สินทรัพย์นั้น ถ้าเป็นของใช้ส่วนตัว แต่เราเอามามั่วเข้าธุรกิจ เช่น รถยนต์ บ้าน หรือสินทรัพย์ต่างๆ มาลงเป็น “สินทรัพย์” ของธุรกิจและตัดค่าเสื่อมราคาในทางภาษีแล้ว อาจจะทำให้กลายเป็นรายจ่ายต้องห้าม นอกจากนั้นแล้ว จะทำให้ข้อมูลกำไรขาดทุนในการตัดสินใจผิดพลาดไปด้วยเช่นกันครับ |
ในตอนก่อนหน้านี้ ผมมีพูดถึงเรื่องของความหมายและความแตกต่างระหว่าง ค่าใช้จ่าย สินทรัพย์ และภาษีซื้อ แต่สำหรับตอนนี้ ผมจะพาไปเจาะลึกกับสินทรัพย์และค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับสินทรัพย์ อย่าง ค่าเสื่อมราคา (ที่ติดค้างกันไว้) ให้ทำความเข้าใจกันครับ
ค่าเสื่อมราคา คืออะไร
ทบทวนกันอีกที กับนิยามของคำว่า สินทรัพย์ นั่นคือ ทรัพยากรที่อยู่ในความควบคุมของกิจการ ทรัพยากรดังกล่าวเป็นผลของเหตุการณ์ในอดีต ซึ่งกิจการคาดว่าจะได้รับประโยชน์เชิงเศรษฐกิจจากทรัพยากรนั้นในอนาคต
หรือถ้าพูดในมุมของธุรกิจก็คือ อะไรที่เราซื้อหรือได้มา แล้วคิดว่าจะมีประโยชน์มากกว่าการใช้ๆ แล้วหมดไป แต่อย่างไรก็ดี มีอายุการใช้งานของมันอยู่ ซึ่งอายุการใช้งานของมันนี่แหละครับ จะมีความสัมพันธ์กับคำว่า ค่าเสื่อมราคา ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายจากการใช้งานสินทรัพย์ที่มีอายุการใช้งานจำกัดนั่นเอง
ถ้ามองในมุมของนักบัญชีอาจจะเรียกค่าเสื่อมราคาว่า ค่าใช้จ่ายที่ตัดจากมูลค่าของสินทรัพย์ที่กิจการใช้ประโยชน์ไประหว่างรอบบัญชีที่ดำเนินการ เพื่อให้สมเหตุสมผลมากที่สุด
ยกตัวอย่างเช่น บริษัทเราซื้อคอมพิวเตอร์เครื่องละ 30,000 บาท เข้ามาใช้ในการทำงานของกิจการ ซึ่งแน่นอนว่าคอมพิวเตอร์ที่ซื้อมาไม่ได้ใช้วันเดียวจบแน่นอน ถ้าใครคิดเป็นค่าใช้จ่ายทั้งก้อน ก็จะทำให้กำไรและขาดทุนไม่สมเหตุสมผล
นั่นจึงต้องประมาณกันต่อว่า อายุการใช้งานของคอมพิวเตอร์เครื่องนี้เป็นกี่ปี เช่น คาดว่าจะใช้สัก 5 ปี แบบนี้ก็จะแบ่งออกเป็นค่าใช้จ่ายปีละ 6,000 บาท และเรียกว่าค่าเสื่อมราคาซึ่งแบ่งตามอายุการใช้งานของคอมพิวเตอร์นั่นเอง และแน่นอนว่าเมื่อเป็นแบบนี้ ก็จะทำให้ข้อมูลกำไรและขาดทุนของธุรกิจมีความสมเหตุสมผลมากขึ้นตามไปด้วย
วิธีการคิดค่าเสื่อมราคา
