้วจะมีกำไร”
ร่วมสมัครเป็นนักเขียนกับ FlowAccount ได้ที่นี่