ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครึ่งปี ภ.ง.ด.94 แบบมือใหม่ก็เข้าใจง่าย

ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครึ่งปี

เมื่อเวลาผ่านมาแล้ว 6 เดือนก็ถึงเวลาที่ต้องมาทบทวนรายละเอียดประเภทรายได้ของผู้ที่มีเงินได้จากอาชีพอิสระกันแล้วค่ะ ลองมาเช็คกันว่า “บุคคลธรรมดา” ท่านไหนมีหน้าที่ที่จะต้องยื่นภาษีครึ่งปี บทความนี้รวบรวมความรู้ กำหนดการยื่นภาษีครึ่งปี เงื่อนไข และการลดหย่อนต่างๆ ไว้ให้เรียบร้อยแล้วค่ะ

เมื่อเวลาผ่านมาแล้ว 6 เดือนก็ถึงเวลาที่ต้องมาทบทวนรายละเอียดประเภทรายได้ของผู้ที่มีเงินได้จากอาชีพอิสระกันแล้วค่ะ ลองมาเช็คกันว่า “บุคคลธรรมดา” ท่านไหนมีหน้าที่ที่จะต้องยื่นภาษีครึ่งปี หรือ ภ.ง.ด.94 ที่ต้องนำส่งระหว่างเดือน กรกฎาคม ถึง กันยายนเป็นประจำทุกปีกันบ้าง บทความนี้รวบรวมความรู้ กำหนดการยื่นภาษีครึ่งปี เงื่อนไข และการลดหย่อนต่างๆ ไว้ให้เรียบร้อยแล้วค่ะ

 

ภาษีครึ่งปี (ภ.ง.ด.94) คืออะไร

 

หมายถึง การยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้ของบุคคลธรรมดาครึ่งปี ของผู้มีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(5)-(8) แห่งประมวลรัษฎากร ที่ได้รับช่วงต้นปีแรกหรือตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเดือนมิถุนายนรวมกันแล้วเกินจำนวน 60,000 บาท ไม่ว่าจริงๆแล้วบุคคลธรรมดาท่านนั้นจะมีเงินได้ประเภทอื่นนอกเหนือจากนี้หรือไม่ก็ตามค่ะ

 

การยื่นภาษีครึ่งปีเสมือนเป็นการชำระภาษีล่วงหน้าคล้ายภาษีเงินได้ถูกหัก ณ ที่จ่าย เพื่อแบ่งเบาภาระในการชำระภาษีแทนการชำระครั้งเดียวเมื่อคำนวณภาษีประจำปี ที่สำคัญช่วยให้ผู้มีเงินได้ประเมินเงินได้ตลอดปีภาษี prorate จากเงินได้ในช่วงครึ่งปีแรก วางแผนลดหย่อนภาษีก่อนที่จะยื่นแบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปี (ภ.ง.ด.90) นั่นเอง

 

ทีนี้เรามาดูกันต่อค่ะว่า เงินได้แต่ละประเภทนั้นเก็บตัวเลขมาจากรายได้อะไรบ้าง เพื่อเช็คกันว่ารายได้ที่เรามีเข้าข่ายว่าต้องยื่นครึ่งปีหรือไม่กันนะคะ

 

ใครต้องยื่นภาษีครึ่งปี (ภ.ง.ด.94)

 

ใครที่ฟังว่ารายได้ 40 แล้วมีวงเล็บอะไรกันนะ ไม่ต้องตกใจไปค่ะ ต่อไปนี้จะเป็นความหมายของรายได้แต่ละประเภทนะคะ

