Highlight:
- กองทุนเงินทดแทน เป็นอีกหนึ่งกองทุนที่นายจ้างจะต้องจ่ายเงินทดแทนให้ลูกจ้าง โดยจ่ายแบบเป็นรายปีเพียงฝ่ายเดียว
- ขั้นตอนคือ สำนักงานประกันสังคมจะประเมินค่าจ้างหรือค่าจ้างรายวันแบบคร่าวๆ ในช่วงเดือนธันวาคม พร้อมส่งแบบ กท.26 ก. และแบบ กท.20 ก มาให้
- นายจ้างชำระยอดตามที่ประกันสังคมประเมินมาลงในแบบ กท.26 ก. ก่อนสิ้นเดือน ม.ค.
- นายจ้างรายงานค่าจ้างที่จ่ายจริงทั้งหมดของปีที่ผ่านมาลงแบบ กท.20 ก ก่อนสิ้นเดือน ก.พ.
- เมื่อนำส่งแบบแล้ว นายจ้างจะได้รับแบบแจ้งประเมินกองทุนทดแทน กท.25 ค กรณีต้องจ่ายเงินทดแทนเพิ่มเติม ซึ่งต้องทำก่อนสิ้นเดือน มี.ค.
- นายจ้างหรือพนักงานที่รับผิดชอบเรื่องเงินเดือนของลูกจ้างสามารถดึงข้อมูลลูกจ้างจากเมนู Payroll ใน FlowAccount มาทำ กท.20 ก ได้
ใครที่เพิ่งเริ่มต้นธุรกิจและเริ่มมีการจ้างลูกจ้างแล้ว ก็จะมีหน้าที่ขึ้นทะเบียนให้ลูกจ้างเป็นผู้ประกันตนของกองทุนประกันสังคม โดยนายจ้างจะจ่ายเงินประกันสังคมสมทบร่วม พร้อมกับที่หักออกจากรายได้ของพนักงานในทุกๆ เดือน และยังมี “กองทุนเงินทดแทน” อีกกองทุนหนึ่ง ที่นายจ้างจะต้องจ่ายเงินทดแทนประจำปีให้ในช่วงทุกต้นปี ซึ่งในเดือนกุมภาพันธ์นี้ ก็ถึงเวลาต้องส่งรายงานค่าจ้างที่จ่ายจริงแก่สำนักงานประกันสังคมแล้ว
เป็นนายจ้างแล้วต้องรู้อะไรบ้าง
พนักงานที่ขึ้นทะเบียนเป็นลูกจ้างตามกฎหมาย จะได้สิทธิ 2 กองทุนคือ
1. กองทุนประกันสังคม
ใช้ในกรณีที่ไม่เกี่ยวข้องกับการทำงาน เช่น เจ็บป่วย ทำฟัน ว่างงาน เงินเกษียณ ฯลฯ โดยนายจ้างจะต้องขึ้นทะเบียนนายจ้าง และขึ้นทะเบียนลูกจ้างให้เป็นผู้ประกันตนของกองทุนประกันสังคม ภายใน 30 วัน นับแต่มีการจ้างลูกจ้าง
หลังจากนั้นนายจ้างจะต้องหักเงินสมทบทั้งส่วนของนายจ้างและลูกจ้าง ในอัตรา 5% ของค่าจ้าง (ฐานเงินเดือนสูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท ถ้าเงินเดือนสูงกว่านี้ก็ใช้แค่ยอด 15,000 x 5% = 750 บาท) โดยนำส่งเงินด้วยแบบ สปส. 1-10 ส่วนที่ 1 และ สปส. 1-10 ส่วนที่ 2 ที่สำนักงานประกันสังคม
หรือยื่นออนไลน์และนำแบบไปชำระที่ธนาคารที่สำนักงานประกันสังคมกำหนดไว้ภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป โดยสามารถดาวน์โหลดข้อมูลเอกสารประกันสังคมจากโปรแกรม FlowAccount และสามารถทดลองใช้โปรแกรมฟรี 30 วัน
2. กองทุนเงินทดแทน
