ทำไมต้องแยกคลังสินค้าให้เป็นระบบ

แยกคลังสินค้า

จริงๆแล้วคลังสินค้านั้นเป็นต้นทุนค่ะ ไม่ว่าจะเป็นต้นทุนเวลา หรือต้อนทุนพนักงานขนย้าย ฉะนั้นการเริ่มวางแผนคลังสินค้าเพื่อลดระยะเวลาและต้นทุนในการขนย้ายจึงเป็นสิ่งที่จะมาช่วยลีนให้ธุรกิจเหลือเพียงสิ่งที่สำคัญและสร้าง value ที่แท้จริง ลองอ่านบทความนี้เพื่อให้เข้าใจการจัดการที่ดีมากขึ้นนะคะ

คลังสินค้าเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของ Supply chain และผู้บริหารของทุกองค์กรให้ความสำคัญ เพราะเป็นที่จัดเก็บรักษาวัตถุดิบ งานระหว่างการผลิต และสินค้าสำเร็จรูปนั่นเองค่ะ ในความเป็นจริงแล้วทุกอย่างล้วนเป็นต้นทุนค่ะ ไม่ว่าจะเป็นต้นทุนเวลา หรือต้อนทุนพนักงานขนย้าย ฉะนั้นการเริ่มวางแผนคลังสินค้าเพื่อลดระยะเวลาและต้นทุนในการขนย้ายจึงเป็นสิ่งที่จะมาช่วยลีนให้ธุรกิจเหลือเพียงสิ่งที่สำคัญและสร้าง value ที่แท้จริงค่ะ

 

คลังสินค้า (Warehouse) เป็นพื้นที่ที่ได้วางแผนไว้เพื่อประสิทธิภาพในการใช้สอย เคลื่อนย้ายวัตถุดิบ คลังสินค้านี้เองทำหน้าที่จัดเก็บสินค้าระหว่างการเคลื่อนย้าย เพื่อสนับสนุนการผลิต และการจายสินค้า การจัดคลังสินค้าให้เป็นระเบียบในการเคลื่อนย้าย จัดวาง และเก็บรักษาให้สินค้าคงคุณภาพ ตรวจติดตามว่าสินค้าชนิดในเหลือเท่าไหร่ อยู่ที่คลังไหน ก็จะเป็นปัจจัยพื้นฐานในการสื่อสารภายในระหว่างแผนก และผู้บริหารก็ติดตามตัวเลขเพื่อคาดการณ์การผลิตสินค้า สั่งสินค้าเพิ่มให้เพียงพอต่อ Demand ของลูกค้าในอนาคต ตัดต้นทุนที่ไม่จำเป็นออกไปได้ค่ะ

 

ความสำคัญของการแยกคลังสินค้า

 

แยกคลังสินค้า

 

  • เป็นสถานที่เก็บรวบรวมสินค้าและวัตถุดิบส่งต่อให้กับลูกค้า อ๊ะ อันนี้คำที่ทุกคนคงจะคุ้นเคย แต่ความหมายลึกล้ำกว่านั้นมากนะคะ เพราะถ้าหากว่ามีการผลิตสินค้าแต่ละชนิดจากโรงงานที่ตั้งอยู่ในหลายๆ ที่จะมีคลังสินค้ากลางนี่ล่ะ ที่จะทำหน้าที่รวบรวมสินค้าที่สำเร็จรูปจำนวนมากจากหลายโรงงานไว้ในที่เดี่ยวกัน เพื่อส่งมอบให้กับลูกค้าและบริษัทขนส่งต่อไปค่ะ

 

  • แบ่งแยกสินค้าเพื่อสนับสนุนการผลิต คลังสินค้านี้เองจะรวบรวมวัตถุดิบในการผลิต ชิ้นส่วนหรือส่วนประกอบต่างๆ เพื่อส่งป้อนให้กับโรงงานผลิตเป็นสินค้าสำเร็จรูป

 

  • ทำให้ต้นทุนการผลิตมีประสิทธิภาพมากขึ้น การผลิตสินค้าจำนวนมากช่วยให้ต้นทุนการผลิตต่อหน่วยลดลง อย่างน้อยๆ จะเป็นการใช้ Fixed cost หรือต้นทุนคงที่ที่ไม่ว่าจะสถานการณ์ใดๆ บริษัทก็ต้องจ่ายอยู่ดี ให้เกิดความคุ้มค่าที่สุด ซึ่งการผลิตสินค้าจำนวนมากก็ย่อมต้องมีการแบ่งคลัง แยกว่าคลังไหนเก็บวัตถุดิบอะไร หรือคลังไหนเตรียมเพื่อรองรับสินค้าที่สำเร็จรูปแล้ว ส่งผลให้เกิดการประหยัดต้นทุนการผลิตทั้งเส้นได้ในที่สุด