การคิดค่าเสื่อมราคาที่ง่ายและนิยมที่สุดนั้น เรียกว่า วิธีเส้นตรง โดยนำมูลค่าตั้งต้น (ราคาทุน) หักด้วยมูลค่าซาก (ถ้ามี) แล้วหารด้วยอายุการใช้งานของสินทรัพย์นั้นๆ ได้เลย
อย่างเช่นตัวอย่างคอมพิวเตอร์เครื่องก่อนหน้านี้ เมื่อไม่มีราคาซาก จึงคำนวณออกมาได้เท่ากับ 6,000 บาทนั่นเอง [มาจาก (30,000 - 0) / 5]
อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่สินทรัพย์ทุกประเภทจะมีค่าเสื่อมราคาทั้งหมด แต่จะมีเฉพาะส่วนที่เป็นสินทรัพย์ที่มีไว้ใช้งานในการดำเนินงานเท่านั้นที่สามารถคิดค่าเสื่อมราคาได้ ดังนั้น เงินสด ลูกหนี้การค้า หรือ สินค้าคงเหลือ ก็จะไม่มีการคิดค่าเสื่อมราคาเกิดขึ้น เพราะไม่ใช่เป็นสินทรัพย์ที่ไว้ใช้ในการดำเนินของธุรกิจ (ในลักษณะของการใช้งานตามที่ว่ามา)
มาถึงตรงนี้ ใครหลายคนอาจจะคิดว่า ถ้าเราสามารถคิดอายุการใช้งานน้อย เช่น ตัดให้มันเหลือแค่ 3 ปี หรือ 2 ปี ก็สามารถทำให้มีค่าเสื่อมราคาที่เป็นค่าใช้จ่ายสูงๆ ได้สิ เพื่อที่จะได้เสียภาษีน้อยๆ เพราะว่าภาษีเงินได้นิติบุคคลนั้น คำนวณจากกำไรสุทธิ (ทางภาษี) ของกิจการ
ยิ่งมีค่าใช้จ่ายมากขึ้นเท่าไร กำไรสุทธิก็ยิ่งจะน้อยลงเท่านั้น และส่งผลให้ธุรกิจต้องเสียภาษีลดลงตามไปด้วยนั่นเอง (พร้อมกับยิ้มหวานอยู่ในใจ)
อ๊ะๆ อย่าเพิ่งยิ้มหวานครับ เพราะว่าในทางภาษีแล้ว มีการกำหนดวิธีการคิดค่าเสื่อมราคาไว้ชัดเจนเลยว่า ต้องคิดในอัตราที่กฎหมายกำหนด โดยถูกเขียนไว้ใน พระราชกฤษฏีกา 145 กำหนดไว้ว่าแต่ละตัวต้องมีการคิดในอัตราเท่าไร เช่น อาคารถาวรไม่เกิน 5% ต่อปี หรือสินทรัพย์ประเภทอื่นไม่เกิน 20% ต่อปี
ซึ่งแบบนี้จะทำให้เห็นว่า ต่อให้ทางบัญชีจะคิดค่าเสื่อมราคามากแค่ไหน แต่ถ้าไม่เป็นไปตามหลักการภาษีแล้วละก็ จะไม่สามารถเป็นค่าใช้จ่ายทางภาษีได้นั่นเอง
วิธีจัดการสินทรัพย์และคำนวณค่าเสื่อมราคา
ดังนั้นมาถึงตรงนี้ ผมจึงมีคำแนะนำสั้นๆ สำหรับเจ้าของธุรกิจเรื่องสินทรัพย์และค่าเสื่อมราคาดังนี้ครับ เพื่อให้ไม่มีปัญหาทางด้านภาษีตลอดปีและตลอดไป (ว่าเข้าไปนั่น)
สินทรัพย์ที่ซื้อมาใช้ในกิจการ ควรเป็นสินทรัพย์ที่เกี่ยวข้องกับการใช้งานของธุรกิจ
ประเด็นแรกที่สำคัญคือ ถ้าสินทรัพย์นั้นเป็นของใช้ส่วนตัว แต่เราเอามามั่วเข้าธุรกิจ เช่น รถยนต์ บ้าน หรือสินทรัพย์ต่างๆ มาลงเป็น “สินทรัพย์” ของธุรกิจและตัดค่าเสื่อมราคา ถึงแม้ว่าบัญชีจะไม่ว่าอะไร แต่ในทางภาษีแล้ว อาจจะทำให้กลายเป็นรายจ่ายต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี (เพราะถือว่าเป็นรายจ่ายที่ไม่เกี่ยวข้องกับกิจการครับ)
