ธุรกิจนำเข้า - ส่งออก เป็นธุรกิจที่มีภาษีที่เกี่ยวข้องเป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็น ภาษีมูลค่าเพิ่ม อากรขาเข้า ภาษีสรรพสามิต ภาษีหัก ณ ที่จ่าย ดังนั้นถ้าขาดความเข้าใจเกี่ยวกับประเด็นภาษีเหล่านี้ อาจทำให้ธุรกิจของคุณเกิดปัญหาในอนาคตได้ |
ในปัจจุบันที่โลกเชื่อมต่อกันง่ายขึ้น ทำให้การสื่อสารและการส่งของระหว่างประเทศเป็นเรื่องธรรมดา มีเศรษฐีมากมายทั่วโลกเกิดขึ้นจากธุรกิจระหว่างประเทศ เช่น Amazon, Alibaba ปัจจัยเหล่านี้ทำให้ธุรกิจนำเข้า - ส่งออก เป็นที่น่าสนใจและเป็นที่นิยม
วันนี้เราจึงอยากมาแบ่งปันความรู้ในเรื่องของภาษีที่เกี่ยวข้องกับการนำเข้า - ส่งออก ซึ่งถือเป็นหนึ่งสิ่งที่สำคัญในการบริหารจัดการของธุรกิจระหว่างประเทศ เนื่องจากมีผลต่อต้นทุนของธุรกิจ ที่ส่งผลโดยตรงต่อกำไรของกิจการ ถ้ามีความรู้ความเข้าใจในด้านภาษีพื้นฐานที่ดี ย่อมมีผลต่อการสร้างกำไรในระยะยาวอย่างแน่นอน
ก่อนจะดูถึงภาษีนำเข้า - ส่งออกที่เกี่ยวข้อง เราต้องรู้ก่อนว่าในทางภาษีนั้น การนำเข้า - ส่งออก หมายถึงอะไร
เลือกอ่านได้เลย!
นำเข้า-ส่งออก หมายถึงอะไร
ตามนิยาม “นำเข้า” หมายถึง การนำสินค้าเข้ามาในราชอาณาจักร โดยผ่านพิธีการทางศุลกากร
และเช่นกัน “ส่งออก” จะหมายถึง การส่งสินค้าออกนอกราชอาณาจักรเพื่อส่งไปต่างประเทศ โดยผ่านพิธีการทางศุลกากร
นอกจากนี้ อีกสิ่งที่ควรรู้คือ ในทางภาษี ธุรกิจสามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ ขาย และบริการ
ตามนิยาม ขาย หมายถึงการจำหน่าย จ่าย โอน สินค้า ไม่ว่าจะได้รับประโยชน์หรือค่าตอบแทนหรือไม่
ส่วน บริการ หมายถึง การหาประโยชน์อื่นใดที่ไม่ใช่การขายสินค้า
ซึ่งธุรกิจทั้ง 2 ประเภทนั้น กรมสรรพากร กรมศุลกากร รวมถึงกรมสรรพสามิต จะมีแนวทางการจัดเก็บภาษีที่แตกต่างกัน
ธุรกิจบริการ
1. การนำเข้าบริการ
การนำเข้าบริการ หมายถึง การใช้บริการใดๆ ในราชอาณาจักร (ประเทศไทย) โดยที่การให้บริการนั้นเกิดจากการกระทำในต่างประเทศ ฟังดูอาจจะเข้าใจยาก ลองดูตัวอย่างจากการให้บริการของแพลตฟอร์มยอดฮิตอย่าง Facebook, Netflix, Youtube หรือ Tiktok ทุกคนน่าจะเข้าใจทันที
ภาษีที่เกี่ยวข้องกับการนำเข้าบริการจะมีดังนี้
1.1 ภาษีมูลค่าเพิ่ม
กรมสรรพากรมีการกำหนดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มจากการนำเข้าบริการอยู่ที่ 7% ของมูลค่าบริการ โดยที่จุดรับผิดทางภาษี (Tax Point) จะเกิดเมื่อมีการชำระค่าบริการ ซึ่งต้องยื่นชำระภาษีโดยแบบ ภ.พ.36 ในเดือนถัดไป
สำหรับบุคคลผู้มีหน้าที่ยื่นแบบ อ้างอิงถึงกฎหมาย e-Service (อ้างอิง: พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ๕๓)) ที่เริ่มใช้เมื่อ 1 กันยายน 2564 กำหนดเงื่อนไขดังนี้
- ในกรณีที่ผู้ใช้บริการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม – ผู้ใช้บริการเป็นผู้ที่ต้องนำส่งแบบ ภ.พ.36 เอง
- ในกรณีที่ผู้ใช้บริการไม่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม – ผู้ให้บริการจะเป็นผู้นำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม
1.2 ภาษีหัก ณ ที่จ่าย
สำหรับการนำเข้าบริการต่างประเทศนั้น กรมสรรพากรมีข้อกำหนดเพิ่มเติมสำหรับนิติบุคคลผู้จ่ายเงินได้ประเภท 40(2)-40(6) เช่น ค่านายหน้า ค่าลิขสิทธิ์ ค่าเช่า และค่าบริการทางวิชาชีพ มีหน้าที่ต้องหัก ณ ที่จ่ายในอัตรา 15% หรือตามอัตราอนุสัญญาภาษีซ้อน และยื่นแบบ ภ.ง.ด.54 ในเดือนถัดไป
2. การส่งออกบริการ
การส่งออกบริการ หมายถึง การให้บริการใดๆ ในราชอาณาจักร (ประเทศไทย) โดยมีการใช้บริการนั้นในต่างประเทศ เช่น การให้บริการวางแผนการขาย การตลาด และการเงิน แก่บริษัทต่างประเทศ โดยมีการส่งเป็นรายงานให้ทาง e-mail ซึ่งประโยชน์ทั้งหมดจะเป็นของบริษัทซึ่งตั้งในต่างประเทศเท่านั้น
ภาษีที่เกี่ยวข้องกับการส่งออกบริการจะมีดังนี้
2.1 ภาษีมูลค่าเพิ่ม
เป็นที่เข้าใจว่าการส่งออกนั้นจะไม่เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งอาจทำให้ผู้ประกอบการหลายคนเกิดความเข้าใจผิดว่าผู้ที่ทำธุรกิจส่งออกนั้นไม่มีภาระต้องยื่นแบบแสดงต่อกรมสรรพากร แต่แท้จริงแล้ว การส่งออกบริการก็เสียภาษีมูลค่าเพิ่มเช่นกัน ซึ่งกรมสรรพากรได้กำหนดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มไว้ที่ 0% หรือก็คือไม่เสียนั่นเอง
แต่! ผู้ประกอบการต้องมีการออกใบกำกับภาษี และนำส่งแบบ ภ.พ.30 ภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป (วันที่ 23 ถ้ายื่นแบบออนไลน์) เหมือนกับการขายในประเทศ (ในกรณีที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม)
ธุรกิจขายสินค้า
1. การนำเข้าสินค้า
ผู้นำเข้าสินค้าอาจจะเจอกับภาษีดังต่อไปนี้
1.1 อากรขาเข้า
อากรขาเข้าจะถูกเรียกเก็บเมื่อมีการนำเข้าสินค้าที่มีมูลค่าเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด
อัตราที่กำหนดไว้คือ เมื่อราคาสินค้า (Cost, “C”) + ค่าประกันภัย (Insurance, “I”) + ค่าขนส่ง (Freight, “F”) [C.I.F] รวมกันเกินกว่า 1,500 บาท
กรมศุลกากรมีการกำหนดอากรขาเข้า โดยการคำนวณจาก ราคา C.I.F x อัตราอากรขาเข้า
ตัวอย่าง อัตราอากรขาเข้าของสินค้ายอดฮิต
- เครื่องแต่งกาย หมวก รองเท้า เครื่องสำอาง น้ำหอม ร่ม ผ้าห่ม อัตราภาษีนำเข้า 30%
- กระเป๋าอัตราภาษีนำเข้า 20%
- ซีดี ดีวีดี พาวเวอร์แบงค์ หูฟังทุกประเภท อัลบั้มเพลง อัลบั้มคอนเสิร์ต ตุ๊กตา อัตราภาษีนำเข้า 10%
- แว่นกันแดด แว่นตา นาฬิกา อัตราภาษีนำเข้า 5%
*สามารถค้นหาอัตราอากรขาเข้าเพิ่มเติมได้ที่ พิกัดอัตราอากรขาเข้า
1.2 ภาษีสรรพสามิต
เมื่อมีการนำเข้าสินค้าที่บริโภคแล้ว อาจก่อให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพและศีลธรรมอันดี สินค้าที่มีลักษณะเป็นการฟุ่มเฟือย เช่น รถยนต์ เครื่องดื่ม น้ำหอม สุรา ยาสูบ ไพ่ เป็นต้น ผู้นำเข้าจะถูกเรียกเก็บภาษีสรรพสามิต
การคำนวณเบื้องต้นเป็นดังนี้
- กรณีคำนวณตามมูลค่า
(C.I.F. + อากรขาเข้า + ภาษีค่าธรรมเนียมอื่นไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) x อัตราภาษีสรรพสามิต) / 1-(1.1x อัตราภาษีสรรพสามิต)