ใช้กรณีที่เจ็บป่วย ประสบอุบัติเหตุ ทุพพลภาพ หรือเสียชีวิต จากการทำงานให้นายจ้าง โดยนายจ้างจะต้องขึ้นทะเบียนภายใน 30 วัน นับแต่มีการจ้างลูกจ้างเช่นกัน แต่นายจ้างจะเป็นผู้จ่ายเงินทดแทนแต่เพียงฝ่ายเดียวให้สำนักงานประกันสังคม โดยจ่ายเป็นรายปี
นายจ้างต้องจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนเงินทดแทนเท่าไหร่
นายจ้างจะจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนเงินทดแทนแบบรายปีเพียงปีละครั้ง แบ่งจ่ายเป็น 2 รอบ คือ
- ครั้งที่ 1: ชำระตามแบบ กท.26 ก ที่ทางประกันสังคมประเมินตัวเลขไว้
- ครั้งที่ 2: ชำระตามยอดใบแจ้งการประเมิน กท.25 ค ซึ่งตัวเลขนี้จะมาจากการคำนวณตามแบบ กท.20 ก ที่ได้นำส่งไปในเดือนกุมภาพันธ์ มีวิธีการคำนวณคือ
ค่าจ้างส่วนที่ไม่เกิน 20,000 บาท / คน / เดือน ของทั้งปีรวมกัน X อัตรา เงินสมทบระหว่างอัตรา 0.2-1.0% ตามประเภทของกิจการ |
_ |
ยอดที่ชำระไปแล้วตามแบบ กท.25 ค ของปีเดียวกัน |
(ค่าจ้างส่วนที่ไม่เกิน 20,000 บาท / คน / เดือน ที่จ่ายให้แก่ลูกจ้างทั้งปี สูงสุดคนละไม่เกิน 240,000 บาทต่อปี)
วิธีการจ่ายกองทุนเงินทดแทน
เมื่อมีลูกจ้าง 1 คนแล้ว ให้จ่ายเงินทดแทนภายใน 30 วันในปีแรก ส่วนปีถัดไปจะมีกระบวนการจ่าย 2 รอบ ในช่วง 3 เดือนแรกของปี คือ
เดือนมกราคม ยอดที่จ่ายจะคิดมาจากจำนวนเงินค่าจ้างที่สำนักงานประกันสังคมประเมินไว้ให้ล่วงหน้า หากในระหว่างปีนายจ้างมีการเพิ่มหรือลดลูกจ้าง หรือปรับเงินเดือน จึงทำให้นายจ้างต้องรายงานค่าจ้างที่จ่ายจริงในเดือนกุมภาพันธ์ ไปยังสำนักงานประกันสังคมอีกครั้งหนึ่ง เพื่อนำมาเปรียบเทียบกัน
หากจำนวนค่าจ้างจริงของปีที่ผ่านมาสูงกว่าค่าจ้างที่ประมาณไว้ ก็ต้องจ่ายเงินทดแทนเพิ่มในเดือนมีนาคม ถ้าจำนวนค่าจ้างจริงของปีที่ผ่านมาต่ำกว่าค่าจ้างที่ประมาณไว้ ก็จะได้รับเงินทดแทนส่วนที่จ่ายเกินคืน
แต่ถ้านายจ้างจ่ายเงินทดแทนเกินเวลาที่กำหนด หรือจ่ายเงินทดแทนไม่ครบจำนวน จะต้องจ่ายเงินค่าปรับ 3% ต่อเดือนของเงินทดแทนที่ต้องจ่าย
FlowAccount ช่วยอะไรได้บ้าง
พนักงานบัญชีหรือพนักงานที่รับผิดชอบการจ่ายเงินเดือนของพนักงานในบริษัทสามารถใช้ เมนู Payroll ของ FlowAccount ซึ่งเป็นเมนูบันทึกเงินเดือน บันทึกขาด ลา มา สาย และหักค่าใช้จ่ายประกันสังคม ภาษีต่างๆ ของพนักงานมาใช้เป็นข้อมูลในการทำแบบคำนวณค่าจ้างเพื่อประกอบการรายงานค่าจ้างตามแบบ กท.20 ก ก่อนที่จะทำการชำระยอดรอบที่สองในเดือนมีนาคมอีกครั้งหนึ่ง
ข้อมูล