ทำธุรกิจต้องเก็บตัวเลขอะไรบ้าง? ถึงจะรู้ว่ากิจการเรา “กำไร” หรือ “ขาดทุน” (ตอนแรก)

กำไรหรือขาดทุนในธุรกิจ

"กำไรของธุรกิจ = เงินในบัญชีที่เพิ่มเข้ามา"  คำพูดนี้อาจจะยังไม่พอสำหรับการทำธุรกิจในปัจจุบัน เพราะสิ่งสำคัญกว่านั้น คือ การใช้ข้อมูลทางการเงินมาเพื่อช่วยในการตัดสินใจในการทำธุรกิจ การวางแผนต่างๆ บทความนี้จะพามาทำความเข้าใจในเรื่องของการคำนวณกำไรสำหรับธุรกิจครับ

ก่อนหน้านี้ หลายคนอาจจะมองว่า กำไรของธุรกิจ = เงินในบัญชีที่เพิ่มขึ้นมา แต่เมื่อได้เจอกับวิกฤตที่ผ่านมา ผมเชื่อว่าความคิดนี้ย่อมจะเปลี่ยนแปลงไปครับ เพราะสิ่งที่สำคัญกว่าคือ ข้อมูลในการตัดสินใจ และมันควรวัดได้อย่างเป็นรูปธรรม จึงเป็นที่มาของบทความในวันนี้ครับ เราจะมาคุยกันถึงเรื่องกำไร ขาดทุน และตัวเลขที่ควรใช้ในการวัดผลอย่างถูกต้องครับ

 

เริ่มจากความหมายของคำว่า “กำไร” และ “ขาดทุน”

 

ถ้าให้นิยามคำว่า “กำไร” หรือ “ขาดทุน” แบบง่ายๆ มันก็คือ รายได้ที่มากกว่าค่าใช้จ่าย หรือ น้อยกว่าค่าใช้จ่ายในแต่ละกรณีนั่นแหละครับ หรือถ้าเขียนเป็นรูปแบบสมการที่คุ้นเคยกันก็คือ 

 

รายได้ - ค่าใช้จ่าย = กำไร (ขาดทุน)

 

แต่สิ่งที่ทำให้ตัวเลข “กำไร” หรือ “ขาดทุน” ออกมาถูกต้องนั้น มันเริ่มจากการกำหนดนิยามของคำว่า “รายได้” และ “ค่าใช้จ่าย” ของธุรกิจเสียก่อน เพราะถ้าความหมายผิด ชีวิตก็เปลี่ยนได้เลยครับ

 

ในมุมมองของผม ผมมองว่า รายได้ และค่าใช้จ่าย ต้องเริ่มจากนิยามที่ชัดเจนก่อน โดยระบุว่า มันคือ “สิ่งที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ” และ “ไม่ใช่เรื่องส่วนตัว” 

 

ยกตัวอย่างเช่น นายบักหนอมเป็นฟรีแลนซ์ ทำแฟนเพจ TAXBugnoms เพื่อหารายได้จากการรับงานต่างๆ ดังนั้นเราจะต้องนิยามให้ชัดว่า รายได้ที่มาจากการทำแฟนเพจ = รายได้ของธุรกิจ (ฟรีแลนซ์)

 

แต่รายได้ที่นายบักหนอมได้รับจากการทำงานเป็นมนุษย์เงินเดือน อันนี้ไม่ใช่รายได้ของธุรกิจ นั่นแปลว่า ถึงแม้ว่าจะเป็นรายได้เหมือนกัน แต่เราต้องกำหนดให้ชัดเจนตั้งแต่แรก

 

จากหลักการแบบนี้ จะทำให้นายบักหนอมมองภาพชัดเจนด้วยว่า เมื่อรายได้มาจากการทำแฟนเพจแล้ว ค่าใช้จ่ายที่ได้มาก็ต้องมาจากการทำแฟนเพจด้วยเช่นกัน เช่น ค่าใช้จ่ายในการโฆษณาแฟนเพจให้เป็นที่รู้จัก ค่าจ้างน้องแอดมินมาดูแล ฯลฯ 

 

หรืออย่างการทำงานในรูปแบบอาชีพเสริม เป็นธุรกิจเริ่มต้นในรูปแบบบุคคลธรรมดา อย่างเช่น บางคนทำธุรกิจขายของออนไลน์แบบซื้อมาขายไป ก็จะรู้ว่ารายได้มาจากการขายของชิ้นนั้น ส่วนค่าใช้จ่ายก็ประกอบด้วย ต้นทุนสินค้า ค่าส่ง ค่าโฆษณา ค่าแพ็กของ ฯลฯ 

 

