เมื่อพนักงานลาออก นายจ้างต้องทำอะไรบ้าง นอกจากการรับสมัครคนใหม่เข้ามาทำงานแทนแล้ว นายจ้างยังต้องจัดการเรื่องเอกสารต่างๆ และดำเนินการตามขั้นตอนที่เกี่ยวข้อง เช่น การจ่ายค่าชดเชยและการแจ้งประกันสังคม บทความนี้จะอธิบายรายละเอียดขั้นตอนต่างๆ ที่นายจ้างต้องปฏิบัติเมื่อพนักงานลาออก |
เลือกอ่านได้เลย!
1. สาเหตุที่พนักงานลาออก แล้วนายจ้างต้องรับผิดชอบ
หลายครั้งที่พนักงานต้องออกจากบริษัท และนายจ้างต้องจ่ายเงินชดเชยให้ ซึ่งเงินชดเชยที่ว่านี้ เป็นไปตามกฎหมาย พรบ. คุ้มครองแรงงาน ที่กำหนดให้นายจ้างต้องจ่าย เราลองมาดูว่า กรณีไหนบ้างที่นายจ้างจะต้องจ่ายเงินให้กับลูกจ้างบ้าง
1.1 พนักงานเกษียนอายุ
กรณีพนักงานเกษียนอายุ ต้องได้รับค่าชดเชยตามอายุงานจากบริษัท สูงสุดเท่ากับ ค่าจ้างการทำงาน 400 วัน ในอัตราสุดท้าย เรียกว่าค่าชดเชยกรณีทั่วไป
1.2 พนักงานถูกเลิกจ้าง
กรณีพนักงานถูกเชิญออก เกิดจากหลายสาเหตุ เช่น บริษัทปิดตัวลง บริษัทลดจำนวนพนักงาน บริษัทย้ายที่ตั้ง บริษัทปิดสาขา หรือแผนก เป็นต้น ซึ่งเหตุในการเลิกจ้างนั้น ไม่ใช่ความผิดอะไรของลูกจ้างเลย เป็นเพราะบริษัทมีความจำเป็นที่ต้องลดพนักงานลง โดยพนักงานที่ถูกเลิกจ้างจะได้รับค่าชดเชยตามอายุงานจากบริษัท สูงสุดเท่ากับ ค่าจ้างการทำงาน 400 วัน ในอัตราสุดท้าย เรียกว่าค่าชดเชยกรณีทั่วไป
1.3 พนักงานลาออกเอง
กรณีนี้ เราจะพบบ่อยที่สุด ยิ่งยุคสมัยเปลี่ยน แนวทางการทำงานก็เปลี่ยนไปด้วย พนักงานมีอัตราหมุนเวียนเพิ่มขึ้น ไม่แปลกเลยที่จะพบเห็นการย้ายงานบ่อยๆ กรณีพนักงานลาออกเอง นายจ้างไม่จำเป็นต้องจ่ายเงินค่าชดเชยใดๆ เนื่องจากบริษัทไม่ได้เป็นฝ่ายผิดสัญญาจ้าง เป็นความสมัครใจของพนักงานเองที่จะออกจากบริษัท นอกจากนี้ ยังมีอีกกรณีหนึ่ง ที่นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยใดๆ เลย คือกรณีพนักงานผิดสัญญาจ้างกับบริษัท หรือทำผิดกฎร้ายแรง แบบนี้เป็นความชอบธรรมของนายจ้างที่จะให้พนักงานออกโดยไม่จ่ายเงินชดเชยนะคะ
2. เอกสารที่นายจ้างต้องเตรียม เมื่อพนักงานลาออก
เพื่อให้การลาออกของพนักงานเป็นไปอย่างราบรื่นไม่ติดขัด ลองมาดูรายการเอกสารทั้งหมดกันดีกว่าค่ะ
2.1 จดหมายลาออก
ตัวแรกสุดเลย นายจ้างจะทำอะไรไม่ได้ หากไม่ได้จดหมายขอลาออก หรือแบบฟอร์มขอลาออกจากพนักงาน
2.2 แบบฟอร์มคืนทรัพย์สิน
ตอนเข้าทำงาน บริษัทให้โน้ตบุ๊ก ให้คีย์การ์ด เพื่อใช้ในการทำงาน ตอนลาออก ก็ต้องเช็คให้ครบด้วยนะคะ
2.3 แบบฟอร์ม Exit interview
การสัมภาษณ์เพื่อขอความคิดเห็นจากพนักงานที่ลาออก อันนี้จะมีหรือไม่ก็ได้ บางที่อาจจะไม่มี แต่การสอบถามเหตุผลในการลาออก อาจจะเป็นประโยชน์ในการปรับปรุงบริษัทให้ดีขึ้นได้นะคะ
2.4 หนังสือรับรองการทำงาน
อันนี้คือส่วนสำคัญ เพราะเป็นเอกสารที่ลูกจ้างต้องใช้ยืนยันประวัติการทำงาน กรณีต้องไปสมัครงานที่ใหม่
2.5 หนังสือรับรองเงินเดือน
อันนี้จะเหมือนกับข้อ “หนังสือรับรองการทำงาน” บางบริษัทอาจใช้แบบฟอร์มเดียวกัน ในการยืนยันการทำงาน และยืนยันฐานเงินเดือนด้วยกันเลย
2.6 สลิปเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
รายการนี้จะมีหรือไม่แล้วแต่นโยบายของแต่ละบริษัทค่ะ ซึ่งพนักงานสามารถเลือกที่จะถอนออก หรือไม่ถอนก็ได้ แต่บริษัทต้องแจ้งยอดคงเหลือให้พนักงานทราบด้วย
