วิธีแก้ไขเมื่อกรอกข้อมูลผู้ถูกหักภาษี ภ.ง.ด.3 หรือ 53 ผิด

แก้ไข ภงด3 ภงด53

นักบัญชีและเจ้าของธุรกิจก็มักจะกรอกแบบและยื่นภาษีผิดอยู่บ่อยๆ บางทีกรอกข้อมูลผู้รับเงินผิดบ้าง ยื่นแบบสลับกันบ้าง ใส่อัตราภาษีหัก ณ ที่จ่ายผิดบ้าง หรือบางครั้งดันลืมยื่นหัก ณ ที่จ่ายไปเลยซะงั้น แต่อย่าเพิ่งตกใจไป ทุกปัญหาย่อมมีทางออกที่รวมไว้ในบทความนี้ค่ะ

ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายเป็นภาษีที่ผู้จ่ายเงินต้องหักและนำส่งสรรพากรทุกครั้งสำหรับรายจ่ายที่กฎหมายกำหนด และเชื่อไหมคะว่าทั้งนักบัญชีและเจ้าของธุรกิจก็มักจะกรอกแบบและยื่นภาษีผิดอยู่บ่อยๆ เพราะในแต่ละเดือนธุรกิจมีรายจ่ายมากมาย บางทีกรอกข้อมูลผู้รับเงินผิดบ้าง ยื่นแบบสลับกันบ้าง ใส่อัตราภาษีหัก ณ ที่จ่ายผิดบ้าง หรือบางครั้งดันลืมยื่นหัก ณ ที่จ่ายไปเลยซะงั้น เมื่อเจอปัญหาแบบนี้ ไม่ว่าใครก็ต้องกังวลแน่นอนค่ะ….แต่อย่าเพิ่งตกใจไป ทุกปัญหาย่อมมีทางออก 

 

ถ้าใครเจอปัญหาการยื่นหัก ณ ที่จ่ายผิดเหล่านี้ แล้วกำลังหาวิธีแก้ไขอยู่ เราลองมาอ่านบทความนี้ แล้วค่อยๆ แก้ไขไปพร้อมๆ กันนะคะ

 

ปัญหาพบบ่อย ของการกรอกข้อมูลภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย

 

กรณี1: เขียนชื่อหรือกรอกเลขที่ประจำตัวผู้เสียภาษีของผู้ถูกหัก ณ ที่จ่ายบน ภ.ง.ด.3/ภ.ง.ด.53 ผิด

 

กรณีเขียนชื่อผิด หรือกรอกเลขที่ประจำตัวผู้เสียภาษี 13 หลักผิด ไม่ว่ากรณี ภ.ง.ด. 3 หรือ ภ.ง.ด. 53 เนี่ย ดูเหมือนจะไม่ใช่เรื่องสำคัญ แต่ในความเป็นจริงแล้ว เป็นเรื่องสำคัญมากค่ะ เพราะเวลาที่สรรพากร ตรวจสอบข้อมูลการหัก ณ ที่จ่ายย้อนหลัง ในเคสที่ผู้ถูกหักภาษี ต้องการใช้สิทธิ์เครดิตขอคืนภาษี อาจทำให้เจ้าหน้าที่สรรพากรไม่สามารถตรวจสอบข้อมูลได้

 

หากชื่อไม่ตรง หรือเลขประจำตัวผู้เสียภาษีไม่ตรง สรรพากรอาจไม่ให้ ใช้สิทธิ์เครดิตภาษีสำหรับส่วนนั้นได้นะ (แบบนี้เสียดายแย่ แถมยังจะมีปัญหากับซัพพลายเออร์ในภายหลังอีกด้วย)

 

บริเวณกรอกข้อมูลผู้ถูกหักภาษีเงินได้ ภงด3 - ภงด53

 

วิธีแก้ไข คือ ยื่นแบบคำขอแก้ไขข้อมูลภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย (ป.ป.01) โดยการแก้ไขข้อมูลภาษีเงินได้นี้ จะใช้กรณีที่ เรากรอกข้อมูลผิดบางรายการ เช่น ชื่อผู้ถูกหักภาษี ที่อยู่ผิด หรือเลขประจำตัวผู้เสียภาษีผิด แต่ข้อมูลตัวเลขการหัก ณ ที่จ่ายถูกต้องแล้ว

 

