ธุรกิจนวดแผนไทย ถือเป็นธุรกิจบริการที่มีศักยภาพ แต่ก็มีความซับซ้อนในเรื่อง บัญชีและภาษี โดยเฉพาะการบันทึก รายได้จากการขายแพ็กเกจ และการ จัดโปรโมชั่น ซึ่งต้องคำนึงถึงหลักการทางบัญชีและกฎหมายภาษีที่เกี่ยวข้อง เช่น ภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีเงินได้นิติบุคคล ผู้ประกอบการจึงควรศึกษาข้อมูลเหล่านี้ให้เข้าใจ เพื่อบริหารจัดการธุรกิจได้อย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพ |
ถ้ามาเที่ยวเมืองไทยแล้วไม่ได้ “นวด” นั่นเท่ากับว่า คุณยังมาไม่ถึง!
แม้กระทั่งคนไทยอย่างเรา หลายคนก็มีชีวิตติดนวด ว่างเป็นไม่ได้ต้องเข้าร้านนวด ให้หมอนวดคลายเส้นจากโรคออฟฟิศซินโดรมกันสักหน่อย
ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่หลายคนอยากเปิดธุรกิจนวดแผนไทยเป็นของตัวเอง เพราะมีความต้องการจากลูกค้าจำนวนมาก แถมยังได้นวดฟรีด้วยนะ
แต่ๆๆ ถ้าอยากเปิดร้านนวดแผนไทย เราต้องเข้าใจอะไรบ้างเกี่ยวกับบัญชีและภาษี ในวันนี้พักเบรกเรื่องนวดสักพัก แล้วเรามาทำความเข้าใจเรื่องบัญชีและภาษีที่ต้องรู้ไปพร้อมๆ กันนะคะ
1. นวดแผนไทยเป็นธุรกิจลักษณะไหน?
ลักษณะธุรกิจที่เรารู้จักกันก็จะมีหลายรูปแบบ เช่น ซื้อขาย ผลิต บริการ รับเหมา และอื่นๆ ซึ่งแต่ละธุรกิจก็มีความโดดเด่นเฉพาะตัว และมีประเด็นด้านบัญชีภาษที่ต่างกันด้วยค่ะ ถ้าเราลองมาวิเคราะห์ธุรกิจนวดแผนไทย เพื่อนๆคิดว่า จะอยู่ในลักษณะธุรกิจไหนกันนะ
การประกอบธุรกิจร้านนวด ถือเป็นธุรกิจประเภทให้บริการ โดยมีลักษณะเฉพาะของธุรกิจ ดังนี้
- ด้านรายได้ : มีรายได้หลักจากการให้บริการนวดแผนไทย ซึ่งเป็นการให้บริการแบบเป็นรายครั้งไม่ต่อเนื่อง ตัวอย่างเช่น ให้บริการนวด 1 ชั่วโมง จบแล้วรับรู้รายได้เลย
- ด้านค่าใช้จ่าย : ต้นทุนส่วนใหญ่จะอยู่ที่ การจ้างแรงงานเป็นหลัก (ต้นทุนค่าจ้าง-หมอนวด) และมีค่าวัสดุอุปกรณ์ เช่น น้ำมันมวย น้ำมันอโรมา หินร้อน ลูกประคบ ในการให้บริการเล็กน้อยอื่นๆ
- ด้านสินทรัพย์ที่ใช้ดำเนินงาน : ร้านนวดแผนไทยโดยทั่วไปใช้เงินลงทุนค่อนข้างน้อย เมื่อเทียบกับธุรกิจผลิต และบางกิจการเลือกที่จะเช่าแทนที่จะซื้ออาคารมาตกแต่งทำร้านนวด
บอกได้เลยว่า ธุรกิจร้านนวดเนี่ย ถ้าวางแผนดีๆแล้ว กำไรอู้ฟู่เหมือนกันน้า! ต้นทุนหลักๆ มีแค่ค่าแรง หากบริหารคนให้ดี มีลูกค้าประจำ อัตรากำไรคงไม่น้อยเลยล่ะ
