ความรู้บัญชีเบื้องต้นที่เจ้าของคลินิกเสริมความงามควรใส่ใจ เพราะคลินิกเสริมความงามที่ประสบความสำเร็จทุกวันนี้อาจไม่ได้วัดกันที่ทำหน้าให้ลูกค้าได้สวย มีออร่าเป๊ะปังเท่านั้น การจัดการบัญชีให้มีกำไรก็เป็นอีกเรื่องที่สำคัญมาก เพราะสูตรสำเร็จของคลินิกความงาม ต้องมีพร้อมทั้งความสวยและความรวยเป็นของคู่กันค่ะ |
คลินิกเสริมความงามช่วยให้ลูกค้าสวยและหล่อแบบมีออร่าได้แบบง่ายๆ ด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย ไม่ว่าจะเป็นการยกกระชับ ปรับหน้าเรียว ลบริ้วรอย หรือแก้ไขความหย่อนคล้อยต่างๆ (แหม่..มาเป็นกลอนเลย) เอาเป็นว่าคลินิกเสริมความงามในทุกวันนี้ช่วยแก้ปัญหาของลูกค้าได้ทั้งหมดค่ะ
แม้ผู้ประกอบการคลินิกจะช่วยลูกค้าแก้ปัญหาเรื่องรูปร่าง หน้าตา ผิวพรรณมานับร้อยนับพันคนแล้ว แต่เชื่อไหมคะว่าปัญหาที่คลินิกเสริมความงามส่วนใหญ่หนักใจนั้น ไม่ใช่เรื่องความสวยความงาม แต่เป็นเรื่องเงินๆ ทองๆ อย่างการทำบัญชี เพราะไม่มีความรู้ด้านบัญชีเป็นทุนตั้งต้นค่ะ
ถ้าวันนี้ใครวางแผนเปิดคลินิกเสริมความงาม หรืออยากรู้ว่าคลินิกที่เราเปิดอยู่ต้องมีความรู้บัญชีอะไรบ้าง ลองมาทำความเข้าใจไปพร้อมกันในบทความนี้ค่ะ
1. เริ่มต้นคลินิกควรวางผังบัญชียังไง
อยากมีบัญชีที่ใช้ประโยชน์ได้จริงต้องเริ่มต้นจากการวางผังบัญชีก่อนค่ะ คลินิกเสริมความงามเป็นธุรกิจที่มีลักษณะเฉพาะ ผังบัญชีก็ควรถูกออกแบบให้เหมาะสมกับธุรกิจของเราเช่นกัน
โดยปกติแล้วธุรกิจทั่วไปอาจมีการลงทุนในอุปกรณ์ต่างๆ อยู่บ้างประปราย แต่สำหรับธุรกิจเสริมความงามต้องใช้เงินจำนวนมากลงทุนในเครื่องมือทางการแพทย์ ยกตัวอย่างเช่น
- เครื่องอัลเทอรา (Ulthera)
- เครื่องไฮฟู (HIFU) เพื่อยกกระชับ ปรับใบหน้าให้เรียวสวย
- เครื่องเทอร์มาจ (Thermage) เพื่อลดริ้วรอย
เครื่องมือทั้งหมดนี้มีราคาแพง และบางครั้งต้องนำเข้ามาจากต่างประเทศ ทำให้ผู้ประกอบการคลินิกเสริมความงามเองก็ต้องวางแผนและมั่นใจว่าการบันทึกบัญชีนั้นเป็นไปอย่างถูกต้อง
ในทางบัญชี เครื่องมือเหล่านี้เราเรียกว่าสินทรัพย์ไม่หมุนเวียน หรือ Fixed Asset ซึ่งยิ่งใช้ไปก็จะมีค่าเสื่อมราคาเกิดขึ้นเป็นค่าใช้จ่ายตลอดอายุการใช้งาน
ถ้าอยากเริ่มต้นเรื่องบัญชีให้เป็นระบบ เราควรแยกบัญชี “เครื่องมือทางการแพทย์” ออกมาแสดงต่างหากจากอุปกรณ์ตัวอื่นๆ อย่างชัดเจน และเมื่อเริ่มต้นบันทึกบัญชีควรจะมีเอกสารต่างๆ ในการซื้อเครื่องมือเหล่านี้ประกอบไว้ให้ครบถ้วน ได้แก่
- ใบสั่งซื้อ
- ใบแจ้งหนี้
- ใบเสร็จรับเงิน
- ใบกำกับภาษี
ถ้ากรณีที่เรานำเข้าเครื่องมือดังกล่าวเข้ามาจากต่างประเทศ ก็จะมีค่าใช้จ่ายในการนำเข้า และใบเสร็จการนำเข้าและภาษีเพิ่มเติมที่ต้องเก็บไว้อย่างเป็นระเบียบเรียบร้อยเช่นกัน
