แนวทางที่นักบัญชีสามารถ ช่วยเหลือประกอบการ SMEs ให้ผ่านวิกฤติครั้งนี้ไปด้วยกัน คือเริ่มจากศึกษาปัญหาของกิจการที่เจอในยามนี้ และช่วยเหลือในเรื่องที่เร่งด่วนที่สุดก่อน จากนั้นร่วมกันวางแผนระยะยาวว่ากิจการควรจะไปต่อยังไง เช่น วางแผนตั้งเงินสำรองสำหรับยามฉุกเฉิน วางแผนคุมค่าใช้จ่ายการทำงานแบบ work from home และหลังจากได้กลับมาทำงานที่ออฟฟิศแล้ว และทำแผนดูแลพนักงานใหม่ |
เพื่อนแท้มักจะปรากฏตัวในช่วงเวลาวิกฤติ และช่วยเหลือเราในยามที่ยากลำบากเสมอ
บ่อยครั้งที่นักบัญชีอย่างเราตั้งคำถามกับตัวเองว่า อาชีพนี้จะมั่นคงหรือไม่ และเรามีโอกาสไหมที่เทคโนโลยีจะเข้ามาแย่งงาน
วิกฤติไวรัสโคโรน่าในครั้งนี้ ผู้ประกอบการ SMEs ได้รับผลกระทบอย่างมหาศาล จนบางรายอาจจะต้องเลิกกิจการ ถ้าไม่สามารถรับมือกับวิกฤติได้ดีพอ
เวลานี้จึงเป็นโอกาสที่นักบัญชีจะได้พิสูจน์ตัวเองว่า เรามีประโยชน์มากกว่าการทำหน้าที่บันทึกบัญชีและยื่นภาษี นักบัญชีสามารถให้คำแนะนำและเป็นเสมือนเพื่อนคู่คิด ช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ให้ผ่านวิกฤติครั้งนี้ไปด้วยกัน
ลองมาดูกันค่ะว่า นักบัญชีอย่างเราจะ ช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ได้อย่างไรบ้างในเวลานี้
หาความรู้ใส่ตัวให้พร้อม
ถ้าจะสู้รบกับวิกฤติ ก็ต้องมีอาวุธให้ครบมือ และอาวุธที่สำคัญที่สุดของนักบัญชี ก็คือ ความรู้ของเรา
ก่อนที่เราจะให้คำแนะนำผู้ประกอบการได้ สิ่งแรกที่ต้องทำก็คือ การติดตามข่าวสาร และทำความเข้าใจนโยบายช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ออกมาโดยภาครัฐและเอกชน
เมื่อมีความรู้ครบถ้วนแล้ว การเลือกมาตรการที่เหมาะสม เพื่อแนะนำแก่ผู้ประกอบการแต่ละเจ้าก็จะไม่ใช่เรื่องยาก
ศึกษาปัญหาธุรกิจที่ผู้ประกอบการเผชิญ
ทุกธุรกิจต่างได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา แต่ว่าความหนักหนาสาหัสของผลกระทบนั้นแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับ
- สุขภาพการเงินของธุรกิจ เช่น มีเงินสำรองมากน้อยขนาดไหน มีการกู้ยืมจากธนาคารไหม
- ประเภทธุรกิจ เช่น ธุรกิจโรงแรม ร้านอาหาร จะมีผลกระทบมากกว่าธุรกิจขายสินค้าอุปโภคบริโภค
เราควรทำความเข้าใจว่า ผู้ประกอบการนั้นมีสุขภาพการเงินเป็นอย่างไร ณ เวลานี้ ธุรกิจของพวกเขาประสบปัญหาใดเป็นเรื่องหลัก และได้รับผลกระทบมากน้อยขนาดไหน
ช่วยแก้ปัญหาเร่งด่วนก่อน
เมื่อทำความเข้าใจปัญหาของผู้ประกอบการแล้ว ให้เลือกโฟกัสไปที่ผู้ประกอบการที่ต้องการความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนก่อน พูดง่ายๆ ก็คือ ถ้าเราไม่ให้คำแนะนำในตอนนี้ วันพรุ่งนี้ผู้ประกอบการอาจต้องเลิกกิจการแน่นอน
สิ่งที่นักบัญชีสามารถแนะนำได้ เพื่อช่วยผู้ประกอบการแก้ปัญหาได้อย่างทันท่วงที เช่น
- แนะนำมาตรการช่วยเหลือที่ทำได้ทันที เช่น ลดภาระการจ่ายเงินสมทบประกันสังคม ยืดเวลาการจ่ายภาษีประจำเดือน การขอหยุดพักชำระดอกเบี้ยเงินกู้ เป็นต้น