 

  • กิจการพร้อมเผชิญสถานการณ์การเปลี่ยนไปของตลาด ลองคิดตามดูนะคะว่า จะดีแต่ไหนถ้ามีการแบ่งสินค้า วัตถุดิบต่างๆ ไว้ตามที่จะสามารถถนอมสินค้า หรือสินค้าที่มีลักษณะตามฤดูกาล ให้เพียงพอต่อความต้องการ เช่น คลังที่สามารถถนอมให้ส่งออกสินค้าที่ทำจากทุเรียนได้ทั้งปี เป็นต้น ที่จะต้องควบคุมทั้งอุณหภูมิ ความชื้น วางใกล้กับโรงงานผลิต หรือส่งมอบลูกค้าได้แบบแม่นยำมากขึ้น 

 

แบ่งประเภทคลังสินค้า

 

A) ประเภทคลังสินค้าตามลักษณะธุรกิจ

 

คลังสินค้า ทั่วไปนั้นจะทำหน้าที่จัดเก็บ จัดการเพื่อประสิทธิภาพสูงที่สุด และหลายคลังเมื่อเจ้าของธุรกิจพิจารณาถึงความพร้อมและต้นทุน ในการทำด้วยตนเองทั้งหมดก็อาจจะยังไม่ใช่คำตอบ วันนี้ลองมาทำความเข้าใจทางเลือกในการจัดเก็บสินค้า ตามประเภทในภาพใหญ่กันค่ะ

 

คลังสินค้าตามลักษณะธุรกิจมี 2 ประเภท คือ เช่าคลังคนอื่น (คลังสาธารณะ) และ คลังส่วนตัว ที่แต่ละปันก็มีทั้งจุดเด่น และจุดอ่อนที่ลองนำไปพิจารณาเป็นการบ้านกันก่อนที่จะตัดสินใจสร้างเองกันนะคะ

 

ข้อดีระหว่างทำคลังสินค้าเอง หรือ เช่าคนอื่น

 

1) เช่าคลังคนอื่น (คลังสาธารณะ - Public Warehouse)

 

ลักษณะสำคัญของคลังชนิดนี้คือ คลังหรือโกดังสินค้าที่กิจการไปเช่าพื้นที่ค่ะ ไม่ว่าจะเป็นคลังห้องเย็น ที่จัดเก็บกุ้ง Lobster จากต่างประเทศ เก็บปลาแซลมอนแช่เข็ง หรือ ยาและวัคซีนที่ต้องมีกรรมวิธีเฉพาะทางในการดูแลเป็นพิเศษ 

 

ที่สำคัญคือเป็นการตัดส่วนการลงทุนขนาดใหญ่นี้ออกไปให้ผู้เชี่ยวชาญดูแลแทนค่ะ และชำระค่าเช่าเป็นรายเดือนหรือรายจำนวนสินค้าแทนนั่นเอง ที่มีข้อดีข้อเสียตามนี้ค่ะ

 

ข้อดีของ Public Warehouse

  • ผู้ดูแลคลังสินค้ามีความรู้ ความเชี่ยวชาญเฉพาะทางเกี่ยวกับสินค้าที่นำไปฝากที่คลังเป็นอย่างดี 
  • รองรับเมื่อกิจการมีพื้นที่ไม่เพียงพอในบางช่วง ในการรองรับการจัดเก็บนั้นๆ
  • ลดการลงทุนการก่อสร้างและจัดเก็บ โดยทราบค่าใช้จ่ายที่คงที่ที่ชัดเจนในการจัดเก็บ
  • มีประโยชน์ด้าน Economic of scale สูง และมีความยืดหยุ่นมากด้วนเช่นกัน

 

