การทะเลาะกันเองในสายเลือดเป็นเรื่องสุดท้ายที่ไม่อยากมีใครให้เกิดขึ้น มักจะเกิดจากสาเหตุที่ว่าพ่อแม่นั้น ไม่ได้วางแผนไว้อย่างดีพอ สำหรับการส่งต่อธุรกิจไปสู่รุ่นลูกๆ เพื่อป้องกันการทะเลาะกันเองเรื่องการแบ่งธุรกิจให้รุ่นลูกที่มารับช่วงต่อ เราต้องรู้อะไรบ้าง ลองมาอ่านบทความนี้กันค่ะ |
“เราจะทะเลาะกับใครก็ได้ แต่ต้องไม่ใช่คนในครอบครัว”
การทะเลาะกันเองในสายเลือด โดยเฉพาะอย่างยิ่งพี่น้องท้องเดียวกัน น่าจะเป็นเรื่องสุดท้ายที่ไม่อยากมีใครให้เกิดขึ้น แต่เชื่อมั้ยคะว่า เหตุการณ์แบบนี้เกิดมานัดต่อนัดแล้วสำหรับธุรกิจแบบครอบครัว และมักจะเกิดจากสาเหตุที่ว่าพ่อแม่นั้น ไม่ได้วางแผนไว้อย่างดีพอ สำหรับการส่งต่อธุรกิจไปสู่รุ่นลูกๆ
เพื่อป้องกันการทะเลาะกันเองในครอบครัว เพราะเรื่องการแบ่งธุรกิจให้รุ่นลูกที่มารับช่วงต่อ เราต้องรู้อะไรบ้าง ลองมาอ่านบทความนี้กันค่ะ
สาเหตุที่การส่งต่อกิจการสู่รุ่นลูกไม่ราบรื่น
ทุกการเปลี่ยนแปลง ย่อมมีอุปสรรคเกิดขึ้นเสมอ ดังนั้น การเรียนรู้สาเหตุที่อาจทำให้การส่งต่อธุรกิจสู่รุ่นลูกอาจช่วยให้พ่อแม่อย่างเรา หาทางป้องกันปัญหาตั้งแต่เนิ่น ๆ ได้ค่ะ
เอาล่ะ แล้วสาเหตุที่ทำให้ธุรกิจไม่สามารถส่งต่อได้อย่างราบรื่นคืออะไร ลองมาดูกัน
1. คิดว่าลูกทุกคนต้องได้หุ้นเท่าเทียมกัน
เรื่องนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่อาจนำปัญหามาสู่ธุรกิจค่ะ เพราะคนเป็นพ่อเป็นแม่ ย่อมอยากให้ลูกรู้ว่าเรารักลูกทุกคนเท่ากัน ดังนั้นจึงพลานนึกไปว่า การแบ่งสัดส่วนหุ้นในธุรกิจก็ควรจะเท่ากันไม่ใช่หรือ?
แต่ในความเป็นจริงแล้ว การแบ่งหุ้นให้ลูกๆ ทุกคนเท่ากันทางธุรกิจนั้น หมายถึง ลูกทุกคนมีสิทธิ์มีเสียง และส่วนได้เสียในธุรกิจเท่ากันด้วย แม้ว่าบางคนจะแยกบ้านออกไปมีครอบครัวใหม่ และไม่ได้ทำอะไรเลยสักนิด
ถ้าลูกคนอื่นไม่คิดมากว่าตัวเองทำงานเยอะกว่า แต่ได้ส่วนแบ่งอย่าง “เงินปันผล” น้อยนิด คงไม่มีเรื่องให้ต้องหมางใจกัน แต่เมื่อมีเรื่องเงินทองมาเกี่ยวข้อง แม้จะใจกว้างขนาดไหน ก็อาจจะเปลี่ยนไปเป็น “น้อยเนื้อต่ำใจ” ก็ได้นะ
2. แบ่งหน้าที่ไม่เหมาะสม
คนที่พ่อแม่ไว้ใจ อาจจะไม่ใช่คนที่ทำงานเก่งที่สุด แม้ว่าพี่น้องจะไม่มีปัญหาเรื่องการแบ่งหุ้น แต่ถ้าลองมองลงไปลึกกว่านั้น การแบ่งหน้าที่การทำงาน ก็อาจเป็นอีกปัญหาที่ทำให้ลูกๆ ไม่พอใจกันและกัน
ขนาดฝาแฝดยังมีความถนัด ไม่เหมือนกันเลย แล้วคนเป็นพี่น้องกันจะมีความถนัดเหมือนกันได้ยังไง พ่อแม่จึงต้องแบ่งงาน ให้เหมาะสมกับความถนัดของแต่ละคน
