ทำความเข้าใจกระบวนการเกี่ยวกับใบกำกับภาษี เปรียบเทียบการทำงานและประโยชน์ที่จะได้รับระหว่าง ใบกำกับภาษีแบบกระดาษ และ ใบกำกับภาษีแบบอิเล็กทรอนิกส์ e-Tax Invoice by Time Stamp (ชื่อเดิม e-Tax Invoice by Email) พร้อมวิธีการสมัครและขั้นตอนการทำงาน เป็นแนวทางปรับใช้ในกิจการกันค่ะ |
ถ้าใครยังจำกันได้กับคำว่า Thailand 4.0 เมื่อไม่กี่ปีก่อน ที่เป็นนโยบายทางเศรษฐกิจ ทุกภาคส่วนจึงจำเป็นต้องมีการผลิกโฉมเปลี่ยนแปลงปรับปรุงการดำเนินงาน เพื่อเป็นฟันเฟืองขับเคลื่อนประเทศไทยให้สอดคล้องกับนโยบายเรื่อยมา
กรมสรรพากร เป็นอีกหนึงหน่วยงานของภาครัฐที่ขานรับนโยบายรองรับธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์อย่างไร้พรมแดน เพื่อส่งเสริมการลดต้นทุนค่าใช้จ่าย ช่วยประหยัดพลักงงานและเพิ่มประสิทธิภาพทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐและเอกชน ที่มีการเริ่มใช้ใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-Tax Invoice มาใช้อย่างเป็นทางการ ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2560 เป็นต้นมาค่ะ เห็นได้ชัดๆ จากนโยบาย Easy e-Receipt นโยบาย เที่ยวเมืองรอง แผนยุทธศาสตร์อื่นๆ อีกมากมาย
e-Tax Invoice คืออะไร
e-Tax Invoice คือ การออกใบกำกับภาษีให้อยู่ในรูปแบบออนไลน์ เป็นเปลี่ยนจากการ "ออกใบกำกับภาษี" แบบกระดาษ ให้เป็นเแบบออนไลน์ทั้งขาที่ให้ผู้ซื้อและขาที่ส่งข้อมูลให้กรมสรรพากร ซึ่งสิทธิ์ทางภาษีทุกอย่างนั้นไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปจากรูปแบบกระดาษเลย เพียงแต่ว่า e-Tax Invoice ที่ทำในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ก็ต้องมีสิ่งที่เข้ามายืนยันรายการไม่ว่าจะเป็นลงลายมือชื่อดิจิทัล (Digital Signature) หรือ การประทับรับรองเวลา (Time Stamp) เพื่อนำส่งให้กับผู้ซื้อสินค้าหรือบริการของกิจการ
จะเห็นได้จากคำเน้นด้านบนนะคะว่าเป็นเพียงระบบออกใบกำกับภาษีค่ะ แต่ไม่ใช่ระบบการยื่นแบบภาษีนะคะ ดังนั้นทุกๆวันที่ 15 ของเดือนถัดไปกิจการยังต้องมีหน้าที่นำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มให้กรมสรรพากรเหมือนเดิมค่ะ
ทางกรมสรรพากรได้มีการออกระเบียบเกี่ยวกับการจัดทำ ส่งมอบและเก็บรักษาใบกำกับภาษี ซึ่งเป็นกฎหมายจำนวน 2 ฉบับ ที่ออกมาเมื่อปี พ.ศ. 2560 ดังนี้ค่ะ ทุกคนลองมาทำความเข้าใจไปพร้อมๆกันนะคะ
ประโยชน์ของ e-Tax Invoice
เริ่มแรกมาทำความเข้าใจกระบวนการเกี่ยวกับใบกำกับภาษี ผ่านการเปรียบเทียบการทำงานและประโยชน์ที่จะได้รับระหว่างใบกำกับภาษีแบบเดิมที่ทำบนกระดาษและแบบอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อเป็นแรงจูงใจและแนวทางนำมาปรับใช้ในกิจการกันก่อนนะคะ
ทีนี้เมื่อเราทราบประโยชน์กันแล้ว ขั้นต่อมาต้องเรียนรู้กันค่ะว่า คุณสมบัติของกิจการ จะสามารถยื่นคำขอตามระเบียบกรมสรรพากรว่าด้วยการจัดทำ ส่งมอบ และเก็บรักษาใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ทั้ง 2 ฉบับนี้ไหมนะคะ
เพื่อเป็นการยืนยัน เพิ่มความมั่นใจเรื่อง ยืนยันตัวบุคคล (Authentication) ห้ามปฏิเสธความรับผิด (Non-Repudiation) และ เอกสารจะไม่ถูกเปลี่ยนแปลง (Data Integrity)
ประเภทของ e-Tax Invoice
1. e-Tax Invoice & e-Receipt
e-Tax Invoice & e-Receipt คืออะไร
e-Tax Invoice & e-Receipt คือ ระบบใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax Invoice) และใบรับอิเล็กทรอนิกส์ (e-Receipt) คือ การจัดทำข้อมูลใบกำกับภาษี รวมถึงใบเพิ่มหนี้ ใบลดหนี้ และใบรับ ให้อยู่ในรูปข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ที่ได้ลงลายมือชื่อดิจิทัล (Digital Signature) ส่งมอบแก่ผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการค่ะ
