หากคุณเป็นเจ้าของธุรกิจที่กำลังมองหามาตรการด้านภาษี ต้องพิจารณาก่อนว่า ณ ตอนนี้ เรากำลังอยู่ในสภาวะแบบไหน ระหว่างเงินสดฝืดเคืองแทบไม่ไหว หรือว่า เงินสดเหลือพร้อมใช้จ่ายได้ตามอัธยาศัย
หากธุรกิจอยู่ในสถานะที่มีเงินสดฝืดเคือง ต้องทำความเข้าใจว่า มาตรการขยายเวลาฯ ไม่ใช่ การลดภาษี แต่เป็นการเลื่อนเวลาให้จ่ายได้ช้าลงเท่านั้น ดังนั้นต้องมีการบริหารจัดการตรงนี้เผื่อไว้ด้วย แต่ถ้าหากธุรกิจอยู่ในสถานะที่มีเงินสดเหลือพร้อม ลองพิจารณาจากข้อมูลธุรกิจที่มีอยู่ว่า หลังจากนี้ธุรกิจมีโอกาสได้รับผลกระทบหรือไม่ หลังจากนั้นจึงค่อยตัดสินใจเลือกใช้มาตรการต่างๆ ที่ช่วยเพิ่มสิทธิประโยชน์ทางภาษีเพิ่มเติมเข้าไป |
ในช่วงสองเดือนที่ผ่านมา หลังจากที่มีวิกฤตโควิด-19 เราจะเห็นว่าทางภาครัฐมีมาตรการต่างๆ ออกมามากมายสำหรับกระตุ้นเศรษฐกิจ และหนึ่งในนั้น คือ มาตรการภาษี ที่เกี่ยวข้องกับคนทำธุรกิจ นั่นเองครับ
ใครสนใจมาตรการเบื้องต้น สามารถดูข้อมูลสรุปเพิ่มเติมเบื้องต้นได้ที่ แฟนเพจ TAXBugnoms ในหัวข้อ สรุปครบ! มาตรการดูแลเยียวยา COVID-19 อัพเดตแบบมัดรวมทั้งระยะที่ 1 และระยะที่ 2
แต่อย่างไรก็ดีปัญหาของการออกมาตรการในช่วงที่เกิดวิกฤตแบบนี้ อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงมาตรการหรือข้อกฎหมายเพิ่มเติมครับ ดังนั้นเจ้าของธุรกิจทุกคนต้องคอยติดตามอัพเดตอย่างสม่ำเสมอด้วยนะครับ
หลักการคิดเพื่อเลือกใช้ มาตรการภาษี ของภาครัฐให้เหมาะสมกับธุรกิจ
สำหรับคนที่ยังสับสนกับมาตรการของรัฐที่มีในตอนนี้ โดยเฉพาะผู้ประกอบการที่ไม่ได้เชี่ยวชาญด้านบัญชี ผมขอแชร์แนวคิดเบื้องต้นให้พิจารณาก่อนตัดสินใจเลือกใช้มาตรการของภาครัฐก่อนครับ
เริ่มจากทำความเข้าใจก่อนว่า แนวทางของมาตรการทางภาษีของรัฐนั้น ประกอบด้วยหลักการสำคัญอยู่ 2 เรื่อง นั่นคือ มาตรการขยายระยะเวลาในการยื่นแบบแสดงรายการภาษี และ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี ซึ่งทั้งสองตัวนี้มีความแตกต่างกันดังนี้ครับ
มาตรการขยายระยะเวลาในการยื่นแบบแสดงรายการภาษี
เป็นมาตรการเพื่อขยายเวลาการยื่นแบบแสดงรายการออกไป หรือพูดง่ายๆ ว่า ช่วยชะลอการจ่ายเงินของธุรกิจ ทำให้ธุรกิจเรามีกระแสเงินสดมากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น
- การเลื่อนยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและนิติบุคคลไปวันที่ 31 สิงหาคม 2563
- การเลื่อนยื่นภาษีหัก ณ ที่จ่าย ภาษีมูลค่าเพิ่ม สำหรับเดือนมีนาคม และ เมษายน 2563
มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี
เป็นมาตรการกระตุ้นการใช้เงินของธุรกิจที่ต้องการให้มีการใช้จ่ายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจซบเซา แล้วให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี หรือพูดง่ายๆ ว่า กระตุ้นให้ธุรกิจใช้เงินแล้วให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีเป็นผลตอบแทน เพื่อให้ธุรกิจเสียภาษีน้อยลง ยกตัวอย่างเช่น
- มาตรการหักรายจ่ายได้ 1.5 เท่าสำหรับการจ่ายดอกเบี้ยของผู้ประกอบการบัญชีเดียวที่เข้าเงื่อนไข
