มาทำความรู้จักว่าอะไรคือธุรกิจตลาดแบบตรง ทำไมบางคนถึงเคยโดนปรับ ใครต้องจดทะเบียนธุรกิจตลาดแบบตรง รวมถึงถ้าไม่จดทะเบียนจะมีผลอย่างไร ได้รับโทษหรือค่าปรับหรือไม่ |
นับเป็นเรื่องร้อนแรงเลยทีเดียวเมื่อมีนักธุรกิจขายของออนไลน์ท่านหนึ่งออกมาแชร์ว่าต้องเสียค่าปรับนับแสน เพราะไม่เคยทราบเรื่องนี้และไม่ได้จดทะเบียนมาก่อน
แล้ว “ธุรกิจตลาดแบบตรง” ที่ไม่ได้หมายถึงการขายตรงนี้คืออะไร บทความนี้จะมาไขข้อสงสัยเองค่ะ
ธุรกิจตลาดแบบตรงคืออะไร?
“ตลาดแบบตรง” หรือ “Direct Marketing” คือ การทำตลาดสินค้าหรือบริการในลักษณะของการสื่อสารข้อมูลผ่านสื่อต่างๆ เช่น โทรทัศน์ วิทยุ ข้อความ แผ่นพับ อินเทอร์เน็ต หรือแอปพลิเคชั่น เป็นต้น เพื่อเสนอขายสินค้าหรือบริการโดยตรงต่อผู้บริโภค ซึ่งอยู่ห่างโดยระยะทาง และมุ่งหวังให้ผู้บริโภคแต่ละรายตอบกลับ เพื่อซื้อสินค้าหรือบริการจากผู้ประกอบธุรกิจตลาดแบบตรงนั้น
ดังนั้น การทำการตลาดโดยใช้สื่อออนไลน์ในการนำเสนอสินค้า เช่น การขายสินค้าออนไลน์ หรือ ขายผ่านช่องทาง E-Commerce เช่น Shopee, Lazada, TikTok Shop และอื่นๆ ถือว่าเป็นตลาดแบบตรงเช่นเดียวกัน
ธุรกิจตลาดแบบตรง ต่างจากการขายตรงอย่างไร
“การขายตรง” หรือ “Direct Selling” คือ วิธีการจำหน่ายสินค้าหรือบริการรูปแบบหนึ่ง ที่ผู้ขายหรือเรียกว่าผู้จำหน่ายอิสระ หรือตัวแทนขายตรง นำสินค้าไปขายให้กับผู้ซื้อโดยตรงถึงบ้านหรือสถานที่อื่นที่ไม่ใช่ร้านค้าปกติทั่วไป เช่น ธุรกิจขายผลิตภัณฑ์อาหารเสริม Amway หรือเครื่องสำอาง Mistine เป็นต้น
ความแตกต่างระหว่างการขายตรงและการตลาดแบบตรง
- การขายตรง คือการจำหน่ายสินค้าหรือบริการผ่านการติดต่อสื่อสารโดยตรงระหว่างตัวแทนขายกับผู้บริโภค ณ สถานที่ใด สถานที่หนึ่ง ที่ไม่ใช่ร้านค้า
- การตลาดแบบตรง คือ การจำหน่ายสินค้าหรือบริการผ่านการใช้สื่อเป็นตัวกลางในการสื่อสารข้อมูลต่างๆ ไปยังผู้บริโภคที่อยู่ห่างไกล และมุ่งหวังให้ผู้บริโภคแต่ละราย ตอบกลับเพื่อซื้อสินค้าหรือบริการจากผู้ประกอบธุรกิจตลาดแบบตรงนั้น เช่น การสั่งซื้อสินค้าออนไลน์ หรือ ผ่านทางโทรศัพท์
กล่าวโดยสรุปคือ การขายตรง คือการจำหน่ายสินค้าหรือบริการระหว่างผู้แทนขายและผู้บริโภคโดยตรง ในสถานที่ที่ไม่ใช่ร้านค้า ส่วนการตลาดแบบตรง คือการจำหน่ายสินค้าหรือบริการโดยที่ผู้ขายสื่อสารกับผู้บริโภคผ่านสื่อกลางต่าง ๆ เช่น อินเทอร์เน็ต เว็บไซต์ แอปพลิเคชั่น เป็นต้น
ใครต้องจดทะเบียนธุรกิจตลาดแบบตรง
บุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลที่ประกอบธุรกิจตลาดแบบตรง ผ่านสื่อไม่ว่าจะเป็นออนไลน์ หรือออฟไลน์ ได้แก่
- ร้านค้าที่ขายสินค้าผ่านเว็บไซต์ของตัวเอง
