เปิดบริษัทมาสักพัก อยากขยายกิจการให้เติบโตกว่านี้ หรือติดปัญหาที่เงินทุนไม่เพียงพอ ทางออกนึงที่สามารถทำได้ก็คือ การจดทะเบียนเพิ่มทุน แล้วจุดไหนเป็นจุดที่บริษัทต้องเพิ่มทุน ขั้นตอนการจดทะเบียนเพิ่มทุนนั้นต้องทำอย่างไร มาดูที่บทความนี้ได้เลยค่ะ |
เปิดบริษัทมาสักพัก อยากขยายกิจการให้เติบโตกว่านี้ หรือติดปัญหาที่เงินทุนไม่เพียงพอ ทางออกนึงที่สามารถทำได้ก็คือ การจดทะเบียนเพิ่มทุน เพื่อระดมเงินทุนจากผู้ถือหุ้น มาลงทุนเพิ่มเติมในบริษัท
แล้วทุกคนสงสัยกันไหมคะว่าจุดไหนนะ เป็นจุดที่บริษัทของเราจะต้องเพิ่มทุนแล้ว และขั้นตอนการจดทะเบียนเพิ่มทุนนั้นยากไหม ต้องทำอย่างไร?
ถ้าใครกำลังสงสัยเรื่องนี้อยู่ล่ะก็ ลองมาทำความเข้าใจในบทความนี้พร้อมๆ กันเลยค่า
เมื่อไรควรตัดสินใจเพิ่มทุนจดทะเบียน
ก่อนอื่นต้องอธิบายแบบนี้ก่อนว่า ทุนจดทะเบียน หมายถึง เงินที่ผู้ถือหุ้นนั้นจดแจ้งกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ว่าจะนำมาลงทุนในบริษัทตามสัดส่วนหุ้นที่ตกลงกันไว้
โดยทั่วไปช่วงเปิดบริษัทแรกๆ เราจะเลือกเงินทุนจดทะเบียนจำนวนไม่มาก เช่น จดทะเบียนด้วยทุน 1 ล้านบาท สำหรับทำธุรกิจร้านอาหาร แต่เมื่อทำธุรกิจมาสักพักก็อาจจะมีเหตุการณ์ให้เพิ่มทุนจดทะเบียน ซึ่งจุดที่เราจะตัดสินใจเพิ่มทุนนั้นอาจเกิดจาก
1. เห็นทิศทางการเติบโต ไม่อยากกู้เงินธนาคาร
เมื่อเปิดธุรกิจมาสักพัก เราก็น่าจะจับทางได้แล้วว่าอนาคตของธุรกิจจะเติบโตได้ต่อหรือไม่ ถ้าเห็นทิศทางว่ามีการเติบโตสำหรับยอดขายในอนาคต แต่ทว่าทรัพยากรไม่เพียงพอ เช่น พนักงานไม่พอ กำลังการผลิตไม่พอ เราก็มาถึงจุดที่ต้องตัดสินใจว่าจะหาเงินทุนจากแหล่งไหนดี ซึ่งการจดทะเบียนเพิ่มทุนจากผู้ถือหุ้นเดิมก็เป็นอีกทางเลือกนึง นอกเหนือจากการกู้เงินธนาคารที่มีดอกเบี้ยต้องจ่ายทุกเดือนค่ะ
2. ขยายโอกาส เพิ่มพาร์ทเนอร์รายใหม่
สำหรับบริษัทที่อยากขยายตัวต่อ แต่การเติบโตจำเป็นต้องใช้ Connection หรือใช้ Know-How จากบุคคลภายนอก การจดทะเบียนเพิ่มทุน และเชิญพาร์ทเนอร์มาเข้าร่วมเป็นผู้ถือหุ้นนั้นก็เป็นอีกทางเลือกนึงค่ะ
วิธีการนี้จะทำให้สัดส่วนผู้ถือหุ้นที่เป็นเจ้าของเดิมลดลง และมีพาร์ทเนอร์คนใหม่มาแบ่งความเป็นเจ้าของของบริษัทไป แต่สิ่งที่ได้กลับมาในภาพรวมของบริษัทอาจทำให้รายได้ และกำไรเติบโตแบบก้าวกระโดดก็เป็นได้
