จากบทความ ฟรีแลนซ์เปิดบริษัท เมื่อไรดี ตอนที่ 1: จะเป็นเจ้าของธุรกิจหรือไม่ ขึ้นอยู่กับเป้าหมายของชีวิต ไม่ใช่ตัวเลขภาษี ได้พูดถึงมุมมองที่ช่วยในการตัดสินใจว่าฟรีแลนซ์ควรเปิดบริษัทดีหรือไม่ไปแล้ว ในตอนนี้จะพูดถึงตัวเลขที่เกี่ยวข้องกับการตัดสินใจเปิดบริษัท คือรายได้ ค่าใช้จ่าย และภาษี
เหตุผลหนึ่งที่ฟรีแลนซ์หลายคนตัดสินใจเปิดบริษัท คือตัวเลขภาษีที่ต้องจ่าย เนื่องจากฟรีแลนซ์บางรายที่รับงานโปรเจกต์ใหญ่ เช่น รับทำโฆษณา จัดอีเวนต์ ฯลฯ มักจะได้รับเงินทุนก้อนใหญ่มาจำนวนหนึ่ง เพื่อนำไปจัดหาทีมงานและบริหารงานต่อเอง ทำให้นายจ้างที่อยู่ในสถานะบุคคลธรรมดาจะต้องจ่ายภาษีตามรายได้ที่ได้รับมา แม้ว่าจะมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานเกิดขึ้นก็ตาม จึงเสียภาษีไม่ตรงกับรายได้ที่ได้รับจริง หรือเสียภาษีมากเกินความจำเป็น
แต่สำหรับฟรีแลนซ์ที่รับงานในขอบเขตที่เล็กลงมา เช่น งานวิทยากร งานเขียน งานแปล ออกแบบกราฟิก ออกแบบเว็บไซต์ ฯลฯ มีค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานน้อย แต่รายรับสูง เมื่อเสียภาษีเยอะเข้า ก็จะเริ่มอยากหาทางเลือกในการลดภาษี
แล้วฟรีแลนซ์ต้องมีรายได้เท่าไรถึงควรเริ่มพิจารณาเปิดบริษัท คำตอบคือ ให้ลองดูอัตราภาษีเงินได้ระหว่างบุคคลธรรมดาและนิติบุคคลเทียบกัน ฟรีแลนซ์ที่มีรายได้สุทธิตั้งแต่ 750,001-1,000,000 บาทต่อปีขึ้นไป จะเสียภาษีในอัตราร้อยละ 20 และเสียแบบเป็นขั้นบันไดไปจนถึงอัตราร้อยละ 35 ในขณะที่อัตราภาษีนิติบุคคลจะเสียร้อยละ 15 และสูงสุดที่อัตราร้อยละ 20 (เมื่อมีรายได้ 3,000,000 บาทขึ้นไป) ซึ่งนิติบุคคลจะประหยัดภาษีได้มากกว่าเยอะเลย ลองเช็กอัตราภาษีนี้ได้ในเว็บไซต์กรมสรรพากร
ทั้งนี้ แม้การเปิดบริษัทจะช่วยให้เสียภาษีน้อยลงได้ หากต้องทำความเข้าใจก่อนว่าการเปิดบริษัทจะมีค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวเนื่องตามมา 2 เรื่องคือ
เลือกอ่านได้เลย!
