ในมุมมองของสถาบันการเงิน ลูกค้าหรือผู้กู้ที่มีทรัพย์สินหรือสภาพคล่องทางการเงินดี สะท้อนให้เห็นถึงความมั่นคงทางด้านการเงินของผู้กู้ ดังนั้นการรู้จักเก็บออมสินทรัพย์และบริหารสัดส่วนให้พอดีกับภาระหนี้สินจึงแสดงให้เห็นถึงการบริหารจัดการหนี้ได้ดี และเป็นเหตุผลหนึ่งในการตัดสินใจ อนุมัติเงินกู้ |
ตามปกติแล้วช่วงปลายปีของทุกปีจะเป็นช่วงเวลาที่ผู้ประกอบการมีความจำเป็นต้องการใช้เงิน เพื่อใช้ในการจับจ่ายใช้สอย หรือเพื่อลงทุนขยายธุรกิจกันในปีหน้า หลายคนจึงเริ่มวางแผนที่จะขอสินเชื่อธุรกิจ ในโอกาสนี้เราจึงขอแนะนำปัจจัยพื้นฐานที่สถาบันการเงินจะใช้ในการพิจารณาตัดสินใจ อนุมัติเงินกู้ เพื่อเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการในการเตรียมตัวได้ดีขึ้น
เลือกอ่านได้เลย!
5 เหตุผลที่สถาบันการเงินใช้ตัดสินใจ อนุมัติเงินกู้
1. ธุรกิจใช่ เป็นธุรกิจขาขึ้น
ในรอบปีที่ผ่านมา ผลจากมาตรการปิดเมือง หรือปิดประเทศ ทำให้มีกลุ่มธุรกิจบางกลุ่มที่ได้รับผลกระทบรายได้ลดลง เช่น ธุรกิจการท่องเที่ยว ธุรกิจร้านอาหาร ธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ และแน่นอนกลุ่มธนาคาร เพราะความเสี่ยงหนี้เสียมากขึ้น
ในทางตรงข้าม ธุรกิจที่อยู่ในช่วงขาขึ้น อาทิ ธุรกิจนวัตกรรมทางการแพทย์ ธุรกิจเคมีภัณฑ์ ธุรกิจ E-commerce บริษัทที่ให้บริการ Cloud Computing รวมไปถึงธุรกิจเทคโนโลยีการศึกษา มีรายได้เติบโตอย่างก้าวกระโดดและมีกำไรเติบโตสวนทางกับเศรษฐกิจ ซึ่งแน่นอนว่าบริษัทที่อยู่ในภาคธุรกิจที่ขาขึ้นย่อมมีโอกาสกู้เงินได้ง่ายขึ้นจากสถาบันการเงิน
2. การเงินดี มีทรัพย์สิน
ในมุมมองของสถาบันการเงิน ลูกค้าหรือผู้กู้ที่มีทรัพย์สินหรือสภาพคล่องทางการเงินดี สะท้อนให้เห็นถึงความมั่นคงทางด้านการเงินของผู้กู้ และพร้อมที่จะรองรับเงินกู้ยืมที่จำเป็นต้องมีหลักทรัพย์วางเป็นหลักประกันให้กับสถาบันการเงินได้ ดังนั้นการรู้จักเก็บออมสินทรัพย์และบริหารสัดส่วนให้พอดีกับภาระหนี้สินจึงแสดงให้เห็นถึงการบริหารหนี้กับสินทรัพย์ได้ดี
3. ประวัติผ่อนชำระดี
ประวัติการผ่อนชำระเงินกู้กับสถาบันการเงินของผู้กู้ที่เป็นบุคคลธรรมดา และนิติบุคคล ในปัจจุบันจะสะท้อนออกมาให้เห็นในรายงานจากเครดิตบูโร (NCB) ดังนั้นก่อนที่สถาบันการเงินจะปล่อยเงินกู้ให้กับลูกค้าจะต้องมีการขอดู NCB ผู้กู้และผู้ค้ำประกัน เพื่อจะได้ทราบถึงประวัติการผ่อนชำระเงินกู้กับสถาบันการเงินอื่นๆ ว่าเป็นอย่างไรบ้าง มีการค้างชำระหรือไม่ทั้งในอดีตจนถึงปัจจุบัน และมีภาระหนี้สินมากน้อยแค่ไหน รายได้ปัจจุบันรองรับภาระหนี้ที่มีใน NCB และที่จะกู้ในครั้งนี้ได้หรือไม่
