การเลื่อนยื่นภาษีและงบการเงินแบบนี้ มีผลกระทบยังไงกับเจ้าของธุรกิจ? นอกจากการพูดคุยปรึกษากับนักบัญชีถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้นแล้ว ยังมีแนวคิดบางอย่างที่เจ้าของธุรกิจควรคำนึงถึง ตั้งแต่รูปแบบและความเกี่ยวข้องของธุรกิจเพื่อให้ใช้สิทธิประโยชน์ที่เกิดขึ้นได้อย่างเข้าใจ ไปจนถึงการบริหารจัดการการเงินในกิจการเพื่อให้สามารถบริหารรายจ่ายได้ดียิ่งขึ้นอีกด้วย |
“เลื่อนยื่นภาษีต้องไปที่กรมสรรพากร ส่วนเลื่อนยื่นงบการเงินต้องไปที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้า” ผมเชื่อว่าเจ้าของธุรกิจหลายคนคงตอบคำถามจากหัวข้อข้างต้นแบบนี้ แต่ความเป็นจริงแล้วมีหลายอย่างที่เจ้าของธุรกิจควรรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับเรื่องนี้อีกมากมายครับ
ผมเคยเขียนบทความลง บล็อกภาษีข้างถนน เรื่อง สรุปครบ! เลื่อนยื่นภาษี (ทุกแบบ) เลื่อนยื่นงบการเงิน (ที่ต้องรู้) ดูทั้งหมดในบทความเดียว และ ยื่นงบการเงินปี 2563 : สรุปทุกประเด็นและปัญหาที่ควรรู้ ซึ่งพูดถึงเรื่องราวทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับการเลื่อนยื่นแบบแสดงรายการภาษีและงบการเงินในมุมมองของคนทำงานด้านบัญชีที่ควรรู้
แต่ถ้าให้เจ้าของธุรกิจทุกคนต้องมาเรียนรู้และทำความเข้าใจกับเรื่องนี้ทั้งหมดด้วยตัวเอง บอกเลยครับว่าคงจะปวดหัวกว่าเก่าแน่ๆ ดังนั้นสิ่งที่เจ้าของธุรกิจควรรู้เกี่ยวกับเรื่องราวทั้งหมดนี้ ผมขอเน้นไปที่ 2 ประเด็นสำคัญ ได้แก่
ประเด็นแรก: เราทำธุรกิจในรูปแบบไหน มีภาษีประเภทใดเกี่ยวข้องบ้าง และเราจะได้รับสิทธิประโยชน์จากการเลื่อนยื่นภาษีและงบการเงินอย่างไร
หากเริ่มต้นด้วยคำถามนี้ จะทำให้เจ้าของธุรกิจหลายคนเข้าใจตัวเองมากขึ้นครับ เช่น ถ้าหากเราทำธุรกิจในรูปแบบบุคคลธรรมดา สิ่งที่เราต้องรู้ก็อาจจะเป็นเรื่องของภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่ได้รับอนุมัติให้ขยายถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2563 และสามารถผ่อนชำระได้อีก 3 งวดจนถึง 31 ตุลาคม 2563 หากมีภาษีที่ชำระมากกว่า 3,000 บาท
หรือถ้าหากเราทำธุรกิจในรูปแบบนิติบุคคล และมีรอบบัญชีปกติ (1 มกราคม – 31 ธันวาคม) ก็จะสามารถขยายระยะเวลายื่นภาษีเงินได้นิติบุคคลไปจนถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2563 และยังได้สิทธิเลื่อนงบการเงินไปจนถึงวันเดียวกัน (กรณีเป็นห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล) หรือสามารถทำจดหมายแจ้งเลื่อนการประชุมสามัญผู้ถือหุ้น เพื่อขยายระยะเวลานำส่งงบการเงินได้ (กรณีเป็นบริษัทนิติบุคคล)
