ค่าใช้จ่ายทางบัญชีและภาษี แตกต่างกันอย่างไร

ค่าใช้จ่ายทางบัญชีและภาษี ผู้ประกอบการต้องรู้ว่าแตกต่างกันอย่างไร

ส่วนใหญ่ผู้ประกอบการมักจะมองว่า ค่าใช้จ่ายทุกรายการที่บริษัทจ่ายออกไปสามารถนำไป หัก รายได้ ในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีได้

 

แต่ในการจัดทำบัญชีนั้น เราจะแยกค่าใช้จ่ายออกเปน "ค่าใช้จ่ายทางบัญชี" และ "ค่าใช้จ่ายทางภาษี" 

ผู้ประกอบการเคยสงสัยไหมคะ เราจ่ายค่าใช้จ่ายของบริษัท ได้รับใบเสร็จรับเงินมาถูกต้องครบถ้วน แต่นักบัญชีบอกว่าไม่สามารถนำมา หัก เป็นค่าใช้จ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีได้


หากพูดให้ง่ายกว่านั้นคือ เงินที่บริษัทจ่ายไป ใบเสร็จรับเงินที่ได้รับมา ไม่ช่วยให้บริษัทประหยัดภาษีเลย เพราะใบเสร็จรับเงินนั้นเป็น "ค่าใช้จ่ายทางบัญชี" แต่ไม่เป็น "ค่าใช้จ่ายทางภาษี"

 

แล้วผู้ประกอบการจะต้องทำอย่างไร เรามาหาคำตอบเรื่องนี้กันค่ะ

 

 

ค่าใช้จ่ายคืออะไร 

 

ค่าใช้จ่ายในทางธุรกิจคือ เงินที่เรานำไปชำระสินค้า หรือบริการ เพื่อนำมาใช้ในกิจการ การจัดการค่าใช้จ่ายมีความสำคัญกับธุรกิจมากๆ เพราะเกี่ยวข้องกับการคำนวณกำไรสุทธิของบริษัท

 

กำไรสุทธิ = รายได้ - ค่าใช้จ่าย

 

ถ้าเราสมมติให้รายได้ของบริษัทเป็นตัวคงที่ ส่วนค่าใช้จ่ายเป็นตัวผันแปร หากค่าใช้จ่ายสูง กำไรสุทธิก็จะต่ำ      

 

ในทางตรงกันข้าม ถ้าค่าใช้จ่ายต่ำ ก็จะทำให้กำไรสุทธิสูง       

 

ส่วนใหญ่ผู้ประกอบการมักจะมองว่า ค่าใช้จ่ายทุกรายการที่บริษัทจ่ายออกไปสามารถนำไป หัก รายได้ ในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีได้

 

แต่ในการจัดทำบัญชีนั้น เราจะแยกค่าใช้จ่ายออกเป็น "ค่าใช้จ่ายทางบัญชี" และ "ค่าใช้จ่ายทางภาษี" โดย

 

ค่าใช้จ่ายทางบัญชี

 

หมายถึงค่าใช้จ่ายที่บริษัทจ่ายออกไปเป็นค่าสินค้า หรือบริการ ที่มีหลักฐานการจ่ายเงินถูกต้อง เช่น จ่ายซื้อสินค้าเพื่อนำมาขาย ค่าใช้จ่ายนี้จะถือเป็นต้นทุนขาย จ่ายค่าบริการทำบัญชี ค่าใช้จ่ายนี้จะถือเป็นค่าใช้จ่ายดำเนินงาน

 

ค่าใช้จ่ายทางภาษี

 

หมายถึงค่าใช้จ่ายที่กิจการจ่ายเงินออกไป โดยมีหลักฐานการจ่ายเงินถูกต้อง และกฎหมายอนุญาตให้นำค่าใช้จ่ายมา หัก จากรายได้ ในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษี

 

ประเด็น ของค่าใช้จ่ายทางภาษีก็คือ ค่าใช้จ่ายที่บริษัทจ่ายจะต้องไม่เข้าลักษณะ "ค่าใช้จ่ายต้องห้าม"

 

ค่าใช้จ่ายต้องห้าม นี้เกิดจากการดำเนินงานของบริษัท และได้บันทึกบัญชีเป็นค่าใช้จ่ายในปีปัจจุบันแล้ว แต่ห้าม นำมาใช้ในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษี

 

เพื่อให้เข้าใจง่ายขึ้น ลองดูตัวอย่างดังนี้ค่ะ

 

บริษัทแห่งหนึ่งทำธุรกิจประเภทซื้อ-ขายสินค้าทั่วไป มีทุนจดทะเบียน 1 ล้านบาท มีรายละเอียดรายได้และค่าใช้จ่ายต่อปีดังนี้

