ธุรกิจบริการออนไลน์ ส่วนใหญ่แล้วต้นทุนของธุรกิจนี้จะเน้นหนักไปกับเรื่องคนและเครื่องมือที่ช่วยให้ทำงานออนไลน์ได้สะดวกขึ้น การทำบัญชีจึงต้องเข้าใจเรื่องค่าใช้จ่าย โดยต้องแยกให้ออกระหว่าง ต้นทุนการให้บริการ และค่าใช้จ่ายของธุรกิจ |
ธุรกิจอะไรเอ่ย ไม่ต้องใช้เงินทุนเยอะก็เริ่มต้นธุรกิจได้แล้ว เฉลย ธุรกิจนั้นก็คือ ธุรกิจบริการออนไลน์ อย่างเช่น การให้คำปรึกษาออนไลน์ Marketing การให้บริการยิงแอด หรือว่าเป็นแอดมินดูแลร้านค้า E-commerce ธุรกิจนี้สามารถเริ่มต้นด้วยตัวคนเดียว แบบไม่ต้องอาศัยต้นทุนอะไรมากมาย นอกจากคอมพิวเตอร์ 1 เครื่อง แล้วก็ความสามารถที่เรามี เพียงเท่านี้ก็สามารถเริ่มต้นธุรกิจด้วยตนเองได้
เอ… แล้วเคยสงสัยกันไหมคะว่า ถ้าธุรกิจบริการออนไลน์ของเราเติบโต และมีทีมงานเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จากเดิมที่เคยเป็นแค่ฟรีแลนซ์ ตอนนี้เราผันตัวมาเป็นเจ้าของธุรกิจ ตัวเราเองควรเข้าใจเรื่องบัญชีอะไรบ้างนะ
เมื่อต้นทุนของธุรกิจนี้เน้นหนักไปกับเรื่องคนและเครื่องมือที่ช่วยให้ทำงานออนไลน์ได้สะดวกขึ้นเป็นส่วนใหญ่ ในวันนี้ FlowAccount จะขอเล่าเรื่องบัญชีที่เจ้าของธุรกิจออนไลน์ต้องรู้แบ่งออกเป็น 2 เรื่องหลักๆ คือ เรื่องคน และเรื่องเครื่องมือ (Software)
เรื่องคน
เรื่องแรกที่เจ้าของธุรกิจให้บริการออนไลน์ต้องเข้าใจ หนีไม่พ้นเรื่องเกี่ยวกับคนที่เข้ามาช่วยให้เราทำงานส่งลูกค้าได้มากขึ้น ดีขึ้น และมีประสิทธิภาพมากขึ้น ส่วนใหญ่แล้ว ถ้าเป็นธุรกิจที่เพิ่งเติบโต เราเองอาจจะไม่มั่นใจในการรับพนักงานประจำเข้ามาค่ะ เพราะว่านี่หมายถึง ค่าใช้จ่ายที่เราต้องจ่ายออกไปทุกเดือนๆ แบบไม่รู้ว่าในอนาคตจะมีเงินเข้ามาสม่ำเสมอหรือไม่
เจ้าของธุรกิจส่วนใหญ่จึงเริ่มจากการจ้างงานฟรีแลนซ์เข้ามาช่วยงานเป็นจ๊อบบ้าง บางครั้งคราว ทีนี้การจ้างงานฟรีแลนซ์แบบนี้มีเรื่องบัญชีอะไรบ้างที่เราต้องเข้าใจ
จ้างงานฟรีแลนซ์เป็นต้นทุนธุรกิจหรือค่าใช้จ่าย
ความแตกต่างระหว่างต้นทุนธุรกิจกับค่าใช้จ่ายนั้น อยากจะชวนเพื่อนๆ ทุกคนมองภาพอย่างงี้ค่ะ
