ปิดบัญชีประจำปี รวมเช็กลิสต์ 6 ข้อที่นักบัญชีเริ่มทำได้เลย ช่วยประหยัดเวลาตอนปลายปี

ปิดบัญชีประจำปี

รวมเช็กลิสต์ 6 ข้อ ที่นักบัญชีทำได้ตั้งแต่เนิ่นๆ ในการ ปิดบัญชีประจำปี เพื่อช่วยประหยัดเวลาการทำงานตอนปลายปี ลองมาดูกันเลย 

อีกไม่กี่วันก็จะสิ้นปีแล้ว การปิดบัญชีประจำปีก็ใกล้เข้ามาทุกที 

 

หากใครยังไม่พร้อมสำหรับการปิดบัญชี ลองมาอ่านบทความนี้กันค่ะ เพราะเรารวบรวม 6 เช็กลิสต์ สิ่งที่นักบัญชีต้องรู้สำหรับการปิดบัญชีประจำปี มาให้เพื่อนๆ สำรวจตัวเองกันก่อน ต้อนรับการปิดบัญชีที่ใกล้จะมาถึงนี้ค่ะ

 

 

6 เช็กลิสต์ ปิดบัญชีประจำปี ที่นักบัญชีเริ่มทำได้เลย

 

1. เตรียมส่งหนังสือยืนยันยอดธนาคาร (Bank Confirmation)   

 

หนังสือยืนยันยอดธนาคารนั้นเป็นหลักฐานที่สำคัญมากสำหรับการปิดบัญชี เพราะว่าหนังสือยืนยันยอดธนาคารทำให้เราทราบว่ากิจการมีบัญชีธนาคารทั้งหมดกี่บัญชี หรือมียอดหนี้สินอื่นๆ กับธนาคารคงค้างหรือไม่ เท่าไร 

 

หากเราได้ส่งหนังสือยืนยันยอดธนาคารแล้ว อย่างน้อยเราก็มั่นใจได้ว่าเราได้บันทึกรายการทางบัญชีครบถ้วนและถูกต้อง ณ วันที่สิ้นงวด 

 

สำหรับการส่งหนังสือยืนยันยอดธนาคารนั้น ขั้นตอนที่สำคัญขั้นตอนหนึ่งก็คือ การเตรียมแบบฟอร์มยืนยันยอดธนาคารให้กรรมการผู้มีอำนาจลงนามกับธนาคาร ซึ่งตัวอย่างแบบฟอร์มที่อัพเดตสำหรับปีนี้จะเป็นอย่างไร แนะนำให้ติดตามข่าวสารในเว็บไซต์สภาวิชาชีพบัญชีตามลิงก์นี้ได้เลยค่ะ https://www.tfac.or.th/

 

 

2. เตรียมนับสินค้าคงเหลือ 

 

สำหรับธุรกิจขายและผลิตสินค้า ย่อมมีสินค้าคงเหลือ ณ วันที่สิ้นงวดงบการเงิน ดังนั้นถ้าใครทำบัญชีให้กิจการเหล่านี้ ก่อนปิดบัญชีอย่าลืมเตรียมตัวเพื่อตรวจนับสินค้าคงเหลือด้วยนะคะ

 

การตรวจนับสินค้าคงเหลือ ช่วยให้เรามั่นใจว่า ณ วันสิ้นงวด สินค้ามีปริมาณ (Quantity) ตรงกับที่มีอยู่ในรายงานสินค้าคงเหลือที่เราบันทึกไว้ 

 

หากมีรายการไหนไม่ตรงละก็ อย่าลืมเตรียมการแก้ไขรายงานสินค้าคงเหลือ ปรับปรุงรายการให้ถูกต้องตามความเป็นจริงด้วยนะ 

 

และที่สำคัญสำหรับธุรกิจที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม อย่าลืมตรวจสอบจำนวนสินค้าที่ขาดเพื่อนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มด้วยนะคะ

 

3. เตรียมรายงานทางบัญชีไว้ให้พร้อม

การปิดงบการเงินที่สมบูรณ์นั้นจะต้องประกอบด้วยการจัดทำรายงานกระทบยอดต่างๆ ในงบแสดงฐานะทางการเงิน เช่น กระทบยอดเงินสดและเงินฝากธนาคาร รายงานลูกหนี้คงเหลือ รายงานเจ้าหนี้คงเหลือ เป็นต้น เพื่อเป็นหลักฐานซัพพอร์ตการปิดบัญชี

 

หลายคนเข้าใจผิดว่ารายการแยกประเภท คือรายงานทางบัญชีที่สมบูรณ์แล้ว แต่ความจริง เรายังต้องมีรายงานกระทบยอดต่างๆ เพื่อให้เราทราบว่า ณ วันสิ้นงวด ยอดที่คงเหลืออยู่ในบัญชีต่างๆ คือ รายการใดบ้างนั่นเอง

 

4. เตรียมรายงานทางภาษีไว้ให้พร้อม

นอกจากรายงานทางบัญชีแล้ว ทางด้านภาษีก็ยังมีบัญชีพิเศษและรายงานตามประมวลรัษฎากร ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องทำเพิ่มเติมนอกเหนือจากรายงานทางบัญชีด้วย ได้แก่