2. กิจการนวดแผนไทยบันทึกบัญชีอย่างไร
ร้านนวดแผนไทย ไม่ได้มีรายได้จากการนวดรายชั่วโมงเพียงอย่างเดียว ร้านนวดส่วนใหญ่มักจะขายแพ็กเกจนวด เช่น นวด 10 ครั้งได้ราคาถูกกว่านวดครั้งเดียว บางทีก็ต้องจัดโปรโมชั่นเอาใจลูกค้าด้วย แล้วแบบนี้จะบันทึกบัญชี รับรู้รายได้ยังไงล่ะ
ในเบื้องต้นต้องบอกเพื่อนๆ ก่อนว่า ตามมาตรฐานบัญชีแล้ว ธุรกิจบริการเราจะต้องรับรู้รายได้เมื่อให้บริการแก่ลูกค้าเสร็จสิ้นค่ะ ทีนี้เราลองมาดูตัวอย่างวิธีการบันทึกรายได้ในแต่ละกรณีกันค่ะ
การบันทึกรายได้รายครั้ง - รับเงินสด
ตัวอย่างแรกเป็นตัวอย่างที่ง่ายที่สุด ก็คือ การให้บริการนวดเป็นรายครั้ง และลูกค้าจ่ายเงินทันทีหลังใช้บริการ เราจึงสามารถบันทึกรายได้ ได้ทันทีเลยค่ะ
การบันทึกรายได้รายครั้ง - รับบัตรเครดิต
การรับชำระบัตรเครดิต เป็นอีกทางเลือกในการรับเงิน ถ้าร้านค้ารับชำระด้วยบัตรเครดิต ธนาคารจะคิดค่าธรรมเนียมจากร้านค้าต่อรายการ เช่น ร้อยละ 1% จากจำนวนเงินที่จ่ายต่อครั้ง เป็นต้น ดังนั้น นอกจากจะเกิดรายได้แล้ว ในขณะเดียวกันก็เกิดค่าใช้จ่ายที่เรียกว่า ค่าธรรมเนียมธนาคารค่ะ
การบันทึกรายได้ลูกค้าซื้อ Package 10 ครั้ง
สำหรับการขายแบบแพ็กเกจ ในที่นี้หมายถึงการขายสิทธิ์ที่จะมาใช้บริการในอนาคต นั่นหมายความว่า ณ วันที่เรารับเงินค่าแพ็กเกจ เราจะไม่สามารถรับรู้เป็นรายได้ จนกว่าลูกค้าจะมาใช้บริการค่ะ
และในกรณีที่สิทธิ์หมดอายุ กิจการสามารถรับรู้สิทธิ์นั้น เป็นรายได้ทั้งจำนวนเลยค่ะ
การบันทึกรายได้จัดโปรโมชั่น - ใช้บริการ 10 ครั้ง ฟรี 1 ครั้ง
นอกจากการขายเป็นแพคเก็จแล้ว การทำโปรโมชั้นก็เป็นอีกวิธีทางการตลาดที่นิยมทำกัน เช่น การสะสมคะแนน เพื่อแลกสิทธิ์การใช้บริการฟรีในอนาคต ในมาตรฐานการรายงานทางการเงินสำหรับกิจการที่ไม่มีส่วนได้เสียสาธารณะ (TFRS for NPAEs) สามารถบันทึกบัญชีตามวิธีนี้ได้
“รับรู้คะแนนสะสมเป็นประมาณการหนี้สิน พร้อมกับรับรู้ค่าใช้จ่ายด้วยจำนวนประมาณการที่ดีที่สุด ณ วันสิ้นรอบระยะเวลารายงาน โดยจำนวนเงินที่รับรู้ คำนวณจากจำนวนคะแนนสะสมทั้งหมดที่คาดว่าจะมีการใช้สิทธิในการแลกเป็นรางวัล เปรียบเทียบกับจำนวนคะแนนสะสมทั้งหมด ณ วันสิ้นรอบระยะเวลารายงาน”
