เข้าสู่ฤดูการส่งงบการเงินประจำปีกันแล้ว วันนี้ FlowAccount รวบรวมขั้นตอนการนำส่งงบการเงินผ่านระบบ DBD e-Filing และนำส่งรายชื่อผู้ถือหุ้นบนระบบออนไลน์มาให้หมดแล้ว หวังว่าบทความนี้จะมีประโยชน์กับนักบัญชีทุกท่านและสามารถยื่นงบการเงินและบัญชีผู้ถือหุ้นได้อย่างถูกต้องและทันเวลานะคะ |
ในปัจจุบันนี้กรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้อำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ประกอบการในการนำส่งงบการเงินและรายชื่อผู้ถือหุ้นให้สามารถทำผ่านอินเตอร์เน็ตได้ โดยกิจการจะต้องทำการยื่นงบการเงินภายใน 5 เดือนหลังจากวันสิ้นรอบบัญชี หรือก็คือถ้าสิ้นรอบบัญชีวันที่ 31 ธันวาคม กิจการจะต้องยื่นงบการเงินภายในวันที่ 31 พฤษภาคมของปีถัดมานั่นเอง โดยวิธีการในการยื่นงบการเงินและรายชื่อผู้ถือหุ้นออนไลน์นั้นก็สามารถทำได้แบบง่ายแสนง่าย โดยมีขั้นตอนดังต่อไปนี้
วิธีการยื่นงบการเงินออนไลน์ หรือ e-Filing
ในการยื่นงบการเงินออนไลน์นั้นเริ่มต้นการจากเข้าไปที่ www.dbd.go.th และเลือกไปที่ “บริการออนไลน์” ตามด้วยการเลือกไปที่หัวข้อ “ระบบการนำส่งงบการเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ (DBD e-Filing)”
เมื่อเลือกไปที่หัวข้อข้างต้นแล้ว เว็บไซต์จะลิ้งค์ไปยังหน้าจอใหม่ ให้คลิ๊กไปที่ “ยื่นงบการเงินทางอินเตอร์เน็ต” เว็บไซต์ก็จะขึ้นหน้าจอเพื่อให้กรอกเลขทะเบียนนิติบุคคลและรหัสผ่านที่ได้จะมาตอนจดทะเบียนบริษัทหรือตอนที่ทำการขอขึ้นทะเบียน e-Filing
เมื่อ Log-In แล้ว ระบบก็ปรากฎหน้าจอที่มีให้เลือกทั้งการเตรียมข้อมูลงบการเงิน การนำส่งงบการเงิน การแก้ไขข้อมูลการนำส่งงบการเงิน และ มีให้เลือกเพื่อดูประวัติการนำส่งและพิมพ์แบบและเอกสาร
โดยก่อนที่กิจการจะสามารถนำส่งงบการเงินได้ กิจการจะต้องมีการเตรียมข้อมูลงบการเงินก่อน โดยในการเตรียมข้อมูลงบการเงินนั้นจะต้องทำแบบ offline โดยให้ดาวน์โหลดไฟล์ excel งบการเงินมาเพื่อกรอกข้อมูลผลประกอบการและสถานะทางการเงินของบริษัท
เมื่อคลิ๊ก “Download” แล้ว เว็บไซต์จะปรากฎหน้าต่างขึ้นมาเพื่อให้ดาวน์โหลดไฟล์ โดยให้เลือกไปที่ดาวน์โหลด DBD XBRL in Excel เวอร์ชั่น 2.0
หลักจากนั้นเว็บไซต์ก็จะปรากฎหน้าจอให้กรอกข้อมูลเกี่ยวกับรอบระยะเวลารายงานและให้เลือกรหัสทางการบัญชี โดยถ้าหากกิจการเป็นธุรกิจทั่วไปที่ไม่ต้องจัดทำงบการเงินรวม ให้เลือกไปที่ประเภท “NPAE_COM-OTH”
หลักจากนั้นเว็บไซต์จะทำการเลือกข้อมูลในช่องอื่นๆให้อัตโนมัติโดยกิจการก็สามารถปรับเปลี่ยนข้อมูลที่ระบบกรอกให้ได้ตามความเหมาะสม และถ้าหากข้อมูลต่างๆนั้นถูกต้องดีแล้วให้กด “Download” โดยเว็บไซต์จะปรากฎหน้าต่างให้ตรวจเช็คความถูกต้องอีกครั้งก่อนที่จะดาวน์โหลด เมื่อกิจการทำการตรวจสอบความถูกต้องอีกครั้ง ก็ให้ติ๊กถูกเพื่อยืนยันและทำการดาวน์โหลด excel มาเพื่อทำการกรอกงบการเงิน
