หากรู้ตัวว่า ส่งเงินสมทบประกันสังคมเกิน ต้องแจ้งความจำนงขอรับเงินคืนภายใน 1 ปีนับจากวันที่ส่งเงินสมทบเกิน โดยสามารถขอรับเงินคืนได้ 2 วิธี ได้แก่
|
ทุกท่านที่ประกอบธุรกิจคงจะทราบดีกว่า นายจ้างนั้นมีหน้าที่นำส่งเงินสมทบประกันสังคม ทั้งในส่วนที่หักจากลูกจ้างไว้และในส่วนที่กิจการสมทบเข้าไป ให้แก่สำนักงานประกันสังคมเป็นประจำทุกๆ เดือน
บ่อยครั้งที่ผู้ประกอบการคำนวณเงินประกันสังคมผิดและนำส่งเงินประกันสังคมเกินไป ซึ่งอาจจะเกิดจากการคำนวณผิดพลาดเอง หรือลืมปรับลดอัตราสมทบเงินประกันสังคมตามมติรัฐมนตรีในช่วง COVID-19
เงินที่เรานำส่งเกินไปนั้นจะขอคืนจากสำนักงานประกันสังคมได้หรือไม่ และมีขั้นตอนอย่างไร วันนี้เราจะมาไขข้อข้อใจเรื่องนี้กันค่ะ
เลือกอ่านได้เลย!
ส่งเงินสมทบประกันสังคมเกิน ขอคืนได้หรือไม่
คำตอบคือ สามารถขอคืนได้ ตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 ที่บัญญัติว่า
“ในกรณีที่นายจ้างนำเงินสมทบในส่วนของผู้ประกันตน หรือเงินสมทบในส่วนของนายจ้างส่งให้แก่สำนักงานเกินจำนวนที่ต้องชำระ ให้นายจ้างหรือผู้ประกันตนยื่นคำร้องขอรับเงินในส่วนที่เกินคืนได้ตามระเบียบที่เลขาธิการกำหนด”
ระเบียบสำนักงานประกันสังคม ว่าด้วยการขอรับเงินสมทบที่นำส่งไว้เกินจำนวนที่ต้องชำระคืน พ.ศ. 2560 โดยมีสาระสำคัญว่า
“ให้นายจ้างหรือผู้ประกันตนที่นำส่งเงินสมทบให้แก่สำนักงานประกันสังคมเกินจำนวนที่ต้องชำระ ยื่นคำร้องขอรับเงินคืนเป็นหนังสือต่อสำนักงานประกันสังคมแห่งใดแห่งหนึ่งที่สะดวกในการติดต่อ”
ขั้นตอนการขอเงินสมทบประกันสังคมคืนเป็นอย่างไร
หากรู้ตัวว่ายื่นประกันสังคมเกินแล้ว ต้องแจ้งความจำนงขอรับเงินคืนภายใน 1 ปีนับจากวันที่ส่งเงินสมทบเกิน โดยสามารถขอรับเงินคืนได้ 2 วิธี ได้แก่
- นายจ้าง ยื่นขอรับเงินคืนพร้อมแนบหลักฐานและเหตุผลการขอรับเงินคืนกับสำนักงานประกันสังคม
- ลูกจ้าง หากได้รับจดหมายแจ้งจากประกันสังคม สามารถกรอกข้อความแสดงความประสงค์ขอรับเงินคืนพร้อมลงลายมือชื่อ และนำไปยื่นกับสำนักงานประกันสังคม หรือจะส่งทางไปรษณีย์ก็ได้
เอกสารที่ต้องใช้มีอะไรบ้าง
กรณีที่นายจ้างยื่นขอรับคืนเงินให้แก่ลูกจ้าง ต้องมีเอกสารประกอบดังต่อไปนี้
- นายจ้างกรอกแบบคำขอรับคืนเงิน สปส.1-23/1 (คลิกแบบที่นี่)
- สำเนาหรือหนังสือรับรองการจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล หรือสำเนาทะเบียนพาณิชย์ (อายุไม่เกิน 6 เดือน) พร้อมรับรองสำเนาถูกต้อง
- แนบรายชื่อลูกจ้างที่ขอคืน พร้อมจำนวนเงินที่ขอคืนแต่ละคน
- หนังสือมอบอำนาจกระทำแทน
- สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน หรือบัตรประจำตัวที่หน่วยราชการออกให้ ของนายจ้างและผู้รับอำนาจ พร้อมรับรองสำเนาถูกต้อง
- เอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับการขอรับคืนเงิน เช่น หลักฐานการจ่ายเงินค่าจ้าง, หนังสือลาออกของผู้ประกันตน เป็นต้น (พร้อมรับรองสำเนาถูกต้องทุกฉบับ)
แต่หากเป็นลูกจ้างที่ได้รับจดหมายแจ้งจากประกันสังคม สามารถกรอกข้อความแสดงความประสงค์ขอรับเงินคืนพร้อมลงลายมือชื่อ และนำไปยื่นกับสำนักงานประกันสังคม หรือจะส่งทางไปรษณีย์ได้เลย
ใช้เวลานานไหม กว่าจะได้รับอนุมัติคืนเงิน
ขั้นตอนและระยะเวลาการตรวจสอบเอกสารเพื่ออนุมัติเงินคืนประกันสังคม มีทั้งหมด 3 ขั้น ซึ่งแต่ละขั้นใช้เวลารวมไม่ถึง 2 ชั่วโมงค่ะ
- การตรวจสอบเอกสาร นายจ้างยื่นแบบคำขอรับเงินคืน (สปส.1-23/1) และเจ้าหน้าที่รับแบบตรวจสอบเอกสารและบันทึกเข้าระบบคืนเงิน (ระยะเวลา 15 นาที)
- การพิจารณา เจ้าหน้าที่พิจารณาและตรวจสอบข้อมูลประกอบการขอรับเงินคืน (ระยะเวลา 60 นาที)
- การลงนาม เจ้าหน้าที่เสนอแบบคำขอรับเงินคืน สำนักงานประกันสังคมจังหวัดและสาขา เพื่อให้ผู้มีอำนาจลงนามอนุมัติและรับเงิน หรือเสนอไม่อนุมัติ พร้อมบันทึกผลการพิจารณาในระบบคืนเงิน (ระยะเวลา 25 นาที)
ช่องทางการรับเงินเป็นอย่างไร
การรับเงินคืนนั้นมีด้วยกัน 3 วิธี ได้แก่
- รับเงินสด/เช็ค นายจ้างขอรับด้วยตนเองโดยนำบัตรประจำตัวประชาชนไปแสดง หรือกรณีให้บุคคลอื่นไปแทน ต้องทำหนังสือมอบอำนาจและนำบัตรประชาชนผู้มอบอำนาจและผู้รับมอบอำนาจไปแสดงด้วย
- รับเช็คทางไปรษณีย์ สำนักงานประกันสังคมจะส่งให้ภายใน 3 วันทำการนับจากวันที่อนุมัติคำสั่งจ่าย
- รับเงินผ่านทางธนาคาร ต้องแนบสำเนาสมุดบัญชีเงินฝากธนาคารประเภทออมทรัพย์ ที่มีชื่อและเลขที่บัญชีของผู้มีสิทธิเท่านั้น สำนักงานประกันสังคมจะแจ้งธนาคารให้โอนเงินเข้าบัญชีภายใน 5 วันทำการนับจากวันที่อนุมัติคำสั่งจ่าย
เห็นไหมคะว่า ขั้นตอนขอเงินประกันสังคมคืนนั้นสามารถทำได้ และขั้นตอนไม่ยุ่งยากเลย หากผู้ประกอบการท่านใดรู้ตัวว่านำส่งเงินประกันสังคมเกินไปละก็ อย่าลืมรักษาสิทธิให้แก่กิจการเองและลูกจ้างโดยการขอเงินคืนภายใน 1 ปีนะคะ และที่สำคัญตรวจสอบเอกสารและรับรองสำเนาให้เรียบร้อยก่อนนำส่งแก่ประกันสังคม เพื่อจะได้ลดเวลาในการรอคอยและได้รับอนุมัติการคืนเงินรวดเร็วทันใจค่ะ
อ่านข้อมูลการทำประกันสังคมต่อได้ที่บทความ
สิทธิประกันสังคม สิทธิประโยชน์ที่คนทำงานควรรู้และต้องได้รับ!
ประกันสังคม ประโยชน์ที่เจ้าของธุรกิจควรรู้ และขั้นตอนการยื่นสิทธิอย่างง่าย!
About Author
นักบัญชี ผู้สอบบัญชี และผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ cpdacademy.co คอร์สอบรมบัญชี CPD ออนไลน์สำหรับผู้ทำบัญชีและผู้สอบบัญชี ที่มีประสบการณ์ในวิชาชีพมากกว่า 10 ปี และอยากส่งต่อความรู้เพื่อเพื่อนนักบัญชีให้มีทักษะอย่างมืออาชีพและก้าวทันโลกดิจิทัล
ร่วมสมัครเป็นนักเขียนกับ FlowAccount ได้ที่นี่