ภ.ง.ด. 1 คืออะไร นายจ้างต้องยื่นเมื่อไหร่ ยื่นอย่างไรให้ถูกต้อง

ภ.ง.ด. 1 คืออะไร นายจ้างต้องยื่นเมื่อไหร่ ยื่นอย่างไรให้ถูกต้อง

ภงด 1 คือ แบบสรุปรายการเงินได้ของพนักงานซึ่งนายจ้างต้องหัก ณ ที่จ่าย ยื่นแบบภ.ง.ด. 1 และนำส่งเงินให้กรมสรรพากรภายในระยะเวลาที่กำหนด โดย “ภ.ง.ด.” ย่อมาจากคำว่า “ภาษีเงินได้” และเป็นเอกสารที่มีหลายฟอร์ม สำหรับการหักภาษี ณ ที่จ่ายเงินเดือนด้วย ภ.ง.ด. 1 นั้นมี 2 เอกสารที่นายจ้างต้องรู้จัก ได้แก่ ภ.ง.ด. 1 และ ภ.ง.ด. 1ก แล้วทั้งสองแบบมีความแตกต่างกันอย่างไร รวมถึงมีอะไรที่นายจ้างต้องรู้ในการยื่นภ.ง.ด.1 บ้าง อ่านได้ที่บทความนี้

ภาษีหัก ณ ที่จ่ายเงินเดือน ภ.ง.ด. 1/ภ.ง.ด. 1ก คืออะไร?

  • ภ.ง.ด. 1 

ภ.ง.ด. 1 คือ แบบแสดงรายการภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายสำหรับแต่ละเดือน ซึ่งนายจ้างมีหน้าที่ยื่นต่อกรมสรรพากรตามมาตรา 50 (1) เมื่อมีรายได้พึงประเมินตาม 40 (1) - (2) ในอัตราร้อยละที่กำหนดไว้ เข้าใจง่ายๆ คือเป็นเอกสารแสดงว่านายจ้างมีการเก็บภาษีหัก ณ ที่จ่ายเป็นจำนวนเงินทั้งหมดเท่าไหร่ โดย ภ.ง.ด.1 เป็นเอกสารที่ใช้สำหรับแจ้งพนักงานที่มีรายได้ถึงฐานที่ต้องเสียภาษีแล้วเท่านั้น หากพนักงานมีเงินได้ไม่ถึงฐานที่ต้องเสียภาษี นายจ้างไม่ต้องยื่น ภ.ง.ด. 1

  • ภ.ง.ด. 1ก 

ภ.ง.ด. 1ก คือ แบบแสดงรายการภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายสรุปรายได้สำหรับทั้งปี เหมือนกับการนำ ภ.ง.ด. 1 ที่เป็นรายได้แต่ละเดือนมาสรุปรวมกันเป็นจำนวนเงินได้ที่นายจ้างจ่ายให้กับพนักงานเป็นจำนวนต่อปี โดยนายจ้างมีหน้าที่ต้องยื่น ภ.ง.ด. 1ก แม้ว่าพนักงานคนนั้นจะมีรายได้ไม่ถึงเกณฑ์หัก ณ ที่จ่ายก็ตาม

ดูวิดีโออธิบายเรื่องความแตกต่างระหว่าง ภ.ง.ด. 1 และ ภ.ง.ด. 1ก: https://youtu.be/wD1vMLQZAkU

 

ตัวอย่างเอกสารภ.ง.ด. 1 และภ.ง.ด. 1ก

 

ใครคือผู้ที่มีหน้าที่หัก ณ ที่จ่าย ภ.ง.ด. 1 

ไม่ว่าจะเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคล นายจ้างซึ่งเป็นผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินต่างๆ ตามมาตรา 40(1) และ 40(2) ที่ได้กล่าวถึงด้านบน คือผู้ที่มีหน้าที่หัก ณ ที่จ่าย ยื่นแบบ ภ.ง.ด.1 และนำส่งภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายให้แก่กรมสรรพากร

