ทำรายจ่ายเกี่ยวกับ Covid-19 เป็นของธุรกิจ

สร้างรายจ่ายธุรกิจ

หากมีค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับโควิด-19 เช่น การซื้อชุดตรวจโควิด-19 แบบเร่งด่วน (ATK - Antigen Test Kit) ให้พนักงาน ควรมีการออกประกาศนโยบายให้ชัดเจน พนักงานที่มีสิทธิ์ได้คือกลุ่มไหน และควรเลือกชุดตรวจที่ได้รับรองตามแนวทางมติครม. และมีหลักฐานการจ่ายที่ครบถ้วน

“จ่ายค่าวัคซีนให้พนักงาน เป็นรายจ่ายธุรกิจได้ไหม”


“ซื้อชุดตรวจ ATK ยังไงให้เป็นรายจ่ายบริษัท”

 

“พนักงานไปตรวจโควิดมาแล้วเบิกบริษัท เป็นรายจ่ายได้ไหม”

 

ผมได้รับคำถามแนวๆ นี้จากผู้ประกอบการอยู่เสมอ เนื่องจากหลายคนต้องจ่ายค่าใช้จ่ายส่วนนี้เพิ่มขึ้น เพื่อให้ธุรกิจอยู่ได้ แต่ปัญหาก็คือ กลัวว่าจ่ายแล้วจะเป็นรายจ่ายของธุรกิจไม่ได้ และจะมีปัญหาในภายหลัง 

 

ดังนั้นบทความในตอนนี้ ผมจะมาชวนวิเคราะห์ให้เห็นว่า สิ่งที่ต้องพิจารณาในมุมของรายจ่ายทางด้านบัญชีและภาษีนั้นมีความแตกต่างกันอย่างไร 

 

เริ่มกันที่ด้านบัญชีก่อนครับ หากมองกันง่ายๆ ตรงๆ เราจะเห็นว่าเป็นรายจ่ายของธุรกิจได้ไม่มีปัญหา เพราะว่านี่คือรายจ่ายที่เกี่ยวข้องกับกิจการแน่ๆ และเป็นรายจ่ายที่นายจ้างจำเป็นต้องจ่ายให้กับพนักงานเพื่อรักษาความปลอดภัยในสุขภาพจากหน้าที่การงานที่ปฏิบัติให้กับธุรกิจ

 

แต่ในทางภาษีแล้ว สิ่งที่ต้องระวังในการนำมาใช้เป็นรายจ่ายของธุรกิจ จะอยู่ที่เรื่องของการ “ให้” นี่แหละครับว่า “ให้อะไร” “ให้แบบไหน” และ “ให้แล้วได้หลักฐานหรือไม่” ซึ่งแต่ละตัวจะมีความสัมพันธ์กับหลักคิดของกฎหมายดังนี้ครับ

 

  • โดย ให้อะไร หมายถึง สิ่งที่ให้นั้นเป็นสิ่งที่ให้เพื่อกิจการหรือไม่ เพราะถ้าหากเป็นรายจ่ายที่ไม่ใช่เพื่อกิจการแล้ว รายจ่ายนั้นจะไม่สามารถนำมาเป็นรายจ่ายทางภาษีหรือใช้ในการคำนวณภาษีได้ครับ
  • ส่วน ให้แบบไหน หมายถึง การให้นั้นมีข้อกำหนด บทบาท หรือแนวทางที่ชัดเจนหรือไม่ เช่น นโยบายของบริษัท วงเงินที่จำกัดไว้อย่างเหมาะสม หรือแนวทางต่างๆ ที่ชี้ชัดได้ว่า ให้เป็นการทั่วไปไม่ใช่การเลือกปฏิบัติเพื่อให้เป็นพิเศษสำหรับใครสักคนหนึ่ง เพราะถ้าเป็นแบบนั้นแล้ว รายจ่ายจะถือว่าเป็นเรื่องส่วนตัวไป ไม่ใช่เรื่องของกิจการเช่นเดียวกัน 
  • สุดท้าย ให้แล้วได้หลักฐานหรือไม่ เพราะเรื่องของภาษี เราว่ากันด้วยเรื่องของหลักฐาน ดังนั้นการจ่ายค่าใช้จ่ายต่างๆ ควรจะมีหลักฐานที่ชัดเจนและเพียงพอ เพราะว่าไม่เช่นนั้นแล้ว จะถือว่าเป็นการจ่ายที่พิสูจน์ผู้รับไม่ได้ และไม่สามารถใช้เป็นรายจ่ายในการคำนวณภาษีเหมือนอย่างที่กล่าวมา 

