เงินเดือนกรรมการ เป็นหนึ่งในวิธีการบริหารเงินสดของกิจการ โดยให้กรรมการบริษัท หรือเจ้าของธุรกิจตั้งเงินเดือนให้กับตัวเอง ซึ่งจะช่วยให้คุณแบ่งหน้าที่ของเงินในกิจการและเงินส่วนตัวออกจากกัน และวางแผนประหยัดภาษีให้กับตัวเองได้ด้วย |
เพื่อให้เราคุยกันง่ายๆ ขออธิบายของคำว่า กรรมการบริษัท ก่อนว่า เมื่อคุณเริ่มจดบริษัทจะต้องมีผู้รับผิดชอบจำนวน 3 คนเป็นอย่างน้อย และแบ่งสัดส่วนความรับผิดชอบรายได้ กำไร กันตามสัดส่วนหุ้นที่ถือครอง (หรือแล้วแต่จะตกลงกัน) 3 คนนี้นั่นแหละเป็น กรรมการบริษัท (ที่ถือหุ้น) หรือเรียกกันทั่วไปว่า เจ้าของกิจการ ครับ
กรรมการบริษัทควรมีเงินเดือนเป็นของตัวเองหรือไม่
ปัญหาหนึ่งที่เจ้าของกิจการ SMEs มักเจอเหมือนๆ กันคือ ไม่สามารถแยกกระเป๋าของตัวเองกับบริษัทออกจากกันได้ เพราะไม่รู้ว่าจะต้องเอาเงินออกจากกิจการเท่าไหร่ดี จะเอาออกอย่างไร หรือถ้าเอาออกแล้วจะเกิดผลอย่างไรบ้าง พอถึงเวลาอยากใช้เงินก็นำรายได้ของบริษัทออกมาใช้ดื้อๆ
รู้ไหมครับว่าผลที่ตามมาก็คือ เจ้าของกิจการ หรือกรรมการบริษัทมองสุขภาพทางการเงินในกิจการไม่ออก เพราะมันรวมๆ กันหมดอยู่ที่เดียว และพอรู้ตัวว่ามีเงินไม่พอกับรายจ่ายของกิจการ ก็เตรียมตัวตั้งรับไม่ทัน
ดังนั้นเจ้าของกิจการ หรือกรรมการฯ ควรตั้งเงินเดือนให้กับตัวเอง ซึ่งเป็นวิธีง่ายๆ และมีประสิทธิภาพมาก ที่จะช่วยให้เราเข้าใจว่า เงินของกิจการและเงินส่วนตัวของเราไม่ควรใช้ด้วยกัน
ถ้าเจ้าของกิจการมีมุมมองเรื่องเงินตรงนี้แล้ว รับรองว่าจะช่วยให้บริหารเงินสดของกิจการได้ดีมาก เพราะคุณแบ่งหน้าที่ของเงินได้แล้ว เข้าใจเงินของตัวเอง เงินของกิจการ เงินที่ต้องใช้ในการซื้อสินค้า (เพื่อนำมาขาย) เงินที่กำลังจะเข้ามา (รายได้) หรือเงินที่กำลังจะต้องออกไป (รายจ่าย)
และจะดีแค่ไหนถ้าคุณสามารถตอบตัวเองได้ว่า ในวันนี้ของปีหน้ากิจการจะมีเงินเหลือประมาณเท่าไหร่
สามารถหาความรู้เรื่องการบริหารเงินสดต่อได้จากบทความ เริ่มต้นธุรกิจต้องบริหารเงินสดอย่างไร ได้เลยครับ
กรรมการบริษัทควรมีเงินเดือนเท่าไหร่ดี
คราวนี้มาดูกันต่อเลยว่า ถ้าคุณจะให้เงินเดือนตัวเองแล้วควรจะให้เท่าไหร่ดี ถ้ายังคิดไม่ออก อยากให้ดูรูปการจ่ายเงินเดือนจากในระบบบัญชี FlowAccount กันก่อนครับครับ
หากคุณเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา แบบขั้นพื้นฐาน ไม่มีค่าลดหย่อนใดๆ ก็ลองเริ่มจากเงินเดือนยอดฮิตให้ตัวเอง 25,000 บาทต่อเดือน ทั้งปีเราก็จะมีรายได้ทั้งหมด 300,000 บาท และไม่ต้องมีภาษีเงินได้หัก ณ จ่ายด้วย เพราะรายได้แค่นี้ยังไม่ถึงฐานเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