  • ผู้มีเงินได้ประเภทที่ 5 หรือ 40(5) หมายถึง เงินได้จากการให้เช่า
  • ผู้มีเงินได้ประเภทที่ 6 หรือ 40(6) หมายถึง เงินได้จากวิชาชีพอิสระ ได้แก่ประกอบโรคศิลป์ บัญชี วิศวกรรม ทนายความ ประณีตศิลป์ สถาปัตยกรรม โดยส่วนมากจะมีใบประกอบวิชาชีพที่ได้รับการรับรอง
  • ผู้มีเงินได้ประเภทที่ 7 หรือ 40(7) หมายถึง เงินได้จากการรับเหมา ที่ผู้รับเหมาต้องลงทุน จัดหาวัสดุส่วนประกอบที่สำคัญ เช่น รับเหมาก่อสร้าง รับจ้างทาสี เป็นต้น
  • ผู้มีเงินได้ประเภทที่ 8 หรือ 40(8) หมายถึง เงินได้จากการพาณิชย์ หรือเงินได้อื่น ๆ ที่ไม่ใช่เงินได้ตามมาตรา40(1)-(7) เช่น รายได้จากการขายสินค้าหรือให้บริการ ทั้งที่มีหน้าร้านและออนไลน์ การขายอสังหาริมทรัพย์ รางวัลจากการชิงโชค เป็นต้นค่ะ

 

หลังจากเช็คประเภทกันแล้วผู้ที่มีเงินได้ 4 ประเภทตามด้านบนจะต้องมาเช็คว่าประเภทบุคคลธรรมดา ที่บอกไว้ก่อนนะคะว่าไม่ได้แปลว่ามีแค่บุคคลธรรมดานั้นคืออะไรบ้างตามภาพต่อไปนี้ค่ะ

 

ผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

 

จำนวนเงินว่ามีเงินได้พึงประเมินรวมกันตามจำนวนดังต่อไปนี้หรือไม่ ถ้าจำนวนถึงเกณฑ์ถึงจะมีหน้าที่ยื่นภาษีครึ่งปี (ภ.ง.ด. 94) นะคะ

 

ใครมีหน้าที่ในการยื่นแบบ ภ.ง.ด.94

 

ฉะนั้นหมายถึงว่าถ้าหากเรามีเงินได้ 2 ประเภทคือเงินเดือนที่เป็นเงินได้ประเภท 40(1) และค่าเช่าที่เป็นเงินได้ประเภท 40(5) ที่เกิดช่วงครึ่งปีแรก ก็จะนำเพียงรายได้ค่าเช่ามาคำนวณภาษีครึ่งปีนี้เท่านั้นค่ะ

 

วิธีการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครึ่งปี

 

มีวิธีการคำนวณ 2 วิธีที่ต้องนำมาเปรียบเทียบกันเอาจำนวนที่มากกว่าค่ะ ซึ่งวิธีคำนวณจะเหมือนกับการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสิ้นปี ได้แก่ 

  • วิธีเงินได้พึงประเมิน ที่คำนวณจาก รายได้ x 0.5% ในกรณีที่มีรายได้รวมกันเกิน 1 ล้านบาท และ 
    • ถ้าหากจำนวนภาษีที่คำนวณได้จากวิธีนี้น้อยกว่า 5,000 บาท ไม่ต้องเสียภาษีวิธีนี้นะคะ
  • วิธีเงินได้สุทธิ ที่คำนวณจากรายได้ประเภทที่5-8 (หัก) ค่าใช้จ่าย (หัก) ค่าลดหย่อน แล้วนำจำนวนที่เหลือไปคูณกับอัตราภาษีตามขั้นบันได
    • การหักค่าใช้จ่ายจะแตกต่างกันไปตามประเภทเงินได้ที่สามารถเลือกได้ว่าหักเหมาหรือหักตามจริงค่ะ

 

ภงด94

 

ถ้าเลือกค่าใช้จ่ายในวิธีไหนตอนยื่นภาษีครึ่งปีแล้ว การยื่นภาษีสิ้นปีก็จะต้องเลือกหักค่าใช้จ่ายตามวิธีนั้นด้วยเช่นกัน ค่าลดหย่อนจะเป็นรายการหักตามที่กฎหมายกำหนด รอดูภาพจริงในขั้นตอนการยื่นแบบด้านล่างได้เลยนะคะ ซึ่งบางตัวจะหักได้เพียงครึ่งเดียว เพราะเป็นการยื่นภาษีครึ่งปี เช่น ลดหย่อนส่วนตัวเหลือครึ่งหนึ่งคือจำนวน 30,000 บาท จาก 60,000 บาท แต่สำหรับรายการยกเว้นจากเงินได้สามารถลดหย่อนได้เต็มจำนวนค่ะ

 

ขั้นตอนการยื่นภาษี ภ.ง.ด.94

 

