คนขายของออนไลน์ ควรศึกษาเรื่องของการจดทะเบียนพาณิชย์ หรือพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงการขึ้นทะเบียนต่างๆ สำหรับสินค้าที่เราขาย (ถ้ามี) เพื่อให้เราดำเนินธุรกิจได้ถูกต้องตามกฎหมายและมีความน่าเชื่อถือ |
โดย TaxBugnoms
“ขายของออนไลน์ ต้องเสียภาษีอะไรบ้าง?” เป็นคำถามที่ผมได้รับบ่อยในแฟนเพจ TAXBugnoms มาตลอด แต่คำตอบนั้นไม่ได้สั้นและง่ายอย่างที่คิด เพราะเราต้องชวนคิดกันอีกหลายเรื่องครับ ถึงจะได้คำตอบที่แท้จริง
เมื่อทาง FlowAccount ให้โอกาสเขียนบทความสำหรับธุรกิจขายของออนไลน์ ผมเลยอยากชวนทุกคนมาเรียนรู้ 9 ข้อสำคัญที่เราควรรู้ก่อนจะวางแผนภาษี สำหรับคนที่ขายของออนไลน์ทุกคนมาฝากกันครับ
โดยแต่ละข้อนั้นสรุปประเด็นสำคัญได้ตามนี้ ลองมาไล่เรียงกันดูอีกทีนะครับ
1. เราทำอะไร
อันนี้ไม่ใช่คำถามกวนประสาท แต่เป็นคำถามที่อยากให้เช็คอีกทีว่า การขายของออนไลน์ที่ว่านั้น มันคือธุรกิจอะไร เพราะมันครอบคลุมกว้างขวางได้หลายอย่างมากครับ ดังนั้นลองอธิบายตัวเองก่อนว่า ธุรกิจของเราเป็นธุรกิจเกี่ยวกับอะไรกันแน่ เช่น ขายของออนไลน์ ประเภทของใช้ในบ้าน (สินค้า) โดยรับสินค้ามาจากจีน (คู่ค้า) เพื่อขายให้กับแม่บ้านที่ต้องการของดีราคาถูก (กลุ่มเป้าหมาย) จะทำให้เราเห็นภาพได้ชัดเจนขึ้นครับ
2. เรามีรายได้ทางไหน
พอเรากำหนดภาพที่ชัดเจนตั้งแต่แรก จะเห็นเส้นทางการเงิน (รายรับ) ของเราครับว่า เรารับเงินจากลูกค้าแบบไหน รับเป็นแบบใด (เงินสด เงินโอน เช็ค บัตรเครดิต เก็บเงินปลายทาง) และแต่ละทางมีความเสี่ยงแบบไหนบ้าง เพื่อให้เห็นภาพของที่มารายได้ต่อครับ
3. เรามีต้นทุนอะไรบ้าง
คำถามนี้จะช่วยให้เราตอบตัวเองต่อได้ว่า ต้นทุนที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของเรานั้นมีอะไรบ้าง เช่น สินค้าที่นำมาขาย มีต้นทุนเก็บรักษา (สโตร์) ค่าขนส่ง ค่าแพ็กของ ค่าโฆษณา ค่าใช้จ่ายต่างๆที่จ่ายให้กับแพลตฟอร์มที่เราขายอยู่ ไปจนถึงต้นทุนอื่นๆ เช่น พนักงาน หรือ การเปลี่ยนคืนสินค้า ถ้าระบุตรงนี้ชัด เราจะเห็นต้นทุนที่ชัดเจน และทำให้เราไปต่อได้ครับ
หมายเหตุ: จะเห็นว่า 3 ข้อแรกนี้ เรากำลังอธิบายลักษณะธุรกิจและพิจารณาตัวเลขที่เกี่ยวข้องต่างๆ ครับว่า รายได้ที่เรามีเป็นแบบไหน ค่าใช้จ่ายมีเท่าไร เพื่อให้เราหาว่าธุรกิจมีกำไรมากแค่ไหนนั่นเองครับ |
4. เรามีกำไรที่น่าพอใจไหม