3. บริษัทขาดทุนสะสม ขาดสภาพคล่อง
อีกจุดนึงที่บางบริษัทตัดสินใจเพิ่มทุน อาจไม่ใช่เพราะว่าอยากขยายธุรกิจให้เติบโต แต่บริษัทกำลังขาดสภาพคล่อง เนื่องจากการขาดทุนสะสมต่อเนื่อง ทำให้ไม่มีเงินสดเพียงพอที่จะจ่ายค่าแรงพนักงาน หรือจ่ายค่าสินค้าซัพพลายเออร์
กรณีนี้ถ้ายากไปต่อ และไม่อยากเลิกบริษัททันที ขอกู้ธนาคารก็ไม่ผ่าน ผู้ถือหุ้นเดิมจึงต้องรับหน้าที่เป็นเดอะแบก เพิ่มทุนจดทะเบียน เพื่อเติมเงินเข้าไปในบริษัทนั่นเองค่ะ
ทุนจดทะเบียนมูลค่าสูง มีข้อดีอย่างไร
หลายคนอาจมีความเชื่อที่ว่า ทุนจดทะเบียนสูงนั้นยิ่งดี ทำให้บริษัทดูมีความน่าเชื่อถือ เสมือนหนึ่งว่าเราตั้งบริษัทมาทำธุรกิจจริงจังนะ ไม่ได้มาเล่นๆ หรือถ้าไปเสนอราคางานประมูลโปรเจคใหญ่ๆ ก็มีโอกาสได้งานมากกว่าเพราะลูกค้ามองว่าบริษัทน่าจะมีความมั่นคงและมีความสามารถทำงานในสเกลที่ใหญ่ๆ ได้
แต่ความเชื่อนี้อาจจะไม่ถูกต้องเสมอไปค่ะ เพราะบางธุรกิจจะจำเป็นใช้เงินลงทุนแค่เล็กน้อย จดทะเบียนด้วยเงินทุนสูงๆ ไปแล้วไม่ได้ใช้ก็เหมือนไประดมทุนจากผู้ถือหุ้นมาทิ้งไว้ในบริษัทเสียโอกาสเปล่า
ดังนั้น คำถามที่ทุกคนต้องตัดสินใจด้วยตัวเองก็คือ จริงๆ แล้วบริษัทของเราต้องการเงินทุนจดทะเบียนที่เหมาะสมกับธุรกิจเท่าไรกันแน่มากกว่าค่ะ
ขั้นตอนการเพิ่มทุนจดทะเบียน
เมื่อตัดสินใจแล้วว่าอยากเพิ่มทุนจดทะเบียน ต่อมาเรามาดูขั้นตอนกันค่ะว่าต้องทำอย่างไรบ้าง
- ออกหนังสือนัดประชุมผู้ถือหุ้น โดยส่งทางไปรษณีย์ตอบรับ หรือส่งมอบถึงตัวผู้ถือหุ้น ก่อนวันประชุมไม่น้อยกว่า 14 วันหรือตามข้อบังคับบริษัท ในกรณีบริษัทมีหุ้นชนิดออกให้แก่ผู้ถือ ให้ลงหนังสือพิมพ์โฆษณาคำบอกกล่าวเรียกประชุมผู้ถือหุ้นด้วย
- จัดประชุมผู้ถือหุ้น ผู้ถือหุ้นไม่น้อยกว่า 2 คน นับจำนวนทุนรวมกันไม่ 1 ใน 4 แห่งทุน และที่ประชุมมีมติลงคะแนนเสียงข้างมากไม่ต่ำกว่า 3 ใน 4 ของจำนวนเสียงทั้งหมดของผู้มาประชุมและมีสิทธิ์ลงคะแนน
- จัดทำคำขอจดทะเบียน/ยื่นขอจดทะเบียนกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ภายใน 14 วันนับจากวันที่มีมติ
เพิ่มทุนจดทะเบียนต้องเตรียมเอกสารอะไรบ้าง
หัวข้อก่อนหน้านี้ เราคุยกันเรื่องขั้นตอนในการจดทะเบียนเพิ่มทุนกันไปแล้ว สิ่งที่ขาดไปไม่ได้เลยคือ เอกสารที่เราต้องเตรียมในการจดทะเบียนเพิ่มทุนกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ซึ่งประกอบด้วย