มีเครื่องมืออย่างเดียวแต่ไม่มีสต็อกยาก็ให้บริการลูกค้าไม่ได้ อย่างน้อยๆ คลินิกต้องสต็อก Botox, Filler หรือว่าวิตามิน ทั้งหลายไว้ในธุรกิจ ซึ่งในทางบัญชีเราเรียกว่า สินค้าคงเหลือ ซึ่งจัดไว้ในหมวดหมู่เป็นสินทรัพย์หมุนเวียนของธุรกิจ และเมื่อใช้ไปก็จะถูกเปลี่ยนหมวดเป็นค่าใช้จ่าย (ประเภทต้นทุนขาย) ของธุรกิจ
วิธีการควบคุมง่ายๆ เราอาจจะวางตารางในการนับสต็อกสินค้าทุกๆ อาทิตย์ เพื่อให้มั่นใจว่าสินค้าที่เหลืออยู่ตรงกับในรายงานของทางบัญชีไหม แล้วจึงให้นักบัญชีปรับปรุงมูลค่าสินค้าที่เหลืออยู่ตามความเป็นจริงค่ะ
ส่วนเอกสารที่ต้องมีในตอนซื้อเข้าก็ไม่แตกต่างจากการซื้อเครื่องมืออุปกรณ์เข้ามานัก เพียงตัวเราเองต้องมั่นใจว่าทุกครั้งที่ซื้ออุปกรณ์เครื่องมือ (สินทรัพย์ไม่หมุนเวียน) และสินค้าคงเหลือ เรามีเอกสารประกอบครบถ้วนแล้วจริงๆ เพื่อประโยชน์ในการบันทึกบัญชีและภาษี
2. ต้นทุนธุรกิจที่สำคัญของคลินิกเสริมความงาม
แม้ว่าจะมีเครื่องไม้เครื่องมือพร้อม ยาพร้อม สต็อกสินค้าเต็มเอี้ยด แต่คลินิกจะเปิดไม่ได้เลย ถ้าไม่มีคุณหมอผู้เชี่ยวชาญมาให้คำปรึกษาลูกค้าและทำทรีตเมนต์ต่างๆ ให้ต้นทุนที่เกิดขึ้นจากการจ้างแพทย์มาดูแลลูกค้า เราต้องเข้าใจและพยายามควบคุมไว้ให้ดีตลอดระยะเวลาที่เปิดคลินิก และสิ่งที่ต้องรู้เกี่ยวกับบัญชีและภาษีสำหรับค่าจ้างคุณหมอ ทั้งหมด 3 เรื่องหลักๆ ได้แก่
- บันทึกบัญชีเงินเดือน ถ้ามีคุณหมอประจำแบบรายเดือนควรจะต้องทำบัญชีเงินเดือนให้เรียบร้อย เพื่อเก็บประวัติหมอและบุคลากรไว้อย่างครบถ้วน บางคลินิกที่ใหญ่มากๆ มีพนักงานเยอะอาจจะต้องใช้โปรแกรมเงินเดือนมาช่วยเก็บและบันทึกข้อมูล เพราะว่าจะมีประโยชน์กับการหักภาษีหัก ณ ที่จ่าย และประกันสังคมด้วย
- ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ในเคสที่จ้างคุณหมอเป็นพนักงานประจำในแต่ละเดือนที่จ่ายเงินเดือนก็ต้องหัก ณ ที่จ่ายคำนวณตามอัตราก้าวหน้า หรือถ้าจ้างเป็นรายครั้งอาจจะต้องมาเช็กว่าเข้าข่ายเงินได้ประเภท 40(2) จ่ายตามเวลา หรือ 40(6) จ่ายค่าวิชาชีพตามผลงาน ซึ่งอัตราการหักภาษี ณ ที่จ่ายก็จะแตกต่างกันค่ะ
- ประกันสังคม สืบเนื่องจากการมีคุณหมอหรือว่าพนักงานประจำร้าน กฎหมายกำหนดไว้ว่าเจ้าของธุรกิจจะต้องขึ้นทะเบียนประกันสังคมให้เรียบร้อยแล้วก็นำส่งเงินประกันสังคม โดยหักเงินบางส่วนจากพนักงานและนายจ้างสมทบอีกส่วนเข้าไปค่ะ
ทั้ง 3 เรื่องนี้เป็นคนละเรื่องกัน แต่มีความสัมพันธ์กันอย่างแยกไม่ออก ถ้าไม่ทำบัญชีเงินเดือน ค่าจ้างในแต่ละเดือน เราก็จะไม่รู้ว่าต้องหัก ณ ที่จ่ายเท่าใดเพื่อนำส่งสรรพากร และต้องส่งประกันสังคมเท่าใดบ้าง
