รวม 7 คำถามที่ควรสำนักงานบัญชีก่อนตัดสินใจใช้บริการ เพราะนอกจากคำถามว่า “คิดค่าบริการเท่าไร” ยังมีคำถามอื่นๆ ทั้งในเรื่องประสบการณ์ ลักษณะการให้บริการ หรือการกำหนดเดดไลน์ร่วมกัน เพราะสุดท้ายแล้วความถูกต้อง ความคล่องตัว และความสบายใจ อาจจะเป็นเรื่องที่สำคัญไม่น้อยไปกว่าราคาค่าบริการเลย |
เมื่อเริ่มธุรกิจ หน้าที่สำคัญของเจ้าของกิจการคงหนีไม่พ้นการเริ่มทำบัญชี ซึ่งต้องหาตัวช่วยอย่างสำนักงานบัญชีมาจัดการงานแสนยุ่งยากเหล่านี้ให้เป็นเรื่องง่าย แต่พอจะเริ่มหาสำนักงานบัญชีอย่างจริงจัง ก็ไม่แน่ใจว่าควรจะเลือกใช้บริการที่ไหนดี ถึงจะมั่นใจได้ว่าเราได้นักบัญชีที่เหมาะสมกับกิจการจริงๆ
ดังนั้น ให้ลองตั้งคำถามเหล่านี้กับนักบัญชีที่คุณกำลังพูดคุยดู เพื่อช่วยให้คุณมีเกณฑ์ที่ใช้ในการตัดสินใจเลือกสำนักงานบัญชีที่เหมาะกับคุณได้ดีขึ้น จะมีคำถามอะไรบ้างนั้น อย่ารอช้า มาดูไปพร้อมๆ กันเลยค่ะ
1. สำนักงานบัญชีมีประสบการณ์ทำบัญชีในธุรกิจใดมาบ้าง
ก่อนจะจ้างงานบัญชี อย่าลืมสอบถามประสบการณ์ทำงานจากสำนักงานบัญชีดูว่า ทีมงานมีประสบการณ์ทำงานบัญชีให้กับธุรกิจประเภทใดมาก่อนบ้าง เช่น ธุรกิจซื้อมาขายไป ธุรกิจให้บริการ ธุรกิจผลิตสินค้า หรือธุรกิจนายหน้า เป็นต้น
ประสบการณ์ของนักบัญชีจะช่วยเราประเมินคร่าวๆ ได้ว่า นักบัญชีมีความรู้ความชำนาญเกี่ยวกับการทำบัญชีสำหรับธุรกิจเราหรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากเรามีธุรกิจที่พิเศษ มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว เช่น ธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง ธุรกิจโรงรับจำนำ หรือธุรกิจซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ การบันทึกบัญชีก็จะยิ่งมีความซับซ้อนมากขึ้น และอาจเกิดข้อผิดพลาดได้ หากนักบัญชีไม่มีประสบการณ์ด้านนี้เลย ทั้งเรื่องการบันทึกบัญชีและคำนวณภาษี
นอกจากการป้องกันความผิดพลาดทางบัญชีที่อาจจะเกิดขึ้นได้แล้ว สำนักงานบัญชีที่มีประสบการณ์ตรงกับธุรกิจที่เราทำอยู่ มักจะมีความรู้ความสามารถในการให้คำปรึกษากับผู้ประกอบการมือใหม่อย่างเราได้ ถือว่าเป็นประโยชน์ไม่น้อยเลยค่ะ
2. สำนักงานบัญชีให้บริการแบบครบวงจรไหม
โดยทั่วไป สำนักงานบัญชีจะรับให้บริการการทำบัญชีและยื่นภาษีเป็นหลัก แต่ก็ยังมีงานบางส่วนที่ธุรกิจอาจจำเป็นต้องใช้ ยกตัวอย่างเช่น
- งานจดทะเบียน เช่น เพิ่มทุน ลดทุน เปลี่ยนแปลงกรรมการ