เมื่อเลือก Download แล้ว ไฟล์ zip ที่บรรจุ excel ที่จะใช้กรอกงบการเงินเพื่อนำการส่งแบบออนไลน์ก็จะถูก ดาวน์โหลดมาที่คอมพิวเตอร์ของกิจการ เมื่อการดาวน์โหลดเสร็จสิ้นให้ทำการ unzip ไฟล์ ก็จะพบกับไฟล์ excel สำหรับกรอกข้อมูลงบการเงิน ซึ่งในไฟล์ excel ก็จะประกอบด้วยกันทั้งหมด 5 tab
ให้กิจการกรอกข้อมูลของงบการเงินในปีปัจจุบันและปีก่อนหน้าใน tab 210000 งบแสดงฐานะทางการเงิน 240000 งบกำไรขาดทุน และ 410000 งบแสดงส่วนเปลี่ยนแปลงส่วนของผู้ถือหุ้นให้เรียบร้อย
เลือกอ่านได้เลย!
กรอกข้อมูลงบแสดงฐานะการเงิน
กรอกข้อมูลงบกำไรขาดทุน
กรอกข้อมูลงบแสดงการเปลี่ยนแปลงของเจ้าของ
และทำการ save ไฟล์ โดยจะต้องเลือกเป็นนามสกุล .xls เท่านั้น (เลือก Save as type เป็น Excel97-2003 Workbook)
หลังจากนั้นให้ทำการตรวจเช็คความถูกต้องของงบการเงินที่กรอกไปโดยการเลือกไปที่ Add-ins ด้านบน และคลิ๊ก “เครื่องมือ XBRL in Excel” ระบบจะปรากฎหน้าจอแจ้งเตือนถึงข้อผิดพลาดบนงบการเงินขึ้นมา (ถ้ามี)
ให้ทำการแก้ไขงบการเงินตามที่ระบบแจ้งเตือนให้ถูกต้องและคลิ๊กที่ เครื่องมือ XBRL in Excel อีกครั้ง ถ้าหากงบการเงินถูกต้องครบถ้วนแล้ว โปรแกรมจะทำการจัดเก็บงบการเงินเป็นไฟล์ zip ในเครื่องคอมพิวเตอร์เพื่อใช้สำหรับการนำส่งงบการเงิน
เช็ค Location ไฟล์งบการเงินให้ครบถ้วน
หลังจากที่จัดเตรียมงบการเงินเรียบร้อยแล้วขั้นต่อไปก็คือการนำส่งงบการเงินในเว็บไซต์ โดยให้คลิกไปที่หัวข้อ “นำส่งงบการเงินและ/หรือบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น” ในหน้าเว็บไซต์ที่ log-in เข้ามาในตอนแรก และเลือกไปที่ “ส่งงบการเงิน”
หลังจากนั้นจะปรากฎหน้าจอ ข้อมูลการส่งงบการเงิน (แบบ ส.บช.3) ขึ้น โดยให้กรอกข้อมูลต่างๆ ให้ครบถ้วน พร้อมทั้ง upload ไฟล์งบการเงินที่จัดเตรียมไปเข้าไปในระบบ และ upload เอกสารแนบ ซึ่งประกอบไปด้วยหน้ารายงานผู้สอบบัญชีและหมายเหตุประกอบเงิน โดยถ้าหาก upload เสร็จเรียบร้อยสัญลักษณ์ไฟจราจรจะเปลี่ยนจากสีแดงเป็นสีเขียว และเมื่อกรอกข้อมูลครบถ้วนและ upload ไฟล์เรียบร้อยแล้วให้คลิ๊ก “คลิกนำส่ง” เพื่อทำการนำส่งงบการเงิน ก็เป็นอันเสร็จสิ้นการนำส่งงบการเงินออนไลน์
หลังจากนั้นระบบจะปรากฎหน้าจอแจ้งผลการนำส่งงบการเงิน โดยกิจการสามารถเลือกที่จะพิมพ์ใบนำส่งเก็บเอาไว้เพื่อเป็นหลักฐานได้
วิธีการนำส่งบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น