ที่เล่ามานี้ เป็นต้นทุนของการทำธุรกิจคลินิกความงามก้อนใหญ่ๆ ที่มีอยู่เป็นประจำๆ ทุกเดือน เราจึงไม่ควรละเลยเรื่องบัญชีโดยเด็ดขาด
3. รายได้จากคลินิกเสริมความงาม
ในส่วนของรายได้ เจ้าของคลินิกเองต้องทำความเข้าใจว่า คลินิกจะมีรายได้ประเภทใดบ้าง โดยขอแบ่งออกเป็น 2 ประเภทง่ายๆ แบบนี้
- รายได้ที่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม หมายถึง รายได้จากการประกอบกิจการสถานพยาบาลตามกฎหมายว่าด้วยสถานพยาบาล และอยู่ภายใต้หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กฎหมายว่าด้วยสถานพยาบาลกำหนด เช่น การทำศัลยกรรม ฉีดสิว โดยมีหลักการว่ารายได้ต้องเกิดหลังจากที่ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบกิจการสถานพยาบาล
- รายได้ที่ไม่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม หมายถึง รายได้อื่นๆ ของคลินิกที่ได้รับโดยไม่ต้องมีข้อแนะนำจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เช่น การขายอาหารเสริม ขายครีมบำรุง รายได้เหล่านี้ถ้าคาดว่าในระหว่างปีจะมีตั้งแต่ 1.8 ล้านบาทขึ้นไป ก็จะต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม คิด Vat 7% และออกใบกำกับภาษีทุกครั้งที่ได้รับเงินจากลูกค้า
ยิ่งคลินิกมีรายได้หลากหลาย เจ้าของเองก็ต้องทำความเข้าใจว่ารายได้ของเราเป็นประเภทไหน และออกเอกสารใบเสร็จรับเงินให้ลูกค้าอย่างถูกต้อง ยิ่งถ้ามีรายได้เข้าข่ายต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (Vat) แล้ว สิ่งที่ต้องทำเพิ่มเติมก็จะค่อนข้างเคร่งครัด ได้แก่
- ทำรายงานภาษีขาย
- ทำรายงานภาษีซื้อ
- ทำรายงานสินค้าและวัตถุดิบ
และในทุกๆ เดือนก็จะต้องยื่นแบบ ภ.พ. 30 เพื่อนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มตามที่กฎหมายกำหนด
ถ้าเราไม่มีประสบการณ์ในการออกเอกสารและทำรายงานเหล่านี้ FlowAccount ช่วยให้การออกเอกสารต่างๆ ทำได้ง่ายขึ้น ทดลองใช้งานโปรแกรมบัญชีออนไลน์ สำหรับ SMEs ฟรี 30 วันที่นี่
ทั้งหมดทั้งมวลที่เล่ามา เป็นความรู้บัญชีเบื้องต้นที่เจ้าของคลินิกเสริมความงามควรใส่ใจ เพราะคลินิกเสริมความงามที่ประสบความสำเร็จทุกวันนี้อาจไม่ได้วัดกันที่ทำหน้าให้ลูกค้าได้สวย มีออร่าเป๊ะปังเท่านั้น การจัดการบัญชีให้มีกำไรก็เป็นอีกเรื่องที่สำคัญมาก เพราะสูตรสำเร็จของคลินิกความงาม ต้องมีพร้อมทั้งความสวยและความรวยเป็นของคู่กันค่ะ
About Author
เพจให้ความรู้เรื่องบัญชีสำหรับเจ้าของธุรกิจ ที่อยากให้บัญชีเป็นเรื่องง่าย ใกล้ตัว และมีประโยชน์กับธุรกิจ ภายใต้แนวคิดทีว่า “ทำบัญชี แล้วจะมีกำไร”
ร่วมสมัครเป็นนักเขียนกับ FlowAccount ได้ที่นี่