 

กรณีที่ 1

 

รายได้จาการขาย 1,200,000.00
ค่าซื้อสินค้า 600,000.00
เงินเดือน 180,000.00
ค่าขนส่งสินค้า 50,000.00
ค่าเบี้ยประกันสุขภาพ *** 80,000.00

 

*** ค่าเบี้ยประกันสุขภาพ บริษัททำประกันสุขภาพให้พนักงานทุกคน เพื่อคุ้มครองการติดเชื้อไวรัสโคโรนา

 

จากข้อมูล เราต้องพิจารณาว่าค่าใช้จ่ายข้างต้นเป็นค่าใช้จ่ายทางบัญชี และค่าใช้จ่ายทางภาษีด้วยหรือไม่

 

ในกรณีนี้ ค่าซื้อสินค้า เงินเดือน ค่าขนส่งสินค้า และค่าเบี้ยประกันสุขภาพ จัดเป็นค่าใช้จ่ายทางบัญชี เพราะเป็นค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานของบริษัท ในทางกฎหมายถือเป็นค่าใช้จ่ายที่จะนำมา หัก จากรายได้ในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษี

 

แต่ประเด็นที่ต้องระวังเกี่ยวกับค่าเบี้ยประกันสุขภาพ ซึ่งกฎหมายมีเงื่อนไขในการพิจารณาให้ถือเป็นค่าใช้จ่ายทางภาษีได้คือ

 

  1. การทำประกันสุขภาพต้องทำให้กับพนักงานทุกคนในบริษัท
  2. บริษัทควรจัดทำประกาศ (เป็นลายลักษณ์อักษร) แจ้งให้พนักงานทุกคนทราบ โดยถือเป็นสวัสดิการพนักงาน

 

รายละเอียดค่าใช้จ่าย

ค่าใช้จ่ายทางบัญชี

ค่าใช้จ่ายทางภาษี

ค่าซื้อสินค้า

600,000.00

600,000.00

เงินเดือน

180,000.00

180,000.00

ค่าขนส่งสินค้า

50,000.00

50,000.00

ค่าเบี้ยประกันสุขภาพ

80,000.00

80,000.00

รวม

910,000.00

910,000.00

 

จากตัวอย่าง การคำนวณกำไรสุทธิของบริษัทเป็นดังนี้

กำไรสุทธิ     =  รายได้ - ค่าใช้จ่าย

กำไรสุทธิ     =  1,200,000 - 910,000

กำไรสุทธิ     =  290,000 บาท

 

คำนวณภาษีที่บริษัทต้องเสีย   =  ได้รับยกเว้น ไม่ต้องเสียภาษี

 

เหตุที่บริษัทได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีก็เพราะบริษัทเข้าเงื่อนไขการเป็น SMEs จึงได้สิทธิประโยชน์ทางภาษีคือ

  1. บริษัทต้องมีทุนจดทะเบียนไม่เกิน 5 ล้านบาท
  2. บริษัทต้องมีรายได้รวมต่อปีไม่เกิน 30 ล้านบาท

ซึ่งบริษัทนี้ได้เข้าเงื่อนไขทั้ง 2 ข้อคือ

  1. บริษัทมีทุนจดทะเบียน 1 ล้าน
  2. บริษัทมีรายได้รวมต่อปี 1,200,000 บาท

เมื่อนำมาคำนวณภาษี

 

กำไรสุทธิ 1 - 300,000 บาท

ได้รับยกเว้นภาษี

กำไรสุทธิ 300,001 - 3,000,000 บาท 

เสียภาษีในอัตรา 15%

กำไรสุทธิ 3,000,001 บาทขึ้นไป

เสียภาษีในอัตรา 20%

 

บริษัทมีกำไรสุทธิเท่ากับ 290,000 บาท (ไม่เกิน 300,000) จึงได้รับยกเว้นภาษีเงินได้

 

กรณีที่ 2 

 

จากข้อมูลในกรณีที่ 1 สมมติข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับค่าเบี้ยประกันสุขภาพ จำนวน 80,000 บาท

 

จากการตรวจสอบเอกสารพบว่า ค่าเบี้ยประกันสุขภาพดังกล่าวได้จ่ายจากบัญชีเงินฝากธนาคารของบริษัท

 

ประกอบด้วย

 

ค่าเบี้ยประกันสุขภาพ - พนักงาน 30,000 บาท

 

ค่าเบี้ยประกันสุขภาพ - ครอบครัวกรรมการ 50,000 บาท

 

รวม 80,000 บาท

 

