เก็บชั่วโมง CPD เรื่องที่นักบัญชีต้องรู้

 

เก็บชั่วโมง CPD โปรแกรมบัญชีฟรี ของ สภาวิชาชีพบัญชี

 

การเก็บชั่วโมง CPD คือการเก็บชั่วโมงพัฒนาความรู้ต่อเนื่องสำหรับผู้ประกอบวิชาชีพบัญชี นั่นหมายความว่า หากเราขึ้นทะเบียนเป็นผู้ทำบัญชีเรียบร้อยแล้ว ในแต่ละปีปฏิทินเราจะต้องเก็บชั่วโมง CPD ไม่น้อยกว่า 12 ชั่วโมง และหากไม่เก็บชั่วโมงให้ครบถ้วน ก็อาจจะทำให้เราขาดคุณสมบัติการเป็นผู้ทำบัญชีตามที่กฎหมายกำหนดก็เป็นได้

อาชีพนักบัญชีอย่างเรา นอกจากจะต้องรับผิดชอบงานทำบัญชีและยื่นภาษีแล้ว รู้หรือไม่ว่า เรามีหน้าที่เก็บชั่วโมงพัฒนาความรู้ต่อเนื่อง หรือที่มักเรียกกันติดปากว่า “เก็บชั่วโมง CPD” กันอีกด้วย 

 

ทำไมเราถึงต้องเก็บชั่วโมง CPD มีหลักเกณฑ์อย่างไร และเมื่อเราเก็บชั่วโมงได้ครบ แล้วจะต้องแจ้งชั่วโมงที่ไหน เราจะมาหาคำตอบกันในบทความนี้

 

เรียนบัญชีสำหรับผู้ประกอบการ

 

ทำไมเราต้องเก็บชั่วโมง CPD

 

สาเหตุที่เราต้องเก็บชั่วโมง CPD นั้น สืบเนื่องจากประกาศของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เรื่อง กำหนดคุณสมบัติและเงื่อนไขของการเป็นผู้ทำบัญชี พ.ศ. 2557 ออกตามความในมาตรา 7(6) แห่ง พ.ร.บ. การบัญชี พ.ศ. 2543 ว่า ผู้ทำบัญชีต้องมีการพัฒนาความรู้ต่อเนื่องทางวิชาชีพ โดยให้สภาวิชาชีพบัญชีกำหนดกิจกรรม เนื้อหา และจำนวนชั่วโมงการพัฒนาความรู้ 

 

สรุปง่ายๆ ก็คือ เราจำเป็นต้องเก็บชั่วโมง CPD ตามที่กฎหมายกำหนดไว้ มิเช่นนั้น จะขาดคุณสมบัติการเป็นผู้ทำบัญชีตามกฎหมายนั่นเอง 

 

หลักเกณฑ์การเก็บชั่วโมง CPD ของผู้ทำบัญชี

 

  • ผู้ทำบัญชีต้องมีจำนวนชั่วโมง CPD ไม่น้อยกว่า 12 ชั่วโมงต่อปีปฏิทิน นั่นหมายความว่า วันสุดท้ายที่สามารถเก็บชั่วโมง CPD ได้คือวันที่ 31 ธันวาคม ของปีนั้นๆ 
  • จำนวนชั่วโมง CPD ต้องมีเนื้อหาเกี่ยวกับการบัญชี ไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่ง และเนื้อหาด้านอื่น เช่น ใน 12 ชั่วโมง CPD ที่ต้องเก็บทั้งปีนั้น ต้องเป็นเนื้อหาการบัญชีอย่างน้อย 6 ชั่วโมงนั่นเอง  
  • หากผู้ทำบัญชีแจ้งทำบัญชีเป็นปีแรก และมีระยะเวลาที่เหลือหลังการแจ้งในปีนั้นน้อยกว่า 6 เดือนแล้วละก็ ให้เริ่มเก็บชั่วโมง CPD ในปีถัดไปได้ เช่น หากปี 2562 นี้คุณขึ้นทะเบียนเป็นผู้ทำบัญชีตอนเดือนพฤศจิกายน นั่นแปลว่า คุณไม่ต้องเก็บชั่วโมง CPD ในปี 2562 แต่เริ่มเก็บครั้งแรกในปี 2563 นั่นเอง

 

กิจกรรมที่สามารถนับชั่วโมง CPD ของผู้ทำบัญชีได้

 

สภาวิชาชีพบัญชีได้กำหนดกิจกรรมที่สามารถเก็บชั่วโมง CPD ไว้หลากหลายกิจกรรม ได้แก่

 

  1. การอบรมหรือสัมมนา ในที่นี้ต้องจัดขึ้นโดยหน่วยงานที่ได้รับความเห็นชอบจากสภาวิชาชีพบัญชีเท่านั้น ซึ่งแต่ละหน่วยงานจะแจ้งผู้เข้าอบรมล่วงหน้าว่า หลักสูตรที่จัดขึ้นสามารถนับชั่วโมง CPD ได้หรือไม่ และนับได้จำนวนกี่ชั่วโมง 

 

และที่สำคัญ การอบรมสัมมนาในที่นี้ยังรวมถึงการอบรมผ่านระบบ e-learning ผ่านเว็บไซต์ https://www.cpdacademy.co ที่ผู้ทำบัญชีสามารถเก็บชั่วโมง CPD ออนไลน์ง่ายๆ ได้ที่บ้าน เนื่องจากทุกคอร์สของทางสถาบันได้รับการอนุมัติจากสภาวิชาชีพบัญชี (คลิกเพื่อดูรายละเอียดเพิ่มเติม https://www.cpdacademy.co/course)

