ทำไมถึงไม่ควรนำ สินทรัพย์ส่วนตัว มาใช้ในธุรกิจ เพราะในกรณีที่สินทรัพย์นั้นไม่ได้มีการใช้งานจริง เพราะจะไม่สามารถเป็นรายจ่ายในการคำนวณภาษีได้ และทำให้ตัวเลขกำไรที่เกิดขึ้นผิดพลาดไปด้วยนั่นเองครับ |
“คุณคิดว่าเราควรซื้อสินทรัพย์ในนามบริษัทหรือบุคคล” ผมมักจะถามคำถามแบบนี้เวลาบรรยายหัวข้อภาษีที่เกี่ยวข้องกับผู้ประกอบการ ซึ่งคำตอบที่ได้รับก็มักจะแตกต่างกันไประหว่าง
- “ซื้อในนามบุคคลแล้วให้บริษัทเช่าสิ จะได้ค่าเช่ามาเป็นรายจ่าย แต่เวลาขายทรัพย์สินก็ไม่ต้องกระทบมาก เพราะเป็นของบุคคลธรรมดา”
- “ซื้อในนามบริษัทแทนสิ เพราะสามารถตัดเป็นรายจ่ายได้ ผ่านการคิดค่าเสื่อมราคา จะได้มีค่าใช้จ่ายง่ายๆ ไม่วุ่นวาย ทำรายการเช่า รวมถึงการหักภาษี ณ ที่จ่าย”
ถ้าให้พูดจากใจ คำตอบที่ถูกต้องสำหรับเรื่องนี้คือ ไม่มีวิธีไหนดีกว่ากันครับ (อ้าว) เพราะเราต้องตั้งคำถามต่อด้วยว่า “เราใช้สินทรัพย์ประเภทไหน เพื่ออะไร”
ยกตัวอย่างเช่น ถ้าหากบอกว่า สินทรัพย์ที่ว่าเป็นอุปกรณ์สำนักงานที่ใช้ในธุรกิจจริง เราจำเป็นต้องทำให้เป็นการเช่าไหม หรือซื้อมาใช้ก็จบลงแล้ว เห็นไหมครับ นี่คือจุดตัดสินใจมุมหนึ่ง
หรืออีกกรณีหนึ่ง ถ้าเป็นอาคารสำนักงาน หลายคนอาจจะแย้งว่า การซื้อในชื่อบริษัทก็อาจจะมีปัญหาในตอนขาย เพราะกฎหมายภาษีให้ใช้ราคาตลาดในการคำนวณราคาขาย (มาตรา 65 ทวิ 4) ซึ่งทำให้กำไรมันจะมหาศาลและต้องเสียภาษีเยอะ แบบนี้เช่าดีกว่าไหม
คำตอบคือ ถ้ามองมุมนั้นก็ใช่ แต่ถ้ามองว่านี่คือการสร้างธุรกิจแบบรุ่นต่อรุ่น มรดกส่งมอบรุ่นหลาน การนำสินทรัพย์เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของกิจการก็เป็นทางเลือกที่ไม่ได้แย่อะไร เพราะจะทำให้สินทรัพย์ไม่ถูกครอบครองโดยใครคนใดคนหนึ่ง แต่ครอบครองร่วมกัน และตัดสินใจร่วมกันด้วยการสร้างธรรมนูญสำหรับครอบครัว
ดังนั้นการตัดสินใจที่ว่านี้ ผมจึงกล้าบอกว่าไม่มีวิธีไหนดีกว่ากัน 100% แต่เราต้องเห็นก่อนว่าเราต้องการอะไรจากการเลือกระหว่างซื้อทรัพย์สินในชื่อบริษัทกับการเช่าจากบุคคลธรรมดา แล้วจึงค่อยเลือกทางที่ได้ประโยชน์มากกว่าเพียงแค่ประหยัดภาษีครับ
เพียงแต่ข้อที่ควรระวังจริงๆ คือ เราไม่ควรซื้อสินทรัพย์ส่วนตัวมาใช้ในชื่อธุรกิจ เพราะจะเป็นปัญหาอย่างแน่นอน และนี่คือสิ่งที่ผมอยากจะย้ำให้ทุกคนฟังกันอีกครั้งหนึ่งครับ
ลองมาฟังเรื่องราวกันดีกว่า …