- ช่วยประมาณการกระแสเงินสด หรือ Cash Flow Forecast ว่ากิจการจะมีรายรับ – รายจ่ายในอนาคตเท่าไร และถ้าสถานการณ์ยังเป็นเช่นนี้อยู่เงินสดที่มีนั้นจะเพียงพอสำหรับพยุงกิจการได้นานขนาดไหน
- ช่วยตัดสินใจปรับกลยุทธ์ธุรกิจ เช่น ช่วยคำนวณว่ากิจการควรปรับลดสาขาหรือหยุดไลน์การผลิตไหม หรือหากผู้ประกอบการต้องการขายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์หรือ Delivery พวกเขาจะต้องทำอย่างไรจึงจะคุ้มทุน
- ช่วยลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น นักบัญชีจะมีรายละเอียดต้นทุนและค่าใช้จ่ายต่างๆ อยู่กับมืออยู่แล้ว ในเวลานี้อาจจะต้องช่วยผู้ประกอบการวิเคราะห์เพื่อตัดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นออกก่อน เช่น รายจ่ายที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ ค่าเดินทาง ค่าโฆษณา
- ช่วยสื่อสารกับพนักงานเรื่องการปรับลดเงินเดือนชั่วคราว บางครั้งผู้ประกอบการจำเป็นต้องปรับลดเงินเดือนพนักงานเพื่อให้อยู่รอด นักบัญชีอาจจะช่วยสื่อสารให้พนักงานเข้าใจถึงความจำเป็น และแนะนำมาตรการเยียวยาของรัฐบาลที่พนักงานเหล่านี้มีสิทธิได้รับ
- นำเสนอผลประกอบการแบบเรียลไทม์และสม่ำเสมอ นักบัญชีต้องมั่นใจว่าข้อมูลในมือเป็นข้อมูลที่อัพเดต และสามารถนำเสนอให้กับผู้ประกอบการทันท่วงทีว่าปัจจุบันบริษัทมีกำไรหรือขาดทุนเท่าไร และแนวโน้มของผลการดำเนินงานเป็นอย่างไร หากมีเหตุการณ์ใดที่น่าเป็นห่วงก็ควรรายงานแก่ผู้ประกอบการทันที
- ช่วยเจรจากับซัพพลายเออร์ในการผ่อนผันการจ่ายชำระให้ช้าลง หรือต่อรองเรื่องการชำระเงินกู้คืนแก่ธนาคาร ให้ช่วยลดดอกเบี้ยหรือขยายระยะเวลาการชำระให้
ช่วยวางแผนในอนาคต
นอกจากจะช่วยให้ผู้ประกอบการผ่านวิกฤติเฉพาะหน้าในแต่ละวันแล้ว อย่าลืมช่วยวางแผนระยะยาวให้กับกิจการ SMEs ว่าต่อไปนี้ควรจะเดินต่อไปในทิศทางไหน เช่น
- ตั้งเงินสำรองสำหรับยามฉุกเฉิน แนะนำให้ผู้ประกอบการกันเม็ดเงินสำรองไว้อย่างน้อย 6 เดือน สำหรับแผนฉุกเฉินที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต
- ช่วยวางแผนสำหรับการ work from home ให้มีประสิทธิภาพและประหยัดค่าใช้จ่าย รวมไปถึงหลังจากพ้นวิกฤติและสามารถกลับมาทำงานที่ออฟฟิศได้แล้ว
- แผนดูแลพนักงาน โดยที่ให้การ lay-off พนักงานเป็นทางออกสุดท้าย เพราะความเชื่อมั่นของพนักงานเป็นสิ่งสำคัญ และอย่าลืมว่าเมื่อวันใดที่เศรษฐกิจฟื้น ผู้ประกอบการก็ยังต้องการพนักงานกลับมาทำงานด้วยอยู่ดี
ทั้งหมดนี้คือคำแนะนำเล็กๆ น้อยๆ จากประสบการณ์ของนักบัญชี ที่อาจจะเป็นความช่วยเหลืออันยิ่งใหญ่สำหรับกิจการในยามนี้ได้ค่ะ
และแน่นอนว่าการช่วยเหลือครั้งนี้ก็เป็นโอกาสที่ดีที่จะพิสูจน์ให้ผู้ประกอบการเห็นว่า นักบัญชีก็คือ เพื่อนในยามยากของพวกเขานั่นเอง
About Author
นักบัญชี ผู้สอบบัญชี และผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ cpdacademy.co คอร์สอบรมบัญชี CPD ออนไลน์สำหรับผู้ทำบัญชีและผู้สอบบัญชี ที่มีประสบการณ์ในวิชาชีพมากกว่า 10 ปี และอยากส่งต่อความรู้เพื่อเพื่อนนักบัญชีให้มีทักษะอย่างมืออาชีพและก้าวทันโลกดิจิทัล
ร่วมสมัครเป็นนักเขียนกับ FlowAccount ได้ที่นี่