 

  1. การเป็นวิทยากร ผู้บรรยาย ผู้ดำเนินการสัมมนา สำหรับเฉพาะในกิจกรรมที่ 1 เท่านั้น

 

  1. การเป็นอาจารย์ในสถาบันการศึกษาของรัฐ หรือสถาบันการศึกษาของเอกชนตามกฎหมายว่าด้วยสถาบันการศึกษาเอกชน ซึ่งมีการสอนไม่ต่ำกว่าระดับอนุปริญญาหรือประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ทางการบัญชี หรือเทียบเท่า ไม่ว่าจะเป็นการสอนในฐานะอาจารย์ประจำหรืออาจารย์พิเศษ

 

  1. การสำเร็จการศึกษาในคุณวุฒิที่เกี่ยวข้องกับวิชาชีพบัญชี ไม่ว่าคุณวุฒิใหม่นั้นจะสูงกว่าคุณวุฒิเดิมหรือไม่ก็ตาม

 

  1. การผ่านการศึกษาเฉพาะรายวิชาที่เกี่ยวข้องกับวิชาชีพบัญชีจากสถาบันการศึกษาของรัฐ หรือสถาบันการศึกษาของเอกชนตามกฎหมายว่าด้วยสถาบันการศึกษาเอกชน ซึ่งมีการสอนไม่ต่ำกว่าระดับอนุปริญญาหรือประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ทางการบัญชีหรือเทียบเท่า

 

**สำหรับข้อ 2-5 นั้น จะไม่สามารถแจ้งชั่วโมงได้ทันทีในระบบออนไลน์ของสภาวิชาชีพบัญชี ผู้ทำบัญชีจะต้องนำส่งหลักฐานประกอบให้สภาวิชาชีพบัญชีพิจารณาอีกครั้งเพื่อตรวจสอบ ก่อนที่สภาวิชาชีพบัญชีจะรับรองการนับชั่วโมง CPD ของผู้ทำบัญชีให้

 

แจ้งชั่วโมง CPD ภายในเมื่อไร และแจ้งอย่างไร

 

เมื่อผู้ทำบัญชีเก็บชั่วโมง CPD เรียบร้อยแล้ว ไม่ใช่ว่าหน้าที่จะจบลง สิ่งถัดมาที่ต้องทำก็คือ การแจ้งชั่วโมง CPD ให้เรียบร้อย ภายในวันที่ 30 มกราคมของปีถัดไป เช่น หากเก็บชั่วโมง CPD ครบแล้วในปี 2562 ผู้ทำบัญชีต้องแจ้งชั่วโมงภายในวันที่ 31 มกราคม 2563 นั่นเอง

 

ช่องทางการแจ้งชั่วโมง CPD สามารถทำได้แบบออนไลน์ผ่าน

ซึ่งทั้งสองระบบนี้เชื่อมโยงฐานข้อมูลระหว่างกัน ดังนั้นผู้ทำบัญชีสามารถเลือกแจ้งชั่วโมงผ่านทางช่องทางใดก็ได้

 

แจ้งชั่วโมง CPD ไม่ครบมีผลอย่างไร

 

หากผู้ทำบัญชีไม่เก็บชั่วโมง CPD ตามที่กฎหมายกำหนดจะต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท และกรณีพัฒนาความรู้ต่อเนื่องทางวิชาชีพบัญชีไม่ครบตามที่กำหนด ต้องพัฒนาความรู้ต่อเนื่องฯ ให้ครบจำนวนชั่วโมงตามระยะเวลาที่ขาดหายไป แต่เมื่อรวมกันแล้วไม่เกิน 24 ชั่วโมง

 

สำรวจตัวเองเลยว่าได้เก็บชั่วโมง CPD แล้วหรือยัง

 

สุดท้ายแล้ว เมื่อคุณตัดสินใจเริ่มอบรม CPD แล้ว การลงทุนในการศึกษาย่อมให้ประโยชน์ต่อตัวคุณเสมอ เมื่อทำความเข้าใจหลักการเก็บชั่วโมง CPD กันแล้ว ก็อย่าลืมสำรวจตัวเองว่าปีนี้อบรม CPD ครบแล้วหรือยัง หากยัง ควรรีบดำเนินการให้ครบถ้วน จะได้รับงานได้อย่างสบายใจ ไม่โดนค่าปรับ และไม่ขาดคุณสมบัติผู้ทำบัญชีนะคะ

 

เก็บชั่วโมงพัฒนาความรู้ CPD

 

หากท่านใดอยากอ่านต่อว่าการเก็บชั่วโมงพัฒนาความรู้ต่อเนื่อง CPD ที่นักบัญชี ผู้สอบบัญชีต้องทำทุกปีเป็นอย่างไร คลิกอ่าน กันได้เลยค่ะ

 

ข้อมูล:

https://www.dbd.go.th/ewt_news.php?nid=1091

http://www.tfac.or.th/upload/9414/ORmdrWQGg5.pdf

http://www.tfac.or.th/Article/Detail/67987

 

โปรแกรมบัญชี FlowAccount เปิดเอกสารธุรกิจได้ทุกที่ทุกเวลา เริ่มต้นได้ง่ายๆ กับ โปรแกรมทำบัญชีออนไลน์ ที่ช่วยบันทึกบัญชีได้ครบทุกรูปแบบธุรกิจ สมัครใช้ฟรี >> ร่วมเป็นพาร์ตเนอร์กับเรา

ลองใช้งานFlowAccount ฟรี 30 วันได้ง่ายๆ วันนี้
ลองใช้งานฟรีได้ง่ายๆ วันนี้
สมัครเลย

You may also like