 

1) รายงานภาษีมูลค่าเพิ่ม

    - รายงานภาษีขาย

    - รายงานภาษีซื้อ

    - รายงานสินค้าและวัตถุดิบ

    - รายงานการจ่ายอะไหล่โดยไม่คิดมูลค่า (สำหรับสินค้าที่มีประกัน)

    - บัญชีแสดงสินค้าที่ครอบครอง กรณีเป็นผู้ประกอบกิจการโรงเลื่อย โรงค้าไม้แปรรูป กิจการค้าของเก่าผู้ประกอบการที่ได้รับให้อนุมัติให้จัดตั้งคลังสินค้าทัณฑ์บนประเภทร้านค้าปลอดอากร และกิจการปิโตรเลียม

 

2) บัญชีพิเศษเฉพาะกิจการ

    - กิจการค้าของเก่าประเภทรถยนต์

    - ผู้ผลิตหรือผู้รับจ้างผลิตผลิตภัณฑ์ซีดี

 

3) บัญชีพิเศษแสดงการหักภาษี ณ ที่จ่ายและนำส่ง

 

โดยส่วนใหญ่แล้ว หลายๆ กิจการมักไม่ทราบว่าจะต้องจัดทำ “บัญชีพิเศษแสดงการหักภาษี ณ ที่จ่ายและนำส่ง” ตัวอย่างจะเป็นอย่างไร ลองไปดูใน Link นี้กัน

https://www.rd.go.th/publish/fileadmin/tax_pdf/withhold/sub_rps_190653.pdf 

 

 

5. วางแผนภาษีประจำปี

 

ปีนี้เจ้าของกิจการจะต้องเสียภาษีประมาณกี่บาท เราเคยคำนวณไว้หรือยัง ถ้ายังต้องรีบทำสิ่งนี้เป็นลำดับต้นๆ ก่อนปิดบัญชี เพราะเรายังมีเวลาสำหรับการวางแผนภาษีอยู่นั่นเอง 

 

หากเราไม่ได้วางแผนภาษีให้เรียบร้อยก่อนปิดสิ้นปี รู้ตัวอีกทีข้ามปีไปแล้ว ณ เวลานั้นก็ไม่มีใครย้อนเวลากลับไปแก้ไขสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีตได้อย่างแน่นอน

 

แนวคิดหลักๆ ของการวางแผนภาษีเงินได้นิติบุคคลด้านค่าใช้จ่าย ก็คือ 

  • ลดรายจ่ายต้องห้ามทางภาษี เช่น รายจ่ายที่พิสูจน์ไม่ได้ว่าใครเป็นผู้รับ 
  • เพิ่มรายจ่ายที่สามารถหักได้เพิ่ม เช่น รายจ่ายในการส่งลูกจ้างเข้ารับการศึกษาและฝึกอบรม รายจ่ายเพื่อทำการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม รายจ่ายในการจ้างคนพิการ เป็นต้น

 

และที่สำคัญอย่าลืมเก็บเอกสารที่เกี่ยวข้องให้ครบถ้วนด้วยนะคะ

 

 

6. ตรวจเช็ครายการปรับปรุงบัญชีสำคัญๆ   

 

ขั้นตอนในการปิดบัญชีที่ยุ่งยากที่สุดอย่างหนึ่ง คือ การปรับปรุงรายการบัญชีให้ครบถ้วน ผู้ทำบัญชีแต่ละท่านอาจจะมีเทคนิคแตกต่างกันไปเพื่อตรวจสอบรายการปรับปรุงบัญชี 

 

รายการปรับปรุงบัญชีบางรายการอาจจะต้องใช้เวลาเตรียมการรวบรวมข้อมูลล่วงหน้าก่อนสิ้นปี เช่น 

  • ประมาณการการด้อยค่าของทรัพย์สิน
  • ประมาณการค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ
  • ประมาณการหนี้สินผลประโยชน์พนักงาน

 

ดังนั้น ช่วงเวลานี้จึงเป็นโอกาสดีที่ผู้ทำบัญชีจะเตรียมข้อมูลสำหรับการคำนวณรายการปรับปรุงทั้งหลายเหล่านี้ เพื่อประหยัดเวลาในการทำงานตอนปลายปีค่ะ     

 

การปิดบัญชีประจำปีทั้ง 6 ข้อนี้ ทำตามได้ไม่ยาก หากใครนำเช็กลิสต์นี้ไปปฏิบัติตาม ได้ผลเป็นอย่างไรบ้าง อย่าลืมมาแชร์ผลลัพธ์ให้พวกเราฟังกันบ้างนะคะ 

 

ใช้ FlowAccount เพื่อช่วยจัดทำรายงานสินค้าคงเหลือ รายงานภาษีซื้อ ภาษีขาย และจัดการรายการทางภาษี (Vat Management) ได้ฟรี 30 วันที่นี่

 

 

About Author

ลองใช้งานFlowAccount ฟรี 30 วันได้ง่ายๆ วันนี้
ลองใช้งานฟรีได้ง่ายๆ วันนี้
สมัครเลย

You may also like