ถ้าสมมติว่าการจ้างงานฟรีแลนซ์นั้นเป็นการจ้างงานเพื่อให้ทำงานบริการลูกค้าโดยตรง เช่น เราเป็นธุรกิจรับให้คำปรึกษาด้าน SEO แล้วไปจ้างงานฟรีแลนซ์มา 3 คน เพื่อดูแลด้าน SEO ไม่ว่าจะเป็นค้นหา Keyword แก้ปัญหาเรื่องเทคนิคต่างๆ ให้ลูกค้าโดยเฉพาะ หรือว่าการเขียนบทความให้ลูกค้า กรณีนี้เมื่อฟรีแลนซ์ทำงานให้ลูกค้าโดยตรง และเราเองก็ได้รับรายได้จากการบริการจากลูกค้าเจ้านั้น ในทางบัญชีเราเรียกรายจ่ายแบบนี้ว่า ต้นทุนการให้บริการ
แต่ถ้าสมมติฟรีแลนซ์ที่ว่ามาเพื่อทำงานทั่วไป อย่างเช่น งานแอดมินเก็บเอกสารทางบัญชี หรือว่าว่างๆ ก็เขียนบทความเพื่อโปรโมตธุรกิจของเรา เมื่อลักษณะงานไม่ได้สัมพันธ์กับลูกค้าและรายได้แบบนี้เราจะจัดรายจ่ายแบบนี้เป็น ค่าใช้จ่าย นั่นเองค่ะ
ข้อดีของการแบ่งประเภทต้นทุนและค่าใช้จ่ายให้ถูกต้องนั้น จะทำให้เจ้าของธุรกิจเองมองภาพได้ทะลุปรุโปร่งมากยิ่งขึ้นว่า แต่ละโปรเจกต์งานบริการที่เรารับมานั้นมีกำไรขั้นต้นเท่าไร จากสมการนี้
รายได้ – ต้นทุนการให้บริการ = กำไรขั้นต้น
โปรแกรมบัญชีสำหรับธุรกิจ FlowAccount ช่วยคำนวณกำไรขั้นต้นแยกแต่ละโปรเจกต์ได้ง่ายๆ ด้วยฟังก์ชั่นโปรเจกต์
จ้างงานฟรีแลนซ์ต้องขึ้นทะเบียนประกันสังคมไหม
คำจำกัดความของฟรีแลนซ์ หมายถึง คนที่รับจ้างงานแบบอิสระ ไม่ได้ขึ้นตรงเป็นลูกจ้างประจำของเจ้าของธุรกิจ อาจจะรับงานตามความสามารถเป็นครั้งคราวไปตามแต่เจ้าของธุรกิจมอบหมาย ฟรีแลนซ์จึงมีนายจ้างได้หลายคนไม่ได้ยึดติดกับการทำงานที่เดียว
กรณีที่เราเป็นเจ้าของธุรกิจแล้วจ้างงานฟรีแลนซ์เป็นครั้งคราว จึงไม่จำเป็นต้องขึ้นทะเบียนประกันสังคม ยกเว้นเสียแต่ว่ารับมาเป็นพนักงานประจำของธุรกิจ แบบนี้กฎหมายกำหนดว่าจะต้องไปขึ้นทะเบียนประกันสังคมนายจ้างภายใน 30 วันค่ะ
อ่านต่อ ฟรีแลนซ์จะสมัครประกันสังคมได้ไหม
เรื่องเครื่องมือ (Software)
ในการให้บริการแบบออนไลน์ บางครั้งเจ้าของธุรกิจเองก็ต้องพัฒนาเครื่องมือ หรือว่า Software ขึ้นมาเพื่อใช้งานในธุรกิจ ยกตัวอย่างเช่น เครื่องมือในการเช็กเทรนด์การตลาดแบบออนไลน์
จริงๆ แล้วในปัจจุบัน ก็มี Software แบบสำเร็จรูปที่เราซื้อมาใช้งานได้มากมาย แต่ในเคสที่ต้องการพัฒนา Software ขึ้นมาเพื่อใช้งานเองก็สามารถทำได้ค่ะ โดยเราจะเรียกว่า สินทรัพย์ไม่มีตัวตน ในทางบัญชี
บันทึกต้นทุนเครื่องมือ (Software) ยังไง
