ปฏิเสธไม่ได้เลยนะครับว่าการโฆษณาผ่านสื่อออนไลน์ต่าง ๆ มีส่วนสำคัญเป็นอย่างมากในการดำเนินธุรกิจปัจจุบัน แต่เชื่อว่าหลาย ๆ คนคงมีข้อสงสัยว่าค่าโฆษณาที่จ่ายให้สื่อออนไลน์นี้เราสามารถนำมาขอคืนภาษีซื้อได้ไหม แล้วภาษีซื้ออยู่ตรงไหนละ ที่สำคัญนำมาเป็นค่าใช้จ่ายของบริษัทได้หรือไม่
เลือกอ่านได้เลย!
สิ่งที่ต้องพิจารณาเพื่อหา แนวทางปฏิบัติทางภาษี อย่างถูกต้อง
- อันดับแรกคือ บริษัทที่เราไปฝากโฆษณาออนไลน์เหล่านั้น เป็นบริษัทในประเทศไทย หรือเป็นบริษัทของต่างประเทศครับ
- หากเป็นบริษัทในประเทศไทย เราก็ใช้หลักปฏิบัติที่ทุกท่านทราบกันดีคือ ต้องขอ ใบกำกับภาษีเต็มรูปแบบ เพื่อใช้ประโยชน์ทางภาษีต่าง ๆ เช่น การขอคืนภาษีซื้อ ครับ แต่ถ้าเป็นบริษัทที่อยู่ในต่างประเทศจะมีหลักปฏิบัติอีกแบบหนึ่งครับ
ยกตัวอย่างเช่น Facebook สื่อสังคมออนไลน์ที่มีผู้ใช้งานเป็นจำนวนมาก ทำให้มีหลายธุรกิจใช้ Facebook เป็นสื่อในการโฆษณาผลิตภัณฑ์และบริการของธุรกิจไม่ใช่น้อย แต่ Facebook เป็นบริษัทที่จัดตั้งและดำเนินการในต่างประเทศ ซึ่งอยู่นอกเหนือจากกฎหมายภาษีมูลค่าเพิ่มของประเทศไทย
กรณีนี้ตามภาษากฎหมายเรียกว่า “การให้บริการที่ทำในต่างประเทศ และมีการใช้บริการในราชอาณาจักร” ครับ กฎหมายจึงกำหนดให้ผู้จ่ายเงินเป็นคนจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่มแทนผู้ให้บริการในต่างประเทศนั้นครับ โดยยื่นแบบ ภ.พ.36 ภาย 7 วันนับตั้งแต่สิ้นเดือนของเดือนที่จ่ายค่าใช้จ่ายนั้นไป
อ่านมาถึงตรงนี้คิดว่าหลาย ๆ ท่านคงจะตกใจว่าถ้าเรา จ่ายค่าโฆษณา Facebook เราต้องจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่มแทน Facebook ใช่หรือไม่ครับ ท่านเข้าใจถูกต้องแล้วครับ เราต้องจ่ายค่าภาษีมูลค่าเพิ่มแทน Facebook ครับ
แต่อย่าตกใจไปครับ เมื่อจ่ายแล้วเราจะได้ใบเสร็จรับเงินมาจากกรมสรรพากรครับ สามารถนำใบเสร็จรับเงินจากสรรพากรนั้นมาขอคืนภาษีซื้อได้ครับ ถ้าคิดดูดี ๆ ก็เท่ากับว่าเราไม่ได้จ่ายภาษีนั้นนะครับ แถมยังทำได้ถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนดด้วย
การขอคืน ภาษีซื้อ จากการ จ่ายค่าโฆษณา Facebook ต้องทำอย่างไรบ้าง? มาดูกันครับ
1. ค่าใช้จ่ายนั้นต้องเป็นค่าใช้จ่ายที่จ่ายเพื่อบริษัทเท่านั้นนะครับ ห้ามเป็นค่าใช้จ่ายส่วนตัว
2. ถ้าจ่ายจากบัญชีบริษัท หรือบัตรเครดิตของบริษัทได้จะดีมาก ๆ เลยครับ
3. ขอใบเสร็จรับเงินจากทาง Facebook มาด้วยครับ เพราะต้องเอาไปใช้ยื่นจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่มครับ
4. ยื่นแบบ ภ.พ.36 เพื่อให้ได้ใบเสร็จรับเงินจากทางกรมสรรพากร จะได้นำไปขอคืนภาษีซื้อได้ครับ
สำหรับการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มจากการจ่ายค่าใช้จ่ายนี้ให้คำนวณเพิ่มจากค่าใช้จ่ายที่เราจ่ายไปนะครับ ยกตัวอย่างเช่น เราจ่ายค่าโฆษณาไป 30,000 บาท ภาษีมูลค่าเพิ่มจะเท่ากับ 30,000 x 7% = 2,100 บาทครับ
มาสรุปกันเป็นข้อ ๆ อีกทีครับ
1. ค่าใช้จ่ายออนไลน์ทั้งหลายขอคืนภาษีซื้อได้ไหม คำตอบคือ ได้ครับ แต่มีข้อพิจารณา 2 ประการคือ
- ถ้าบริษัทที่เราจ่ายค่าใช้จ่ายออนไลน์ต่าง ๆ ให้เป็นบริษัทที่ดำเนินการอยู่ในประเทศไทย ให้ขอ ใบกำกับภาษีเต็มรูปแบบ มาเป็นหลักฐานในการขอคืนภาษีซื้อครับ
- ถ้าบริษัทที่เราจ่ายค่าใช้จ่ายออนไลน์ต่าง ๆ ให้เป็นบริษัทที่ดำเนินการอยู่ในต่างประเทศ ให้นำใบเสร็จรับเงินที่ได้รับไปยื่นแบบ ภ.พ.36 โดยชำระภาษีมูลค่าเพิ่มแทนบริษัทที่เราจ่ายค่าใช้จ่ายให้ แล้วจะได้ใบเสร็จรับเงินจากสรรพากรมาครับ ใบเสร็จรับเงินจากสรรพากรนี้แหละที่เราจะนำไปขอคืนภาษีซื้อกัน
2. ภาษีซื้ออยู่ตรงไหนละ สำหรับการจ่ายค่าใช้จ่ายออนไลน์ให้บริษัทที่ดำเนินการในต่างประเทศนั้นใบเสร็จรับเงินจะไม่แสดงยอดภาษีมูลค่าเพิ่มให้เห็นครับ ดังนั้นวิธีการคือ เมื่อเราไปยื่น ภ.พ.36 ให้เราคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มจากยอดค่าใช้จ่ายนั้นครับ เช่น จ่ายค่าใช้จ่ายไป 30,000 ภาษีมูลค่าเพิ่มก็จะเท่ากับ 2,100 บาทครับ
3. ค่าใช้จ่ายออนไลน์เหล่านี้สามารถนำมาเป็นค่าใช้จ่ายของบริษัทได้หรือไม่ ถ้าเราได้เอกสารใบกำกับภาษี/ใบเสร็จรับเงินแบบเต็มรูปแบบมาและค่าใช้จ่ายนั้นเกี่ยวข้องกับบริษัทเรา อันนี้ใช้เป็นค่าใช้จ่ายได้แน่นอนอยู่แล้วครับ (ยกเว้น ค่าใช้จ่ายนั้นเป็นค่าใช้จ่ายต้องห้ามตามกฎหมายกำหนด)
ส่วนค่าใช้จ่ายออนไลน์ที่จ่ายให้บริษัทต่างประเทศ หากเรามีใบเสร็จรับเงินจากบริษัทที่จ่ายค่าใช้จ่ายไป และดำเนินการยื่นแบบ ภ.พ.36 แล้วสามารถนำมาบันทึกเป็นค่าใช้จ่าย
ส่วนการคิดภาษีมูลค่าเพิ่มจากการจ่ายค่าโฆษณานี้ให้คำนวณแยกจากค่าใช้จ่ายที่เราจ่ายไป พร้อมแนบเอกสารใบเสร็จรับเงินที่ได้รับจากเฟสบุ๊คเพื่อเป็นหลักฐานตรวจสอบได้ภายหลัง และถ้าจะให้สะดวกยิ่งขึ้น สามารถลงบันทึกในโปรแกรมบัญชี FlowAccount ได้ง่าย ทดลองใช้งานฟรีได้อย่างสบายใจเช่นกัน
วิธีการที่เล่ามาทั้งหมดนี้สามารถทำได้กับค่าใช้จ่ายที่จ่ายให้บริษัทในต่างประเทศได้เหมือนกันนะครับ ไม่ว่าจะเป็น Google AdWords, instagram, web service ต่าง ๆ เมื่อมีการยื่นภาษีมูลค่าเพิ่มอย่างถูกต้องแล้ว เราจะได้นำค่าใช้จ่ายเหล่านี้มาเป็นค่าใช้จ่ายบริษัทได้อย่างสบายใจครับ เพราะถ้าไม่ทำการยื่น ภ.พ. 36 ก็จะมีโทษเหมือนกับกรณีภาษีมูลค่าเพิ่มครับ คือมีเบี้ยปรับ เงินเพิ่มด้วยนะครับ