หลายๆ องค์กรมีปริมาณสินค้าคงคลังถือครองไว้นาน ทำให้เกิดต้นทุนทางการเงินสูงกว่าคู่แข่ง ตัวที่มีไม่ได้ขาย ตัวที่ขายดีกลับไม่มีของ เสียโอกาสในการขาย เพื่อให้ตรวจสอบได้เร็ว ผมมักจะใช้วิธีการวัดปริมาณสินค้าคงคลังในมือ (Day of Supply: DOS หรือ Day on Hand: DOH) เนื่องจากเป็นวิธีการที่ทำได้ง่าย และสามารถตอบได้ทันทีว่า ขณะนี้สต็อกสินค้ามีน้อยเกินไป พอดี หรือมากเกินไป |
LEAN Inventory เป็นอีกแนวทางหนึ่งที่ช่วยผู้ประกอบการในการลดต้นทุนการถือครองสินค้าได้เป็นอย่างดี หลายๆ องค์กรมีปริมาณสินค้าคงคลังถือครองไว้นาน ทำให้เกิดต้นทุนทางการเงินสูงกว่าคู่แข่ง ตัวที่มีไม่ได้ขาย ตัวที่ขายดีกลับไม่มีของ เสียโอกาสในการขาย
เราสามารถตรวจสอบสินค้าคงคลัง หรือสต็อกสินค้าได้จากงบการเงินของบริษัทใน งบดุล หรือ Balance Sheet ในหมวดสินทรัพย์หมุนเวียน (Current Asset) สินทรัพย์หมุนเวียนเร็วจะสามารถเปลี่ยนเป็นเงินสดได้ภายในระยะเวลา 1 ปี
หลักการพื้นฐานงบดุล แบ่งเป็น สินทรัพย์ และหนี้สินกับส่วนของเจ้าของ
พื้นฐานงบดุล จะมีการจำได้ง่ายๆ คือ A = L + O
เมื่อ Asset: A คือ สินทรัพย์ และสินทรัพย์แบ่งได้ 2 แบบ คือ แบบหมุนเวียนเร็ว (Current Asset: CA) และแบบถาวร (Fix Asset: FA)
โดยใช้เงื่อนไขเวลาเป็นตัวแบ่ง คือ สินทรัพย์หมุนเวียนเร็วสามารถแปลงเป็นเงินได้ภายใน 1 ปี ส่วนสินทรัพย์ถาวรต้องใช้เวลามากกว่า 1 ปี ถึงจะแปลงเป็นเงินสดได้ เช่น ตึก อาคาร เครื่องจักร รถยนต์ อุปกรณ์ต่างๆ
Liabilities: L คือ หนี้สิน ที่เกิดจากการยืมเงินมาจากผู้อื่นเป็นต้น
ส่วน Owner’s Equity: O หมายถึง ส่วนของเจ้าของ เป็นเงินลงทุนตอนเริ่มบริษัทนั่นเอง
สินค้าคงคลังทางบัญชี แยกออกเป็น 3 ประเภท ดังนี้
1. สินค้าคงคลังวัตถุดิบ หรือวัสดุ (Raw Material: RM)
วัตถุดิบหรือส่วนประกอบสินค้าที่ยังไม่ได้นำไปผลิต แปรรูป แปรสภาพ ในกระบวนการ หรือชิ้นส่วนของสินค้าที่ต้องนำมาประกอบเป็นสินค้าสำเร็จรูป
2. สินค้าคงคลังงานระหว่างทำ (Work-in-process: WIP)
สินค้าที่ค้างอยู่ระหว่างกระบวนการผลิต กลายเป็นต้นทุนอีกประเภทหนึ่ง จนกว่าสินค้าจะผลิตเสร็จพร้อมขาย
3. สินค้าสำเร็จรูป (Finish Good: FG)
สินค้าสำเร็จรูปเป็นสินค้าที่จะพร้อมนำลงกล่องแพ็ก ขาย และส่งมอบให้ลูกค้า ไปใช้งาน หรือไปติดตั้ง เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ตามหน้าที่ของสินค้า
