3 เรื่อง พื้นฐานการเงินธุรกิจ SMEs ที่ต้องจัดการให้ดี

การเงินธุรกิจ SMEs

  • ตอบคำถามผู้ประกอบการ “ด้วยสภาพเศรษฐกิจแบบนี้ แล้วผมจะต้องระวังเรื่องอะไรบ้าง การเงินถึงจะไม่รั่วไหลจนขาดทุนโดยไม่รู้ตัว”
  • คำตอบคือ ไม่ว่าเศรษฐกิจจะเป็นอย่างไร คุณก็ต้องทำให้ปัจจัยภายในของกิจการดี ดังนั้นขอให้คุณกลับไปสำรวจ สินค้าคงคลัง ต้นทุนเงิน และกระแสเงินสดของกิจการ ซึ่งเป็น พื้นฐานการเงินธุรกิจ SMEs

ปัญหาหนึ่งที่ผู้ประกอบการ ธุรกิจ SMEs มักจะมาขอคำปรึกษากับผู้ให้บริการทางการเงินมักจะถามกันอยู่บ่อยๆ ว่า “ด้วยสภาพเศรษฐกิจแบบนี้ แล้วผมจะต้องระวังเรื่องอะไรบ้าง การเงินถึงจะไม่รั่วไหลจนขาดทุนโดยไม่รู้ตัว”

 

คำตอบคือ ไม่ว่าเศรษฐกิจจะเป็นอย่างไร คุณก็ต้องทำให้ปัจจัยภายในของกิจการดี ดังนั้นขอให้คุณกลับไปมองที่พื้นฐานของการดำเนินกิจการเสียก่อน ซึ่งจะขอแนะนำ 3 พื้นฐานการเงินธุรกิจ SMEs ที่ต้องวางแผนให้ดีคือ

 

พื้นฐานการเงินธุรกิจ SMEs_Info

 

 

1. สินค้าคงคลัง

 

วางแผนจำนวนสินค้าที่จะผลิตออกมา หรือของที่ไปซื้อมาตุนเพื่อหวังทำ Big Lot เพื่อให้ได้ราคาต้นทุนที่ถูก เพราะในความเป็นจริงอัตราที่จำนวนสินค้าจะขายได้หมดในแต่ละรอบไม่ได้ขายได้รวดเร็ว หรืออาจเกิดเหตุการณ์ที่ขายได้ช้ากว่าปกติได้ 

 

หากเกิดเหตุการณ์เหล่านี้ จะทำให้เงินทุนไปจมอยู่ที่สินค้า ในขณะที่คุณก็ยังต้องจ่ายหนี้ที่เกิดขึ้น แล้วส่วนใหญ่เจ้าของธุรกิจก็จะแก้ปัญหาด้วยการเร่งขายสินค้าด้วยการให้เครดิตเทอม หรือลดราคา เพื่อให้สินค้าหมดเร็วๆ แต่การทำแบบนี้ต่อให้ขายได้จริง แต่คุณก็จะยังเก็บเงินไม่ได้อยู่ดี กลายเป็นวงจรพันกันนัวเนียจนอาจเกิดภาวะขาดสภาพคล่องได้ 

 

ดังนั้นคุณต้องพิจารณาว่า กิจการของเรามีสินค้าอะไรที่ขายได้ไว หรือขายได้ดี สินค้าตัวนี้ก็อาจจะสั่งเข้ามาได้มากหน่อย ส่วนสินค้าอะไรที่นานๆ ขายได้ชิ้นหนึ่ง ก็ควรสั่งน้อยๆ หรือสั่งทีหลัง เพื่อที่เงินทุนจะได้ไม่จมอยู่ในสินค้าคงคลังนาน

 

 

2. ต้นทุนเงิน

 

คำนึงถึงแหล่งเงินทุนของกิจการว่ามาจากทางไหนบ้าง เป็นเงินของตัวเองหรือเปล่า และหากมีเงินสดในกิจการไม่เพียงพอ จำเป็นต้องหาสินเชื่อเพิ่มไหม ซึ่งส่วนใหญ่แล้ว ธุรกิจ SMEs ก็มักจะเจอกับเหตุการณ์ที่สถาบันการเงินจะเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ ทำให้การขออนุมัติวงเงินยุ่งยากขึ้น หรือให้วงเงินน้อย หรือมีเงื่อนไขสลับซับซ้อนมาก ยิ่งเกิดภาวะแบบนี้ยาวนาน จะทำให้เงินมันเหือดแห้งไปจากระบบ และปัญหาเรื่องเงินได้ไม่พอกับค่าใช้จ่ายจะเริ่มเกิดขึ้น การขาดสภาพคล่องทางการเงินจะตามมาทั้งที่ธุรกิจยังทำมาค้าขายได้ก็ตาม

 

แล้วถ้าคุณจะหันไปหาสินเชื่อนอกระบบก็ต้องเข้าใจด้วยว่า อัตราดอกเบี้ยจะราคาสูงกว่าปกติมาก เช่นกดเงินสดจากบัตรเครดิตก็ 18-20%ต่อปี ใช้วงเงินจากสินเชื่อบุคคลก็ 28%ต่อปี หรือกู้ยืมนอกระบบ 10-20% ต่อเดือนเป็นต้นทั้งยังเสี่ยงต่อการไม่มีกฏหมายควบคุมหรือให้ความเป็นธรรมตามมารตรการภาครัฐอีกด้วย

