ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครึ่งปี (ภ.ง.ด. 94) คือการชำระภาษีประจำปีล่วงหน้าไว้ โดยคำนวณจากรายได้ครึ่งปีที่เกิดขึ้น โดยภาษีที่จ่ายไปสามารถนำมาหักออกจากภาษีประจำปีที่คำนวณได้ (ซึ่งภาษีประจำปีจะคำนวณจากรายได้ทั้งปีอีกทีหนึ่ง)
โดยความส้มพันธ์เต็มๆ ของภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจะเกิดจาก ภาษีสิ้นปีที่คำนวณได้ หักออกด้วย ภาษีที่เสียล่วงหน้าไปตอนครึ่งปี และหักด้วย ภาษีหัก ณ ที่จ่ายที่ถูกหักไว้ระหว่างปี อีกทีหนึ่งครับ |
จากประสบการณ์ทำงานของผมที่ผ่านมา พบว่าใครหลายคนสับสนเรื่องภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครึ่งปีกันค่อนข้างมาก ดังนั้นบทความตอนนี้จะชวนทุกคนมาทำความเข้าใจเรื่องของภาษีเงินได้บุคคลครึ่งปีกันครับ กับ 5 ข้อที่บุคคลธรรมดาอย่างเราควรรู้เกี่ยวกับการยื่น ภ.ง.ด. 94
เลือกอ่านได้เลย!
1. หน้าที่ในการยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครึ่งปี (ภ.ง.ด. 94)
สำหรับคนที่มีหน้าที่ยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครึ่งปี ต้องมีคุณสมบัติ 2 ข้อ ได้แก่ เป็นบุคคลธรรมดา และมีเงินได้ถึงเกณฑ์ตามที่กฎหมายกำหนด คือ รายได้ในช่วงครึ่งปีปฏิทินแรก (มกราคม – มิถุนายน) เกิน 60,000 บาท
2. รายได้อะไรที่ต้องยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครึ่งปี
จากข้อ 1 เงินได้ที่ต้องยื่น หมายถึง เงินได้ประเภทที่ 5 ถึง 8 ตามกฎหมาย หรือเงินได้ตามมาตรา 40(5)-(8) แห่งประมวลรัษฎากร โดยนับเงินได้ทุกประเภท (5-8) รวมกัน หากเกินกว่า 60,000 บาท ก็มีหน้าที่ยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครึ่งปีครับ ซึ่งหมายถึงเงินได้ดังต่อไปนี้
- เงินได้ประเภทที่ 5 หรือเงินได้ตามมาตรา 40(5) คือ เงินได้จากการให้เช่าทรัพย์สินต่างๆ
- เงินได้ประเภทที่ 6 หรือเงินได้ตามมาตรา 40(6) คือ เงินได้จากวิชาชีพอิสระต่างๆ เช่น วิชากฎหมาย การประกอบโรคศิลป(แพทย์) วิศวกรรม สถาปัตยกรรม การบัญชี ประณีตศิลปกรรม หรือวิชาชีพอื่นที่กฎหมายกำหนด
- เงินได้ประเภทที่ 7 หรือเงินได้ตามมาตรา 40(7) คือ เงินได้จากการรับเหมาที่ผู้รับเหมาต้องลงทุนด้วยการจัดหาสัมภาระ ในส่วนสำคัญนอกจากเครื่องมือ เช่น การรับเหมาก่อสร้าง
- เงินได้ประเภทที่ 8 หรือเงินได้ตามมาตรา 40(8) คือ เงินได้จากการธุรกิจ การพาณิชย์ การเกษตร การอุตสาหกรรม การขนส่ง การขายอสังหาริมทรัพย์ หรือการอื่นนอกจากที่ระบุไว้ในประเภทที่ 1 ถึงประเภทที่ 7
สำหรับใครที่ยังไม่เข้าใจว่ารายได้มีกี่ประเภท แบบไหนยังไงบ้าง ผมแนะนำอ่านเพิ่มเติมได้ที่บทความ เงินได้ 8 ประเภทมีอะไรบ้าง? ในบล็อกภาษีข้างถนนได้เลยครับ