ข้อเสียของ Public Warehouse

  • หากไม่มีการตกลงเงื่อนไขในการรักษาความลับทางการค้า บริษัทที่ดูแลสินค้าแทนกิจการอาจทำให้ข้อมูลวัตถุดิบสำคัญ รั่วไหลออกไปได้
  • ต้องมีการตั้งค่าระบบในการทำงานร่วมกับบุคคลภายนอกกิจการ และต้องมีการวางระบบเพื่อในกิจการสามารถติดตาม ตรวจสอบจำนวนสินค้า หรือความเสียหายต่างๆได้ทันที
  • มีต้นทุนคงที่ หากมีข้อตกตงในการเช่าเป็นคลังรายเดือน หากเมื่อใดก็ตามที่ไม่มีสินค้าจัดเก็บก็จะต้องชำระค่าเช่าเพื่อรองรับการจัดเก็บในอนาคต
  • มีการเก็บสินค้าของหลายๆบริษัท ดังนั้นหากไม่มีระบบบริหารจัดการที่ดี อาจมีการวางสลับ หรือทำให้สินค้าของเราเสียหายได้

 

2) คลังส่วนตัว (Private Warehouse)

 

เรียกอีกอย่างหนึ่งก็คือ คลังของบริษัทนั่นเองค่ะ หลายๆบริษัทก็มีการสร้างคลังในการจัดเก็บสินค้าในพื้นที่ของตัวเอง โดยแบ่งออกเป็น คลังวัตถุดิบ (Raw material) คลังสินค้าระหว่างผลิต (Work in process) คลังสินค้าสำเร็จรูป (Finished goods) เพื่อใช้ภายในบริษัทเองเท่านั้น

 

ข้อดีของ Private Warehouse

  • สามารถควบคุมคุณภาพเองได้ 100% ไม่ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของคนอื่น
  • มีต้นทุนในการทำต่ำกว่า หากวัดในระยะยาว
  • หากมีการผลิตตามคำสั่ง หรือต้องส่งสินค้าให้ลูกค้าแบบด่วนฉับพลันก็สามารถทำได้เลยทันที
  • ตรวจสอบ ติดตามจำนวนสินค้าคงคลังได้ทันทีตลอดเวลา และไม่ต้องกังวลว่าจะไปปนกับสินค้าของกิจการอื่นๆ

 

ข้อเสียของ Private Warehouse

  • ต้องใช้เงินลงทุนสูง ถ้าหากคลังสินค้าต้องมีลักษณะพิเศษ ไม่ว่าจะเป็นเครื่องปรับอากาศ เครื่องตรวจความชื้นภายใน
  • ต้องส่งพนักงานไป Training เพื่อให้สามารถกลับมาปฏิบัติงานได้ หากคลังมีความพิเศษ ต้องอาศัยความรู้เฉพาะทาง
  • เป็นส่วนงานที่ลงทุนแล้วไม่ก่อให้เกิดรายได้ทางตรง เป็นเพียงส่วนงานที่ลดต้นทุนสินค้า

 

ฺB) ประเภทคลังสินค้าตามลักษณะงาน

 

คลังสินค้าถ้ามองตามลักษณะหน้าที่ที่คลังนั้นๆทำ ที่มองต่างจากลักษณะธุรกิจที่เจ้าของกิจการสามารถนำมุมมองนี้ไปพิจารณาได้นะคะ มี 3 ประเภท เช่นกันค่ะ

 

1) ศูนย์กระจายสินค้า (Distribution center)

 

ศูนย์กระจายสินค้านี้ นอกจากทำหน้าที่เป็นทั้งคลังสินค้า (Warehouse) และเป็นคนที่คอยเชื่อมโยงระหว่างผู้ผลิตกับลูกค้าโดยตรง ที่ให้บริการด้านการขนส่ง (Logistic provider) ไปในตัวด้วยค่ะ 

 

ส่วนมากแล้วศูนย์กระจายสินค้าจะเป็นผู้ให้บริการ Outsource ที่ทำหน้าที่รับสินค้าจากผู้ฝากหรือผู้ผลิตหลายๆรายมารวมกันในคลัง และบริหารจัดการด้วยเทคโนโลยีการจัดเก็บ กระจาย และขนส่งสินค้าแทนเจ้าของกิจการแบบ All-in-one ค่ะ

 

2) คลังสินค้าสำหรับการเก็บรักษา (Warehouse)

 