จะเห็นว่าเมื่อเรากำหนดกรอบของรายได้ถูกต้อง เราจะเห็นความสัมพันธ์ของค่าใช้จ่ายตามมาทันทีครับ ซึ่งตรงนี้เราต้องระวังในการที่จะไม่นำ “ค่าใช้จ่ายส่วนตัว” มารวมกับการทำธุรกิจ เช่น ค่ากินอยู่ ค่าเช่าบ้าน ค่าผ่อนคอนโดฯ ค่าใช้จ่ายเดินทางต่างๆ ฯลฯ 

 

ที่ผมบอกแบบนี้ เพราะว่าหลายคนมักจะเข้าใจผิด นำค่าใช้จ่ายส่วนนี้มาคิดด้วย แต่กลับไม่นำส่วนที่ต้องคิดจริงๆ มารวมคำนวณเป็นค่าใช้จ่ายแทน 

 

ค่าใช้จ่ายทางธุรกิจ

ค่าใช้จ่ายส่วนตัว

ต้นทุนสินค้า

ค่าการตลาดและโฆษณา

ค่าขนส่งสินค้า

ค่าจ้างพนักงาน

ค่าเช่าออฟฟิศ

ค่าเดินทางและที่พัก

ค่ารับรอง/เลี้ยงลูกค้า

ค่าน้ำมัน/แก๊ส/รถยนต์

ค่าไฟ/ค่าน้ำ/ค่าโทรศัพท์/ค่าอินเทอร์เน็ต

ค่าบริการซอฟต์แวร์

ค่าจ้างบริการ/ค่าทำบัญชี

ค่าเบี้ยประกัน

ค่าภาษี

ฯลฯ

ค่ากินอยู่

ค่าเช่าบ้าน

ค่าผ่อนคอนโดฯ

ค่าเดินทาง

ค่าน้ำมัน

ค่าไฟ/ค่าน้ำ/ค่าโทรศัพท์/ค่าอินเทอร์เน็ต

ค่าเบี้ยประกัน

ค่าภาษี

ฯลฯ

 

ตัวอย่างค่าใช้จ่ายทางธุรกิจและค่าใช้จ่ายส่วนตัว

 

หากใครอยากจัดสรรค่าใช้จ่ายให้ชัดเจนขึ้น ลองใช้เมนูใช้จ่ายใน FlowAccount ดูนะครับ ในนั้นจะมีหมวดหมู่ที่ช่วยเราแยกประเภทของค่าใช้จ่ายให้ ทำให้ลงบัญชีได้อย่างเป็นระเบียบ และช่วยทำให้รู้ว่าธุรกิจของเราเสียค่าใช้จ่ายไปกับเรื่องอะไรมากที่สุดครับ 

 

 

 

Dashboard FlowAccount

ต้นทุนชั่วโมงการทำงาน - ค่าใช้จ่ายที่ธุรกิจมักจะมองไม่เห็น

 

ถ้าเราลองย้อนดูตัวอย่างเมื่อกี้ ไม่ว่าจะเป็นกรณีของนายบักหนอมที่เป็นฟรีแลนซ์ หรือคนที่ทำอาชีพเสริมขายของออนไลน์ มันควรมีค่าใช้จ่ายตัวไหนที่เราควรคิดเพิ่มเติมหรือเปล่า? 

 

คำตอบ คือ ต้นทุนของตัวเรา หรือ ค่าเสียเวลาของตัวเราเองครับ เพราะนั่นคือตัวแปรสำคัญในการคำนวณกำไร การตัดสินใจการทำธุรกิจต่อ ไปจนถึงการกำหนดราคาขายสินค้าและบริการด้วย

 

อย่างกรณีของนายบักหนอม ฟรีแลนซ์เจ้าของแฟนเพจคนดีคนเดิม หากนายบักหนอมมีรายได้จากการทำแฟนเพจก้อนแรกเข้ามา 50,000 บาท โดยเสียค่าโปรโมตเพจไป 2,500 บาท และค่าจ้างน้องแอดมินอีก 5,000 บาท กำไรจากงานชิ้นนี้ คือ 42,500 บาท ถูกไหมครับ?

 

หรือกรณีขายของออนไลน์สร้างรายได้เสริม ถ้าหากยอดขายที่เกิดขึ้น คือ 100,000 บาท หักต้นทุนของที่ซื้อมาจำนวน 50,000 บาท ค่าโฆษณา 10,000 บาท และค่าส่งรวมกับค่าใช้จ่ายอื่นๆ อีก 5,000 บาท ดังนั้นกำไรจากกรณีนี้ก็น่าจะเป็น 35,000 บาท ถูกไหมครับ? 