นาย ก (นามสมมติ) ตัดสินใจซื้อสินทรัพย์ชิ้นใหญ่ นั่นคือ ตู้เย็น (ใหญ่จริงๆ) มาใช้ส่วนตัวที่บ้าน แต่กลับบอกให้พนักงานขายออกใบกำกับภาษีในชื่อบริษัทที่ตัวเองเป็นกรรมการอยู่ พร้อมกับส่งต่อให้พนักงานไปลงบัญชีเป็นทรัพย์สินของบริษัท
สมมติว่าตู้เย็นราคา 100,000 บาท (ตู้เย็นอะไรเนี่ย) และทางบัญชีก็บอกว่าตัดอายุการใช้งานทั้งหมด 5 ปี ตกเป็นค่าเสื่อมราคาปีละ 20,000 บาท ที่จะเอามาเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรของกิจการ
ในกรณีนี้ เราจะเห็นว่าสิ่งที่เกิดขึ้น คือ
- มุมของบัญชี ไม่สะท้อนกำไรที่แท้จริง เพราะในแต่ละปีมีค่าเสื่อมราคาจำนวน 20,000 บาท มาลดกำไรจากการประกอบกิจการลง แต่ไม่ได้ใช้สินทรัพย์ในการทำงานของบริษัท (ไปอยู่ที่บ้านกรรมการซะเนี่ย)
- มุมทางด้านภาษี ค่าเสื่อมราคาส่วนนี้จะถูกตัดเป็นรายจ่ายต้องห้ามทันที เพราะเป็นรายจ่ายส่วนตัวที่ไม่เกี่ยวข้องกับกิจการ ซึ่งไม่สามารถใช้เป็นรายจ่ายในการคำนวณภาษีได้
ดังนั้นจึงเป็นที่มาของบทความนี้ว่าทำไมถึงไม่ควรนำสินทรัพย์ส่วนตัวมาใช้ในธุรกิจ ในกรณีที่สินทรัพย์นั้นไม่ได้มีการใช้งานจริง เพราะจะไม่สามารถเป็นรายจ่ายในการคำนวณภาษีได้ และทำให้ตัวเลขกำไรที่เกิดขึ้นผิดพลาดไปด้วยนั่นเองครับ
แต่ถ้าหากเป็นสินทรัพย์ส่วนตัวที่นำมาใช้ในธุรกิจได้จริง อันนี้สิ่งที่ควรพิจารณาน่าจะเป็นเรื่องของการเช่ามากกว่า (เพราะถ้าตั้งใจซื้อมาใช้ในธุรกิจตั้งแต่แรก ก็คงไม่เรียกว่าสินทรัพย์ส่วนตัวใช่ไหมครับ) โดยค่าเช่าที่เหมาะสมในการเป็นค่าใช้จ่ายนั้นไม่ควรสูงเกินกว่าปกติ (เพื่อสร้างค่าใช้จ่ายให้กับบริษัท) และอย่าลืมนะครับว่า ทุกค่าเช่าที่เพิ่มขึ้นมานั้นมันถือเป็นรายได้ของผู้ให้เช่าเช่นเดียวกันครับ
ท้ายที่สุดแล้ว สิ่งที่ผมอยากฝากไว้สำหรับทุกท่านคือ การตัดสินใจซื้อสินทรัพย์มาใช้ในธุรกิจไม่มีบทสรุปที่ตายตัว แต่เราต่างหากที่ต้องรู้ตัวว่าเราซื้อมาเพื่ออะไร และเอาไปใช้ในกรณีไหนกันแน่
เพื่อให้สินทรัพย์ที่ใช้งานนั้น ได้ใช้ประโยชน์อย่างคุ้มค่าที่สุดครับ ...
เริ่มต้นจัดการค่าใช้จ่าย และสินทรัพย์ ได้ใน FlowAccount ที่บันทึกง่าย ช่วยแยกหมวดหมู่และคำนวณค่าเสื่อมราคาให้อัตโนมัติ ไม่ปวดหัวกับการทำบัญชี
About Author
พรี่หนอม หรือ TAXBugnoms (แทกซ์-บัก-หนอม) เป็นบล็อกเกอร์ นักเขียน และวิทยากรที่ให้ความรู้เรื่องภาษี บัญชี การเงิน มีประสบการณ์ทำงานในแวดวงบัญชี ภาษี มานานกว่า 15 ปี โดยมีแนวคิดว่า “ภาษี” ควรเป็น “เรื่องเรียบง่าย” และ “รู้สึกสบายใจ” ที่จะจ่าย