คลังสินค้าชนิดนี้จะทำหน้าที่เก็บรักษาสินค้าในรูปวัตถุดิบ สินค้าระหว่างการผลิต และสินค้าสำเร็จรูป เพื่อตอบสนองความต้องการของฝ่ายผลิตหรือร้านค้าเป็นหลักค่ะ ดังนั้นการจัดเก็บลักษณะนี้จะเน้นการรักษาสภาพสินค้า ป้องกันการสูญหายหรือเสียหายเป็นสำคัญค่ะ

 

3) ศูนย์รวบรวมและกระจายสินค้า (Cross dock)

 

คำนี้อาจจะฟังแล้วแปลกใหม่สักนิดค่ะ แต่จริงๆแล้วความหมายคือ คลังสินค้าที่ใช้สำหรับการรับสินค้าและส่งสินค้าในเวลาเดียวกัน เป็นคลังสินค้าที่ถูกออกแบบเป็นพิเศษใช้ขนถ่ายจากพาหนะนึง ไปสู่ อีกพาหนะนึงค่ะ ทำหน้าที่รวบรวม บรรจุ คัดแยกสินค้า เพื่อจัดส่งไปให้กับผู้รับค่ะ

 

ภารกิจของ Cross dock จะเข้ามาเป็นตัวกลางในการรวบรสวมสินค้าให้สามารถจัดส่งได้เต็มคันรถ เต็มเรือ เต็มพื้นที่คอนเทนเนอร์ ส่วนมากแล้วศูนย์รวบรวมและกระจายสินค้านี้จะกระจายอยู่ตามภาพ หรือจังหวัดที่เป็นศูนย์กลางการขนส่ง เพื่อแก้ปัญหารถบรรทุกที่ไม่มีสินค้าในเที่ยวกลับ (ขากลับตีรถเปล่า) ค่ะ

 

C) ประเภทคลังสินค้าตามลักษณะสินค้า

 

เมื่อทราบเรียบร้อยแล้วว่าการแบ่งลักษณะสินค้าเป็นได้ทั้งตามลักษณะธุรกิจ หน้าที่งาน และสุดท้ายที่ขาดไม่ได้คือการแบ่งคลังสินค้าตามชนิดสินค้าค่ะ ที่ 4 ชนิดดังนี้นะคะ

 

ประเภทคลังสินค้าตามลักษณะสินค้า

 

1) คลังสินค้าทั่วไป ทำหน้าที่เก็บสินค้าที่หลากหลาย ไม่ต้องการรักษา หรือดูแลเป็นพิเศษเฉพาะทาง เช่น อาหารแห้ง อุปกรณ์ใช้ในครัว ค่ะ

 

2) คลังสินค้าของสด ทำหน้าที่เก็บสินค้าของสด ที่มีวันหมดอายุหรือบูดเสียได้ค่ะ เช่น อาหารสด ยา ผัก ผลไม้ ที่ต้องการควบคุมอุณหภูมิ รักษาระดับความชื้นให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมค่ะ

 

3) คลังสินค้ามูลค่าสูง ใครจะไปคิดค่ะว่า เพชร พลอย ของมีค่า หรือของสะสมทั้งหลายก็มีคลังจัดเก็บเฉพาะทางเช่นกันนะคะ ซึ่งต้องอาศัยระบบรักษาความปลอดภัยในระดับสูงค่ะ

 

4) คลังสินค้าอันตราย  ที่เก็บรักษาสารเคมี เชื้อเพลิง สารพิษ ซึ่งสิ่งที่สำคัญที่สุดคือการระมัดระวังไม่ให้เกิดกระระเหย หรือการระเบิดและไปกระทบกับบุคคลและชุมชนรอบข้างค่ะ รวมทั้งต้องมีกระบวนการในการบำบัดมลพิษอีกด้วยนะคะ

 

หวังว่าบทความจาก FlowAccount ในซีรีย์นี้จะช่วยทำให้เจ้าของกิจการ หรือ ผู้ที่มีความสนใจได้รับความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับความสำคัญ ลักษณะมุมมองและประเภทของคลังสินค้าได้ดีมากยิ่งขึ้นนะคะ รอติดตามกันเรื่องคลังสินค้าในบทความต่อไปได้เลยค่ะ

 

อ้างอิง

  • https://dol.dip.go.th/uploadcontent/DOL/Anurat2560/PR/E1.pdf

About Author

ลองใช้งานFlowAccount ฟรี 30 วันได้ง่ายๆ วันนี้
ลองใช้งานฟรีได้ง่ายๆ วันนี้
สมัครเลย

You may also like