 

ดังนั้นก่อนจะตัดสินใจกู้ ลองดูว่ากำไรของกิจการมากกว่าอัตราดอกเบี้ยของเงินที่เราไปกู้ หรือดอกเบี้ยที่เราต้องจ่ายออกไปหรือไม่ อันนี้ต้องระวังมากๆ เพราะเดี๋ยวจะเกิดการช็อตเงิน (เงินไม่พอ) พอหาเงินกู้ไม่ได้ ก็จะทำให้เงินทุนหมุนเวียนไม่พอ หรือเงินไปจมอยู่ในสินค้า เก็บเงินจากลูกค้าก็ไม่ได้อีก ก็กลายเป็นวงจรพันกันนัวเนียอีกเหมือนกัน 

 

ลองมองหารูปแบบสินเชื่อใหม่ๆ ที่จะช่วยทำให้ได้รับสินเชื่อเร็วขึ้น โดยไม่ติดกับข้อจำกัดของการกู้มากนัก เช่น การขอสินเชื่อโดยใช้ใบอินวอยซ์แทนการใช้สินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน (ศึกษารายละเอียดเงื่อนไขของสินเชื่อเพิ่มเติมได้ที่บทความ สินเชื่อธุรกิจ Invoice Financing ทางเลือกใหม่จาก FlowAccount ร่วมกับ Investree เพิ่มความคล่องตัวให้ธุรกิจ SME)

 

 

3. โฟกัสกระแสเงินสดของกิจการ

 

เจ้าของธุรกิจหลายรายที่ใช้กลยุทธ์ “ขายของก่อน เก็บเงินทีหลัง” จะต้องมีบัญชีลูกหนี้การค้า หมายถึง ลูกค้าได้รับของไปแล้ว และยังไม่ได้จ่ายเงิน ซึ่งเรื่องนี้ต้องระวังดีๆ หากลูกค้าเรามีปัญหาในเรื่องสภาพคล่องทางการเงิน หมุนเงินไม่ทัน อาจมีการชะลอเวลาการจ่ายเช็ค (ดึงเช็ค) หรือปล่อยให้เช็คเด้ง ทำให้กระทบต่อกระแสเงินสดของเราไปด้วย เพราะหากเราเก็บเงินจากลูกค้าไม่ได้ ผลก็คืออาจจะทำให้เช็คของเราที่จ่ายให้ซัพพลายเออร์อาจจะเด้งไปด้วย และอาจมีผลกระทบต่อกระแสเงินสดของซัพพลายเออร์ของเราอีกด้วย จะเห็นได้ว่าส่งผลกระทบเป็นทอดๆ เหมือนโดมิโน

 

เพราะฉะนั้นการจะปล่อยเครดิตเทอมให้กับลูกค้าคนไหน เจ้าของธุรกิจก็ควรต้องทำความรู้จักลูกค้าให้ดี และไม่ควรให้ช่วงเวลาเครดิตเทอมยาวนานเกินไป

 

แล้วจะดูได้อย่างไรว่าควรคบค้ากับลูกค้าคนไหน เบื้องต้นคือ ก็ควรเป็นลูกค้าเก่าที่รู้ว่าเขาทำมาค้าขายจริง รู้เครดิต เคยค้าขายกันแล้ว พอถึงเวลาวางเช็คก็สามารถเก็บเงินได้ตรงเวลาสม่ำเสมอ และหากรู้ว่าฝั่งคู่ค้าของลูกค้าเองเป็นใคร อยู่ในแวดวงธุรกิจอุตสาหกรรมเดียวกันกับเราหรือไม่ก็จะยิ่งดี 

 

แต่ถ้าเป็นลูกค้ารายใหม่ หรือลูกค้าขาจร ก็พิจารณาก่อนว่าจำเป็นต้องให้เครดิตเทอมหรือไม่ ถ้าจำเป็นก็ต้องเลือกระยะเวลาที่เหมาะสมที่จะไม่ทำให้เรารับเงินช้าเกินไป แต่ทั้งนี้ขอแนะนำว่า คุณควรขายด้วยเงินสดไปก่อน ไปแข่งขันกันเรื่องการให้บริการ ส่งของตรงเวลา ไม่เบี้ยวนัด หรือรักษาคุณภาพสินค้าให้ดีจนขึ้นชื่อ ดีกว่าไปแข่งขันเรื่องขายสินค้าฟรีๆ แล้วค่อยเก็บเงิน 

 

ถ้าจะพูดให้ง่ายๆ ก็คือคุณอาจจะต้องดูโหงวเฮ้งลูกค้าเป็น โดยเก็บข้อมูลลูกค้าอย่างสม่ำเสมอ หรือไม่ก็ต้องใช้วิธีโบราณอย่างการแปะป้าย “จ่ายสด งดเชื่อ เบื่อทวง!” แล้วค่ะ 

ศึกษาวิธีบริหารกระแสเงินสด ฉบับเจ้าของมือใหม่ต่อเลย

 

ทดลองใช้โปรแกรมบัญชี FlowAccount ในการบริหารสภาพคล่องของธุรกิจฟรี ได้ที่นี่

 

ลองใช้งานFlowAccount ฟรี 30 วันได้ง่ายๆ วันนี้
ลองใช้งานฟรีได้ง่ายๆ วันนี้
สมัครเลย

You may also like