- คำขอจดทะเบียนบริษัทจำกัด (บอจ.1)
- แบบคำรับรองการจดทะเบียนบริษัทจำกัด
- รายการจดทะเบียนแก้ไขเพิ่มเติมและ/หรือ มติพิเศษ (แบบ บอจ.4)
- หนังสือบริคณห์สนธิ (ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม) ชำระอากรแสตมป์ 50 บาท
- สำเนาหลักฐานการรับชำระค่าหุ้นเพิ่มทุนที่บริษัทออกให้แก่ผู้ถือหุ้น
- คำสั่งศาล (ใช้เฉพาะกรณีฟื้นฟูกิจการ)
- สำเนาบัตรประจำตัวของกรรมการที่ลงชื่อในคำขอจดทะเบียน
- สำเนาหลักฐานการเป็นผู้รับรองลายมือชื่อ (ถ้ามี)
- หนังสือมอบอำนาจ (ถ้ามี)
- กรณีมีการจดทะเบียนเพิ่มทุนของบริษัทจำกัด ซึ่งทำให้ทุนจดทะเบียนเกินกว่า 5 ล้านบาท ให้จัดส่งเอกสารเพิ่มเติมตาม คำสั่งสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกลาง ที่ 1/2567 ลงวันที่ 23 พฤษภาคม 2567
หมายเหตุ สำเนาเอกสารประกอบคำขอจดทะเบียนทุกฉบับ ต้องให้ผู้ขอจดทะเบียนอย่างน้อย 1 คนรับรองความถูกต้อง ยกเว้นสำเนาบัตรประจำตัว หรือหลักฐานการรับรอง ให้เจ้าของบัตรหรือผู้รับรองเป็นคนลงลายมือชื่อรับรองความถูกต้อง
ส่วนในเรื่องของสถานที่จดทะเบียน สามารถยื่นคำขอจดทะเบียน ณ หน่วยงานในสังกัดของกรมพัฒนาธุรกิจการค้าทั่วประเทศ ตามที่สำนักงานใหญ่ของบริษัทตั้งอยู่ หรือสามารถยื่นคำขอจดทะเบียนทางระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Registration)
สรุป
จากที่เล่ามานี้น่าจะเป็นแนวทางให้เจ้าของธุรกิจทั้งหลายใช้ในการตัดสินใจจดทะเบียนเพิ่มทุนได้นะคะ จริงๆ แล้วขั้นตอนการจดทะเบียนเพิ่มทุนนั้นไม่ได้ยากเลย เพียงแค่มีเอกสารครบถ้วน และทำให้ถูกต้องตามเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดค่ะ แต่ส่วนที่ยาก ก็คือ การตัดสินใจว่าเราต้องการเพิ่มทุนจริงๆ หรือไม่ จำนวนเท่าใด และเงินทุนที่เพิ่มไปนั้นจะช่วยให้บริษัทเติบโต มีกำไรย้อนกลับมาแก่ผู้ถือหุ้นเป็นที่น่าพอใจหรือเปล่าต่างหากค่ะ
อ้างอิง
About Author
นักบัญชี ผู้สอบบัญชี และผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ cpdacademy.co คอร์สอบรมบัญชี CPD ออนไลน์สำหรับผู้ทำบัญชีและผู้สอบบัญชี ที่มีประสบการณ์ในวิชาชีพมากกว่า 10 ปี และอยากส่งต่อความรู้เพื่อเพื่อนนักบัญชีให้มีทักษะอย่างมืออาชีพและก้าวทันโลกดิจิทัล
ร่วมสมัครเป็นนักเขียนกับ FlowAccount ได้ที่นี่