การทำสัญญาให้มีผลสมบูรณ์ทางกฎหมาย ไม่ใช่แค่การทำเอกสารขึ้นมาแล้วลงลายเซ็นต์ทั้ง 2 ฝ่ายเพียงเท่านั้น การติดอากรแสตมป์เป็นขั้นตอนสุดท้ายที่สำคัญมาก และส่วนใหญ่มักลืมติดกันเสียด้วย มาทำความรู้จักอากรแสตมป์ที่บทความนี้กันค่ะ |
ในการทำธุรกิจย่อมมีทำสัญญาการค้า หรือข้อตกลงต่างๆ มากมายเกิดขึ้นค่ะ และหลายคนที่เพิ่งเริ่มก่อตั้งบริษัทใหม่ๆ อาจจะยังไม่รู้ว่าเวลาทำสัญญาต้องติดอากรแสตมป์ด้วยนะ
เพราะการทำสัญญาให้มีผลสมบูรณ์ทางกฎหมาย ไม่ใช่แค่การทำเอกสารขึ้นมาแล้วลงลายเซ็นต์ทั้ง 2 ฝ่ายเพียงเท่านั้น การติดอากรแสตมป์เป็นขั้นตอนสุดท้ายที่สำคัญมาก และส่วนใหญ่มักลืมติดกันเสียด้วย
วันนี้ถือเป็นโอกาสอันดี ที่เราจะมาทำความเข้าใจเรื่องการอากรแสตมป์ว่ามีความสำคัญยังไง ต้องติดเท่าไร จ่ายเท่าไรบ้าง เพื่อให้สัญญาสมบูรณ์ค่ะ
สัญญาที่มีผลทางกฎหมาย ควรมีลักษณะอย่างไร
เราลองเริ่มทำความรู้จักกับคำว่า “ตราสาร” ตามประมวลรัษฎากรกันก่อน เพื่อทำความเข้าใจเรื่องอากรแสตมป์กันนะคะ
“ตราสาร” หมายถึง เอกสารที่ต้องเสียอากรแสตมป์ ตามที่กำหนดไว้ในบัญชีอัตรา อากรแสตมป์ ซึ่งปัจุบันมีทั้งหมด 28 ลักษณะตราสาร โดยอากรแสตมป์ เป็นภาษีอากรที่จัดเก็บจากการทำตราสาร ที่มีการลงลายมือชื่อ ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
ดังนั้น หากเราทำตราสารที่เข้าเงื่อนไขโดยสมบูรณ์ ตามกฎหมาย นอกจากการลงลายมือชื่อแล้ว เราจะต้องติดอากรแสตมป์ด้วยนะ
คำว่าตราสาร 28 ลักษณะ ตามประมวลรัษฎากร ที่เรามักจะพบเจอได้บ่อย เช่น สัญญาเช่า สัญญาเช่าซื้อทรัพย์สิน สัญญาจ้างทำของ สัญญากู้ยืมเงิน ใบมอบอำนาจ เป็นต้น
โดยทุกคนสามารถกดดูเพิ่มเติมได้ที่นี่ บัญชีอัตราอากรแสตมป์(https://www.rd.go.th/6162.html)
แล้วถ้าหากเราไม่ได้ปิดอากรแสตมป์ให้สมบูรณ์ จะมีข้อเสียยังไงบ้างล่ะ
กรณีที่เราไม่ปิดแสตมป์ให้สมบูรณ์ เราจะไม่สามารถใช้ ต้นฉบับ คู่ฉบับ คู่ฉีก หรือสำเนาตราสารนั้นเป็นพยานหลักฐาน ในคดีแพ่งได้ จนกว่าจะได้เสียอากรแสตมป์ให้ครบถ้วน
นอกจากนั้น กฎหมายยังห้ามเจ้าพนักงานรัฐ ลงนามในตราสาร ที่ไม่ได้ปิดอากรแสตมป์ให้สมบูรณ์ ด้วยนะ ดังนั้น ทางที่ดี เมื่อรู้ตัวแล้วว่าเรายังไม่ได้ เสียอากรแสตมป์ ก็ทำให้ครบถ้วน จะได้ไม่มีผลเสียหายตามมาทีหลังค่ะ
เลือกอ่านได้เลย!
