อ่านสั้นๆ:
- Update! กรมสรรพากรชวนเจ้าของธุรกิจ SMEs สมัครโครงการจัดทำบัญชีชุดเดียว ภายในวันที่ 30 มิถุนายน 2562 นี้ เพื่อให้ได้รับสิทธิยกเว้นเบี้ยปรับเงินเพิ่ม
- พร้อมทั้งใช้ระบบ Big Data และ Data Analytic มาจำแนกบัญชีของกลุ่มธุรกิจว่ามีลักษณะใดที่เข้าข่ายว่าเป็นการเลี่ยงภาษีด้วย
- เพื่อหลีกเลี่ยงบัญชีดังกล่าว เจ้าของธุรกิจควรใช้โปรแกรมบัญชีในการเริ่มทำบัญชีชุดเดียว แล้วให้นักบัญชีช่วยปรับปรุงข้อมูล เพื่อให้มั่นใจได้ว่าบัญชีธุรกิจของเราโปร่งใส ตรวจสอบได้
Update! กรมสรรพากรชวนเจ้าของธุรกิจ SMEs สมัครมาเข้าร่วมโครงการจัดทำบัญชีชุดเดียวให้ถูกต้อง โดยเจ้าของธุรกิจ SMEs จะได้รับการยกเว้นเบี้ยปรับเงินเพิ่ม และค่าปรับอาญา
หากที่ผ่านมามีการทำบัญชีและชำระภาษีไม่ถูกต้อง และจะได้รับบริการทางการเงินต้นทุนต่ำกว่าปกติจากสถาบันการเงิน
หากเจ้าของธุรกิจมีการจัดทำบัญชีงบการเงินไม่ถูกต้อง ข้อมูลไม่ครบถ้วน (หรือไม่ได้ทำบัญชีชุดเดียว) อาจถูกจัดเข้าข่ายว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงที่อาจถูกตรวจสอบ ธนาคารพาณิชย์อาจพิจารณาชะลอ หรือขอเอกสารเพิ่มเกี่ยวกับอนุมัติการปล่อยเงินกู้ และอาจมีการขอเรียกดูงบการเงินมาพิจารณาอยู่เรื่อยๆ
เจ้าของธุรกิจ SMEs สามารถเข้าร่วมโครงการจัดทำบัญชีชุดเดียว หรือมาตรการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการจัดทำบัญชีให้สอดคล้องกับสภาพที่แท้จริงของกิจการ โดยสามารถไปลงทะเบียนได้ที่เว็บไซต์ของกรมสรรพากรภายในวันที่ 30 มิถุนายน 2562 นี้
เมื่อเข้าร่วมโครงการแล้ว จะสามารถปรับปรุงรายการงบการเงินใหม่ได้หากพบว่ามีข้อผิดพลาด และหากมีผลกระทบต่อการชำระภาษีอากร ก็สามารถยื่นแบบแสดงรายการชำระภาษีใหม่ให้ถูกต้อง โดยจะยกเว้นเบี้ยปรับเงินเพิ่มและค่าปรับอาญาให้
มาตรการจัดทำ “บัญชีชุดเดียว” คืออะไร
มาตรการจัดทำบัญชีชุดเดียว (มาตรการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการจัดทำบัญชีให้สอดคล้องกับสภาพที่แท้จริงของกิจการ ) คือแนวทางจากภาครัฐที่ให้เจ้าของธุรกิจ SMEs จัดทำบัญชีและงบการเงินให้สอดคล้องกับสภาพที่แท้จริงของกิจการเพียงชุดเดียว
ต่างจากในอดีตที่เจ้าของธุรกิจหลายรายมักทำบัญชีหลายชุดซึ่งอาจจะทำให้ตัวเลขไม่ตรงตามความเป็นจริงเมื่อมายื่นกรมสรรพากร
เจ้าของธุรกิจได้ประโยชน์อะไร
การมีบัญชีชุดเดียว (บัญชีเล่มเดียว) แน่นอนว่า อย่างแรก ช่วยประหยัดเวลาในการทำงาน ประหยัดค่าใช้จ่ายในการว่าจ้างสำนักงานบัญชีเพื่อจัดทำบัญชีให้ โอกาสผิดพลาดน้อยกว่าการทำบัญชีหลายชุด