ยกตัวอย่างเช่น พี่ชายถนัดในการบริหารงานหน้าบ้าน น้องสาวถนัดในการบริหารหลังบ้าน พ่อแม่ก็ต้องแบ่งงานตามความถนัดของลูก เพื่อไม่ให้การส่งต่อมีปัญหาติดขัด และให้ลูกทำในสิ่งที่ตัวเองถนัด มากกว่าฝืนใจลูกให้ทำอย่างนั้นอย่างนี้ ตามที่ตัวเองต้องการ และพวกเค้าน่าจะมีความสุขกับการทำธุรกิจร่วมกันมากยิ่งขึ้นค่ะ
3. รุ่นลูกไม่มีความรู้ในกิจการของที่บ้าน
อีกหนึ่งปัญหาที่สำคัญ ของการส่งต่อกิจการในครอบครัว คือ รุ่นลูกไม่ได้มีความรู้ เกี่ยวกับธุรกิจของที่บ้านเลย เรื่องนี้เป็นระเบิดเวลาที่รอวันปะทุ เมื่อพ่อแม่ต้องส่งต่อธุรกิจ ในขณะที่ลูกๆ ไม่พร้อมจะรับไม้ต่อ เมื่อนั้นธุรกิจของเราอาจจะไม่อยู่ยั้งยืนยาวเหมือนที่เราอยากให้เป็นก็ได้นะคะ
ธรรมนูญครอบครัวช่วยจบปัญหาลูกๆ ทะเลาะกันได้อย่างไร
แม้แต่จะเป็นคนที่รักในครอบครัว แต่ก็ต้องยอมรับว่า พวกเราทุกคนมีความคิดที่แตกต่างกันเป็นธรรมดา (ถ้าเห็นตรงกันทุกเรื่องน่าจะเป็น B1 B2 กล้วยหอมจอมซนแน่ๆ ล่ะ)
ดังนั้น ธรรมนูญครอบครัว (Family Charter) อาจจะช่วยจบปัญหาการเห็นต่างจนนำไปสู่การทะเลาะกันแบบบานปลาย
ธรรมนูญครอบครัว (Family Charter) หมายถึง บันทึกข้อตกลงร่วมกันของคนในครอบครัว เป็นกฎเหล็กที่ทุกคนยอมรับและจะปฏิบัติตาม ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับการวางแผนและจัดการเรื่องต่างๆ ของครอบครัว และธุรกิจครอบครัว
การตั้งธรรมนูญครอบครัว จะทำให้คนในครอบครัว มีความเข้าใจกันมากขึ้น สื่อสารกันมากขึ้น ยอมรับกันมากขึ้น เคารพกันและกัน โดยข้อแนะนำในการทำธรรมนูญครอบครัว จะมีดังนี้
- ต้องจัดทำในขณะที่ทุกคนอยู่กันพร้อมหน้า ข้อผิดพลาดที่หลายครอบครัวมักเจอ คือ พ่อแม่ตัดสินแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด เรียกง่ายๆ ว่าเผด็จการนั่นแหละ ซึ่งจะทำให้ลูกไม่ยอมรับในกฎ และต่อต้านพ่อแม่ ดังนั้นเวลาจัดทำกฎร่วมกัน ต้องทำให้ทุกคนเห็นด้วยร่วมกัน
- ทุกคนในบ้านมีสิทธิ์ออกเสียงเท่ากัน กฎที่ทุกคนจะทำร่วมกันได้ ทุกคนต้องเห็นพ้องต้องกันก่อน นั่นคือข้อแรก และต่อจากนั้นคือ ทุกคนต้องมีสิทธิ์มีเสียงเท่ากัน เพื่อให้เกิดการสื่อสาร และไม่บาดหมางใจกันทีหลัง
- ต้องแยกเรื่องงานกับเรื่องส่วนตัวออกจากกัน แน่นอนว่าหากที่บ้านมีกิจการ และทุกคนในบ้านก็เป็นพนักงานในกิจการนั้น ตอนทำงาน ทุกคนมีหน้าที่แตกต่างกัน อาจมีความเห็นที่ไม่ตรงกัน แต่พอกลับมาอยู่ในบ้าน ทุกคนคือครอบครัว ต้องแยกเรื่องงานกับครอบครัว ออกจากกันให้ดีล่ะ
แบ่งแยกหน้าที่และความรับผิดชอบอย่างไร
อย่างที่เรารู้กันว่า หลักสำคัญในการบริหารองค์กร คือการแบ่งงานให้ถูกคน มอบหมายงาน ให้ตรงกับความถนัดของแต่ละคน จะทำให้ทุกคนทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด
สำหรับธุรกิจครอบครัว ก็เช่นเดียวกัน ต้องมีการแบ่งแยกหน้าที่ ตามแต่ความถนัดและทักษะของแต่ละคน