แต่ถ้าคุณมีค่าลดหย่อนอื่นๆ ด้วย ก็จะสามารถมีเงินเดือนได้มากขึ้นตามลำดับนะครับ เช่น ถ้ามีภรรยาและไม่ได้ทำงาน ก็จะได้ลดหย่อนเพิ่มอีก 60,000 บาท ดังนั้นก็จะสามารถมีเงินเดือนได้ที่ 30,000 บาท โดยที่ยังไม่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และยังไม่ต้องถูก หัก ณ ที่จ่ายเวลาที่ได้รับเงินเดือน
เงินเดือนกรรมการ ช่วยวางแผนภาษีอย่างไร
เมื่อกิจการมีค่าใช้จ่ายในส่วนเงินเดือนกรรมการบริษัทเกิดขึ้นเป็นจำนวน 300,000 บาททั้งปีแล้ว ถ้าวางแผนดีๆ ก็ช่วยประหยัดภาษีนิติบุคคลด้วยครับ ลองดูตารางด้านล่างกันครับ
จะเห็นว่าทั้ง 2 กิจการมีรายได้ตั้งต้นเท่ากันที่ 500,000 บาท และมีค่าใช้จ่ายของกิจการที่เท่ากันคือ 250,000 บาท (ไม่รวมเงินเดือน) ดังนั้นกิจการที่ไม่มีการจ่ายเงินเดือนให้กรรมการจะมีกำไรที่ 250,000 บาท ต้องเสียภาษีที่ 20% เป็นจำนวนเงิน 50,000 บาท
แต่อีกกิจการหนึ่งมีการจ่ายเงินเดือนให้กรรมการบริษัท 25,000 บาทต่อเดือน จึงมีรายจ่ายเพิ่มขึ้นมาอีก 1 รายการ ซึ่งรวมทั้งปีแล้วเป็นจำนวน 300,000 บาท จึงทำให้บริษัทมียอดขาดทุน 50,000 บาท ซึ่งในเมื่อบริษัทขาดทุน ก็ไม่ต้องเสียภาษี แถมยังสามารถนำยอดขาดทุนในปีนี้เก็บไว้หักกำไรปีหน้า กล่าวคือ ถ้าปีหน้ามีผลกำไร 100,000 บาท ก็จะมีกำไรที่ต้องเสียภาษี แค่ 50,000 บาท มาจากกำไรของปีนี้หักลบด้วยจำนวนขาดทุนปีที่แล้ว (100,000 - 50,000 บาท) ผลก็คือทำให้มีฐานที่ใช้ในการคำนวณภาษีลดลง ถือเป็นการวางแผนใช้ผลประโยชน์ง่ายๆ ได้ครบนะครับ
จะเห็นว่ากิจการที่มีการจ่ายเงินเดือน เจ้าของก็จะมีเงินสดไว้ใช้จ่ายได้อีกทางเลือกหนึ่ง เพิ่มมากกว่ากรณีที่ไม่ได้จ่ายเงินเดือนให้กับตัวเอง
นี่ก็เป็นประโยชน์ของการจ่ายเงินเดือนให้กับตัวเองในทางภาษีนะครับ แต่ทั้งนี้ในการจ่ายเงินเดือนนั้นไม่ใช่ว่าจะจ่ายก็สามารถจ่ายได้เลยนะครับ คุณต้องตกลงกับกรรมการคนอื่น หรือพิจารณาจากรายได้ของกิจการว่าพร้อมที่จะมีรายจ่ายนี้แล้วหรือยัง
อีกวิธีคิดคือ ในการจ่ายเงินเดือนของกิจการทั่วไปนั้นจะมาจากการคำนวณตามตำแหน่งงาน หน้าที่รับผิดชอบว่ามีมากน้อยแค่ไหน ควรได้รับผลตอบแทนเท่าไหร่ เท่านี้ก็พอจะทำให้คุณได้ไอเดียในการจ่ายเงินเดือนให้กับตัวเองและกรรมการบริษัทคนอื่นๆ แบบง่ายๆ แล้วนะครับ
คุณสามารถบันทึกข้อมูลเงินเดือนจัดการจ่ายเงินเดือนง่ายๆ ด้วยโปรแกรมเงินเดือน FlowAccount ซึ่งจะช่วยคำนวณในเรื่องประกันสังคม ภาษี หัก ณ ที่จ่าย รวมถึงการบันทึกขาด ลา มา สาย ของพนักงาน และยังมีความปลอดภัยสูงด้วยระบบที่เชื่อมโยงกับระบบธนาคารกสิกรไทย ทำให้เจ้าของกิจการมั่นใจได้ในความความปลอดภัยว่าข้อมูลจะไม่รั่วไหล รวมถึงยังช่วยประหยัดเวลาการจ่ายเงินเดือน ทดลองใช้ฟรี 30 วันได้ที่นี่