รู้ไหมว่าแค่ติดป้ายหน้าร้านก็ต้องเสียภาษีด้วยนะ หลายคนไม่รู้ว่า “ภาษีป้าย” คือภาระที่เจ้าของร้านต้องรับผิดชอบ บทความนี้จะพาไปรู้จักภาษีป้ายแบบเข้าใจง่าย ทั้งวิธีคิด อัตราที่ต้องจ่าย และช่วงเวลาที่ต้องไปชำระ รู้ไว้ก่อนดีกว่าเสียค่าปรับทีหลังไม่รู้ตัว! |
หลายคนที่เปิดร้านค้าใหม่ หรือแม้กระทั่งเจ้าของร้านที่มีป้ายอยู่แล้วอาจยังไม่รู้เลยว่าพวกเรามีหน้าที่เสียภาษีป้ายด้วยนะ! เอ..แล้วเจ้า "ภาษีป้าย" คืออะไร? ป้ายแบบไหนต้องเสียภาษีบ้าง และมีวิธีการคำนวณอย่างไร รวมไปถึงเราจะต้องไปจ่ายภาษีป้ายเมื่อไรกันนะ ทุกคนก็น่าจะกำลังมีคำถามพรั่งพรูเข้ามาในหัว ใช่ไหมคะ
บทความนี้จะมาช่วยไขข้อสงสัยให้ทุกคนเข้าใจถึงเรื่องภาษีป้ายตั้งแต่ความหมาย วิธีคำนวณ และช่วงเวลาที่ต้องไปเสียภาษี รวมไปถึงข้อควรระวังต่าง ๆ เจ้าของธุรกิจคนไหนที่ไม่อยากเสียค่าปรับเพราะเรื่องภาษีป้ายนี้ล่ะก็ ต้องอ่านเลยค่ะ
เลือกอ่านได้เลย!
Toggleภาษีป้าย คืออะไร
ภาษีป้าย คือ ภาษีที่ร้านค้าหรือสถานประกอบการต่าง ๆ ต้องชำระให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อันได้แก่ เทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล กรุงเทพมหานคร และเมืองพัทยา เมื่อมีการติดตั้งป้ายที่มีข้อความหรือรูปภาพที่แสดงถึงชื่อกิจการทั้งภาษาไทยและภาษาต่างประเทศ เพื่อหารายได้ หรือโฆษณาที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจนั้น ๆ ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้ว ป้ายเหล่านี้อาจจะติดตั้งอยู่บนตัวอาคาร ด้านหน้าร้าน หรือแม้กระทั่งป้ายที่ติดอยู่ตามพื้นที่สาธารณะ เช่น ป้ายบิลบอร์ดบนทางด่วน หรือป้ายไฟโฆษณาต่าง ๆ เป็นต้น
ข้อสังเกตุ:
ภาษีป้ายต่างกับภาษีธุรกิจตัวอื่นตรงที่ หน่วยงานที่จัดเก็บเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ไม่ใช่พี่สรรพากรนะคะ อย่าเข้าใจผิดเชียวล่ะ
อัตราภาษีป้ายร้านค้ามีกี่ประเภท?
อัตราภาษีป้ายจะแตกต่างกันไปตามลักษณะของป้าย ซึ่งสามารถแบ่งออกเป็น 3 ประเภทหลัก ๆ ด้วยกันค่ะ ได้แก่
ป้ายประเภทที่ 1
ป้ายประเภทนี้เป็นป้ายที่มีตัวอักษรไทยล้วน ไม่มีชื่อภาษาต่างประเทศปรากฏอยู่เลย
- ป้ายที่เป็นภาพนิ่ง ไม่เปลี่ยนลักษณะตัวอักษรหรือภาพ อัตราภาษีอยู่ที่ 5 บาท ต่อ 500 ตารางเซนติเมตร
- ป้ายที่มีการเคลื่อนที่ หรือเปลี่ยนลักษณะตัวอักษรหรือภาพได้ อัตราภาษีอยู่ที่ 10 บาท ต่อ 500 ตารางเซนติเมตร
ป้ายประเภทที่ 2
ป้ายประเภทนี้เป็นป้ายที่มีตัวอักษรไทยปนกับตัวอักษรภาษาต่างประเทศ รวมตัวเลขอารบิกด้วยเช่นกัน
- ป้ายที่เป็นภาพนิ่ง ไม่เปลี่ยนลักษณะตัวอักษรหรือภาพ อัตราภาษีอยู่ที่ 26 บาท ต่อ 500 ตารางเซนติเมตร
- ป้ายที่มีการเคลื่อนที่ หรือเปลี่ยนลักษณะตัวอักษรหรือภาพได้ อัตราภาษีอยู่ที่ 52 บาท ต่อ 500 ตารางเซนติเมตร
ป้ายประเภทที่ 3
ป้ายประเภทสุดท้าย เป็นป้ายที่ไม่มีตัวอักษรไทยเลย มีแต่ตัวอักษรภาษาต่างประเทศ หรืออีกกรณีหนึ่งก็คือ มีตัวอักษรภาษาไทยอยู่ใต้ภาษาต่างประเทศเล็ก ๆ
- ป้ายที่เป็นภาพนิ่ง ไม่เปลี่ยนลักษณะตัวอักษรหรือภาพ อัตราภาษีอยู่ที่ 50 บาท ต่อ 500 ตารางเซนติเมตร