เมื่อเข้าใจประเภทของสินค้าคงคลังแล้ว ต่อมาต้องเข้าใจกลยุทธ์สินค้าคงคลังด้วย ผู้บริหารจะได้นำไปบริหารจัดการสินค้าคงคลังให้เหมาะสม
กลยุทธ์สินค้าคงคลังให้เหมาะสมกับอุปสงค์
กลุ่มสินค้าคงคลังสามารถแยกได้ตามหมวดการผลิตและบริการเป็น 4 ประเภท ดังนี้
1. ผลิตแบบวิศวกรรม (Engineering to Order: ETO)
การผลิตสินค้า ลูกค้าจะเป็นผู้กำหนดสเปกของงานทั้งหมด องค์กรจึงไม่ควรเก็บวัตถุดิบ หรือชิ้นส่วนใดๆ เอาไว้ เพราะลูกค้ายังไม่สรุปแบบของงาน และสเปกสินค้าที่ต้องการ ทำให้การบริหารวัตถุดิบทำได้ยาก ต้องรอให้ลูกค้าสรุปแบบ สเปก และรายละเอียดต่างๆ เสียก่อน เช่น การสร้างบ้านตามแบบลูกค้า
2. ตามสั่ง (Make to Order: MTO )
การผลิตเช่นนี้ องค์กรจะเก็บวัตถุดิบเอาไว้ ลูกค้าสามารถเลือกสั่งสินค้าได้ตามรายการ หรือแบบที่กำหนดไว้ ทำให้องค์กรบริหารวัตถุดิบเป็นหลัก และจะผลิตตามจำนวนที่ลูกค้าสั่งมาเท่านั้น ฉะนั้นจึงไม่มีการสต็อกสินค้าประเภทงานระหว่างทำ และสินค้าสำเร็จรูปเอาไว้ เช่น การผลิตอาหารตามสั่ง
3. ประกอบตามสั่ง (Assemble to Order: ATO)
การผลิตชิ้นส่วนมารอคำสั่งซื้อ แล้วค่อยประกอบ หรือผสมสินค้าตามที่ลูกค้าต้องการ ทำให้ลดปริมาณสต็อกสินค้าสำเร็จรูปของลูกค้าได้ เช่น คอมพิวเตอร์ ชิ้นส่วนรถยนต์ สินค้าจัดเป็นชุดเซ็ต
4. ผลิตเพื่อสต็อก (Make to Stock: MTS)
เหมาะกับการผลิตสินค้าเตรียมพร้อมขาย จะทำการผลิตสินค้าไว้เพื่อรอให้ลูกค้ามาซื้อสินค้าไปใช้ได้ทันที เช่น สินค้าอุปโภคบริโภค สบู่ ยาสีฟัน ผงซักฟอก
เมื่อเราเข้าใจการบริหารสินค้าคงคลังให้เหมาะสมกับลูกค้าแต่ละกลุ่มแล้ว จะทำให้เรารู้ว่าควรเก็บสินค้าคงคลังประเภทไว้มากน้อยเพียงใด สามารถเปรียบเทียบเป็นอัตราส่วน หรือมูลค่าบาทก็ได้
วิธีการเปรียบเทียบการตั้งสต็อกสินค้าให้เหมาะสมอย่างง่ายๆ
ผมมักจะใช้วิธีการวัดปริมาณสินค้าคงคลังในมือ (Day of Supply: DOS หรือ Day on Hand: DOH) เนื่องจากเป็นวิธีการที่ทำได้ง่าย และสามารถตอบได้ทันทีว่าขณะนี้สต็อกสินค้ามีน้อยเกินไป พอดี หรือมากเกินไป
ผู้ประกอบการสามารถนำสูตรคำนวณ DOS นี้ไปใช้ในการติดตามปริมาณสินค้าคงคลังในองค์กรได้อย่างง่ายๆ และรวดเร็ว จากที่เราได้เรียนรู้มาแล้วว่า สินค้าคงคลังทางบัญชีมี 3 รูปแบบ จะได้ติดตามเจาะลึกลงไปต่อว่า จะบริหารสินค้าคงคลังอย่างไรดี ให้เหมาะสมกับกลยุทธ์ของสินค้าคงคลัง
วิธีการคำนวณ DOS = ปริมาณสินค้าที่ถือครอง (ชิ้น) / ปริมาณสินค้าที่ขายหรือใช้ต่อวัน (ชิ้น/วัน)
LT หมายถึง Lead Time คือระยะเวลานำที่ผู้จัดหาสามารถส่งมอบสินค้าให้เราได้