วิธีการเสียอากรแสตมป์
จากหัวข้อก่อนหน้านี้ เราคงจะรู้จักอากรแสตมป์ กันมาพอสมควรแล้ว เราก็ต้องมาทำความรู้จักกับวิธีเสียอากรแสตมป์กันต่อ จะมีวิธีไหนบ้างน้า ลองมาดูกัน
- กรณีแสตมป์ปิดทับ คือ การเสียอากรแสตมป์ ด้วยการปิดแสตมป์ลงบนตราสาร แล้วขีดฆ่าแสตมป์นั้น
- กรณีแสตมป์ดุน คือ การให้พนักงานเจ้าหน้าที่ ประทับแสตมป์ดุน (การดุนกระดาษตราสาร ให้เป็นรอยแสตมป์) และทำการขีดฆ่าแสตมป์ดุนนั้น โดยปกติวิธีนี้จะไม่นิยมทำกันแล้วนะ
- กรณีชำระเป็นตัวเงิน (อ.ส.4) คือ การเสียอากรเป็นตัวเงินโดยใช้แบบกระดาษ อ.ส.4 ต่อเจ้าหน้าที่กรมสรรพากร ในพื้นที่ที่บริษัทตั้งอยู่
- กรณีชำระเป็นตัวเงิน (อ.ส.9) ออนไลน์ คือ การเสียอากรเป็นตัวเงินโดยใช้แบบออนไลน์ อ.ส.9 ผ่านระบบ e-Filing สำหรับตราสารอิเล็กทรอนิกส์ที่นี่ https://efiling.rd.go.th/rd-stamp-os9-web/#/index
ซึ่งปัจจุบันรองรับบริการ 5 ตราสาร ได้แก่
- ตราสาร 4 จ้างทำของ
- ตราสาร 5 กู้ยืมเงินหรือการตกลงให้เบิกเงินเกินบัญชีธนาคาร
- ตราสาร 7 ใบมอบอำนาจ
- ตราสาร 8 ใบมอบฉันทะสำหรับให้ลงมติในที่ประชุมของบริษัท
- ตราสาร 17 ค้ำประกัน
วิธีเสียอากรแสตมป์ ตามมูลค่าตราสาร
ถัดมาเราลองมาดูตัวอย่างการเสียอากรแสตมป์กันว่า สำหรับตราสารมูลค่าแตกต่างกัน เราจะต้องเสียอากรแสตมป์วิธีไหน ในที่นี้แบ่งออกเป็น 2 กรณีค่ะ
1. กรณีตราสารไม่เกิน 1 ล้านบาท
กรณีตราสารไม่เกิน 1 ล้านบาท เราสามารถใช้วิธีการปิดอากรแสตมป์ ลงบนตราสารได้ ยกตัวอย่างเช่น ใบมอบอำนาจ ใบมอบฉันทะ สัญญาเช่าสำนักงาน สัญญาจ้างทำของ เป็นต้น ซึ่งเสียอากรแสตมป์เพียงเล็กน้อยเท่านั้น เราสามารถซื้อตัวแสตมป์อากร มาติดและทำการขีดฆ่าได้
ยกตัวอย่างเช่น สัญญาเช่าสำนักงาน 2 ปี ราคาปีละ 100,000 บาท มูลค่าทั้งหมด 2x100,000 = 200,000 บาท เข้าเงื่อนไขการติดอากรแสตมป์ข้อ 1 รายละเอียดดังต่อไปนี้
ค่าอากรแสตมป์คำนวณได้เท่ากับ 200,000/1,000 = 200 บาท สามารถซื้ออากรแสตมป์มาติดที่สัญญา และขีดฆ่าได้
ข้อสังเกต : คำว่าขีดฆ่า หมายความว่า การทำให้แสตมป์ใช้ไม่ได้อีก โดยในกรณีแสตมป์ปิดทับ ส่วนใหญ่จะใช้วิธี ขีดเส้นคร่อมฆ่าแสตมป์ที่ปิดทับกระดาษ และลงวัน เดือน ปี ที่ทำตราสาร
2. กรณีตราสารเกิน 1 ล้านบาท
กรณีตราสารที่เกิน 1 ล้านบาท โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเช่าที่ดิน การจ้างทำของ จะต้องชำระอากรเป็นตัวเงินผ่านแบบขอและอนุมัติให้เสียอากรแสตมป์เป็นตัวเงิน (อ.ส.4) หรือ แบบขอเสียอากรแสตมป์แบบเป็นตัวเงินสำหรับตราสารอิเล็กทรอนิกส์ (อ.ส.9)