การรับรู้ต้นทุนสินทรัพย์ไม่มีตัวตน ต้องแยกเป็น 2 กรณีแบบนี้
- ขั้นตอนการวิจัย เช่น การหาข้อมูลเพื่อตัดสินใจว่าจะพัฒนาซอฟต์แวร์ขึ้นมาใช้งานเองหรือไม่ ในขั้นตอนนี้เรายังไม่รวมเป็นต้นทุนของสินทรัพย์ แต่บันทึกเป็นค่าใช้จ่าย
- ขั้นตอนการพัฒนา เป็นขั้นตอนหลังจากที่ตัดสินใจจะพัฒนาซอฟต์แวร์ขึ้นมาใช้เองแล้ว ถ้ามีการจ่ายเงินเพื่อออกแบบและพัฒนาเกิดขึ้นจนเสร็จกระบวนการ ในทางบัญชีเราจะถือเป็นส่วนหนึ่งของต้นทุนสินทรัพย์โดยปริยายค่ะ
ทีนี้เราก็เก็บข้อมูลรายจ่ายต่างๆ ให้ครบถ้วน จนถึงขั้นซอฟต์แวร์ใช้งานได้อย่างสมบูรณ์นั่นเอง ในขั้นตอนนี้นักบัญชีสามารถช่วยเราคำนวณค่าใช้จ่ายจากการใช้ซอฟต์แวร์เป็นค่าตัดจำหน่ายสินทรัพย์ได้เลยค่ะ
ค่าตัดจำหน่ายคืออะไร
ในขั้นตอนแรกที่เราพัฒนาซอฟต์แวร์ เราจะรับรู้เป็นสินทรัพย์ของธุรกิจที่เรียกว่า สินทรัพย์ไม่มีตัวตน แต่ใช่ว่าสินทรัพย์นี้จะใช้ประโยชน์ได้ 100% เสมอไป เพราะว่ายิ่งนานวันเทคโนโลยีก็ยิ่งเก่าลง ทำให้ทางบัญชีเราต้องทยอยรับรู้ค่าใช้จ่ายตลอดอายุการใช้งาน เรียกว่า ค่าตัดจำหน่าย
หลักการคิดง่ายๆ เช่น พัฒนาซอฟต์แวร์ต้นทุนรวม 300,000 บาท แล้วคิดว่าใช้งานได้ประมาณ 3 ปี การตัดจำหน่ายก็จะคำนวณแบบนี้
ค่าตัดจำหน่ายในแต่ละเดือน = 300,000/3 ปี/12 เดือน = 8,333 บาท
สุดท้ายแล้ว เราจะมีค่าใช้จ่ายในงบการเงินทุกๆ เดือนอย่างสม่ำเสมอจำนวน 8,333 บาท จากการใช้ประโยชน์ของซอฟต์แวร์นั้นๆ ค่ะ
จากที่เล่ามาทั้งหมดนี้เป็นเรื่องบัญชีที่เจ้าของธุรกิจให้บริการออนไลน์ควรรู้ ไม่ว่าจะเป็น เรื่องการจัดการคน และการจัดการกับเครื่องมือทำมาหากินอย่าง Software แม้ว่าเราสร้างธุรกิจเองได้โดยไม่ใช้ต้นทุนเยอะในช่วงเริ่มแรก แต่คงไม่มีใครอยากได้เงินเท่าเดิมหรือใช้แรงทำงานคนเดียวตลอดไป เมื่อไรก็ตามที่คิดจะขยับขยาย หารายได้เพิ่ม เมื่อนั้นอย่าลืมคิดถึงเรื่องบัญชีที่เกี่ยวข้อง และรับรู้รายการต่างๆ ให้เหมาะสม จะได้ขึ้นชื่อว่า เจ้าของธุรกิจแบบเต็มภาคภูมินะคะ
About Author
เพจให้ความรู้เรื่องบัญชีสำหรับเจ้าของธุรกิจ ที่อยากให้บัญชีเป็นเรื่องง่าย ใกล้ตัว และมีประโยชน์กับธุรกิจ ภายใต้แนวคิดทีว่า “ทำบัญชี แล้วจะมีกำไร”
ร่วมสมัครเป็นนักเขียนกับ FlowAccount ได้ที่นี่