 

ดังนั้น สิ่งที่กิจการต้องทำคือ สร้างความชัดเจนของนโยบายให้มากที่สุดครับ เพื่อให้รายจ่ายนี้ถือเป็นรายจ่ายธุรกิจที่ชัดเจนมากที่สุด ปัญหาของการเป็นรายจ่ายทางด้านภาษีก็จะหมดไปครับ

 

ยกตัวอย่างเช่น หากมีการฉีดวัคซีนให้พนักงาน (บริษัทจ่ายให้) สิ่งที่ต้องพิสูจน์ได้ คือ 

  • พนักงานที่มีสิทธิ์ได้วัคซีนคือกลุ่มไหน มีผลกระทบอะไรต่อการปฏิบัติงานบ้าง (ไม่เลือกปฏิบัติแค่บางคน และเกี่ยวข้องกับธุรกิจ
  • รายจ่ายในการฉีดวัคซีนทั้งหมด มีหลักฐานการเบิกจ่ายอย่างไร และมีหลักฐานพิสูจน์การจ่ายเงินที่ชัดเจนหรือเปล่า

 

อ่านเพิ่มเติม จ่ายวัคซีนโควิด-19 ให้พนักงาน ผู้ประกอบการบันทึกบัญชีอย่างไร   

 

อย่างไรก็ตาม แนวทางบางอย่างของข้อกฎหมายในปัจจุบัน อาจจะถือว่าวัคซีนที่ฉีดให้พนักงานนั้น ต้องถือเป็นเงินได้ของพนักงานได้ครับ อ้างอิงตามข้อหารือที่ 0702/2065 ลงวันที่ 9 มีนาคม 2561

 

กรณีค่าฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดหรือโรคระบาดอื่นๆ ซึ่งมิใช่วัคซีนที่ใช้รักษาเมื่อมีอาการเจ็บป่วยเกิดขึ้น ตาม 2.2 ค่าใช้จ่ายดังกล่าวจึงมิใช่เงินที่เป็นค่ารักษาพยาบาลที่นายจ้างจ่ายให้หรือจ่ายแทนลูกจ้างเป็นค่ารักษาพยาบาล ซึ่งได้รับยกเว้นไม่ต้องนำมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ ตามข้อ 2 (4) (ก)ของกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากรลงวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2509 การให้เงินช่วยเหลือพนักงานดังกล่าว ถือเป็นประโยชน์เพิ่มอันเข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากร และถือเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (1) แห่งประมวลรัษฎากร พนักงานของบริษัทฯ ต้องนำมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามมาตรา 56 แห่งประมวลรัษฎากร

ที่มา : https://www.rd.go.th/26842.html

 

แต่อย่างไรก็ดี หากสามารถที่จะพิสูจน์ในมุมอื่นได้ว่า รายจ่ายส่วนนี้ถือเป็นสวัสดิการของพนักงาน และเป็นผลประโยชน์ของธุรกิจในการดำเนินกิจการต่อ (ผลประโยชน์ไม่ใช่ของพนักงาน แต่เป็นของธุรกิจ) แบบนี้ก็ไม่จำเป็นต้องนำมาคำนวณเป็นรายได้ของพนักงานครับ (โดยส่วนตัว ผมเห็นด้วยกับแนวทางนี้มากกว่าครับ แต่อย่างไรก็ดี คงต้องรอกรมสรรพากรชี้ชัดอีกทีครับ) 

 

นอกจากนั้น กรณีรายจ่ายอื่นๆ ที่เกี่ยวกับโควิด-19 ที่ไม่ใช่ค่าวัคซีน ผมแนะนำว่ายังควรใช้หลักการคล้ายๆ กัน นั่นคือ การทำให้เป็นรายจ่ายของธุรกิจผ่านแนวทางที่ยกตัวอย่างกันไปแล้วครับ

 