- มาตรการหักรายจ่ายได้ 3 เท่าสำหรับผู้ประกอบการที่มีการจ่ายค่าจ้างแก่ลูกจ้างที่เป็นผู้ประกันตนตามกฎหมายประกันสังคม และมีการคงการจ้างงานไว้ไม่น้อยกว่าลูกจ้างที่เป็นผู้ประกันตน ณ วันสุดท้ายของเดือนธันวาคม 2562
ดังนั้น ประเด็นสำคัญที่เจ้าของธุรกิจต้องพิจารณาคือ ณ ตอนนี้ เรากำลังอยู่ในสภาวะแบบไหน ระหว่างเงินสดฝืดเคืองแทบไม่ไหว หรือว่า เงินสดเหลือพร้อมใช้จ่ายได้ตามอัธยาศัย
หากธุรกิจอยู่ในสถานะที่มีเงินสดที่ฝืดเคืองอยู่ สิ่งที่ต้องทำความเข้าใจให้ชัดก่อน คือ มาตรการขยายเวลาฯ ไม่ใช่ การลดภาษี แต่เป็นการเลื่อนเวลาให้จ่ายได้ช้าลงเท่านั้น ดังนั้นต้องมีการบริหารจัดการตรงนี้เผื่อไว้ด้วย เพราะการไม่จ่ายภาษีเมื่อถึงกำหนดชำระ ถือว่าเป็นความผิดที่อาจจะทำให้เสียเบี้ยปรับ (โทษของการทำผิด) และเงินเพิ่ม (ดอกเบี้ย) ได้
แต่ถ้าหากธุรกิจอยู่ในสถานะที่มีเงินสดเหลือพร้อม อาจเลือกพิจารณาจากข้อมูลธุรกิจที่มีอยู่ว่า หลังจากนี้ธุรกิจมีโอกาสได้รับผลกระทบหรือไม่ และประมาณการเงินหมุนเวียนไว้เท่าไร ถึงจะเพียงพอต่อการรักษาสภาพคล่องธุรกิจต่อไปไม่ให้ได้รับผลกระทบ หลังจากนั้นจึงค่อยตัดสินใจเลือกใช้มาตรการต่างๆ ที่ช่วยเพิ่มสิทธิประโยชน์ทางภาษีเพิ่มเติมเข้าไป
อย่างไรก็ดี สิ่งที่ต้องคิดให้ถี่ถ้วน คือ มาตรการส่วนใหญ่ในตอนนี้เป็นมาตรการในการเพิ่มค่าใช้จ่ายทางภาษี ซึ่งถ้ากิจการไม่มีกำไร (ไม่ต้องเสียภาษีอยู่แล้ว) การเพิ่มค่าใช้จ่ายทางภาษีก็ดูเหมือนว่าจะไม่มีประโยชน์สักเท่าไร
ประเด็นต่อมา คือ เรื่องของรูปแบบธุรกิจ นั่นคือ คุณเป็นเจ้าของธุรกิจในรูปแบบ บุคคลธรรมดา หรือ นิติบุคคล ซึ่งการเลือกใช้มาตรการจะแตกต่างกันไป และดูเหมือนว่า ฝั่งนิติบุคคล (บริษัทหรือห้างหุ้นส่วน) จะได้รับสิทธิประโยชน์มากกว่าอยู่หลายด้าน โดยเฉพาะด้านสิทธิประโยชน์ค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น ในขณะที่บุคคลธรรมดาที่ทำธุรกิจอาจจะไปมองในเรื่องสิทธิของการลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเพิ่มเติม อย่างประกันสุขภาพ หรือ SSF-EXTRA เพิ่มเติมแทน (ซึ่งอาจจะไม่ใช่ประโยชน์โดยตรงของคนทำธุรกิจ)
ท้ายที่สุดนี้ หากคุณเป็นเจ้าของธุรกิจที่มองหามาตรการด้านภาษี สิ่งที่ผมอยากให้คิดมีอยู่ 2 ด้าน คือ กระแสเงินสดคงเหลือมีเพียงพอไหม? และ คุณทำธุรกิจในรูปแบบไหน? ก่อนที่จะตัดสินใจใช้สิทธิประโยชน์ที่เกี่ยวข้องด้านภาษี ซึ่งการจะตอบเรื่องเหล่านี้ได้นั้น มันอยู่ที่ว่าวันนี้ธุรกิจของเรามีข้อมูลเพียงพอต่อการตัดสินใจหรือเปล่า
หากยังไม่มีข้อมูลเพียงพอในการตัดสินใจ การกลับไปเริ่มต้นที่พื้นฐานการจัดการข้อมูลบัญชีและภาษีที่ถูกต้องในตอนนี้ อาจจะเป็นคำตอบที่ดีที่สุดก็ได้ครับ ซึ่งคุณสามารถใช้เครื่องมือในการช่วยจัดการข้อมูลทางบัญชีและภาษีอย่าง FlowAccount ได้ฟรี 30 วันที่นี่
พรี่หนอม หรือ TAXBugnoms (แทกซ์-บัก-หนอม) เป็นบล็อกเกอร์ นักเขียน และวิทยากรที่ให้ความรู้เรื่องภาษี บัญชี การเงิน มีประสบการณ์ทำงานในแวดวงบัญชี ภาษี มานานกว่า 15 ปี โดยมีแนวคิดว่า “ภาษี” ควรเป็น “เรื่องเรียบง่าย” และ “รู้สึกสบายใจ” ที่จะจ่าย