เรามาพิจารณากันค่ะว่าค่าเบี้ยประกันสุขภาพ จำนวน 80,000 บาท จะถือเป็นค่าใช้จ่ายทางภาษีได้หรือไม่

 

รายละเอียดค่าใช้จ่าย

ค่าใช้จ่ายทางบัญชี

ค่าใช้จ่ายทางภาษี

ค่าซื้อสินค้า

600,000.00

600,000.00

เงินเดือน

180,000.00

180,000.00

ค่าขนส่งสินค้า

50,000.00

50,000.00

ค่าเบี้ยประกันสุขภาพ
- ค่าเบี้ยประกันสุขภาพ-พนักงาน

30,000.00

30,000.00

- ค่าเบี้ยประกันสุขภาพ-ครอบครัวกรรมการ

50,000.00

-

(ค่าใช้จ่ายต้องห้าม)
รวม

910,000.00

860,000.00

 

ถ้าเรามองทางด้านบัญชี กำไรสุทธิทางบัญชีจะเท่ากับ 290,000 บาท เหมือนกับกรณีที่ 1 เพราะค่าใช้จ่ายทางบัญชี จำนวน 910,000 บาท คำถามก็คือบริษัทยังคงได้รับสิทธิยกเว้นภาษีใช่หรือไม่

 

คำตอบคือ ไม่ใช่ค่ะ เพราะการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีนั้น จะต้องใช้ค่าใช้จ่ายทางภาษี

 

เราจะพบว่า ค่าเบี้ยประกันสุขภาพ-ครอบครัวกรรมการ จำนวน 50,000 บาท ไม่สามารถนำมาเป็นค่าใช้จ่ายทางภาษีได้ เนื่องจากค่าใช้จ่ายดังกล่าว ถือเป็น "ค่าใช้จ่ายส่วนตัว" ของกรรมการ ซึ่งถือเป็น "ค่าใช้จ่ายต้องห้าม"  

 

กำไรสุทธิทางภาษี     =  รายได้  - ค่าใช้จ่ายทางภาษี

 

กำไรสุทธิทางภาษี     =  1,200,000 - 860,000

 

กำไรสุทธิทางภาษี     =  340,000  บาท

 

ในทางปฏิบัติ นักบัญชีจะคำนวณกำไรทางบัญชีก่อน แล้วจึงนำค่าใช้จ่ายต้องห้ามมาบวกเพิ่มภายหลัง

 

ผู้ประกอบการอาจจะเคยได้ยินที่นักบัญชีจะพูดบ่อยๆ ว่า "ค่าใช้จ่ายบวกกลับ" นั่นก็คือ ค่าใช้จ่ายต้องห้าม นั่นเองค่ะ

 

ซึ่งในทางบัญชีให้ถือว่าเป็นค่าใช้จ่ายได้ 

 

แต่กฎหมายไม่อนุญาตให้นำค่าใช้จ่ายดังกล่าวมาหักจากรายได้ในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษี

 

ดังนั้นเวลาที่บริษัทเสียภาษีสิ้นปี จะต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล หรือเรียกสั้นๆ ว่า แบบ ภ.ง.ด.50 การคำนวณจากกรณีที่ 2 จะเป็นดังนี้

 

กำไรสุทธิทางบัญชี  290,000 (1,200,000 - 910,000)

 

บวก ค่าใช้จ่ายต้องห้าม 50,000

 

กำไรสุทธิทางภาษี 340,000

 

การคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลจะเป็นดังนี้ค่ะ

 

กำไรสุทธิ จำนวน 300,000 บาท แรกได้รับยกเว้นภาษีเงินได้

 

กำไรสุทธิส่วนที่เกินจาก 300,000 บาทแรก คือจำนวน  40,000 บาท จะเสียภาษีในอัตรา 15%

 

ฉะนั้นบริษัทต้องเสียภาษีเท่ากับ 40,000 x 15%  =  6,000 บาท

 


หลักการสำคัญ  "ค่าใช้จ่ายทางภาษี" จะต้องเป็นค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการทำกำไร หรือเพื่อหากำไรของกิจการ และต้องไม่ใช่ “ค่าใช้จ่ายส่วนตัว” ดังนั้นเราจึงไม่ควรนำค่าใช้จ่ายส่วนตัวไปเป็นค่าใช้จ่ายของกิจการ  

 

แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่า ค่าใช้จ่ายอะไรบ้างที่ถือว่าเป็นค่าใช้จ่ายต้องห้าม ติดตามกันได้ในบทความต่อไปค่ะ

 

About Author

ลองใช้งานFlowAccount ฟรี 30 วันได้ง่ายๆ วันนี้
ลองใช้งานฟรีได้ง่ายๆ วันนี้
สมัครเลย

You may also like