 

โดยส่วนมาก เงินได้พึงประเมินที่ต้องยื่นภ.ง.ด. 1 คือ เงินเดือน แต่ก็มีเงินได้ประเภทอื่นที่เมื่อนายจ้างจ่ายให้พนักงานต้องแสดงรายการในภ.ง.ด. 1 ด้วยเช่นกัน ตัวอย่างเช่น 

  • ตามประเภทเงินได้ 40(1): ค่าตอบแทนจากการทำงานประจำ เช่น โบนัส ค่าล่วงเวลา เบี้ยเลี้ยง และค่าจ้างที่ผู้รับเงิน ได้แบบไม่ได้เป็นพนักงานประจำ 
  • ตามประเภทเงินได้ 40(2): เช่น ค่าจ้างทั่วไป ค่าคอมมิชชั่น ค่าเบี้ยประชุม 

 

สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมของเงินได้พึงประเมินแต่ละประเภทตามสรรพากรกำหนดได้ที่นี่

 

ทำไมนายจ้างต้องยื่น ภ.ง.ด. 1 และ ภ.ง.ด. 1ก

  1. เพื่อการปฏิบัติตามกฎหมาย: ประมวลรัษฎากร มาตรา 50(1) และ (2) กำหนดให้นายจ้างที่จ่ายเงินได้พึงประเมินแก่บุคคลอื่น หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย และนำส่งกรมสรรพากรตามกำหนด
  2. กระจายการชำระภาษีของพนักงาน: การชำระภาษีสิ้นปีครั้งเดียวเป็นจำนวนเงินที่สูง การหัก ณ ที่จ่ายในทุกเดือนในจำนวนไม่มาก จะช่วยกระจายภาระภาษีที่พนักงานต้องจ่ายภาษีต่อปีให้เป็นเหมือนการผ่อนรายเดือน
  3. รัฐบาลได้เงินภาษีเร็วขึ้น: รัฐบาลจะได้รับภาษีทุกเดือนจากนายจ้างทำให้รัฐบาลมีเงินหมุนเวียนมาใช้จ่ายได้เร็วขึ้นกว่าการจ่ายภาษีครั้งเดียว ณ สิ้นปี
  4. ป้องกันการหลีกเลี่ยงภาษีของผู้มีเงินได้: หากบุคคลธรรมดาเป็นผู้ที่นำส่งภาษีเอง ผู้มีรายได้อาจหลีกเลี่ยงการเสียภาษีโดยการไม่แสดงต่อสรรพากรว่ามีการรับเงินจากนายจ้าง เมื่อนายจ้างเป็นผู้ยื่นฟอร์มภ.ง.ด.1 เอง สรรพากรก็มีโอกาสที่จะได้รับข้อมูลครบถ้วนกว่า

 

หากไม่ยื่นแบบ ภ.ง.ด. 1 และ ภ.ง.ด. 1ก จะเกิดผลเสียอย่างไร

การไม่ยื่นแบบภ.ง.ด. 1 และ ภ.ง.ด. 1ก ตามที่สรรพากรกำหนด นอกจากจะผิดกฎหมายแล้ว ยังมีผลกระทบที่ส่งผลต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอีกหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็น

 

ผลเสียต่อนายจ้าง

การยื่นภ.ง.ด.ช้าและการไม่ยื่นเอกสารตามหน้าที่ นอกจากโทษปรับที่จะได้รับแล้ว ยังอาจทำให้ได้รับโทษทางอาญาอีกด้วย ในกรณีมีเจตนาไม่ยื่นภ.ง.ด. 1 เพื่อเลี่ยงภาษี มีโทษคือจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (มาตรา 37 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร) และหากไม่ยื่นแบบ ภ.ง.ด. 1ก ติดต่อกัน 2 ปี กรมสรรพากรมีสิทธิ์ระงับใบทะเบียน ภ.พ.20 ซึ่งเป็นหลักฐานสำคัญที่แสดงว่าบริษัทเข้าสู่ระบบภาษีมูลค่าเพิ่มเรียบร้อยแล้วจนส่งผลต่อการออกใบกำกับภาษี ส่งผลต่อความน่าเชื่อถือของกิจการ