เอกสารที่ต้องใช้ในการแก้ไข กรณีกรอกผิด

  • แบบคำขอแก้ไขข้อมูลภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย (ป.ป.01)
  • ส่วนที่ 2 รายละเอียดข้อมูลที่ขอแก้ไขในใบแนบแบบยื่นรายการภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย (ส่วนที่ 2 ป.ป.01)
  • แบบภาษีเดิม และหนังสือรับรองหัก ณ ที่จ่าย ที่เคยยื่นผิดไป
  • หลักฐานที่ถูกต้อง ที่ต้องการแก้ไขจากส่วนที่ผิด
  • หนังสือชี้แจงเหตุผล

 

กรณี2: ยื่นแบบสลับกันจากที่ควรเป็น ภ.ง.ด.3 แต่ยื่นเป็น ภ.ง.ด.53

กรณีการยื่นแบบแสดงรายการภาษีผิด อาจจะพบเจอได้ไม่บ่อย แต่ก็มีเห็นกันอยู่บ้าง โดยกรณีนี้ ชื่อผู้ถูกหักภาษีถูกต้อง อัตราภาษีถูกต้อง การหักภาษีถูกต้อง แต่ดันยื่นแบบผิดประเภท เช่น จากที่ต้องยื่นแบบ ภ.ง.ด. 3 สำหรับการหัก ณ ที่จ่ายบุคคลธรรมดา แต่ดันยื่นแบบ ภ.ง.ด.53 แทน ซึ่งใช้สำหรับนิติบุคคล

 

สลับกันระหว่างภงด3 และ ภงด53

 

สำหรับกรณีนี้ ไม่ได้ถือว่านำส่งภาษีผิด เพียงแค่ยื่นแบบผิดประเภท เราสามารถขออนุโลมได้ค่ะ  

 

วิธีการแก้ไข คือ การยื่นแบบคำขออนุโลมการยื่นแบบกรณีใช้แบบผิดประเภท (ป.ป.01) ซึ่งใช้ได้ทั้งกรณี ยื่นแบบผิดประเภท ยื่นแบบสลับกัน หรือยื่นประเภทเงินได้สลับกัน แต่ข้อมูลตัวเลขการหัก ณ ที่จ่ายถูกต้องแล้ว

 

เอกสารที่ต้องใช้ในการแก้ไข กรณียื่นสลับ

 

  • แบบคำขออนุโลมการยื่นแบบกรณีใช้แบบผิดประเภท (ป.ป.02)
  • ส่วนที่ 2 รายละเอียดข้อมูลที่ขออนุโลมใบแนบแบบยื่นรายการภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย (ส่วนที่ 2 ป.ป.02)
  • แบบภาษีเดิม และหนังสือรับรองหัก ณ ที่จ่าย ที่เคยยื่นผิดไป
  • หลักฐานที่ถูกต้อง ที่ต้องการแก้ไขจากส่วนที่ผิด
  • หนังสือชี้แจงเหตุผล

 

กรณี3: คิดอัตราหัก ณ ที่จ่ายผิด เช่น จากที่ควรหัก 5% ดันไปหัก 3%

 

จาก 2 หัวข้อที่ผ่านมา ทั้งกรณีที่ยื่นแก้ไขข้อมูล และยื่นขออนุโลมข้อมูลที่ผิดพลาด เป็นกรณีที่ตัวเลขภาษีถูกต้องแล้ว แค่รายละเอียดข้อมูลบางอย่างผิดพลาดไปเท่านั้น (ใช้คำว่าผิดเพียงเล็กน้อยให้อภัยกันได้)

 

แต่สำหรับกรณีที่ 3 นี้เป็นกรณีที่เรายื่นอัตราภาษีผิด เช่น หักภาษี ณ ที่จ่ายต่ำเกินไป จากที่ควรจะหัก 5%  ก็หักเพียงแค่ 3% เท่านั้น ในกรณีนี้ เราต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีหัก ณ ที่จ่ายเพิ่มเติม ให้ครบถ้วน ตามอัตราที่กฎหมายกำหนดค่ะ

 

โดยกรณีที่เรายื่นแสดงรายการภาษีหัก ณ ที่จ่ายเพิ่มเติม ถือเป็นการยื่นภาษีย้อนหลัง และมีเงินเพิ่มที่เราต้องเสียตามกฎหมาย ร้อยละ 1.5 ต่อเดือนด้วยนะ (แปลว่า ถ้ายิ่งรู้ตัวช้า ก็ยิ่งเจ็บลึก ฮือ)