ในการนำส่งบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นจะต้องมีการเตรียมข้อมูลในไฟล์ excel ที่เป็นรูปแบบที่กำหนดโดยกรมพัฒน์ฯก่อน โดย ให้ไปที่ “เตรียมข้อมูลงบการเงินและ/หรือบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น” และคลิ๊กที่ “download ไฟล์ excel บัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น”
หลังจาก download จะได้ไฟล์ excel ที่ให้กรอกรายละเอียด ทั้งใน tab Header และ Detail
โดยใน tab Header ให้กรอกข้อมูลดังนี้
- ชื่อนิติบุคคล
- เลขทะเบียนนิติบุคคล
- งบการเงินรอบบัญชี
- ณ วันประชุม/คัดจากสมุด
- ประชุม (หลังจัดตั้งบริษัท / สามัญผู้ถือหุ้น / วิสามัญผู้ถือหุ้น)
- ประชุมครั้งที่
- ประชุม / คัดจากสมุดวันที่
- ทุนจดทะเบียน (บาท)
- แบ่งออกเป็น (หุ้น)
- มูลค่าหุ้น หุ้นละ (บาท)
- จำนวนผู้ถือหุ้นไทย (คน)
- จำนวนหุ้นของผู้ถือหุ้นไทย (หุ้น)
- จำนวนผู้ถือหุ้นต่างชาติ (คน)
- จำนวนหุ้นของผู้ถือหุ้นต่างชาติ (หุ้น)
ส่วน tab Detail ให้กรอกข้อมูลรายละเอียดของตัวผู้ถือหุ้นดังนี้
- ประเภทประกอบการ (บุคคลธรรมดา/นิติบุคคล/อื่นๆ)
- คำนำหน้าชื่อ
- ชื่อผู้ถือหุ้น / ชื่อนิติบุคคล
- นามสกุลผู้ถือหุ้น (กรณีเป็นบุคคลธรรมดา)
- สัญชาติ
- อาชีพ
- เลขประจำตัวประชาชน หรือหมายเลขพาสปอร์ต / เลขทะเบียนนิติบุคคล
- ที่อยู่
- จำนวนหุ้นที่ถือ
- ประเภทหุ้น (สามัญ / บุริมสิทธิ์)
- ชำระแล้วหุ้นละ (บาท)
- ถือว่าชำระแล้วหุ้นละ (บาท)
- เลขหมายของหุ้น
- วันที่ออกเลขหมายของหุ้น
- วันลงทะเบียนผู้ถือหุ้น
- วันขาดทะเบียนผู้ถือหุ้น
หลังจากจัดเตรียมข้อมูลเรียบร้อยแล้ว จะต้องทำการนำส่งบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น (บอจ.5) ผ่านระบบ dbd e-filing โดยให้ไปที่ “นำส่งงบการเงินและ/หรือบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น” และคลิกที่ “ส่งบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น”
จากนั้นให้ทำการ upload ไฟล์ที่กรอกไว้เข้าไป
หลักจากนั้นให้ “คลิกนำส่ง” เมื่อนำส่งเรียบร้อยแล้ว สามารถเลือกที่จะพิมพ์ใบนำส่งเก็บเอาไว้เพื่อเป็นหลักฐานได้
เพียงเท่านี้ก็สามารถนำส่งงบการเงินผ่านระบบ dbd e-filing ได้อย่างสะดวกสบาย รวดเร็ว และสามารถทำได้ไม่ยาก หวังว่าบทความนี้จะมีประโยชน์กับนักบัญชีทุกท่านและสามารถยื่นงบการเงินและบัญชีผู้ถือหุ้นได้อย่างถูกต้องและทันเวลา
About Author
เพจ TAXBOOK ภาษีและบัญชีฉบับ101 ให้ความรู้เรื่องบัญชีและภาษีสำหรับนักบัญชีและเจ้าของกิจการ ที่อยากอธิบายบัญชีและภาษีที่ใครมองว่ายากแบบง่ายๆ ด้วยภาษาของคนธรรมดา เหมือนเล่าให้เพื่อนฟัง