ข้อแนะนำเบื้องต้นที่นักบัญชีควรให้คำปรึกษาแก่ผู้ประกอบการที่อยู่ในความดูแลของคุณคือ การหาช่องทางใหม่ๆ ที่ช่วยต่อยอดธุรกิจ การหาวิธีลดต้นทุนและค่าใช้จ่ายของกิจการ การบริหารความเสี่ยง รวมถึงการวางแผนภาษี ซึ่งเป็นเรื่องที่นักบัญชีนั้นทราบจากการทำงานกับข้อมูลทางการเงินอย่างใกล้ชิดอยู่แล้ว จึงสามารถใช้ข้อมูลเหล่านี้มาช่วยผู้ประกอบการในการวิเคราะห์เพื่อกำหนดเป้าหมายในการดำเนินงานของธุรกิจได้ |
อาชีพนักบัญชีเป็นอาชีพที่ท้าทายอาชีพหนึ่ง นอกจากจะต้องบันทึกบัญชีให้ถูกต้องตามมาตรฐานการบัญชีแล้ว ลูกค้ายังคาดหวังที่จะได้รับคำแนะนำดีๆ จากเรา เพื่อไปใช้บริหารพัฒนาธุรกิจให้ดียิ่งขึ้นด้วย
ยิ่งในยุคที่ธุรกิจมีการแข่งขันสูง การตลาดมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว นักบัญชีที่เป็นผู้ใกล้ชิดกับข้อมูลทางการเงิน จึงเป็นบุคคลแรกๆ ที่ลูกค้าอยากได้คำแนะนำ และบางครั้งคำแนะนำเล็กๆ น้อยๆ จากเราอาจเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการได้อย่างไม่น่าเชื่อ มาดูกันเลยว่าจะมีเรื่องอะไรที่นักบัญชีสามารถแนะแนวทางลูกค้าได้บ้าง
เลือกอ่านได้เลย!
1. ธุรกิจควรเติบโตไปทางไหน
ตัวเลขที่เสมือนเป็นกับดักของผู้ประกอบการเรื่องหนึ่งคือ การโฟกัสแต่เฉพาะยอดขายโดยไม่สนใจความสามารถในการทำกำไร บ่อยครั้งที่ผู้ประกอบการไม่ทราบเลยว่าสินค้าที่ขายอยู่ทุกวันนี้มีกำไรหรือไม่ มากหรือน้อยกว่าสินค้าชนิดอื่นอย่างไร
นักบัญชีสามารถให้คำแนะนำเรื่องนี้แก่ลูกค้าได้ เพราะเราทราบข้อมูลทั้งหมดเกี่ยวกับการขาย ต้นทุนขาย และค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่เกิดขึ้นในกิจการอยู่แล้ว หากนำข้อมูลยอดขายและกำไรของแต่ละสินค้ามาเปรียบเทียบกัน อาจทำให้ผู้ประกอบการเห็นภาพชัดเจนขึ้นว่า ธุรกิจมีกำไรสูงสุดจากการขายสินค้าชนิดไหน และธุรกิจควรเลือกที่จะเติบโตไปต่อกับสินค้าชนิดไหนดี เพราะหากผู้ประกอบการโฟกัสเฉพาะสินค้าที่ยอดขายดีเพียงอย่างเดียว ผลลัพธ์สุดท้ายอาจไม่ได้ทำให้ธุรกิจสร้างกำไรได้สูงสุดก็เป็นได้
คำแนะนำดีๆ จากนักบัญชี เกี่ยวกับความสามารถในการทำกำไรของสินค้าแต่ละชนิด อาจช่วยกำหนดทิศทางการเติบโตของบริษัท และช่วยผู้ประกอบการในการตัดสินใจวางกลยุทธ์ในการบริหารงานได้อย่างดีเลยทีเดียว
2. ธุรกิจจะประหยัดต้นทุนได้อย่างไร
การสร้างธุรกิจให้มีกำไรได้สูงสุด นอกจากการหาวิธีสร้างรายได้ให้เพิ่มขึ้นแล้ว อีกมิติหนึ่งก็คือ การลดต้นทุนให้ได้มากที่สุด ทั้งต้นทุนการผลิตและขายสินค้า และค่าใช้จ่ายต่างๆในสำนักงาน
แต่ก่อนที่กิจการจะลดต้นทุนต่างๆ เหล่านี้ได้ เราต้องรู้ก่อนว่ากิจการมีต้นทุนการทำธุรกิจจากอะไรบ้าง และต้นทุนส่วนใหญ่นั้นเกิดจากอะไรเป็นหลัก ซึ่งนักบัญชีสามารถให้คำแนะนำแก่ผู้ประกอบการได้ในเรื่องนี้
หลักการง่ายๆ สำหรับการวิเคราะห์ต้นทุนและค่าใช้จ่ายของกิจการ ที่สามารถทำได้จากการวิเคราะห์งบกำไรขาดทุน เช่น
- เปรียบเทียบต้นทุนขายสินค้า ว่ามีสัดส่วนเกิดจากต้นทุนชนิดใดเป็นหลัก เช่น ค่าวัตถุดิบ ค่าบรรจุภัณฑ์ ค่าขนส่งเข้า ค่าแรงพนักงาน เป็นต้น หากกิจการสามารถลดต้นทุนหลักส่วนนี้ได้ ก็น่าจะมีผลกระทบต่อกำไรสุทธิไม่น้อย
- เปรียบเทียบสัดส่วนค่าใช้จ่ายบริหาร ว่าเกิดจากค่าใช้จ่ายใด และค่าใช้จ่ายเหล่านั้นสามารถลดลงได้หรือไม่ หรือลองคิดต่อดูว่าค่าใช้จ่ายที่จ่ายไป ก่อให้เกิดรายได้มากน้อยขนาดไหน หากจ่ายไปแล้วไม่คุ้มค่า อาจจะลองแนะนำลูกค้าดูว่าควรจะหาวิธีลดค่าใช้จ่ายเหล่านี้ลงค่ะ