 

การยื่นภาษีหัก ณ ที่จ่ายเพิ่มเติม ให้เรายื่นแบบภาษีหัก ณ ที่จ่ายที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งติ๊กถูก ในช่องยื่นเพิ่มเติม หากยื่นเพิ่มเติมเป็นครั้งแรก ให้ติ๊กช่อง ยื่นเพิ่มเติมครั้งที่ 1 และต้องออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย  50 ทวิ ที่ถูกต้องให้แก่ผู้ถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายด้วยนะคะ

 

กรณี4: กรณีลืมยื่น ภ.ง.ด.3 หรือ ภ.ง.ด.53

 

สำหรับกรณีถัดมาเป็นเคสสำหรับคนขี้ลืม…ซึ่งก็ต้องโดนทำโทษไปตามระเบียบ ฮ่าๆ  

 

วิธีแก้ไข ก็คือ ต้องยื่นแบบภาษี ภ.ง.ด.3 หรือ ภ.ง.ด.53 ย้อนหลัง ให้เรียบร้อย และเราต้องเสีย ค่าปรับและเงินเพิ่ม เพราะไม่เคยยื่นแบบมาก่อน

 

ค่าปรับและเงินเพิ่มนั้น จะเสียมากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับว่าเรารู้ตัวหรือช้า ยิ่งรู้ตัวเร็ว และยื่นให้ครบถ้วน ก็จะเสียค่าปรับน้อยลงนั่นเอง

 

อันที่จริงแล้วการหักภาษี ณ ที่จ่าย ต้องยื่นภายใน 7 วัน นับแต่วันสิ้นเดือนของเดือนที่จ่ายเงิน กรณียื่นแบบออนไลน์ ต้องยื่นภายใน 15 วันนับแต่วันสิ้นเดือนของเดือนที่จ่ายเงิน

 

ในส่วนของค่าปรับอาญา กรณียื่นภายใน 7 วันหลังจากพ้นกำหนด จะเสียค่าปรับ 100 บาท กรณีเกิน 7 วัน จะเสียค่าปรับ 200 บาท และในส่วนของค่าปรับทางแพ่ง ต้องเสียเงินเพิ่มร้อยละ 1.5 ต่อเดือน (เศษของเดือนให้นับเป็น 1 เดือน)

 

ดังนั้น ขอแนะนำดังๆ ว่า กรณีที่เราลืมยื่นแบบภาษี ถ้ารู้ตัวเมื่อไร ให้กลับไปยื่นให้เร็วที่สุด เพื่อจะได้ไม่ต้องเสียค่าปรับเงินเพิ่มแพงๆ นะคะ

 

สรุป

 

สรุปกรณียื่นแบบภาษีหัก ณ ที่จ่าย ถ้าเรายื่นแบบผิดพลาด แต่ตัวเลขภาษีถูกต้องแล้ว อันนี้เป็นกรณีผิดพลาดไม่ร้ายแรง ยื่นขอแก้ไขแบบ หรือยื่นขออนุโลมได้โดยใช้แบบ ป.ป.01 และ ป.ป.02

 

กรณีที่ยื่นแบบภาษีต่ำไป อันนี้ก็ถือว่ามีโทษต้องเสียเงินเพิ่ม ให้รีบยื่นภาษีเพิ่มเติมให้ครบถ้วน แต่กรณีที่ไม่เคยยื่นมาก่อนเลย ลืมไปสนิท อันนี้ต้องรีบรู้ตัวให้เร็วที่สุด ไม่งั้นจะเสียค่าปรับสูงขึ้นเรื่อยๆ 

 

ทั้งหมดนี้เป็นวิธีการแก้ไขกรณียื่นภาษีหัก ณ ที่จ่ายผิดค่ะ หวังว่าบทความนี้จะมีประโยชน์สำหรับทุกท่านที่กำลังปวดหัวกับการยื่นภาษีหัก ณ ที่จ่ายผิดพลาดไปในเดือนที่ผ่านมานะคะ 

 

อ้างอิง

 

https://www.rd.go.th/42525.html

https://www.rd.go.th/region/07/phichit/368.html

About Author

ลองใช้งานFlowAccount ฟรี 30 วันได้ง่ายๆ วันนี้
ลองใช้งานฟรีได้ง่ายๆ วันนี้
สมัครเลย