3. ภาษีที่จำเป็นต้องรู้ในธุรกิจนวดแผนไทย
ไม่ว่าเจ้าของกิจการจะอยู่ในธุรกิจไหน ก็หนีไม่พ้นที่ต้องรู้เรื่องภาษีค่ะ แล้วธุรกิจนวดแผนไทยล่ะ ดูเหมือนจะเรียบง่าย แต่ด้านภาษีจะง่ายหรือเปล่า ตามมาดูกันค่ะ
ภาษีนิติบุคคล
ภาษีนิติบุคลต้องพึงระวังเรื่องการคำนวณกำไรสุทธิทางภาษี โดยเฉพาะการรับรู้รายได้ให้ถูกต้องตามเกณฑ์สิทธิ์ และรายจ่ายต้องห้าม เกี่ยวกับเงินเดือน/ค่าแรง ที่ต้องมีหลักฐานการจ่ายชำระ ในอัตราที่เหมาะสม
ภาษีมูลค่าเพิ่ม
ธุรกิจนวดแผนไทยอยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 77/2(1) แห่งประมวลรัษฎากร ดังนั้น หากรายได้จากการให้บริการเกิน 1.8 ล้านบาทขึ้นไปในปีภาษี กิจการต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม และคิด VAT กับลูกค้าเพิ่มเติมอีก 7% ค่ะ
ภาษีหัก ณ ที่จ่าย
ในส่วนของการเป็นผู้หักเงินและนำส่ง กิจการต้องทำตามข้อบังคับกรณีที่ จ่ายเงินได้ที่เข้าเงื่อนไข เช่น เงินได้ค่าจ้าง/เงินเดือนพนักงาน ต้องหัก ณ ที่จ่าย และนำส่งเป็นรายเดือน
ในส่วนของการเป็นผู้ถูกหักเงิน หากกิจการให้บริการบุคคลธรรมดา จะไม่ถูกหัก ณ ที่จ่าย แต่หากให้บริการนิติบุคคลที่เข้าเงื่อนไข เช่น บริษัทซื้อแพ็กเกจนวดให้แก่พนักงานหรือลูกค้า ต้องถูกหัก ณ ที่จ่าย และได้รับหนังสือรับรองการหัก ณ ที่จ่ายด้วยนะคะ
สรุป
ธุรกิจนวดแผนไทยเป็นธุรกิจที่เหมือนจะเข้าใจง่ายทั้งเรื่องรายได้และต้นทุน แต่ในความเป็นจริงแล้วถ้าขายเป็นแพคเก็จหรือว่าทำโปรโมชั่น ก็จะมีความซับซ้อนในการบันทึกบัญชีเกิดขึ้นค่ะ นอกจากนี้เองเรื่องภาษีก็เป็นอีกเรื่องที่ขาดไม่ได้ เพราะคงไม่มีใครอยากจ่ายค่าปรับแพงๆ เพราะยื่นภาษีผิดๆ ถูกๆ จริงไหมคะ
“เปิดร้านนวด นอกจากจะนวดคล้ายเส้นเก่งแล้ว อย่าลืมคลายความกังวลด้านบัญชีและภาษีด้วยการหาความรู้ใส่ตัวกันก่อนเปิดร้านเยอะๆ นะคะ”
About Author
นักบัญชี ผู้สอบบัญชี และผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ cpdacademy.co คอร์สอบรมบัญชี CPD ออนไลน์สำหรับผู้ทำบัญชีและผู้สอบบัญชี ที่มีประสบการณ์ในวิชาชีพมากกว่า 10 ปี และอยากส่งต่อความรู้เพื่อเพื่อนนักบัญชีให้มีทักษะอย่างมืออาชีพและก้าวทันโลกดิจิทัล
ร่วมสมัครเป็นนักเขียนกับ FlowAccount ได้ที่นี่