- กรณีคำนวณตามน้ำหนัก
ปริมาณ (ลิตรหรือกิโลกรัม) x อัตราภาษีสรรพสามิต
*สามารถค้นหาอัตราภาษีสรรพสามิตเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์กรมสรรพสามิต
1.3 ภาษีเพื่อมหาดไทย
ผู้นำเข้าจะต้องถูกเรียกเก็บภาษีเพื่อมหาดไทย เมื่อถูกเรียกเก็บภาษีสรรพสามิต
โดยการคำนวณจะเป็นดังนี้
ภาษีเพื่อมหาดไทย = ภาษีสรรพสามิต x อัตราภาษีเพื่อมหาดไทย (10%)
1.4 ภาษีมูลค่าเพิ่ม
ผู้นำเข้าจะถูกเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มเมื่อนำเข้าสินค้าเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด (หลักการเดียวกับอากรขาเข้า) หรืออธิบายง่ายๆ คือ เมื่อผู้นำเข้าเสียอากรขาเข้า ย่อมต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเสมอ
แต่ส่วนที่แตกต่างกันคือ ภาษีมูลค่าเพิ่มที่เสียไปนั้นจะสามารถนำมาขอคืนเป็นภาษีซื้อได้ภายใน 6 เดือน แต่อากรขาเข้านั้นขอคืนไม่ได้ (อากรขาเข้าจึงถือเป็นส่วนหนึ่งของต้นทุนสินค้า)
ภาษีมูลค่าเพิ่มจะคำนวณได้โดย
ราคา [C.I.F + อากรขาเข้า + ภาษีสรรพสามิต (ถ้ามี) + ภาษีมหาดไทย (ถ้ามี)] x 7%
2. การส่งออกสินค้า
ในส่วนของการส่งออกสินค้านั้น จะมีภาษีที่เกี่ยวข้องดังนี้
2.1 อากรขาออก
โดยแต่เดิมกรมศุลกากรกำหนดอัตราอากรไว้สำหรับสินค้า 9 ประเภท แต่ในปัจจุบันจะได้รับยกเว้นเกือบทั้งหมด เหลือแค่ หนังโค หรือหนังกระบือ และสินค้าที่ส่งออกจากพื้นที่พัฒนาร่วมตามกฎหมายองค์กรร่วมไทย - มาเลเซีย (อ้างอิง: ประกาศกรมศุลกากร ที่ ๑๐๓ /2561) ที่ยังคงต้องเสียอากรขาออก
2.2 ภาษีมูลค่าเพิ่ม
เมื่อผู้ส่งออกสินค้าเป็นผู้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ผู้ส่งออกก็มีหน้าที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตรา 0% เหมือนกับการส่งออกบริการ โดยมีหน้าที่ต้องออกใบกำกับภาษีและยื่นแบบแสดงรายการ ภ.พ.30 ภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป (สามารถยื่นได้ถึงวันที่ 23 หากยื่นแบบออนไลน์)
โดยสรุปแล้ว ถึงแม้ว่าการทำธุรกิจนำเข้า – ส่งออก จะมีประเด็นต่างๆ มากมายให้ต้องนึกถึง แต่ภาษีก็เป็นหนึ่งในเรื่องที่ผู้ประกอบการต้องมีความเข้าใจ ทั้งประเภทภาษี
อัตราภาษี การเตรียมเอกสาร และอัตราแลกเปลี่ยน เพื่อให้สามารถวางแผนในการทำธุรกิจ ควบคุมต้นทุน และสร้างกำไร เพื่อให้ธุรกิจเติบโตในระยะยาวได้
ซึ่งทางโปรแกรม FlowAccount ได้มีฟังก์ชั่นช่วยเหลือในส่วนของเอกสารและอัตราแลกเปลี่ยน เพื่อให้การทำธุรกิจนำเข้า - ส่งออกของผู้ประกอบการทุกคนทำได้ง่ายขึ้น ด้วยระบบฟังก์ชั่น “สกุลเงินต่างประเทศ” สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ การใช้งานฟังก์ชั่นสกุลเงินต่างประเทศ - FlowAccount FAQ
About Author
เพจ Accounting Addict คือ เพจที่ให้ความรู้สำหรับผู้ประกอบการและนักบัญชี ที่จะสรุปเนื้อหาเหล่านี้ให้ทุกคนเข้าใจได้ภายใน 10 นาที โดยผู้ให้บริการที่ปรึกษา และผู้ตรวจสอบบัญชีชั้นนำจาก ADI Accounting