ยกตัวอย่าง มีสินค้าในสต็อก 100 ชิ้น ปริมาณสินค้าที่ขายออกไปเฉลี่ยวันละ 10 ชิ้น จะคำนวณ DOS ได้ว่า 100 / 10 = 10 วัน ก่อนที่จะตัดสินใจว่า 10 วัน นี้น้อยหรือมากต้องรู้ก่อนว่า ผู้จัดหาวัสดุสามารถมาส่งมอบสินค้าได้ภายในกี่วัน
ถ้าผู้จัดหาสามารถส่งมอบสินค้าได้ภายใน 5 วัน นั้นหมายความว่า เราเก็บสินค้าไว้มากเกินไปถึง 10 - 5 = 5 วัน หรือ 2 เท่าตัว
ถ้าผู้จัดหาสามารถส่งมอบสินค้าให้ได้ภายใน 8 วัน อาจจะเก็บสินค้าไว้พอดีแล้ว เผื่อๆ ไว้อีก 2 วัน (กันการเพิ่มขึ้นของความต้องการของลูกค้าไปในตัว)
DOS สามารถประยุกต์ใช้ได้ทั้งในสินค้าประเภทวัตถุดิบ งานระหว่างทำ และสินค้าสำเร็จรูป เอา 3 ตัวเลขมารวมกันจะพอเห็นภาพว่า สินค้าคงคลังหมุนเวียนเร็วหรือช้า
DOS ยังส่งผลโดยตรงต่อรอบหมุนเวียนเงินสด (Cash to Cash Cycle) อีกด้วย
DOS มีความสัมพันธ์กับรอบหมุนของสินค้าคงคลัง (Inventory Turnover: IT) นั้นคือ IT = 365 วันต่อปี / DOS จะได้ว่า IT = 365 วันต่อปี / 10 วัน = 36.5 รอบต่อปี
สูตรตัวเลขนี้เป็นวิธีการเปรียบเทียบสินค้าคงคลังว่า ถือครองไว้มากเกินไป พอดี หรือน้อยเกินไป จึงเหมาะกับธุรกิจที่ต้องมีการบริหารสินค้าคงคลัง เช่น โรงงานอุตสาหกรรม ผู้ค้าปลีก ผู้ค้าส่ง ร้านสะดวกซื้อ เพื่อใช้ในการบริหารสินค้าคงคลังไม่ให้มากเกินไป
เมื่อสามารถลดปริมาณสินค้าคงคลังได้แล้ว จะสามารถประหยัดเงินลงทุนในการสต็อกสินค้า ดอกเบี้ยจ่ายจากต้นทุนทางการเงิน พื้นที่ที่ต้องเก็บสต็อกสินค้า ลดพื้นที่ที่ต้องเช่าคลังสินค้าลง ลดปริมาณเจ้าหน้าที่ในการตรวจนับสินค้า ทั้งยังสามารถเปลี่ยนพื้นที่นี้เป็นพื้นที่สร้างมูลค่าเพิ่มทางธุรกิจได้ เช่น ขยายสายการผลิตแทนที่พื้นที่เก็บสต็อกสินค้า เป็นต้น
บทความหน้า จะมาเล่าถึงวิธีการจัดการสินค้าคงเหลือ จะทำยังไงให้ลดปัญหาของหมดอายุ ของค้างสต็อกให้น้อยลง ส่งผลให้กำไรในการขายสูงขึ้น
เริ่มต้นจัดการสต็อกสินค้าทางออนไลน์ ให้สามารถตรวจสอบจำนวนสินค้าในคลังได้ตลอดเวลาได้ในโปรแกรมบัญชี FlowAccount ทั้งทางเว็บและแอปมือถือ ทดลองใช้งานได้ฟรี 30 วันที่เว็บไซต์ https://flowaccount.com
About Author
อ.เอส – วศ.สิริพงศ์ จึงถาวรรณ เป็นที่ปรึกษาองค์กรชั้นนำต่างๆ กว่า 400 แห่ง สตาร์ทอัพมากกว่า 100 ราย อาจารย์พิเศษในสถาบันอุดมศึกษากว่า 30 แห่ง นักเขียนหนังสือขายดีระดับ Best Seller ผู้ก่อตั้งเพจ Eng.Siripong Jungthawan ที่มีผู้ติดตามมากกว่า 20,000 คน