- ร้านค้าที่ขายสินค้าผ่าน Social Media เช่น Facebook, Instagram, LINE ของตัวเอง และอื่นๆ
- ร้านค้าที่ขายสินค้าผ่าน Marketplace เช่น Lazada, Shopee, TikTok Shop และอื่นๆ
- ร้านค้าที่มีการส่งอีเมลหรือ SMS เช่น การแจ้งโปรโมชั่น การเสนอขายสินค้าหรือบริการใหม่ๆ โดยใช้ข้อมูลลูกค้าโดยตรง
- ร้านค้าที่ส่งแคตตาล็อกหรือสื่อสิ่งพิมพ์ถึงลูกค้า เพราะเป็นการสื่อสารโดยตรงที่ไม่ผ่านตัวกลาง
- ร้านค้าที่ขายสินค้าผ่านโทรทัศน์
ใครที่ได้รับยกเว้น ไม่ต้องจดทะเบียนธุรกิจตลาดแบบตรง
- บุคคลธรรมดาที่มีรายได้จากการขายสินค้าหรือบริการผ่าน E-commerce ไม่เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี
- ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ที่ได้ขึ้นทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม
- การขายสินค้าและบริการของวิสาหกิจชุมชนและเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนที่ได้จดทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน
- การขายสินค้าและบริการของสหกรณ์และกลุ่มเกษตรที่ได้จดทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยสหกรณ์
ถ้าประกอบธุรกิจตลาดแบบตรงแต่ไม่จดทะเบียน จะเกิดอะไรขึ้น?
บุคคลธรรมดาและนิติบุคคลที่เข้าเกณฑ์จะต้องจดทะเบียนธุรกิจแบบตรง แต่ไม่ได้ยื่นจดทะเบียนต่อ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) จะมีความผิดจะต้องโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และปรับอีกวันละไม่เกิน 10,000 บาท ตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืนอยู่
ดังนั้น หากธุรกิจของคุณเข้าเกณฑ์เป็นธุรกิจตลาดแบบตรงตามนิยามข้างต้น จะต้องยื่นคำขอจดทะเบียนการประกอบธุรกิจตลาดแบบตรงต่อสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) หากไม่ได้ยื่นขอจดทะเบียนถือว่าเป็นธุรกิจที่ไม่ได้รับอนุญาตให้ขายสินค้านั้นๆ
วิธีจดทะเบียนธุรกิจตลาดแบบตรง จดได้ที่ไหน อย่างไร
สามารถยื่นคำขอจดทะเบียนออนไลน์ได้ที่เว็บไซต์ของสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค หรือที่สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ในเขตที่ตั้งของธุรกิจของท่าน
โดยผู้ที่จะยื่นจดทะเบียนจะต้องมีคุณสมบัติและเตรียมเอกสาร ดังต่อไปนี้
คุณสมบัติสำหรับประเภทบุคคลธรรมดา
- มีบัตรประจำตัวประชาชนที่ยังไม่หมดอายุ
- เป็นผู้มีสัญชาติไทย
- มีอายุครบ 18 ปีบริบูรณ์ ณ วันที่ลงทะเบียน
- เป็นผู้มีรายได้จากการขายสินค้าหรือบริการโดยวิธีการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์เกิน 1,800,000 บาทต่อปี