3. ธุรกิจมีความเสี่ยงตรงไหน
ทุกธุรกิจย่อมมีความเสี่ยง แต่หากไม่เคยรู้ว่าธุรกิจเรามีความเสี่ยงอะไรเลย และไม่เคยวางแผนป้องกันก็คงจะแย่ยิ่งกว่า
หนึ่งในคำแนะนำที่นักบัญชีสามารถช่วยเหลือลูกค้าได้นั้นก็คือ การช่วยให้ลูกค้ามองเห็นว่าความเสี่ยงของธุรกิจมีอะไรบ้าง และควรทำอย่างไรเพื่อป้องกันความเสี่ยงนั้น เริ่มจากความเสี่ยงง่ายๆ ที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น เช่น
- การทุจริตของพนักงานเก็บเงิน
- ความเสี่ยงของสินค้าที่ค้างสต็อกนาน อาจจะหมดอายุหรือเสื่อมสภาพ
- ความเสี่ยงเรื่องค่าปรับภาษี หากออกเอกสารไม่ถูกต้อง
ความเสี่ยงทั้งหมดเหล่านี้ นักบัญชีสามารถบอกกล่าวแก่ลูกค้าได้ และอาจจะช่วยวางแผนหาวิธีป้องกัน เช่น
- แนะนำให้มีการแบ่งแยกหน้าที่พนักงานเพื่อลดการทุจริตเรื่องเงินสด
- แนะนำให้ทำรายงานอายุสินค้าเพื่อควบคุมสินค้าหมดอายุหรือหมุนเวียนช้า เป็นต้น
คำแนะนำเหล่านี้ไม่เพียงจะช่วยผู้ประกอบการป้องกันความเสียหายทางธุรกิจที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตได้แล้ว ยังทำให้การทำงานภายในกิจการเป็นระบบระเบียบมากยิ่งขึ้นด้วย
4. ธุรกิจควรวางแผนภาษีอย่างไร
การวางแผนภาษีเป็นเรื่องที่ผู้ประกอบการทั้งหลายต้องให้ความสนใจ ซึ่งนักบัญชีสามารถให้คำแนะนำเรื่องนี้แก่ผู้ประกอบการที่อยู่ในความดูแลของคุณได้ตั้งแต่เนิ่นๆ เพราะคงไม่มีใครสามารถวางแผนภาษีได้ภายในวันเดียว
ผู้ประกอบการหลายคนต้องเสียประโยชน์ทางภาษี เพราะไม่เคยทราบว่าสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่ภาครัฐกำหนดให้นั้นมีอะไรบ้าง ซึ่งนักบัญชีมีข้อมูลในส่วนนี้อยู่แล้ว เพียงแค่ใช้เวลาสักนิดในการรวบรวมและคัดเลือกรายการที่น่าจะเป็นประโยชน์และเหมาะสมกับกิจการ ก็น่าจะช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถประหยัดภาษีได้ไม่น้อย ตัวอย่างง่ายๆ เลย เช่น
- ค่าใช้จ่ายที่หักเป็นรายจ่ายทางภาษีเพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็น รายจ่ายเพื่อสนับสนุนการศึกษา รายจ่ายในการจ้างคนพิการ รายจ่ายเพื่อการฝึกอบรม รายจ่ายบริจาคให้แก่สถานศึกษา ฯลฯ
รายจ่ายเหล่านี้อาจจะเกิดขึ้นอยู่แล้วในกิจการ แต่ผู้ประกอบการไม่ทราบว่าใช้ประโยชน์ทางภาษีได้ จึงไม่ได้ทำตามเงื่อนไขที่สรรพากรกำหนด ทำให้เสียสิทธิประโยชน์ในเรื่องนี้ไป หากเราแนะนำข้อกำหนดและเงื่อนไขต่างๆ ให้กับกิจการได้ และอัพเดตลูกค้าอย่างสม่ำเสมอ ก็น่าจะมีประโยชน์กับกิจการไม่น้อยเลยค่ะ
คำแนะนำทั้ง 4 ข้อจากนักบัญชีที่เป็นประโยชน์มากๆ ต่อผู้ประกอบการทั้งเรื่องของการหาช่องทางที่ช่วยสร้างรายได้เพิ่ม วิธีลดต้นทุนและค่าใช้จ่ายของกิจการ การบริหารความเสี่ยง รวมทั้งการวางแผนภาษี เชื่อแน่ว่าหากนักบัญชีคนไหนที่สามารถให้คำแนะนำแก่ผู้ประกอบการทั้งหมดนี้ได้ละก็ คงจะกลายเป็นนักบัญชีในดวงใจที่ลูกค้าจะหันมาเลือกใช้บริการอย่างต่อเนื่องแน่นอน
About Author
นักบัญชี ผู้สอบบัญชี และผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ cpdacademy.co คอร์สอบรมบัญชี CPD ออนไลน์สำหรับผู้ทำบัญชีและผู้สอบบัญชี ที่มีประสบการณ์ในวิชาชีพมากกว่า 10 ปี และอยากส่งต่อความรู้เพื่อเพื่อนนักบัญชีให้มีทักษะอย่างมืออาชีพและก้าวทันโลกดิจิทัล
ร่วมสมัครเป็นนักเขียนกับ FlowAccount ได้ที่นี่