 

คำตอบ คือ ใช่ครับ คำตอบนี้ถูกต้องในแง่ของการคิดกำไรเพื่อคำนวณภาษี หรือกำไรที่วัดผลด้วยตัวเลข แต่อาจจะไม่เพียงพอในการบริหารจัดการกำไรของธุรกิจ เพราะยังไม่คิดต้นทุนในการทำงานของเจ้าของ (ตัวเราเอง) ออกมาด้วย

 

ถ้าผมขยายความเพิ่มเติมว่ากำไร 42,500 บาทที่นายบักหนอมได้มานี้ นายบักหนอมต้องใช้เวลาทำงานทั้งหมด 200 ชั่วโมง เพื่อให้ได้กำไรตรงนี้มา นั่นแปลว่านายบักหนอมกำลังเอาเวลา 1 ชั่วโมงในแต่ละเดือนของตัวเองไปแลกกับเงิน 212.50 บาท 

 

หรืออย่างกรณีขายของออนไลน์ ถ้ากำไร 35,000 บาท มาจากการแลกเวลาทำงานของเราทั้งหมด 35 ชั่วโมง ก็เท่ากับว่า เจ้าของธุรกิจคนนี้เอาเวลาของตัวเอง 1 ชั่วโมงไปแลกกับเงินจำนวน 1,000 บาทมาเช่นกัน 

 

ซึ่งการคิดต้นทุนตรงนี้เข้าไปด้วยในกรณีที่เราเป็นบุคคลธรรมดาที่ทำอาชีพฟรีแลนซ์ ธุรกิจ หรือขายของออนไลน์ มันจะช่วยให้เราเห็นถึงต้นทุนแฝงส่วนที่เป็นค่าแรงของตัวเอง ที่เราอาจจะไม่เคยคิดมาก่อน และบางทีมันช่วยให้เราตัดสินใจต่อได้ด้วยว่า การทำแบบนี้มันคุ้มค่าในการทำธุรกิจต่อไปหรือไม่ 

 

ถ้าหากผมเป็นนายบักหนอมที่ต้องแลกเวลาขนาดนี้มาเพื่อสร้างรายได้ ผมอาจจะเปลี่ยนใจไม่ทำก็ได้ ถ้าสามารถทำงานอย่างอื่นที่ได้เงินมากกว่า เมื่อเทียบกับการใช้เวลาเท่ากัน (ต้นทุนค่าเสียโอกาส)

 

หรือในกรณีขายของออนไลน์ ถ้าหากเจ้าของธุรกิจมองว่าการแลกชั่วโมงตรงนี้คุ้มค่าเพราะได้ถึง 1,000 บาทต่อชั่วโมง ก็อาจจะต่อยอดคิดต่อว่า จริงๆ แล้วต้นทุนการทำงานต่อชั่วโมงของเราถึง 1,000 บาทไหม ถ้าเราให้ค่าชั่วโมงการทำงานของตัวเองสัก 800 บาท (ตามความเป็นจริง) ดังนั้นกำไรจริงของธุรกิจก็น่าจะอยู่ที่ 7,000 บาท หลังจากหักต้นทุนของเรา (ที่จะทำออกมาเป็นค่าใช้จ่ายส่วนตัว) และเราควรนำกำไรส่วนที่เหลือนี้ไปบริหารจัดการธุรกิจต่ออย่างไรดี

 

โดยส่วนตัวแล้ว ผมมองว่าการคิดค่าใช้จ่ายในมุมของการบริหารจัดการแบบนี้ คือ สิ่งที่เจ้าของธุรกิจควรใช้พิจารณาประกอบเป็นอย่างมาก เพราะมันจะช่วยให้เราสามารถคิดเงินเดือนหรือค่าใช้จ่ายของตัวเองที่จะแยกจากธุรกิจได้อย่างถูกต้องเพื่อบริหารจัดการกระแสเงินสด และไม่มีปัญหาในภายหลังอีกด้วยครับ 

 

สำหรับตอนนี้ผมขอหยุดไว้แค่นี้ก่อนละกันครับ ตอนต่อไปเราจะมาพูดคุยกันถึงเรื่องของการคำนวณภาษี ซึ่งเป็นสิ่งที่หลายคนให้ความสำคัญมากกว่าค่าใช้จ่ายของธุรกิจ และมันอาจทำให้ชีวิตมีปัญหาได้ ถ้าเราไม่เข้าใจหลักการคิดภาษีอย่างถูกต้อง

 

ฝากติดตามเรื่องราวของ ภาษี ในตอนต่อไปด้วยนะครับ สวัสดีครับ 🙂

ลองใช้งานFlowAccount ฟรี 30 วันได้ง่ายๆ วันนี้
ลองใช้งานฟรีได้ง่ายๆ วันนี้
สมัครเลย

You may also like