1. เจ้าของธุรกิจต้องเสียภาษีทั้งภาษีนิติบุคคลและภาษีบุคคลธรรมดา
การจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลแล้วไม่ได้หมายความว่าจะย้ายฐานภาษีไปเลย หากต้องเสียภาษีทั้ง 2 แบบ โดยบริษัทที่เปิดจะเสียภาษีตามอัตรานิติบุคคล แล้วเจ้าของธุรกิจที่เลือกรับเงินเดือนจากบริษัทตัวเองในรูปแบบเงินปันผล หรือเงินเดือน ก็ต้องนำรายได้ส่วนนี้ไปเสียภาษีบุคคลธรรมดาอีกที
การเป็นนิติบุคคลจะเสียภาษีถูกกว่าบุคคลธรรมดาได้ เพราะมีอัตราภาษีที่ต่ำกว่า และสามารถหักค่าใช้จ่ายได้ตามจริง
2. มีค่าใช้จ่ายของบริษัทเพิ่ม
นั่นก็คือ ค่าทำบัญชี และค่าสอบบัญชี ตามกฎหมายที่แจ้งว่า บริษัทจะต้องแสดงเอกสารงบการเงิน มีผู้ตรวจสอบบัญชี ซึ่งจะมีค่าดำเนินการเพิ่มเข้ามาด้วย ดังนั้นการเป็นบุคคลธรรมดาที่เสียภาษีตอนสิ้นปีเพียงครั้งเดียวอาจจะถูกกว่าก็ได้
ลองคำนวณเพื่อเปรียบเทียบว่าแบบไหนเสียภาษีน้อยกว่ากัน
ฟรีแลนซ์สามารถคำนวณตัวเลขภาษีคร่าวๆ หากตัดสินใจเปิดบริษัทได้ โดยนำรายได้และค่าใช้จ่ายต่อปีทั้งหมดมาคำนวณภาษีทั้ง 2 แบบ แล้วเปรียบเทียบกัน
ยกตัวอย่าง พนักงานประจำและฟรีแลนซ์ทำงานด้านงานเขียนรายหนึ่งที่รับงานหลากหลาย และมีรายได้ถึงฐานอัตราภาษีร้อยละ 20 แล้ว ลองนำรายได้และค่าใช้จ่ายทั้งหมดมาคำนวณหาจำนวนรวมก่อน
รายได้ |
จำนวนบาทต่อปี |
เงินเดือนจากงานประจำ เดือนละ 50,000 บาท |
600,000 |
งานฟรีแลนซ์ – เขียนบทความ งานแปล งานวิทยากร เขียนหนังสือ |
170,000 |
รวม |
770,000 |
ค่าใช้จ่าย |
|
ผู้ช่วยนักเขียน ช่างภาพ นักออกแบบ ค่าเดินทาง อุปกรณ์ไอที อื่นๆ |
130,000 |
หากอยากตั้งบริษัท ลองประเมินค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมที่จะเกิดขึ้นคือ ค่าทำบัญชี และเงินเดือนที่เราจะรับจากบริษัท
หากตั้งบริษัทจะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นคือ | จำนวนบาทต่อปี |
ค่าจ้างทำบัญชีและผู้สอบบัญชี |
15,000 |
เงินเดือนเจ้าของกิจการ เดือนละ 45,000 บาท |
540,000 |
เมื่อได้จำนวนรวมของรายได้ และค่าใช้จ่ายแล้ว นำมาคำนวณภาษีแบบบุคคลธรรมดา
แบบที่ 1 วิธีคำนวณภาษีตามอัตราบุคคลธรรมดา
ให้นำรายได้ – ค่าใช้จ่าย – ค่าลดหย่อน = เงินได้สุทธิ
จำนวน |
|
เงินเดือนประจำ |
600,000 |
รายได้ประเภทที่ 1 หักค่าใช้จ่ายได้ |
100,000 |
เหลือ |
500,000 |
รายได้จากฟรีแลนซ์ |
170,000 |
รายได้ประเภทที่ 2 หักค่าใช้จ่ายแบบเหมา 60% |
102,000 |
เหลือ |
68,000 |
นำรายได้รวมกัน (500,000+68,000) |
568,000 |
หักค่าลดหย่อนส่วนตัวตามที่กฎหมายกำหนด | |
ค่าลดหย่อนส่วนตัว |
60,000 |
ประกันสังคม |
9,000 |
รวม |
69,000 |