คุณสมบัติสำหรับประเภทนิติบุคคล
- ผู้ยื่นคําขอจดทะเบียนการประกอบธุรกิจขายตรงหรือตลาดแบบตรง ต้องไม่เคยถูกเพิกถอนทะเบียนการประกอบธุรกิจขายตรงหรือตลาดแบบตรง ในระยะเวลา 5 ปีก่อนวันยื่นคำขอจดทะเบียน
เอกสารประกอบการยื่นคำขอประกอบธุรกิจตลาดแบบตรง
- สำเนาหนังสือรับรองการจดทะเบียนและวัตถุประสงค์นิติบุคคล สำเนาหนังสือบริคณห์สนธิ สำเนาบัญชีผู้ถือหุ้น (กรณีนิติบุคคล) แผนที่ตั้ง ภาพถ่ายสถานที่ติดต่อ และสำนักงานใหญ่
- หนังสือรับรองตรวจสอบคุณสมบัติตามมาตรา 38/2
- หนังสือแจ้งผลการตรวจประวัติอาชญากรรม ตามมาตรา 38/2 (3) หากพบประวัติอาชญากรรมต้องแสดงหลักฐานสถานะของคดีหรือผลคดีถึงที่สุด
- สินค้าหรือบริการที่มีลักษณะตรงตามที่ได้มีการสื่อสารข้อมูลเพื่อเสนอขาย พร้อมทั้งเอกสารหลักฐานการได้รับอนุญาตจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หรือตามที่กฎหมายกำหนดในสินค้าหรือบริการ (ถ้ามี)
- หนังสือรับรองรายการสินค้า/บริการ
- ตัวอย่างเอกสารการซื้อขายสินค้าหรือบริการ
- ขั้นตอนและวิธีการสื่อสารข้อมูลเพื่อเสนอขายสินค้าหรือบริการ พร้อมคำอธิบายและภาพประกอบตรงตามที่ได้มีการสื่อสารข้อมูลเพื่อเสนอขาย
สรุป
หากคุณกำลังประกอบกิจการขายสินค้าออนไลน์ที่เข้าเกณฑ์เป็นธุรกิจตลาดแบบตรง อย่าลืมยื่นจดทะเบียนผู้ประกอบธุรกิจตลาดแบบตรงกับทางสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค(สคบ.) เพื่อที่จะได้ประกอบธุรกิจได้อย่างถูกต้องตามกฎหมายและไม่เสียค่าปรับนะคะ
โบนัส
การจดทะเบียนตลาดแบบตรง ต่างจากการจดทะเบียนพาณิชย์อย่างไร จำเป็นต้องจดทั้ง 2 อย่างหรือไม่
ไขข้อสงสัย การจดทะเบียนพาณิชย์คืออะไร โดยสรุปคือ การขายสินค้าหรือบริการใดๆ ก็ตาม จำเป็นจะต้องจดทะเบียนพาณิชย์ ยกเว้นแต่จะเป็นสินค้าหรือบริการที่ได้รับการยกเว้น และหากร้านค้าของคุณประกอบธุรกิจที่เข้าเกณฑ์เป็นธุรกิจตลาดแบบตรง จะต้องจดทะเบียนตลาดแบบตรงด้วยเช่นกัน
จดทะเบียนพาณิชย์ จดทะเบียนบริษัท จดภาษีมูลค่าเพิ่ม สามอย่างนี้ต่างกันยังไง ใครควรทำเมื่อไหร่ พวกเราเคยได้เขียนบทความนี้ไปเพื่อไขข้อข้องใจและให้คนทำธุรกิจทำตามกฏหมายได้ถูกต้องโดยไม่ต้องเสียค่าปรับย้อนหลัง
ข้อมูลอ้างอิงของบทความ
https://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2560/A/053/80.PDF
https://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2561/A/096/T_0001.PDF
About Author
A graduate student with degrees in Accounting and Financial Management, complemented by professional experience as an external auditor at a Big4 firm and as a Business Analyst in the financial sector.