2.7 หนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย
เป็นหลักในการยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตอนปลายปีของลูกจ้าง ซึ่งฝ่าย HR ต้องจัดเตรียมให้พนักงานด้วยค่ะ
2.8 แบบแจ้งการสิ้นสุดความเป็นผู้ประกันตน (สปส.6-09)
เป็นเอกสารตามกฎหมาย ที่นายจ้างต้องแจ้งต่อสำนักงานประกันสังคม เมื่อมีผู้ประกันตน (ลูกจ้าง มาตรา 33) ออกจากกิจการ แต่แอบบอกไว้ก่อน ข้อนี้สามารถทำแบบออนไลน์ได้นะ
3. หน้าที่ของนายจ้าง ที่ต้องแจ้งต่อสำนักงานประกันสังคม เมื่อพนักงานลาออก
จากข้อก่อนหน้า ที่ได้เกริ่นถึงหน้าที่ของนายจ้าง ที่ต้องจัดทำแบบแจ้งการสิ้นสุดความเป็นผู้ประกันตน (สปส.6-09) และยื่นต่อสำนักงานประกันสังคม เป็นนายจ้างก็วุ่นวายเหมือนกันนะ เข้าก็ต้องแจ้ง ออกก็ต้องแจ้ง แต่อย่าเพิ่งกังวลใจไป การแจ้งพนักงานลาออกของระบบประกันสังคมเนี่ย เราสามารถทำแบบออนไลน์ได้นะ โดยทำผ่านระบบ บริการอิเล็กทรอนิกส์ (e-Services) ของสํานักงานประกันสังคม ซึ่งทำไม่ยากเลย ลองมาดูทีละขั้นตอนกันค่ะ
3.1 ไปที่ https://www.sso.go.th/eservices/esv/login.do
เข้าเมนู "ทะเบียนผู้ประกันตน" และเลือกปุ่ม “แจ้งสิ้นสุดการเป็นผู้ประกันตน (สปส.6-09)”
3.2 ในหน้าจอบันทึกข้อมูล
กรอกข้อมูลผู้ประกันตน วัน เดือน ปี และสาเหตุการสิ้นสุดเป็นผู้ประกันตน
3.3 ตรวจสอบข้อมูลอีกครั้ง และกดยืนยันบันทึกข้อมูล
3.4 หลังจากนั้นกดดำเนินการต่อ เป็นอันเสร็จสิ้น
4. บันทึกบนระบบ FlowAccount อย่างไร
สำหรับพนักงานที่ลาออกไป ถ้านายจ้างใช้ FlowAccount Payroll ก็สามารถแก้ไขสถานะพนักงานเป็นลาออก เพื่อป้องกันการจ่ายเงินเดือนซ้ำซ้อนในเดือนถัดไปได้ตามขั้นตอนนี้เลย
4.1 ไปที่ FlowAccount Payroll เมนูรายชื่อพนักงาน
4.2 คลิกที่จุด 3 จุด หลังรายชื่อพนักงาน
เลือกแก้ไข > ข้อมูลการจ้างงาน ตำแหน่งและเงินเดือน/ค่าจ้าง > กดแก้ไข > ระบุวันเลิกจ้าง และกดบันทึก
ส่วนการจ่ายเงินเดือนในเดือนสุดท้ายสำหรับพนักงานที่ลาออกก็สามารถทำผ่านระบบ FlowAccount Payroll ได้เหมือนการจ่ายเงินเดือนทั่วไปเลยค่ะ
โดยหากมีเงินชดเชย หรือการหักเงินเดือนก็สามารถแก้ไขเพิ่มหรือลดเงินเดือนได้ และบริษัทยังคงต้องหักเงินนำส่งประกันสังคมตามปกติด้วยนะคะ
ระบบบัญชีจะบันทึกบัญชีอัตโนมัติ 2 ขั้นตอนได้แก่
1. ตั้งบัญชีเงินเดือนค้างจ่าย
2. จ่ายชำระเงินเดือน
สรุป
สำหรับบทความนี้ เพื่อนๆ พอจะทราบกันแล้วว่า งานของนายจ้างเยอะขนาดไหน ลูกจ้างเข้าใหม่ต้องแจ้งเข้าระบบ ลูกจ้างออกก็ต้องทำเอกสาร พร้อมทั้งแจ้งสำนักงานประกันสังคม แต่จุดที่อยากให้นายจ้างตระหนักก็คือ การทำทุกอย่างอย่างรัดกุมและเป็นระบบเข้าไว้ เพื่อที่ว่าครั้งถัดไปจะได้ทำถูกต้อง และไม่ต้องมานั่งปวดหัวไปตลอดค่ะ
อ้างอิง
คู่มือการใช้งาน E-Services ของสํานักงานประกันสังคมสําหรับสถานประกอบการ
แบบแจ้งการสิ้นสุดความเป็นผู้ประกันตน
About Author
นักบัญชี ผู้สอบบัญชี และผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ cpdacademy.co คอร์สอบรมบัญชี CPD ออนไลน์สำหรับผู้ทำบัญชีและผู้สอบบัญชี ที่มีประสบการณ์ในวิชาชีพมากกว่า 10 ปี และอยากส่งต่อความรู้เพื่อเพื่อนนักบัญชีให้มีทักษะอย่างมืออาชีพและก้าวทันโลกดิจิทัล
ร่วมสมัครเป็นนักเขียนกับ FlowAccount ได้ที่นี่