นำรายได้ลบค่าลดหย่อนส่วนตัว 568,000 – 69,000 = เงินได้สุทธิ |
499,000 |
นำเงินได้สุทธิมาคำนวณอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
เงินได้สุทธิ x อัตราภาษี = เงินภาษีที่ต้องจ่าย
150,000 บาทแรก = 0
150,000 x 0.05 = 7,500
199,000 x 0.10 = 19,990
รวมภาษีที่ต้องจ่ายฟรีแลนซ์รายนี้ต้องจ่าย คือ 27,400 บาท
แบบที่ 2 วิธีคำนวณภาษีตามอัตรานิติบุคคล
เพื่อความสะดวกในการเปรียบเทียบ จะกำหนดรายรับและค่าใช้จ่ายเท่าเดิม (โดยในส่วนรายรับของงานประจำเปลี่ยนให้เป็นงานจ้างตามสัญญา) ซึ่งการคำนวณแบบที่ 2 นี้ จะต้องคำนวณทั้งแบบนิติบุคคล และแบบบุคคลธรรมดาในฐานะที่เรามีรายได้บริษัท
การคำนวณภาษีนิติบุคคล คือ นำรายได้ – ค่าใช้จ่าย = กำไรบริษัท
จำนวน |
|
รายได้ทั้งหมด |
770,000 |
ค่าใช้จ่ายทั้งหมด รวมค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมในการตั้งบริษัท (130,000+15,000+540,000) |
685,000 |
รายได้ – ค่าใช้จ่าย |
85,000 |
เมื่อได้รายได้ของบริษัทแล้วก็นำมาคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคล
ฟรีแลนซ์รายนี้มีกำไรจากบริษัท 85,000 บาท ซึ่งไม่เกิน 300,000 บาท ดังนั้นจึงไม่ต้องเสียภาษี
จากนั้นคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ในส่วนเงินเดือนที่รับจากบริษัทของตัวเอง
จำนวน |
|
เงินเดือนเจ้าของกิจการ เดือนละ 45,000 บาท |
540,000 |
รายได้ประเภทที่ 1 หักค่าใช้จ่าย |
100,000 |
เหลือ |
440,000 |
หักค่าลดหย่อนส่วนตัวตามที่กฎหมายกำหนด | |
ค่าใช้จ่ายส่วนตัว |
60,000 |
ประกันชีวิต |
40,000 |
ประกันสุขภาพ |
10,000 |
รวม |
110,000 |
นำรายได้ลบค่าลดหย่อนส่วนตัว (440,000 – 110,000 =เงินได้สุทธิ) |
330,000 |
นำเงินได้สุทธิมาคำนวณอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
เงินได้สุทธิ x อัตราภาษี = เงินภาษีที่ต้องจ่าย
150,000 บาทแรก = 0
180,000 x 0.05 = 9,000
หากฟรีแลนซ์รายนี้เปิดบริษัท จะเสียภาษีเฉพาะแบบบุคคลธรรมดา 9,000 บาท แต่ไม่ซื้อประกันเลยจะเสียภาษีเพิ่มจำนวน 11,500 บาท
จากตัวอย่างฟรีแลนซ์รายนี้ จะเห็นได้ว่านิติบุคคลประหยัดภาษีได้มากกว่าบุคคลธรรมดา นอกจากนี้ยังเพิ่มความน่าเชื่อถือและศักยภาพในการรับงานที่ใหญ่ขึ้นต่อไปได้
สรุปแล้ว ฟรีแลนซ์เปิดบริษัท เมื่อไรดี มี 3 สิ่งที่ต้องคำนึงถึงคือ ไลฟ์สไตล์ชีวิตที่ต้องการ การจัดการเวลาและทรัพยากรในการทำงาน และการคำนวณรายได้และค่าใช้จ่าย ที่สามารถตอบสนองเป้าหมายชีวิตของตัวเราได้อย่างแท้จริง ก็จะได้คำตอบว่าเราพร้อมเปิดบริษัทแล้วหรือยัง
ข้อมูล
วิธีการคำนวณภาษีแบบบุคคลธรรมดาและนิติบุคคลโดยนักบัญชี ธนัย นพคุณ