หลายคนมักคิดว่า จดทะเบียนบริษัท จะทำให้ประหยัดภาษีมากกว่าการทำธุรกิจแบบบุคคลธรรมดา เพราะหากมองจากอัตราภาษีคร่าวๆ ภาษีบุคคลธรรมดาจะมีเพดานสูงสุดอยู่ที่ 35% และคิดด้วยอัตราก้าวหน้า ในขณะที่การประกอบธุรกิจในรูปแบบนิติบุคคลมีอัตราภาษีเพียงแค่ 15-20% เท่านั้น แต่จริงๆ ไม่ได้เป็นเช่นนั้นเสมอไป ลองประเมินความพร้อมของธุรกิจคุณใหม่ได้ที่บทความนี้ |
เลือกอ่านได้เลย!
ให้เราอ่านให้ฟัง
ผู้ประกอบการหลายคนที่ทำธุรกิจมาได้ระยะหนึ่ง มักจะมีคำถามว่าเมื่อไรควรจดทะเบียนเปลี่ยนธุรกิจมาเป็นรูปแบบบริษัทดี ซึ่งคำตอบที่เรามักจะให้ผู้ประกอบการทุกครั้งคือ ให้จดทะเบียนบริษัทเมื่อพร้อม แต่ก็มักจะมีคำถามตามมาว่าแล้วแบบไหนคือพร้อม
วันนี้เรามีเช็กลิสต์คร่าวๆ เพื่อให้คุณลองประเมินความพร้อมของคุณในการเปลี่ยนผ่านรูปแบบการทำธุรกิจจากบุคคลธรรมดาไปสู่นิติบุคคลแล้วหรือยัง
1. อยากเปิดบริษัท เพราะต้องการประหยัดภาษี
หลายคนมักคิดว่าการจดทะเบียนบริษัทจะทำให้ประหยัดภาษีมากกว่าการทำธุรกิจแบบบุคคลธรรมดา เพราะหากมองจากอัตราภาษีคร่าวๆ ภาษีบุคคลธรรมดาจะมีเพดานสูงสุดอยู่ที่ 35% และคิดด้วยอัตราก้าวหน้า ในขณะที่การประกอบธุรกิจในรูปแบบนิติบุคคลมีอัตราภาษีเพียงแค่ 15-20% เท่านั้น
แต่จริงๆ ไม่ได้เป็นเช่นนั้นเสมอไป เรามาลองดูอัตราภาษีบุคคลธรรมดาเทียบกับนิติบุคคลกัน
*กิจการ SMEs คือ กิจการที่มีทุนจดทะเบียนไม่เกิน 5 ล้านบาท และรายได้ไม่เกิน 30 ล้านบาทต่อปี
ภาษีสำหรับบุคคลธรรมดานั้นจะคิดบนอัตราก้าวหน้าตั้งแต่ 0-35% แต่สำหรับบริษัทจะเสียภาษีที่อัตราคงที่ โดยถ้าเป็นกิจการขนาดเล็ก SMEs* จะไม่เสียภาษีสำหรับกำไร 300,000 บาทแรก 15% สำหรับฐานภาษีระหว่างช่วง 300,001-3,000,000 บาท และ 20% หลังจากนั้น และสำหรับบริษัททั่วไปที่ไม่ใช่กิจการ SMEs จะเสียภาษีที่อัตราคงที่ 20% สำหรับทุกช่วงกำไรสุทธิ
และจากการเปรียบเทียบอัตราภาษีจากข้อมูลด้านบน ในกรณีที่ทำธุรกิจในรูปแบบบุคคลธรรมดา ถ้าหากเงินได้สุทธิ (เงินได้สุทธิ = รายได้ - ค่าใช้จ่าย - ค่าลดหย่อน) มีจำนวนน้อย การทำธุรกิจในฐานบุคคลธรรมดาจะมีอัตราภาษีที่น้อยกว่า แต่ถ้าหากธุรกิจมีรายได้มากและคาดการณ์ว่าจะเติบโตอีกในอนาคต การจดทะเบียนบริษัทจะช่วยให้เสียภาษีในอัตราที่ถูกกว่า
ดังนั้นคุณในฐานะเจ้าของธุรกิจควรลองเปรียบเทียบดูว่าตอนนี้เสียภาษีที่อัตราเท่าไรและลองตัดสินใจจากตัวเลข เพื่อดูว่าทำธุรกิจรูปแบบไหนคุ้มค่ากว่ากัน
2. กิจการที่คุณทำมีผู้ร่วมลงทุนหลายคน