อย่างที่สอง ทำให้เจ้าของธุรกิจสามารถใช้ข้อมูลทางบัญชีสะท้อนผลการดำเนินการที่แท้จริง มีความโปร่งใส่ น่าเชื่อถือ สามารถตรวจสอบได้ และรู้การเงินของกิจการตัวเอง เพื่อนำมาใช้วางแผนธุรกิจต่อไป
ที่กล่าวมานั้นเป็นข้อดีที่เกิดขึ้นภายในกิจการของคุณ แต่สำหรับภายนอกกิจการ ที่ใกล้ตัวที่สุดคือ ธนาคาร
เพราะการมีบัญชีชุดเดียวจะเพิ่มความน่าเชื่อถือของกิจการให้กับสถาบันการเงิน ทำให้ต้นทุนทางการเงินต่ำลง
และที่สำคัญช่วยประหยัดภาษีได้ เนื่องจากนำส่งภาษีได้ตรงตามสภาพความเป็นจริงของกิจการ
ลองดูจากภาพ เมื่อผู้ประกอบการต้องการขอสินเชื่อจากธนาคาร ธนาคารจะตรวจสอบงบการเงินที่เราเคยส่งให้กรมสรรพากร หากเอกสารมีความเรียบร้อยถูกต้องก็จะช่วยให้การอนุมัติสินเชื่อทำได้ง่ายขึ้น
บัญชีแบบใดที่ทำให้ธุรกิจถูกจัดว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงจะหลีกเลี่ยงภาษี
กรมสรรพากรได้ใช้ระบบ Big Data และ Data Analytic มาวิเคราะห์กลุ่มธุรกิจว่ามีพฤติกรรมใดเข้าข่ายจะเลี่ยงภาษีด้วย โดยแยกตามแหล่งข้อมูลส่วนสินทรัพย์ หนี้สินและทุน รายได้ และค่าใช้จ่าย พบว่ามี 10 ลักษณะคือ
ส่วนสินทรัพย์
1. ใช้เงินสดเป็นหลัก
2. แสดงสินค้าคงเหลือไม่ถูกต้อง
3. ไม่มีทรัพย์สิน หรือมีมากผิดปกติ
ส่วนหนี้สินและทุน
4. มีเงินกู้ยืมจากกรรมการมากเกินไปและไม่สามารถชี้แจงได้
5. แสดงบัญชีที่ขาดทุนสะสมเป็นเวลานาน
ส่วนรายได้
6. บันทึกรายได้ไม่ถูกต้อง
7. บันทึกรายได้ไม่ครบถ้วน
ส่วนค่าใช้จ่าย
8. บันทึกค่าใช้จ่ายเพิ่มแต่รายได้ลดลง
9. บันทึกค่าใช้จ่ายสูงเมื่อเทียบกับรายได้
10. สร้างค่าใช้จ่ายที่เป็นเท็จ
ทางกรมสรรพากรแนะนำให้ตรวจสอบว่า หากธุรกิจมีบัญชีที่แสดงลักษณะเบื้องต้นแบบนี้ ควรทบทวนและตรวจสอบอีกครั้งก่อนทำการยื่นงบการเงินปี 2562 และแบบแสดงรายการภาษีที่เกี่ยวข้องด้วย
ทั้งนี้ การยื่นงบการเงินต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้าและกรมสรรพากร จะต้องจัดทำภายในเดือนพฤษภาคม 2562 นี้ เจ้าของธุรกิจจึงอาจจะลองใช้โปรแกรมบัญชีออนไลน์ในการทำเอกสารทางธุรกิจให้มีบัญชีชุดเดียวผ่านระบบโปรแกรมบัญชี FlowAccount แล้วให้นักบัญชีปรับปรุงแก้ไขข้อมูลในระบบให้ถูกต้องก็ได้
เพื่อจะได้ทันในการรับสิทธิยกเว้นเบี้ยปรับเงินเพิ่ม เสียเพียงแค่ภาษี ตามมาตรการการจัดทำบัญชีชุดเดียว
ข้อมูล
www.thairath.co.th
www.matichon.co.th