รวมถึงกรณีที่เราเป็นผู้ประกอบการที่สามารถยื่นแบบผ่านอินเทอร์เน็ต ก็ยังจะได้รับสิทธิขยายเวลาการยื่นแบบแสดงรายการประเภทต่างๆ ทั้งภาษีหัก ณ ที่จ่าย ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ สำหรับเดือนพฤษภาคม-สิงหาคม 2563 ตามรูปด้านล่างนี้อีกด้วยครับ
เมื่อเรารู้แบบนี้ เราจะสามารถพูดคุยและทำความเข้าใจกับนักบัญชีได้ว่า เราต้องนำส่งเอกสารภายในระยะเวลาที่กำหนดแบบไหน ต้องมีการเตรียมตัวและจัดการอะไรยังไงบ้าง รวมถึงจะต้องวางแผนการทำงานร่วมกันอย่างไรให้ถูกต้อง เพื่อไม่ให้มีปัญหาเรื่องของภาษีและค่าปรับในการยื่นงบการเงินนั่นเองครับ
ประเด็นที่สอง: เราจะวางแผนค่าใช้จ่ายและการเงินของธุรกิจได้อย่างไร หรือใช้ผลประโยชน์อย่างไรกับเรื่องนี้ได้บ้าง
ผมมักพูดเสมอว่า การเลื่อนยื่นภาษีไม่ได้แปลว่าลดภาษี ดังนั้นเรายังต้องจ่ายเงินเท่าเดิม เพียงแต่การเลื่อนยื่นภาษีแบบนี้จะช่วยให้เราบริหารจัดการเงินให้เหมาะสม ไม่ตึงจนเกินไป ดังนั้นในมุมของธุรกิจ การมีข้อมูลที่ดีในการบริหารจัดการเงินต่างๆ ย่อมทำให้เราสามารถบริหารจัดการเรื่องเงินที่ต้องจ่ายได้ดียิ่งขึ้นครับ
แน่นอนว่าการไม่ต้องเสียกระแสเงินสดเป็นจำนวนมากในช่วงเวลาเดียวกันถือเป็นเรื่องดี แต่สิ่งที่ต้องมองต่อคือ ในช่วงนั้นอาจจะต้องมีการจ่ายค่าภาษีตัวอื่นๆ ด้วยหรือเปล่า เช่น ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา หรือภาษีเงินได้นิติบุคคลครึ่งปี ที่ต้องจ่ายในเดือนกันยายน 2563 หลังจากที่เพิ่งจ่ายภาษีปี 2562 เสร็จสิ้น หรือแม้แต่ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่จะเรียกเก็บในเดือนสิงหาคมก็เช่นเดียวกันครับ (เพราะยังไม่มีการประกาศเลื่อนภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง)
ดังนั้นในฐานะของเจ้าของธุรกิจ การเลื่อนยื่นภาษีเป็นเพียงแค่สิ่งที่เริ่มต้นในการบริหารจัดการเงินสำหรับปี 2563 ให้สามารถหายใจหายคอได้สะดวกมากขึ้น แต่มันก็ทำให้เราต้องกลับมาย้อนดูตัวเองด้วยว่า การบริหารจัดการการเงินของธุรกิจเราดีแค่ไหน การบริหารจัดการข้อมูลของเราเหมาะสมหรือไม่ และเราได้สื่อสารเรื่องนี้ให้กับนักบัญชีรับทราบแล้วหรือยัง
นี่คือสิ่งที่ผมอยากฝากไว้ให้คิดจากบทความในตอนนี้ครับ เพราะสุดท้ายแล้วสิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับเจ้าของธุรกิจคือ การพาธุรกิจของเราให้ไปต่อได้ แม้ว่าจะต้องเจอวิกฤตอีกกี่ครั้งก็ตาม
FlowAccount Business Suite ระบบบริหารธุรกิจ SME
จัดการข้อมูลธุรกิจด้วยเครื่องมือออนไลน์ ใช้งานง่าย ทั้ง FlowAccount ช่วยทำบัญชี FlowPayroll จัดการเงินเดือน และ AutoKey เพื่อบันทึกค่าใช้จ่าย ที่ช่วยให้คุณประสบความสำเร็จในการทำธุรกิจ