จากการคำนวณกำไรใน 3 ข้อที่ผ่านมา ถ้าหากกำไรที่เราได้รับนั้นยังไม่น่าพอใจ เราคงต้องถามตัวเองว่า เราจะสร้างรายได้ หรือลดรายจ่ายอย่างไรดี ไปจนถึงการทำธุรกิจต่อดีไหม เพราะกำไรที่ว่านี้ยังไม่ได้คิดภาษีที่เกี่ยวข้องเลย ดังนั้นถ้าหากกำไรที่ได้รับไม่เป็นที่น่าพอใจ การแก้ปัญหาตรงนี้ก่อนเป็นเรื่องสำคัญมากๆ ครับ จะได้ไม่ทำให้เราเสียเวลาไปกับการทำธุรกิจที่ไม่สามารถสร้างคุณค่าหรือไปต่อได้ในอนาคต
5. เรามีกระแสเงินสดหมุนเวียนไหม
จากการรับเงินจากลูกค้า และการจ่ายต้นทุนต่างๆ ให้กับคู่ค้า ถ้าหากลองเก็บข้อมูลเพิ่มเติมดู เราจะรู้ว่ากระแสเงินสดหมุนเวียนที่เราต้องการต้องมีเท่าไร และจากการทำธุรกิจนี้ต้องมีเงินเท่าไรเพื่อให้อยู่ล่วงหน้าต่อไปได้ เพราะกระแสเงินสดเป็นสิ่งที่จำเป็นมากๆ ในยุคนี้ครับ
6. เราจ่ายเงินเดือนให้ตัวเองเท่าไร
ถ้าหากกระแสเงินสดดี กำไรน่าพอใจ สิ่งที่เราต้องแยกออกมาให้ชัดคือ การจัดการเงินส่วนตัวกับธุรกิจ นั่นคือ เราจะแบ่งกำไรออกมาใช้ส่วนตัวเดือนละเท่าไร (ตรงนี้สำคัญมาก) และเงินที่อยู่ในธุรกิจจะเป็นเท่าไร เพื่อไม่ให้การใช้เงินส่วนตัวปนกับเงินที่สำรองไว้ใช้สำหรับธุรกิจเพราะอาจจะมีปัญหาได้ในอนาคตครับ
หมายเหตุ : จากข้อ 4-6 จะเห็นว่าเราเริ่มมาสนใจในมุมของการจัดการกำไร กระแสเงินสด และการจัดการแยกบัญชีของตัวเอง เพื่อสะท้อนว่าธุรกิจเรามีตัวเลขเป็นที่น่าพอใจหรือไม่ และเราสามารถบริหารจัดการธุรกิจและตัวเองได้หรือเปล่า |
7. เราทำบัญชีด้วยอะไร
จะเห็นว่าสิ่งสำคัญที่สุด คือ ข้อมูลนั่นเองครับ ดังนั้นการทำบัญชีก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ต้องเอามาพิจารณา เราต้องทำบัญชีเองหรือไม่ เราทำบัญชีด้วยโปรแกรมอะไร บันทึกแบบไหน ข้อมูลจากแพลตฟอร์มต่างๆ มีเพียงพอไหม และต้องมีการจ่ายต้นทุนในส่วนนี้เพิ่มขึ้นเพื่อให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้องหรือเปล่า ดังนั้นถ้าเราทำข้อมูลดี มันจะเป็นรากฐานสำคัญในการจัดการภาษีในอนาคตเหมือนกันครับ
และถ้าอยากทำบัญชีแบบง่ายๆ ขอแนะนำให้หาโปรแกรมบัญชีที่สามารถเชื่อมระบบเข้ากับเว็บขายของออนไลน์ได้เลย เพื่อให้ระบบช่วยนำรายการขายทุกออร์เดอร์ของเรามาบันทึกบัญชีให้อัตโนมัติครับ ลองดูบริการ FlowAccount เชื่อมต่อ Lazada กันได้ที่นี่ครับ FlowAccount X Lazada
8. เรามองอนาคตธุรกิจแบบไหน