มาลองดูขั้นตอนการนำส่งข้อมูลภาษีครึ่งปีผ่านระบบออนไลน์ไปพร้อมๆกันตาม Step ดังนี้ค่ะ

 

1. Log in เข้าระบบ RD E-Filling ด้วย เลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากร หรือ ชื่อผู้ใช้งาน และ รหัสผ่าน

 

ยื่น ภงด94

 

2. คลิกเลือก ภ.ง.ด.94 สำหรับเงินได้จาก ค่าเช่า, วิชาชีพอิสระ, รับเหมาก่อสร้าง, เงินได้อื่นๆ ที่มีรายได้ช่วงมกราคม - มิถุนายน ตั้งแต่ 60,000 บาทขึ้นไป ตามภาพนี้ค่ะ

 

ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครึ่งปี ภงด94

 

3. จากนั้นตรวจสอบและแก้ไขข้อมูลผู้เสียภาษีของเราให้ถูกต้องนะคะ

 

ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครึ่งปี ภงด94

 

4. กรอกเงินได้ประเภท 40(5) - 40(8) ซึ่งส่วนนี้แนะนำให้เก็บข้อมูลจดไว้บนกระดาษหรือ Excel ไว้ก่อน เพื่อเวลากรอกบนระบบจะได้ถูกต้องครบถ้วยนะคะ

 

ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครึ่งปี ภงด94

 

5. ค่าลดหย่อน ในส่วนนี้นั้นแต่ละคนสามารถกรอกข้อมูลค่าลดหย่อนตามจริงลงไปได้เลยค่ะ ตามภาพด้านล่างนี้ค่าลดหย่อนจะแบ่งออกเป็น 5 กลุ่มค่ะ ไม่ว่าจะเป็น สิทธิลดหย่อนส่วนตัวและครอบครัว, ค่าลดหย่อน/ยกเว้นด้านการออม การลงทุนและประกัน, ค่าลดหย่อน/ยกเว้น จากสินทรัพย์และมาตรการนโยบายภาครัฐ , ช้อปดีมีคืน  , เงินบริจาค

 

ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครึ่งปี ภงด94

 

ภาพด้านล่างนี้จะเป็นค่าลดหย่อนในกลุ่มของ สินทรัพย์และมาตรการนโยบายจากรัฐ โครงการช้อปดีมีคืน และเงินบริจาคนะคะ

 

ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครึ่งปี ภงด94

 

  1. เมื่อกรอกข้อมูลเรียบร้อยแล้ว กด “ถัดไป” เพื่อตรวจสอบข้อมูลก่อนการคลิกยืนยันการนำส่งแบบ ก็เป็นอันเสร็จเรียบร้อยค่ะ

 

ยื่นภาษีครึ่งปี 2567 (ภ.ง.ด. 94) ภายในวันที่เท่าใด

 

สามารถยื่นแบบแสดงรายการภายใน 2 เดือนหลังครึ่งรอบระยะเวลาปีภาษี ซึ่งก็คือได้ตั้งแต่ 1 กรกฎาคม - 30 กันยายน 2567 ส่วนการยื่นแบบทางอินเตอร์เน็ตจะขยายเวลาไปได้ถึง 8 ตุลาคม 2567 ค่ะ

 

สุดท้ายนี้หากมีการยื่นนำส่งแบบแสดง ภ.ง.ด.94 ครึ่งปีเรียบร้อยแล้ว เมื่อต้นปีถัดไปก็ยังคงต้องมีหน้าที่ยื่นภาษีเงินได้ประจำปีหรือแบบแสดงรายการ ภ.ง.ด.90 เพื่อรวมคำนวณอีกครั้งนะคะ โดยสามารถนำจำนวนที่เคยเสียภาษีครึ่งปีและภาษีเงินได้ถูกหัก ณ ที่จ่ายที่ชำระภาษีไปแล้วมาหักลบให้เหลือเฉพาะส่วนต่างที่เป็นจำนวนที่ต้องชำระเพิ่มหรือขอคืนค่ะ

 

About Author

ลองใช้งานFlowAccount ฟรี 30 วันได้ง่ายๆ วันนี้
ลองใช้งานฟรีได้ง่ายๆ วันนี้
สมัครเลย

You may also like