- วางระบบบัญชี
- วางแผนภาษี ทั้งของนิติบุคคลและบุคคลธรรมดา
- คำนวณเงินเดือน ยื่นประกันสังคม
- บริหารสินค้าคงเหลือ
ถ้าเจ้าของกิจการสำรวจตัวเองแล้วพบว่า เราจำเป็นต้องใช้บริการงานเหล่านี้ ลองถามสำนักงานบัญชีดูนะคะว่า มีบริการเหล่านี้ครบวงจรไหม หรือมีสำนักงานพาร์ตเนอร์แนะนำไหม เพราะถ้าไม่มีบริการแบบครบวงจร เราอาจจะต้องจ้างงานจากหลายๆ ที่ ซึ่งก็คงไม่สะดวกเท่าไรสำหรับเจ้าของกิจการค่ะ
3. ค่าบริการได้รวมค่าที่ปรึกษาและพบเจ้าหน้าที่รัฐไหม
ในบางครั้งเจ้าของกิจการอาจจะอยากได้คำปรึกษานอกเหนือจากงานบัญชีและภาษีที่ทำเป็นประจำ หรือในบางกรณี บริษัทโชคร้ายโดนเรียกตรวจสอบจากเจ้าหน้าที่รัฐ เช่น กรมสรรพากร สำนักงานประกันสังคม เป็นต้น เราควรสอบถามให้ชัดเจนว่าค่าบริการที่สำนักงานบัญชีเรียกเก็บนั้น รวมค่าที่ปรึกษาและเป็นตัวแทนเข้าพบเจ้าหน้าที่รัฐแล้วหรือยัง
ถ้ายังไม่รวม สำนักงานบัญชีจะคิดอัตราค่าบริการอย่างไรบ้าง และหากเป็นกรณีที่เกิดจากการยื่นรายการผิดพลาดโดยสำนักงานบัญชีเอง พวกเขาจะรับผิดชอบร่วมกับกิจการหรือไม่ เพราะบ่อยครั้งที่เกิดปัญหาเช่นนี้ แต่เจ้าของกิจการไม่มีผู้ช่วยเดินเรื่องกับภาครัฐให้ กลายเป็นว่าเสียทั้งเวลาและค่าปรับ เพราะฉะนั้นอย่าลืมตกลงเรื่องเหล่านี้ให้ชัดเจนกันก่อนเริ่มใช้บริการสำนักงานบัญชีนะคะ
4. มีกำหนดส่งเอกสารภายในเมื่อไร
การทำบัญชีเป็นหน้าที่รับผิดชอบร่วมกันระหว่างเจ้าของกิจการและสำนักงานบัญชี ถ้าเจ้าของกิจการไม่ให้ความร่วมมือ หรือไม่ให้เอกสารตามกำหนดเวลา งานบัญชีก็อาจจะล่าช้าออกไป
เพื่อจบปัญหาดังกล่าว อย่าลืมสอบถามให้ชัดเจนว่า เราต้องนำส่งเอกสารอะไรบ้างแก่สำนักงานบัญชี และต้องนำส่งภายในวันที่เท่าใด จึงจะทำให้นักบัญชีทำงานได้ทันเวลา
5. ทำงานเสร็จภายในวันที่เท่าไร
ในกรณีกลับกัน เมื่อเจ้าของกิจการรวบรวมเอกสารส่งสำนักงานบัญชีเรียบร้อยแล้ว อย่าลืมสอบถาม Deadline การทำงานของสำนักงานบัญชีด้วยว่า จะทำงานเสร็จ นำส่งภาษีประจำเดือน และยื่นงบประจำปีให้ภายในเมื่อใด
เพราะบ่อยครั้งที่สำนักงานบัญชีเตรียมเอกสารให้เจ้าของกิจการตรวจสอบก่อนยื่นงบการเงินและภาษีประจำปีใกล้ๆ วันสุดท้าย และถ้าพบข้อผิดพลาด ทั้งนักบัญชีและเจ้าของกิจการก็คงไม่มีเวลาพอที่จะแก้ปัญหาแน่นอน ผลลัพธ์สุดท้ายกลายเป็นว่ายื่นงบการเงินและภาษีช้า ต้องเสียค่าปรับเป็นจำนวนไม่น้อย
6. มีรายงานอะไรให้บ้าง