จะเห็นว่าทั้งหมดที่เล่ามา ผมไม่เอ่ยถึงเรื่องของรูปแบบธุรกิจว่าเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลเลย เนื่องจากมองว่าทุกคนส่วนใหญ่ที่เริ่มต้นธุรกิจขนาดเล็ก หรือ การขายของออนไลน์ นั้น มักจะเริ่มจากการทำด้วยตัวเอง (บุคคลธรรมดา) ก่อน ดังนั้นการมองภาพของธุรกิจเมื่อมีข้อมูลที่เหมาะสมนั้น จะช่วยให้เรามองต่อได้ว่า เราควรจดบริษัทหรือเปลี่ยนเป็นนิติบุคคลในอนาคตไหม โดยไม่ใช่มองแค่ประเด็นภาษี แต่มองถึงการจัดการทุกอย่างที่พูดมา รวมถึงโครงสร้างของธุรกิจอีกด้วยครับ
9. เราต้องจัดการอะไรทางกฎหมายบ้าง
คำถามสุดท้ายนี้เป็นการเปิดประตูต่อไปแล้วครับว่า เราต้องมีการทำธุรกิจให้ถูกต้องตามกฎหมายเสียก่อน ก่อนจะไปเริ่มต้นเรื่องภาษี ดังนั้นควรศึกษาเรื่องของการจดทะเบียนพาณิชย์ หรือพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (เพื่อให้ถูกต้องและน่าเชื่อถือ) รวมถึงการขึ้นทะเบียนต่างๆ สำหรับสินค้าที่เราขาย (ถ้ามี) เพื่อให้สุดท้ายแล้วเราจะได้ดำเนินธุรกิจถูกต้องตามกฎหมายครับ
โดยสรุปทั้ง 9 ข้อที่ว่ามานี้ ยังไม่แตะเรื่องภาษีเกี่ยวกับการขายของออนไลน์เลย แต่ผมต้องการให้จัดการทุกอย่างให้เรียบร้อยเสียก่อน เพื่อที่เราจะได้มีข้อมูลครบในการตัดสินใจ และจัดการธุรกิจให้ได้ดีเสียก่อน เพื่อให้มั่นใจได้ว่าธุรกิจของเราจะอยู่รอดต่อไปครับ
และแน่นอนครับว่า ถ้าหากมีข้อมูลพวกนี้ตั้งแต่แรก เก็บและจัดการให้ดี ย่อมจะทำให้ธุรกิจจัดการเรื่องภาษีได้ง่ายขึ้นเช่นกันครับ เพราะข้อมูลต่างๆ ในการตัดสินใจเรื่องภาษี จะมาจากองค์ประกอบทั้งหมดนี้นี่แหละครับผม
เอาเป็นว่าต่อจากนี้ เราจะเริ่มต้นคุยเรื่องของการจัดการเบื้องต้นทางด้านกฎหมาย และการจัดการด้านภาษีต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกันในตอนต่อไปครับ ยังไงเตรียมใจไว้ให้ดีเลยละกันครับ เพราะข้อมูลที่จะฝากกันต่อจากนี้เขียนจากประสบการณ์จริงของผมเองล้วนๆ ครับผม
ฝากติดตามกันด้วยนะครับ แล้วพบกันใหม่ในตอนต่อไปครับ…
เริ่มต้นออกบิล ใบเสร็จ และทำบัญชีออนไลน์กันได้ฟรี 30 วันที่นี่
About Author
พรี่หนอม หรือ TAXBugnoms (แทกซ์-บัก-หนอม) เป็นบล็อกเกอร์ นักเขียน และวิทยากรที่ให้ความรู้เรื่องภาษี บัญชี การเงิน มีประสบการณ์ทำงานในแวดวงบัญชี ภาษี มานานกว่า 15 ปี โดยมีแนวคิดว่า “ภาษี” ควรเป็น “เรื่องเรียบง่าย” และ “รู้สึกสบายใจ” ที่จะจ่าย