การทำธุรกิจกับบุคคลภายนอก ไม่ว่าจะเป็น คนรู้จัก หรือเพื่อน ช่วงเริ่มต้นหลายคนมักจะไม่ได้มีแบบแผนอะไรมาก ลงทุนลงเงินไปก่อนหลวมๆ แต่พอธุรกิจเติบโตไปได้ด้วยดี รายได้เพิ่มมากขึ้น การแบ่งสรรปันส่วนผลตอบแทนก็อาจจะเริ่มมีปัญหา การจดทะเบียนบริษัทก็อาจจะถือเป็นทางออก และเป็นการแก้ปัญหาเรื่องสัดส่วนผลตอบแทนตั้งแต่ต้น เพราะเมื่อจดเป็นบริษัทแล้ว จะมีกฎหมายมารองรับสิทธิ์ของแต่ละคนอย่างชัดเจน เช่น การแบ่งกำไรตามสัดส่วนจำนวนหุ้นที่ลงทุนไป เป็นต้น
3. เป็นธุรกิจที่ต้องการความน่าเชื่อถือ
การประกอบธุรกิจในรูปแบบบุคลธรรมดาจะมีความน่าเชื่อถือน้อยกว่าในรูปแบบนิติบุคคล เพราะว่าการประกอบธุรกิจแบบบุคคลธรรมดา คู่ค้าก็ไม่อาจจะรู้ว่าคุณเป็นใคร มีเงินทุนแค่ไหน หรือว่าธุรกิจของคุณมีอยู่จริงหรือแค่หลอกลวง แต่เมื่อเป็นบริษัทก็จะช่วยให้ธุรกิจดูน่าเชื่อถือขึ้น เพราะฉะนั้นก็ลองดูว่า ธุรกิจของคุณต้องการความน่าเชื่อถือมากน้อยแค่ไหนในการดำเนินธุรกิจ
4. ในอนาคตคิดว่ายังไงก็จะเติบโต
หากคุณประเมินแล้วคิดว่าธุรกิจที่กำลังทำอยู่ในอนาคตยังไงก็เติบโตและมีรายได้มากขึ้น การประหยัดภาษีตั้งแต่วันนี้ก็เป็นเรื่องที่ดี ถึงแม้ว่าการประกอบธุรกิจในช่วงแรกนั้นอาจจะมีขาดทุนบ้าง แต่การเป็นนิติบุคคลจะได้สิทธิพิเศษกว่าบุคคลธรรมดาอย่างหนึ่งคือ หากบริษัทท่านมีขาดทุนสะสมในระยะแรก แต่ปีต่อมามีกำไร บริษัทสามารถนำขาดทุนสะสมที่เคยเกิดขึ้นมาหักกับกำไรก่อนจะนำไปเสียภาษีได้ ในขณะที่การประกอบธุรกิจแบบบุคคลธรรมดาไม่สามารถนำขาดทุนสะสมที่เกิดมาใช้ประโยชน์ได้เลย
5. มีความพร้อมในการจัดทำเอกสารหรือไม่
ในการประกอบธุรกิจในรูปแบบบริษัท ผู้ประกอบการส่วนใหญ่หวังใช้ประโยชน์จากอัตราภาษีที่ถูกกว่าแบบบุคคลธรรมดา แต่ก็อย่าลืมว่าต้องแลกมาด้วยการจัดทำเอกสาร หลักฐาน ไม่ว่าจะเป็น เอกสารรายได้ เอกสารค่าใช้จ่าย ให้เป็นไปตามกฎเกณฑ์ของหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องกำหนดไว้
และหากคุณทำธุรกิจที่ไม่สามารถหาหลักฐานการจ่ายเงินได้ รายจ่ายเหล่านั้นก็จะไม่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้เลย แต่ในทางกลับกัน เมื่อเป็นบุคคลธรรมดา กิจการบางอย่าง เช่น 40(8) ขายของแบบซื้อมาขายไปหรือการขายของออนไลน์ ก็สามารถหักค่าใช้จ่ายแบบเหมาได้เลย 60% โดยไม่ต้องมีเอกสารหลักฐาน
ดังนั้นหากลองคิดดูแล้ว ถ้าเสียภาษีที่ 20%เท่ากัน ในกรณีที่รายจ่ายนั้นไม่มีเอกสารหลักฐาน บุคคลธรรมดาจะสามารถหักค่าใช้จ่ายได้ 60% แต่บริษัทจะนำมาหักเป็นค่าใช้จ่ายไม่ได้เลย เมื่อหักเป็นค่าใช้จ่ายไม่ได้ กำไรก็จะสูงขึ้นและก็ทำให้เสียภาษีมากขึ้น
บางทีการทำธุรกิจแบบบุคคลธรรมดาอาจประหยัดภาษีได้มากกว่า แต่หากมีเอกสารที่พร้อมและถูกต้อง การเป็นบริษัทในบางครั้งก็จะช่วยให้หักภาษีได้มากกว่าอัตราเหมาก็ได้เช่นกัน
6. ภาระภาษีที่ต้องนำส่งหน่วยงานรัฐทุกเดือน