นอกจากการทำบัญชีและยื่นภาษีประจำในแต่ละเดือนแล้ว เจ้าของกิจการคงคาดหวังที่จะเห็นตัวเลขในงบการเงิน เพื่อการบริหารงานใช่ไหมคะ ถ้าใช่ละก็ อย่าลืมถามสำนักงานบัญชีด้วยนะคะว่าเราจะได้รับรายงานอะไรบ้างในแต่ละเดือน อย่างน้อยที่สุดควรจะได้รับงบกำไรขาดทุน และงบแสดงฐานะการเงินรายเดือน เพื่อนำไปวิเคราะห์และบริหารธุรกิจกันต่อค่ะ
ที่สำคัญการอ่านและวิเคราะห์งบการเงินเหล่านี้ จะช่วยให้ผู้ประกอบการรู้ถึงสถานะผลประกอบการและฐานะการเงินของบริษัท ประมาณการภาษีคร่าวๆ ได้ จะได้ไม่ต้องเซอร์ไพรส์ตอนสิ้นปีทีเดียวค่ะ
ส่วนรายงานอื่นๆ ที่เจ้าของกิจการต้องการเป็นพิเศษ ก็สามารถเจรจากับสำนักงานบัญชีไว้ล่วงหน้าได้เลย พวกเขาจะได้จัดเตรียมไว้ให้ ส่วนค่าใช้จ่ายจะเพิ่มขึ้นเป็นเท่าใดก็ต้องพิจารณาเป็นกรณีไปค่ะ
7. ทำบัญชีแบบออนไลน์ได้ไหม
คำถามข้อสุดท้าย เป็นคำถามที่สำคัญมากๆ เพราะถ้าสำนักงานบัญชีสามารถบันทึกบัญชีแบบออนไลน์ได้ละก็ กระบวนการทำงานข้อ 4 ถึง 6 จะถูกร่นระยะเวลาลงมาได้เยอะเลยค่ะ เพราะเจ้าของกิจการสามารถอัพโหลดเอกสารให้สำนักงานบัญชีทันทีที่เกิดรายการค้า การบันทึกบัญชีก็ถูกบันทึกขึ้นอย่างอัตโนมัติ ขั้นตอนการทำงานของสำนักงานบัญชีก็จะเหลือแค่การตรวจสอบความถูกต้องและปรับปรุงรายการ
ในส่วนของรายงาน หากทำบัญชีออนไลน์แล้ว ตัวรายงานการเงินขั้นต้น อย่างงบการเงิน และรายงานลูกหนี้ เจ้าหนี้คงค้าง ก็สามารถเรียกดูได้ทุกเมื่อ เห็นไหมละว่าชีวิตเจ้าของกิจการนั้นดีขึ้นเยอะเลย
ก่อนจะจากกันไป ลองสังเกตกันดูสักนิดนะคะว่าทั้ง 7 คำถามที่แนะนำให้สอบถามสำนักงานบัญชีนั้น เป็นคำถามที่เพิ่มเติมขึ้นมาจากคำถามที่ว่าคิดค่าบริการเท่าไร เพราะสุดท้ายแล้วความถูกต้อง ความคล่องตัว และความสบายใจอาจจะเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญไม่น้อยไปกว่าราคาค่าบริการ ถ้าหากเจ้าของกิจการอยากหาใครสักคนมาเป็นผู้ช่วยแบกรับภาระงานบัญชีอันแสนจะหนักอึ้งนี้ไป อย่าลืมใส่ใจที่จะถามคำถามเหล่านี้กับสำนักงานบัญชีก่อนจะตัดสินใจเลือกใช้บริการกันค่ะ
About Author
นักบัญชี ผู้สอบบัญชี และผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ cpdacademy.co คอร์สอบรมบัญชี CPD ออนไลน์สำหรับผู้ทำบัญชีและผู้สอบบัญชี ที่มีประสบการณ์ในวิชาชีพมากกว่า 10 ปี และอยากส่งต่อความรู้เพื่อเพื่อนนักบัญชีให้มีทักษะอย่างมืออาชีพและก้าวทันโลกดิจิทัล
ร่วมสมัครเป็นนักเขียนกับ FlowAccount ได้ที่นี่