3. ยื่น ภ.ง.ด. 94 แล้วยังไงต่อ เกี่ยวข้องยังไงกับภาษีเงินได้ประจำปี
ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครึ่งปี คือการชำระภาษีประจำปีล่วงหน้าไว้ โดยคำนวณจากรายได้ครึ่งปีที่เกิดขึ้น โดยภาษีที่จ่ายไปสามารถนำมาหักออกจากภาษีประจำปีที่คำนวณได้ (ซึ่งภาษีประจำปีจะคำนวณจากรายได้ทั้งปีอีกทีหนึ่ง)
โดยความส้มพันธ์เต็มๆ ของภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจะเกิดจาก ภาษีสิ้นปีที่คำนวณได้ หักออกด้วย ภาษีที่เสียล่วงหน้าไปตอนครึ่งปี และหักด้วย ภาษีหัก ณ ที่จ่ายที่ถูกหักไว้ระหว่างปี อีกทีหนึ่งครับ
เพื่อให้เห็นภาพชัดเจน ลองดูตัวอย่างนี้กันครับ
สมมติว่าในช่วงครึ่งปีแรก (มกราคม - มิถุนายน) นายบักหนอมมีรายได้จากการเปิดสำนักงานบัญชีและรับทำด้วยโปรแกรมบัญชี FlowAccount (ประเภทที่ 6) โดยได้ยื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษีเงินได้ครึ่งปีไปจำนวน 10,000 บาท พอสิ้นปีนายบักหนอมมาคำนวณภาษีได้จำนวน 28,000 บาท นายบักหนอมก็ต้องจ่ายภาษีเพิ่มอีก 18,000 บาทในตอนยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสิ้นปีนั่นเองครับ
หรือสมมติเพิ่มไปอีกว่า หากในระหว่างปีนายบักหนอมมีภาษีถูกหัก ณ ที่จ่ายไว้จำนวน 10,000 บาท แบบนี้ก็จะกลายเป็นว่า นายบักหนอมจะต้องจ่ายภาษีเพิ่มจำนวน 8,000 บาทในตอนยื่นภาษีประจำปีครับ
4. ต้องยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครึ่งปีเมื่อไร
โดยปกติแล้ว กำหนดระยะเวลาการยื่นแบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครึ่งปี (ภ.ง.ด. 94) จะถูกกำหนดไว้ที่วันที่ 30 กันยายน ของทุกปี โดยอาจจะมีการขยายเวลาให้อีก 8 วันในกรณีที่เป็นการยื่นแบบผ่านอินเทอร์เน็ต หรืออาจจะมีการขยายเวลาเพิ่มเติมได้หากมีเหตุจำเป็นอื่นๆ
ยกตัวอย่างเช่น ในปี 2564 เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ที่ต่อเนื่อง ทำให้มีการขยายระยะเวลาการยื่นแบบผ่านอินเทอร์เน็ตไปถึงวันที่ 30 ธันวาคม 2564 ครับ
นอกจากนั้น สำหรับคนที่มียอดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครึ่งปีชำระตั้งแต่ 3,000 บาทขึ้นไป จะสามารถเลือกผ่อนชำระได้ 3 งวดอีกด้วยครับ
5. ไม่ยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครึ่งปีได้ไหม
ถ้าหากไม่ยื่นภาษีจะมีโทษตามกฎหมาย คือ ค่าปรับไม่ยื่นแบบ 2,000 บาท และเงินเพิ่ม (ดอกเบี้ย) จากภาษีที่ต้องจ่ายในอัตรา 1.5% ต่อเดือน (เศษของเดือนคิดเป็น 1 เดือน) โดยนับตั้งแต่วันที่ 30 กันยายน เป็นต้นไป แต่อย่างไรก็ดี มีการลดค่าปรับให้ตามนี้ครับ