นอกจากนั้นแล้ว จะทำให้ข้อมูลกำไรขาดทุนในการตัดสินใจผิดพลาดไปด้วยเช่นกันครับ เพราะถ้าหากเรานำสินทรัพย์ที่ไม่เกี่ยวข้องมาทำให้เกิดรายจ่าย ก็แสดงว่ากำไรหรือขาดทุนที่เกิดขึ้นนั้นไม่สะท้อนข้อเท็จจริงของธุรกิจตามไปด้วย
ดังนั้นอันดับแรกควรตัดวงจรแนวคิดนี้ก่อนครับ
ค่าเสื่อมราคา ควรประมาณจากอายุการใช้งานจริง
ประเด็นต่อมาคือ สินทรัพย์แต่ละตัวนั้นมีอายุการใช้งานจริงเท่าไร เราควรนำมาประมาณการใช้งานจริง ถึงแม้ว่าจะไม่ตรงกับทางภาษีก็ไม่เป็นไร ถ้าหากสามารถสะท้อนกำไรหรือขาดทุนที่แท้จริงของธุรกิจให้เห็นได้ ก็จะช่วยให้เราวิเคราะห์และตัดสินใจได้ง่ายขึ้นครับ แต่อย่างไรก็ตาม ต้องหานักบัญชีเก่งๆ มาช่วยงานเพื่อให้กระทบหรือปรับปรุงรายการทางภาษีได้อย่างเหมาะสม หรือจะลองใช้โปรแกรมบัญชี FlowAccount ช่วยบันทึกรายการสินทรัพย์ พร้อมคำนวณค่าเสื่อมราคาและลงบัญชีในแต่ละงวดให้ทันที ก็จะทำให้รู้มูลค่าสินทรัพย์และผลกำไรขาดทุนถูกต้องด้วยนะครับ
ควรมีทะเบียนทรัพย์สินที่ชัดเจน เพื่อใช้ในการตรวจสอบ
สำหรับกรณีนี้จะมีประโยชน์สองด้าน โดยด้านแรกคือป้องกันการทุจริตหรือขโมยสินทรัพย์ ส่วนอีกด้านหนึ่งคือไว้ใช้สำหรับคำนวณค่าเสื่อมราคาอย่างเป็นระบบ รวมถึงสามารถตรวจสอบข้อมูลที่แน่นอนได้ว่าสินทรัพย์ยังมีอายุใช้งานคงเหลือเท่าไร และคิดค่าเสื่อมราคาเหมาะสมหรือไม่
ท้ายที่สุดแล้ว ในมุมของเจ้าของธุรกิจ ผมคิดว่าการทำความเข้าใจสำคัญเท่านี้ก็เพียงพอที่จะทำให้เราเห็นภาพรวมของธุรกิจแล้วละครับว่า สินทรัพย์ที่เราซื้อมาได้ใช้ประโยชน์จริงไหม และมันสะท้อนออกมาเป็นค่าใช้จ่าย (ค่าเสื่อมราคา) เพื่อวัดมูลค่าของกำไรได้อย่างเหมาะสมหรือเปล่า เพื่อให้สามารถวัดผลตัวเลขได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุดครับ
About Author
พรี่หนอม หรือ TAXBugnoms (แทกซ์-บัก-หนอม) เป็นบล็อกเกอร์ นักเขียน และวิทยากรที่ให้ความรู้เรื่องภาษี บัญชี การเงิน มีประสบการณ์ทำงานในแวดวงบัญชี ภาษี มานานกว่า 15 ปี โดยมีแนวคิดว่า “ภาษี” ควรเป็น “เรื่องเรียบง่าย” และ “รู้สึกสบายใจ” ที่จะจ่าย