Highlight:
- การตัดสินใจเปิดบริษัทไม่ได้มีแค่เรื่องตัวเลขทางภาษีอย่างเดียวที่จะใช้พิจารณาเท่านั้น เพราะการเป็นฟรีแลนซ์ หรือการเป็นเจ้าของธุรกิจ คือรูปแบบวิถีชีวิต ที่คนทำงานต้องตัดสินใจว่าเป็นเส้นทางที่จะนำไปสู่เป้าหมายชีวิตหรือไม่
- FlowAccount รวบรวมเหตุผลเบื้องต้นที่คนทำงานใช้ในการตัดสินใจเปิดบริษัท เพื่อช่วยให้คุณได้สำรวจตัวเองให้มากขึ้น ก่อนที่จะไปเริ่มคำนวณภาษี
Q: เป็นฟรีแลนซ์ที่ต้องเสียภาษีเยอะมาก แบบนี้เปิดบริษัทเลยดีไหม จะได้เสียภาษีตามฐานนิติบุคคลที่มีฐานภาษีต่ำกว่าบุคคลธรรมดา
A: คนวัยทำงานที่สร้างโลกสองใบทั้งงานประจำและฟรีแลนซ์ เมื่อทำงานไประยะหนึ่งจนมีรายรับเยอะมากเข้า พอถึงเวลาเสียภาษีในอัตราภาษีสูงก็จะเริ่มมองหาทางเลือกที่จะช่วยประหยัดภาษีได้
แต่การตัดสินใจเปิดบริษัทไม่ได้มีแค่เรื่องตัวเลขทางภาษีอย่างเดียวที่จะใช้พิจารณาเท่านั้น เพราะการเป็นฟรีแลนซ์ หรือการเป็นเจ้าของธุรกิจ คือรูปแบบวิถีชีวิต ที่มีความแตกต่างกันทั้งในด้านวิธีการทำงาน การรับมือกับปัญหา รวมถึงการออกจากธุรกิจ ดังนั้นคนวัยทำงานต้องรู้ก่อนว่าเป้าหมายชีวิตของเราคืออะไร แล้วการเปิดบริษัทเป็นทางเลือกที่จะช่วยให้ไปถึงเป้าหมายชีวิตได้หรือไม่ ก็จะช่วยให้ตัดสินใจว่าจะเปิดบริษัทดีหรือไม่ง่ายขึ้น
ในบทความนี้จะขอเริ่มจากเหตุผลเบื้องต้นที่คนทำงานใช้ในการตัดสินใจเปิดบริษัท เพื่อช่วยให้คุณได้สำรวจตัวเองให้มากขึ้น ก่อนที่จะไปเริ่มคำนวณภาษี
ฟรีแลนซ์เปิดบริษัท ควรนึกถึงอะไรบ้าง
ภาระงานแบบไหนที่รับมือได้
สิ่งที่ทำให้การเป็นฟรีแลนซ์กับเจ้าของธุรกิจต่างกันคือ ข้อจำกัด เป็นฟรีแลนซ์ โฟกัสแค่เรื่องการหางาน ทำงาน เก็บเงิน แล้วใช้ชีวิต ความคล่องตัวมีสูง แต่สเกลของงานก็จะมีเพดานในการรับงานอยู่ และหยุดทำงานยาก เพราะงานทุกขั้นตอนต้องจบด้วยตัวเอง
ในขณะที่คนเป็นเจ้าของธุรกิจสามารถรับงานสเกลใหญ่ หาตัวแทนทำงานได้ ซึ่งสร้างโอกาสในการหารายได้ได้มากกว่า แต่การเปิดบริษัทก็มีงานที่พ่วงตามมาอีกมากมายที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็น เรื่องการจดทะเบียนบริษัท วางแนวทางบริหารงานและค่าใช้จ่าย จ้างนักบัญชี จ้างผู้สอบบัญชี จ้างพนักงาน จ่ายประกันสังคม หาออฟฟิศ ฯลฯ ลองถามตัวเองว่าสามารถรับมือกับภาระงานที่ตามมานอกจากการได้ทำงานในสิ่งที่ชอบได้หรือไม่
ตอบสนองเป้าหมายชีวิตหรือไม่
อยากสร้างแบรนด์เป็นของตัวเอง อยากเปิดร้าน อยากรวมตัวทำงานกับเพื่อน อยากเปิดร้านเล็กๆ สำหรับเกษียณชีวิต อยากทำธุรกิจที่สามารถช่วยเหลือสังคม ฯลฯ หากเป้าหมายตรงนี้ชัด เห็นช่องทางการทำธุรกิจ เริ่มวางแผนระบบการทำงาน สร้างทีมงาน มีฐานลูกค้าในมือแล้ว ก็จดทะเบียนบริษัทได้เลย
กลุ่มลูกค้าในการรับงานเป็นใคร