- กรณีที่ยื่นแบบแสดงรายการล่าช้า ไม่เกิน 7 วัน เราจะต้องเสียเบี้ยปรับ 100 บาท
- กรณียื่นแบบล่าช้า เกินกว่า 7 วัน เราจะต้องเสียเบี้ยปรับ 200 บาท
อันนี้คือหลักการตามกฎหมายนะครับ แต่ตามประสบการณ์แล้ว ผมมักจะเห็นคนไม่ยื่นภาษีครึ่งปีอยู่บ่อยๆ และไม่โดนปรับอะไรก็มีครับ แต่อย่างไรก็ดี การทำแบบนี้ไม่ได้แปลว่ามันสามารถทำได้โดยไม่ผิดกฎหมายนะครับผม
หลังจากที่รู้ 5 ข้อที่สำคัญไปแล้ว ผมอยากแนะนำเพิ่มเติมเรื่องการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครึ่งปีอีกสักเล็กน้อยครับ
สำหรับวิธีคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครึ่งปี จะใช้วิธีการเดียวกันกับการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปี นั่นคือ มีวิธีการคำนวณ 2 วิธี ได้แก่ วิธีเงินได้สุทธิ และ วิธีเงินได้พึงประเมิน (0.5% x รายได้ - ใช้ในกรณีที่มีรายได้รวมแล้วเกิน 1 ล้านบาท) และนำมาเปรียบเทียบกันว่าวิธีไหนได้จำนวนภาษีที่มากกว่า ก็ให้เสียภาษีตามวิธีนั้น
โดยหลักการสำคัญในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดานั้น มีดังนี้ครับ
- เราต้องรู้ประเภทเงินได้ของเราว่าเป็นประเภทไหนตามกฎหมาย เพื่อที่จะได้เลือกยื่นภาษีและคำนวณได้อย่างถูกต้อง
- เราต้องรู้ว่าเราสามารถหักค่าใช้จ่ายได้แบบไหน ระหว่างหักเหมาหรือหักตามจริง (จำเป็นและสมควร) โดยถ้าเลือกวิธีไหนแล้ว ต้องเลือกวิธีนั้นในการคำนวณภาษีประจำปีด้วยครับ
- ค่าลดหย่อน สามารถหักตามที่กฎหมายกำหนดได้ บางตัวที่เป็นค่าลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาแบบทั้งจำนวน ซึ่งจะหักได้เพียงครึ่งเดียว เพราะเป็นการยื่นภาษีครึ่งปี เช่น ลดหย่อนส่วนตัวเหลือเพียง 3 หมื่นบาท จาก 6 หมื่นบาท แต่สำหรับตัวที่เป็นการยกเว้นจากเงินได้นั้นสามารถลดหย่อนได้เต็มจำนวนครับ
ส่วนวิธีการยื่นภาษีครึ่งปี สามารถดูรูปประกอบได้ที่ลิงค์ด้านล่างนี้ หรือ คลิปวิดีโอที่ผมสอนยื่นได้เช่นเดียวกันครับ https://www.facebook.com/TaxBugnoms/posts/355218555971129
สุดท้ายนี้ ผมหวังว่าบทความนี้จะช่วยให้บุคคลธรรมดาทุกคนยื่นภาษีเงินได้ครึ่งปีได้อย่างถูกต้อง และวางแผนจัดการภาษีประจำปีได้อย่างเหมาะสมครับ
บทความอ่านเพิ่มเติม: ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครึ่งปี (ภ.ง.ด. 94) จากบล็อกภาษีข้างถนน
About Author
พรี่หนอม หรือ TAXBugnoms (แทกซ์-บัก-หนอม) เป็นบล็อกเกอร์ นักเขียน และวิทยากรที่ให้ความรู้เรื่องภาษี บัญชี การเงิน มีประสบการณ์ทำงานในแวดวงบัญชี ภาษี มานานกว่า 15 ปี โดยมีแนวคิดว่า “ภาษี” ควรเป็น “เรื่องเรียบง่าย” และ “รู้สึกสบายใจ” ที่จะจ่าย