- ป้ายที่มีการเคลื่อนที่ หรือเปลี่ยนลักษณะตัวอักษรหรือภาพได้ อัตราภาษีอยู่ที่ 52 บาท ต่อ 500 ตารางเซนติเมตร
ดังนั้น ใครที่กำลังออกแบบป้ายร้านค้า อย่าลืมคำนึงถึงประเภท และขนาดของป้ายด้วยนะ เพราะจะส่งผลต่อจำนวนภาษีที่ต้องจ่ายค่ะ โดยสรุปง่ายๆ ก็คือ ถ้าเป็นตัวอักษรไทยล้วน ป้ายขนาดเล็ก และเป็นภาพนิ่ง อัตราภาษีจะต่ำกว่านั่นเองจ้า
เมื่อรู้แล้วว่าลักษณะของป้ายนั้นจัดอยู่ในประเภทไหน จะเข้าสู่วิธีการคำนวณภาษีป้ายกันต่อค่ะ
วิธีการคำนวณภาษีป้าย
สำหรับวิธีการคำนวณภาษีป้ายนั้น ไม่ได้ยากอย่างที่คิดเลยค่ะ หากเข้าใจหลักการด้านบนที่เล่ามา ก็จะสามารถคำนวณและชำระภาษีได้อย่างถูกต้อง ในการคำนวณภาษีป้ายนั้น เราจะใช้สูตรคำนวณ ดังต่อไปนี้
อันดับแรกเริ่มจากการวัดขนาดป้ายของร้านเราก่อนเป็นหน่วยเซนติเมตร สำหรับป้ายที่มีขอบเขตชัดเจน ให้นำส่วนที่กว้างที่สุดคูณส่วนที่ยาวที่สุด
ส่วนป้ายที่ไม่ได้มีขอบเขตชัดเจน เช่น เขียนชื่อร้านบนผนัง กำแพง หรือผ้า ให้วัดจากตัวอักษรที่อยู่ริมสุดจากซ้ายไปขวาเป็นส่วนยาว ส่วนระยะขอบที่อยู่ขอบบนและล่างเป็นส่วนกว้าง แล้วนำความกว้างและความยาวที่ได้ มาคูณกันเพื่อหาพื้นที่ป้าย
จากนั้นนำพื้นที่ป้ายมาหารด้วย 500 เพื่อหาอัตราหน่วยของภาษี แล้วนำผลลัพธ์ที่ได้ไปคูณกับอัตราภาษีตามประเภทของป้ายที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น ก็จะได้ยอดภาษีป้ายที่ถูกต้องแล้วค่ะ
ตัวอย่างเช่น
เสียภาษีป้ายร้านค้าต้องทำเมื่อไร
ติดตั้งครั้งแรก: เสียภายใน 15 วันนับจากติดตั้ง
ในปีถัด ๆ ไป: เสียได้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 31 มีนาคม
โดยสามารถติดต่อชำระภาษีป้ายได้ที่สำนักงานเทศบาล หรือองค์การบริหารส่วนตำบลในพื้นที่ที่ร้านค้าตั้งอยู่ โดยให้ยื่นแบบ ภ.ป.1 และเข้าไปชำระภาษีได้เลย หากชำระเกินเวลาที่กำหนดอาจมีค่าปรับเพิ่มเติมได้ เพราะฉะนั้น ทุกคนต้องระวังและเตรียมตัวล่วงหน้าไว้ให้ดีด้วยนะคะ
ข้อควรระวัง
- การยื่นแบบล่าช้า: หากไม่ยื่นแบบภายในกำหนด จะถูกปรับร้อยละ 10 ของค่าภาษีที่ต้องชำระ
- การชำระภาษีล่าช้า: หากไม่ชำระภาษีภายใน 15 วัน นับจากวันที่ได้รับแจ้งการประเมิน จะถูกคิดเงินเพิ่มร้อยละ 2 ต่อเดือนของค่าภาษีที่ค้างชำระ
- การเปลี่ยนแปลงป้าย: หากมีการเปลี่ยนแปลงขนาดหรือเนื้อหาของป้าย ต้องแจ้งต่อเจ้าหน้าที่ภายใน 15 วัน เพื่อปรับปรุงการประเมินภาษีให้ถูกต้อง
สรุป
อยากมีป้ายสวย ๆ ติดประกาศโปรโมตร้าน อย่าลืมว่าเรามีภาระภาษีที่ต้องรับผิดชอบก็คือ “ภาษีป้าย” ซึ่งทำความเข้าใจได้ง่าย และไปชำระได้ที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นค่ะ เมื่อติดป้ายแล้วอย่าลืมกาปฏิทินไว้ว่าจะต้องไปชำระภาษีให้เรียบร้อยภายในเดือนมีนาคม มิเช่นนั้น การขาดชำระภาษีป้ายเพียงเล็กน้อยอาจทำให้เราเสียค่าปรับล่าช้าโดยไม่จำเป็นก็ได้น้า
About Author

นักบัญชี ผู้สอบบัญชี และผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ cpdacademy.co คอร์สอบรมบัญชี CPD ออนไลน์สำหรับผู้ทำบัญชีและผู้สอบบัญชี ที่มีประสบการณ์ในวิชาชีพมากกว่า 10 ปี และอยากส่งต่อความรู้เพื่อเพื่อนนักบัญชีให้มีทักษะอย่างมืออาชีพและก้าวทันโลกดิจิทัล
ร่วมสมัครเป็นนักเขียนกับ FlowAccount ได้ที่นี่