การมีประวัติการผ่อนชำระเงินกู้ที่ดี จึงมักจะเป็นกลุ่มลูกค้าที่สถาบันการเงินต่างๆ ต้องการ และพร้อมที่จะให้เงินกู้เพิ่ม
4. ตัวเลขการเงินสะท้อนผลประกอบการเชิงบวก
งบการเงินเป็นสิ่งที่แสดงถึงผลประกอบการของบริษัท หรือการดำเนินงานขององค์กรนั้นๆ ว่าในอดีต หรือในช่วงที่ผ่านมามีผลประกอบการเป็นอย่างไรบ้าง ซึ่งสะท้อนออกมาให้เห็นในรูปของงบดุล งบกำไรขาดทุน และส่วนของผู้ถือหุ้น เปรียบเสมือนผลตรวจร่างกายของเราว่ามีคอเลสเตอรอลสูงหรือต่ำเท่าไร มีไขมันดีหรือเลวมากน้อยอย่างไร
งบการเงินของบริษัท ก็จะบอกสุขภาพของธุรกิจว่า บริษัทนี้มีสินทรัพย์เท่าไหร่ สภาพคล่องในช่วงเวลาที่ผ่านมาเป็นอย่างไร มีกำไรหรือขาดทุนเท่าไหร่ ต้นทุนทางการเงินของบริษัทมีภาระมากน้อยแค่ไหน
ภาพรวมการเดินบัญชีจาก Statement หรือผลประกอบการจากงบการเงินจึงเป็นสิ่งที่จะช่วยสถาบันการเงินตัดสินใจอนุมัติวงเงินให้กับผู้กู้
5. หลักทรัพย์ค้ำประกัน
หลักทรัพย์/ทรัพย์สิน เป็นเงื่อนไขหนึ่งที่สถาบันการเงินต้องการ เพื่อเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันการกู้เงิน และต้องนำมาประเมินราคาก่อน เพื่อให้ทราบมูลค่าหลักทรัพย์ในปัจจุบัน ซึ่งประเภทของหลักทรัพย์ เช่น ที่ดินเปล่า ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างบ้าน อาคารพาณิชย์ โรงงาน หรือเครื่องจักร รถยนต์ อุปกรณ์ ฯลฯ ก็สามารถนำมาวางเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันให้กับสถาบันการเงินได้
อย่างไรก็ตาม ยังมีสถาบันการเงินอีกหลายแห่งที่สามารถให้สินเชื่อกับธุรกิจ SMEs โดยไม่จำเป็นต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกันเพียงอย่างเดียว แต่ใช้เอกสารอย่างใบแจ้งหนี้แทนก็ได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของสถาบันการเงินของแต่ละแห่ง
ที่กล่าวมาทั้งหมดเป็นเพียงเหตุผลพื้นฐาน ซึ่งสถาบันการเงินแต่ละแห่งอาจมีปัจจัยในการพิจารณามากน้อยแตกต่างกัน นักธุรกิจที่กำลังมองหาสินเชื่อ จึงควรศึกษาข้อมูล ทั้งสถาบันการเงินที่กำลังจะไปขอ หรือประเภทของสินเชื่อให้ดีทุกครั้งก่อนตัดสินใจกู้ยืม
About Author
ที่ปรึกษา บริษัท Investree (Thailand) และเป็นผู้เชี่ยวชาญอันดับต้นของประเทศไทยในด้านสินเชื่อ SMEs มามากกว่า 20 ปี โดยเป็นอดีต CEO บริษัท SG Capital ในเครือบริษัท ซิงเกอร์ (ประเทศไทย) รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารไทยเครดิตเพื่อรายย่อย และเป็นอดีตผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ ด้านสินเชื่อธุรกิจเพื่อรายย่อย