แต่อย่างไรก็ดี สิ่งที่รัฐให้กับเราเพิ่มขึ้นในช่วงที่ผ่านมา คือ มติครม.ล่าสุด เรื่องการ ซื้อชุดตรวจโควิด-19 แบบเร่งด่วน (ATK - Antigen Test Kit) สามารถใช้เป็นรายจ่ายได้ 1.5 เท่า ในการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคล (อ่านข่าวประกาศจากกรมสรรพากร)

 

โดยหลักการก็คือ บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีการซื้อชุดตรวจโควิด-19 แบบเร่งด่วน (Antigen Test Kit) ที่ได้มาตรฐานเรื่องความปลอดภัยตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดเพื่อใช้ตรวจพนักงานหรือลูกจ้างเป็นประจำ ตั้งแต่ 14 กันยายน 2564 - 31 มีนาคม 2565 สามารถนำรายจ่ายส่วนนี้มาคำนวณเป็นรายจ่ายทางภาษีได้ 1.5 เท่า 

 

หรือพูดง่ายๆ ก็คือ ถ้าหากเราจ่ายเงินค่าซื้อชุดตรวจ ATK ไป 100 บาทให้กับพนักงาน ก็จะสามารถใช้เป็นรายจ่ายเพิ่มในการคำนวณภาษีได้อีก 50 บาท (ถือเป็นรายจ่าย 150 บาท) นั่นเองครับ

 

จากประเด็นตรงนี้ ยังมีข้อสงสัยหลายเรื่องที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการซื้อก่อนหน้านี้ทำไมถึงไม่ได้สิทธิ์ (คำว่าไม่ได้สิทธิ์หมายถึงค่าใช้จ่าย 1.5 เท่าที่ไม่ได้สิทธิ์นะครับ แต่ยังสามารถเป็นรายจ่ายธุรกิจได้อยู่ หากใช้หลักการตามที่ว่ามาในบทความนี้) 

 

หรือเรื่องของหลักฐานต่างๆ ที่กำหนดไม่ว่าจะเป็น เอกสารพิสูจน์ที่มาที่ไป หรือการใช้สิทธิ์ต่างๆ ซึ่งตรงนี้ต้องติดตามทางสรรพากรอีกทีครับ

 

มาถึงตรงนี้แล้ว มีประเด็นที่ผมอยากจะแชร์เพิ่มเติมเกี่ยวกับเรื่องนี้ เพื่อให้เป็นรายจ่ายของธุรกิจที่คุ้มค่าและกิจการยังได้ประโยชน์สูงสุด นั่นก็คือ 

 

  1. รายจ่ายควรเป็นรายจ่ายที่จำเป็นเท่านั้น เพราะการทำธุรกิจนั้นเราวัดกันที่กำไรสูงสุด ดังนั้นในเบื้องต้น กิจการควรมองหาหนทางที่จ่ายได้อย่างประหยัดที่สุดก่อนครับ 
  2. หากจ่ายแล้ว ต้องเป็นรายจ่ายได้ทั้งบัญชีและภาษี เพราะว่าต้องไม่ให้เสียผลประโยชน์ในการใช้เป็นรายจ่ายในการคำนวณภาษีของกิจการได้ ดังนั้นต้องชัดเจนตามหลักการที่ว่ามาก่อนหน้านี้ครับ
  3. ถ้าหากมีสิทธิ์ประโยชน์ส่วนของพนักงานเพิ่ม ควรทำให้ได้ครบถ้วนด้วย ดังนั้นในส่วนของชุดตรวจ ATK หากเป็นไปได้ ควรเลือกชุดตรวจที่ได้รับรองตามแนวทางมติครม. และมีหลักฐานการจ่ายที่ครบถ้วนไปด้วยกันครับ

 

หวังว่าหลักการที่ผมแนะนำในบทความนี้ น่าจะทำให้เจ้าของธุรกิจเห็นภาพในการวางแผนจัดการรายจ่ายส่วนนี้ได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้นนะครับ และขอเป็นกำลังใจให้ทุกธุรกิจอยู่รอดและผ่านพ้นวิกฤตนี้ไปด้วยกันครับ 

 

ลองใช้งานFlowAccount ฟรี 30 วันได้ง่ายๆ วันนี้
ลองใช้งานฟรีได้ง่ายๆ วันนี้
สมัครเลย

You may also like