สังเกตกลุ่มลูกค้าของตัวเองว่าเป็นใคร ถ้างานส่วนใหญ่มักมาจากลูกค้าที่เป็นบุคคลทั่วไป บริษัทขนาดเล็ก หรือว่าจ้างจากบริษัทใหญ่เป็นรายครั้งคราว ส่วนใหญ่ผู้จ้างจะมองจากผลงานและการแนะนำฟรีแลนซ์แบบปากต่อปากมากกว่าจะดูความน่าเชื่อถือ ก็อาจจะยังไม่มีความจำเป็นต้องจดทะเบียนบริษัท แต่ถ้าต้องการรับงานจากลูกค้ารายใหญ่อย่างบริษัทมหาชน หรือองค์กรระดับนานาชาติ ซึ่งมองเรื่องความน่าเชื่อถือของคนรับงานด้วย ก็ควรจดทะเบียนจัดตั้งบริษัท
รายได้จัดอยู่ในประเภทอะไร
กรมสรรพากรได้จำแนกประเภทของรายได้ระหว่างฟรีแลนซ์กับคนที่ทำอาชีพอิสระเอาไว้ ซึ่งจะส่งผลต่อการเสียภาษีแตกต่างกัน
โดยฟรีแลนซ์จะหมายถึงคนที่ทำอาชีพอิสระทั่วไป รับงานจากผู้ว่าจ้างตามที่ตกลงกัน จัดว่าเป็นรายได้ประเภทที่ 2 หักค่าใช้จ่ายแบบเหมา 50% สูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท
ส่วนคนที่ทำอาชีพอิสระ จะหมายถึงกลุ่มคน 6 อาชีพคือ แพทย์หรือพยาบาลที่มีใบประกอบโรคศิลปะ, นักกฎหมาย, วิศวกร, สถาปนิก, นักบัญชี และช่างประณีตศิลป์ จัดว่าเป็นรายได้ประเภทที่ 6 จะหักค่าใช้จ่ายแบบเหมา 30% (ยกเว้นแพทย์ฯ 60%) หรือหักค่าใช้จ่ายตามจริง
นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มทำรับเหมา จัดว่าเป็นรายได้ประเภทที่ 7 และผู้ประกอบธุรกิจพาณิชย์ จัดว่าเป็นรายได้ประเภทที่ 8 จะหักค่าใช้จ่ายแบบเหมา 60% หรือหักค่าใช้จ่ายตามจริง
ทั้งผู้ทำอาชีพอิสระ กลุ่มรับเหมา และผู้ประกอบธุรกิจพาณิชย์ ถ้ามีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี ต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม และเสียภาษีตรงนี้เพิ่ม (แม้จะยังไม่ได้จดทะเบียนบริษัท ก็ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ต้องคำนวณค่าใช้จ่ายตรงนี้ด้วย)
ค่าใช้จ่ายและรายได้อยู่ที่เท่าไร
ถ้ามีต้นทุนในการทำงานมาก เช่น ซื้ออุปกรณ์ทำงาน จ่ายค่าเดินทาง จ้างทีมงาน การเสียภาษีวิธีหักแบบเหมา อาจไม่สะท้อนสภาพที่แท้จริงของการดำเนินธุรกิจ ดังนั้นการจดบริษัทเพื่อหักค่าใช้จ่ายตามจริง ก็จะช่วยให้ไม่เสียภาษีมากเกินความจำเป็น
ในแง่ของรายได้ หากมีรายได้สุทธิถึงฐานอัตราภาษีร้อยละ 20 แล้ว ควรลองคำนวณเปรียบเทียบฐานภาษีทั้งแบบบุคคลธรรมดาและนิติบุคคลดูว่าแบบไหนเสียภาษีน้อยกว่ากัน หากแบบนิติบุคคลถูกกว่าก็ควรจดทะเบียนบริษัท
การทำงานทุกรูปแบบล้วนสร้างโอกาสให้คุณมีรายได้ ได้พัฒนาตัวเอง บริหารทีมงาน หรือทำงานใหญ่ได้เหมือนกัน ดังนั้นอย่าเพิ่งรีบเอามูลค่าทางภาษีเป็นตัวตั้ง แต่ให้พิจารณาก่อนว่าเส้นทางการเปิดบริษัทจะสามารถนำพาตัวเองไปให้ถึงเป้าหมายของชีวิตได้หรือไม่ เพราะบางทีการเสียภาษีตอนปลายทางเพียงครั้งเดียวอาจคุ้มมากกว่าเวลาและทรัพยากรที่ใช้ไปในการจัดตั้งบริษัทก็ได้