ในการเป็นบริษัท จะมีหน้าที่มากมายที่กฎหมายกำหนดให้ทำ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ การนำส่งแบบภาษี ตัวอย่างเช่น
ทุกครั้งที่จ่ายเงิน ค่าใช้จ่ายบางอย่างที่จ่ายไป เช่น ค่าบริการ กฎหมายได้สั่งให้นิติบุคคลทำการหักภาษี ออกใบรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย และนำส่งภาษีที่หักนั้นให้กับกรมสรรพากร โดยมีแบบภาษีที่เกี่ยวข้องหลักๆ คือ
- ภ.ง.ด.3 คือ แบบภาษีที่นำส่งภาษีหัก ณ ที่จ่าย ที่บริษัทหักกับบุคคคลธรรมดา
- ภ.ง.ด.53 คือ แบบภาษีที่นำส่งภาษีหัก ณ ที่จ่าย ที่บริษัทหักบริษัท
อันที่จริงยังมีแบบภาษีที่เกี่ยวข้องอีกมากมาย โดยคุณอาจมองว่าการจัดเตรียมแบบภาษีต่างๆ นั้นเป็นเรื่องยาก แต่อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันได้มีโปรแกรมบัญชีที่อำนวยความสะดวกในการจัดเตรียมข้อมูลเพื่อนำส่งภาษี ถ้าหากมีการใช้ระบบหรือโปรแกรมบัญชีที่ดี ก็จะช่วยลดภาระการเตรียมเอกสารได้ เพราะโปรแกรมบัญชีปัจจุบันมีฟังก์ชั่นการจัดทำเอกสารเหล่านี้ให้อัตโนมัติด้วย
7. ค่าใช้จ่ายแฝง หากไม่ทำบัญชีเอง
จากข้อ 5 และ 6 ถ้าหากไม่อยากเสียเวลาจัดทำเอกสาร คุณสามารถจ้างสำนักงานบัญชี หรือผู้ให้บริการรับจดทะเบียนบริษัทออนไลน์ เพื่อจัดการภาระเหล่านี้ได้ โดยจะมีค่าใช้จ่ายรายเดือน ซึ่งราคาจะขึ้นกับจำนวนเอกสารและความซับซ้อนทางธุรกิจ
นอกจากนี้ นิติบุคคลทุกที่ต้องมีการนำส่งงบการเงินให้กับกรมพัฒน์ ซึ่งก่อนจะนำส่งได้ ต้องมีการเซ็นรับรองความถูกต้องของงบโดยผู้สอบบัญชีเสียก่อน ดังนั้นค่าสอบบัญชีก็เป็นอีกหนึ่งค่าใช้จ่ายที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ โดยราคาจะขึ้นอยู่กับความเสี่ยงและความซับซ้อนทางธุรกิจ
สรุปแล้ว ค่าใช้จ่ายแฝงที่ท่านควรคิดเพิ่มเข้าไปได้แก่ ค่าทำบัญชี และค่าตรวจสอบบัญชีนั่นเอง หากคุณอ่านจนมาถึงข้อสุดท้ายแล้วไม่ได้ติดปัญหาอะไร ก็แสดงว่าคุณพร้อมแล้วที่จะเปลี่ยนผ่านธุรกิจเข้ามาเป็นแบบนิติบุคคลเต็มตัว ดังนั้นก็เริ่มจดทะเบียนบริษัทกันได้เลย
ให้การจดทะเบียนบริษัทเป็นเรื่องง่าย ติดต่อ FlowAccount ช่วยจดทะเบียนบริษัทออนไลน์ให้ได้เลยทันที
FlowAccount รับจดจัดตั้งนิติบุคคล พร้อมมอบโปรแกรมบัญชีออนไลน์ และสิทธิประโยชน์ อยู่เคียงข้างผู้ประกอบการในยุคดิจิทัล ให้บริหารธุรกิจด้วยตัวเองได้อย่างมั่นใจตั้งแต่ก้าวแรกด้วย 9 บริการจากเรา ในการช่วยเตรียมเอกสารให้ครบถ้วน ตามระเบียบขอจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า อ่านรายละเอียดและติดต่อทีมงานได้เลย ที่นี่
About Author
เพจ TAXBOOK ภาษีและบัญชีฉบับ101 ให้ความรู้เรื่องบัญชีและภาษีสำหรับนักบัญชีและเจ้าของกิจการ ที่อยากอธิบายบัญชีและภาษีที่ใครมองว่ายากแบบง่ายๆ ด้วยภาษาของคนธรรมดา เหมือนเล่าให้เพื่อนฟัง