ข้อแนะนำสำหรับการแบ่งแยกหน้าที่ยังไง จัดสรรแบบไหน ให้ไม่เกิดความขุ่นมัวใจในธุรกิจครอบครัว มีดังนี้
- มอบหมายงานให้ตรงกับความถนัด เรื่องนี้สำคัญมาก ไม่มีใครรู้จักเราได้ดีไปมากกว่าคนในครอบครัว พ่อแม่ต้องรู้จักลูกดี ว่าเขาถนัดในด้านไหน และเขายังสามารถพัฒนาต่อในด้านไหนได้บ้าง แล้วมอบหมายงานให้ลูกคนนั้นๆ เสมือนการส่งมอบงานให้กับพนักงานมากความสามารถคนหนึ่ง
- การสื่อสารสองทาง ถนัดไม่พอต้องชอบด้วย พ่อแม่ต้องคอยถามลูกอยู่เสมอ ว่าลูกคนนี้อยากทำแบบไหน อยากทำงานอะไรในกิจการ เห็นภาพตัวเองเป็นยังไงในกิจการของครอบครัว ถ้าพ่อแม่คอยสั่งอย่างเดียว ก็ไม่ต่างกับเผด็จการ จึงต้องถามความสมัครใจของลูกด้วย
- ให้ผลตอบแทนที่เหมาะสม ลูกแต่ละคน แน่นอนว่าทำงานไม่เท่ากัน ดังนั้นผลตอบแทนก็ต่างกันด้วย พ่อแม่ควรจัดสรรผลตอบแทนที่เหมาะสมให้กับลูกแต่ละคน ทั้งในเรื่องของเงินเดือน สวัสดิการ และปันผล รวมถึงสัดส่วนในการถือครองหุ้นด้วย
การติดตามผลการดำเนินงานของลูกๆ ในช่วงแรก
ในช่วงของการเปลี่ยนผ่านกิจการ แน่นอนว่าช่วงแรก ต้องมีปัญหาอยู่แล้วค่ะ ดังนั้น คนเป็นพ่อแม่ นอกจากจะคอยสั่งสอนลูกในการใช้ชีวิตแล้ว ยังต้องสอนลูกทำธุรกิจให้เก่งขึ้นด้วย ไม่ใช้เพื่อกำไรเท่านั้น แต่นี่คือ การสร้างความมั่นคงและรากฐานของชีวิต ในวันที่พ่อแม่จากไปด้วยค่ะ
ดังนั้น การคอยติดตามผลประกอบการของธุรกิจ ผ่านงบการเงิน หรือสถานะทางบัญชีอย่างสม่ำเสมอก็เป็นเรื่องสำคัญที่จะช่วยให้คนเป็นพ่อเป็นแม่ เฝ้าดูการเจริญเติบโตของลูกๆ ได้อีกทางหนึ่ง
Flowaccount โปรแกรมบัญชีออนไลน์เอง ก็มีส่วนช่วยให้เจ้าของธุรกิจแบบครอบครัว คอยเช็กผลประกอบการผ่านระบบออนไลน์ ช่วยให้พ่อแม่ เข้าถึงข้อมูลได้ง่าย และยื่นมือเข้ามาช่วยลูกๆ ได้ในเวลาที่ลูกต้องการ สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ https://flowaccount.com/
สรุป
การส่งมอบธุรกิจจากรุ่นพ่อแม่สู่รุ่นลูก ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่คงไม่ใช่เรื่องยากเกินความสามารถสำหรับคนเป็นพ่อเป็นแม่ สิ่งสำคัญ คือ การวางแผนล่วงหน้า สื่อสารกันให้ดี มีกฎเหล็กตกลงร่วมกันภายในครอบครัว เพียงเท่านี้นุชเชื่อว่าน่าจะช่วยลดปัญหาอันน่าปวดหัวจากการทะเลาะกันเองในครอบครัวไม่มากก็น้อยนะคะ
About Author
นักบัญชี ผู้สอบบัญชี และผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ cpdacademy.co คอร์สอบรมบัญชี CPD ออนไลน์สำหรับผู้ทำบัญชีและผู้สอบบัญชี ที่มีประสบการณ์ในวิชาชีพมากกว่า 10 ปี และอยากส่งต่อความรู้เพื่อเพื่อนนักบัญชีให้มีทักษะอย่างมืออาชีพและก้าวทันโลกดิจิทัล
ร่วมสมัครเป็นนักเขียนกับ FlowAccount ได้ที่นี่