ผลเสียต่อลูกจ้าง

สำหรับลูกจ้างแล้ว การที่นายจ้างไม่ยอมยื่นหรือนำส่งภ.ง.ด. 1 และ ภ.ง.ด. 1ก จะส่งผลให้สรรพากรไม่ได้รับข้อมูลเงินได้พึงประเมินที่ถูกต้อง อาจทำให้ลูกจ้างไม่ได้รับสิทธิลดหย่อนหรือขอคืนภาษีส่วนที่ถูกหักจากเงินได้ในทุกเดือน และอาจส่งผลกระทบไปถึงการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อส่วนบุคคลของลูกจ้างในอนาคต


ผลเสียต่อระบบเศรษฐกิจ

เมื่อเงินได้พึงประเมินถูกแสดงไม่ครบถ้วน กรมสรรพากรอาจสูญเสียรายได้และกระทบต่องบประมาณแผ่นดิน อาจทำให้ต้องมีการกำกับดูแลที่เข้มงวดขึ้น ส่งผลให้ผู้ที่ปฎิบัติตามกฎหมายได้รับความยุ่งยากหรืออาจถึงขั้นได้รับความไม่เป็นธรรมทางธุรกิจได้


นายจ้างต้องยื่น ภ.ง.ด. 1 และ ภ.ง.ด. 1ก เมื่อไหร่

 

“ภ.ง.ด. 1 ยื่นเดือนละครั้ง”

 

ต้องยื่นแบบให้แล้วเสร็จภายใน ภายใน 7 วัน นับตั้งแต่สิ้นเดือนที่จ่ายเงินเดือน แต่ถ้ายื่นทางอินเทอร์เน็ต กรมสรรพากรจะขยายระยะเวลาการยื่นแบบให้เป็นภายใน 15 วัน นับตั้งแต่สิ้นเดือนที่จ่ายเงินเดือน

 

“ภ.ง.ด. 1ก ยื่นปีละครั้ง”

 

ต้องนำส่งรายได้ทั้งปีให้กรมสรรพากรปีละ 1 ครั้ง โดยจะต้องดำเนินการยื่นแบบให้แล้วเสร็จภายในเดือนกุมภาพันธ์ของปีถัดไป

 

ภ.ง.ด. 1 เป็นเอกสารที่นายจ้างต้องให้ความสำคัญ ยื่นแบบฟอร์ม ภ.ง.ด. 1 และ ภ.ง.ด. 1ก ตามที่สรรพากรกำหนดด้วย FlowAccount Payroll เชื่อมต่อกับการจัดการข้อมูลพนักงาน ช่วยลดข้อผิดพลาดจากการกรอกข้อมูล บันทึกและจัดการเงินเดือนอย่างเป็นระบบ ช่วยให้การยื่นภาษีเป็นเรื่องไม่ยากอีกต่อไป เพราะสามารถดาวน์โหลดไฟล์ทั้ง ภ.ง.ด. 1 และ ภ.ง.ด. 1ก แล้วนำไปใช้กับโปรแกรม RD Prep ได้เลย

 

ขอขอบคุณข้อมูลจาก

https://www.rd.go.th/14929.html

https://flowaccount.com/blog/salary-payments-p-n-d-1-p-n-d-1a/

https://www.thaichamber.org/news/view/87/3076/smart-to-know

About Author

รับวันใช้งานฟรี 30 วัน
เมื่อสมัครทดลองใช้ FlowAccount วันนี้
สมัครเลย

บทความที่คุณน่าจะสนใจ