โดยกรณีที่เราใช้แบบ อ.ส.4 เราต้องจัดทำแบบกระดาษ และนำส่งต่อเจ้าหน้าที่กรมสรรพากร
แต่กรณีที่เราสะดวกยื่นออนไลน์มากกว่า จะใช้แบบที่เรียกว่า อ.ส.9 ชำระอากรแสตมป์ ผ่านระบบ e-Filing ได้เลยค่ะ
โดยแบบ อ.ส.9 ใช้ได้กับตราสาร ตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับอากรแสตมป์ (ฉบับที่ 67) และใช้ได้กับตราสารที่จัดทำตั้งแต่ 19 สิงหาคม 2565 ถึง 31 ธันวาคม 2568 ตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับอากรแสตมป์ (ฉบับที่ 69)
ยกตัวอย่างเช่น
บริษัททำสัญญาจ้างผลิตติดตั้งเครื่องจักร 1,500,000 บาท (เกิน 1 ล้านบาทขึ้นไป) ถือเป็นการจ้างทำของ เข้าเงื่อนไขการติดอากรแสตมป์ข้อ 4 รายละเอียดดังต่อไปนี้
ค่าอากรแสตมป์คำนวณได้เท่ากับ 1,500,000/1,000 = 1,500 บาท
เราสามารถชำระค่าอากรแสตมป์เป็นตัวเงินผ่านแบบ อ.ส.4 หรือ อ.ส.9 แทนการปิดอากรแสตมป์บนสัญญาได้ค่ะ
ในรายละเอียดว่าสัญญาประเภทไหนต้องชำระอากรแบบตัวเงินมีข้อมูลปลีกย่อยมากมาย ถ้าเพื่อนๆ สนใจแนะนำอ่านเพิ่มเติมตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับอากรแสตมป์ (ฉบับที่ 37) ได้ที่นี่เลย https://www.rd.go.th/3433.html
สรุป
อากรแสตมป์ เป็นหนึ่งในภาษีที่สำคัญมาก สำหรับบริษัทที่จัดทำสัญญาเป็นประจำ ไม่ว่าจะเป็นการจัดทำตราสารทางการเงิน หรือทำสัญญาจ้างทำของ สิ่งหนึ่งที่ลืมไม่ได้คือ อย่าลืมตรวจสอบว่าเสีย (ติด) อากรแสตมป์ ว่าเสียอากรครบถ้วนหรือไม่ ไม่เช่นนั้นแล้ว ผลที่ตามมาทีหลัง อาจทำให้เราต้องเสียเบี้ยปรับเงินเพิ่ม และเอกสารใช้เป็นหลักฐานในการฟ้องคดีแพ่งไม่ได้นั่นเองค่ะ
อ้างอิง
มาตรา 103 : https://www.rd.go.th/5203.html
บัญชีอัตราอากรแสตมป์ : https://www.rd.go.th/6162.html
แบบอ.ส.4 :
https://www.rd.go.th/fileadmin/tax_pdf/SD/Guide_os4_150861.pdf
https://www.rd.go.th/fileadmin/tax_pdf/SD/document1_100861.pdf
แบบอส9 :
https://www.rd.go.th/fileadmin/user_upload/kormor/newlaw/dgs69A.pdf
https://www.rd.go.th/fileadmin/user_upload/kormor/newlaw/dgs67A.pdf
About Author
นักบัญชี ผู้สอบบัญชี และผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ cpdacademy.co คอร์สอบรมบัญชี CPD ออนไลน์สำหรับผู้ทำบัญชีและผู้สอบบัญชี ที่มีประสบการณ์ในวิชาชีพมากกว่า 10 ปี และอยากส่งต่อความรู้เพื่อเพื่อนนักบัญชีให้มีทักษะอย่างมืออาชีพและก้าวทันโลกดิจิทัล
ร่วมสมัครเป็นนักเขียนกับ FlowAccount ได้ที่นี่