ตามระเบียบกรมสรรพากรว่าด้วยการจัดทำ ส่งมอบ และเก็บรักษาใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ และใบรับอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2560 ใบกำกับภาษีตามมาตรา 86/4 รวมถึงใบกำกับภาษีอย่างย่อ ใบเพิ่มหนี้ ใบลดหนี้ ที่จัดทำเป็นข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ที่มีการลงลายมือชื่อดิจิทัล เพื่อช่วยลดต้นทุนค่าใช้จ่ายและเวลาในการจัดทำและนำส่งข้อมูลใบกำกับภาษีค่ะ
ส่วนการจัดทำใบกำกับภาษีอิเล็กทรอกนิกส์ และใบรับอิเล็กทรอนิกส์นั้น สามารถจัดทำข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ให้อนู่ในรูป XML หรือ รูปแบบไฟล์ PDF, PDF/A-3 ก็ได้นะคะ ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ยังมีหน้าที่นำส่งข้อมูลให้กรมสรรพากรภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไปอยู่นั่นเองค่ะ
ใครยื่นคำขอ e-Tax Invoice & e-Receipt ได้บ้าง
- ต้องเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม
- ไม่จำกัดรายได้
- มีใบรับรองอิเล็กทรอนิกส์ (Certificate Authority)
- มีระบบการควบคุมภายในที่ดี ที่มีวิธีการสร้าง การส่งมอบ และการเก็บรักษาข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ที่น่าเชื่อถือ
- ไม่เป็นผู้ประกอบการที่ได้รับอนุมัติ หรือ อยู่ระหว่างการพิจาณาอนุมัติให้จัดทำ ส่งมอบ และเก็บรักษาใบกำกับภาษีอิเล็กทรอกนิกส์ผ่านระบบ e-Tax Invoice by Time Stamp (ชื่อเดิม e-Tax Invoice by Email)
- ไม่มีพฤติการณ์หลีกเลี่ยงภาษีอากร และไม่มีประวัติการออกหรือใช้ใบกำกับภาษีปลอม หรือ ใบกำกับภาษีที่ออกโดยมิชอบด้วยกฎหมาย
2. e-Tax Invoice by Time Stamp (ชื่อเดิม e-Tax Invoice by E-mail)
e-Tax Invoice by Time Stamp คืออะไร
e-Tax Invoice by Time Stamp คือ การจัดทำใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ที่ผู้ประกอบการ (ผู้ขาย หรือ ผู้ออกใบกำกับภาษีนั่นเองค่ะ) ได้ยื่นคำขอใช้ระบบ e-Tax Invoice by Time Stamp และได้รับการอนุมัติจากกรมสรรพากรเรียบร้อยแล้ว โดยการประทับรับรองเวลา e-Tax Invoice by Time Stamp ก็คือระบบการจัดทำใบกำกับภาษีที่มีการส่งอีเมลถึงผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการ พร้อมสำเนาไปยังระบบ csemail@etax.teda.th ของสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) เพื่อให้ระบบประทับรับรองเวลา (Time Stamp) และระบบจะส่งใบกำกับภาษีที่ประทับรับรองเวลาแล้วไปยังอีเมลของผู้ซื้อและผู้ขายเก็บไว้เป็นหลักฐานในการเสียภาษี เน้นกันอีกทีนะคะว่ากิจการยังคงมีหน้าที่นำส่งข้อมูลให้กรมสรรพากรภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไปอยู่นั่นเองค่ะ
ใครยื่นคำขอ e-Tax Invoice by Time Stamp ได้บ้าง
- ต้องเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม
- นิติบุคคล ที่มีรายได้จากการขายสินค้าหรือให้บริการไม่เกิน 30 ล้านบาทต่อรอบระยะเวลาบัญชี
- บุคคลธรรมดา ที่มีเงินได้พึงประเมินไม่เกิน 30 ล้านบาทต่อปี
- ไม่เป็นผู้ประกอบการที่ได้รับอนุมัติ หรือ อยู่ระหว่างการพิจารณาอนุมัติให้จัดทำ ส่งมอบ และเก็บรักษาใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์และใบรับอิเล็กทรอกนิกส์ (e-Tax Invoice & Receipt)
- ไม่มีพฤติการณ์หลีกเลี่ยงภาษีอากร และไม่มีประวัติการออกหรือใช้ใบกำกับภาษีปลอม หรือ ใบกำกับภาษีที่ออกโดยมิชอบด้วยกฎหมาย
หากมีคุณสมบัติครบถ้วนตามนี้แล้ว ผู้ประกอบการที่ต้องการจัดทำใบกำกับภาษี โดยการประทับรับรองเวลา (Time Stamp) จะต้องยื่นคำขอต่ออธิบดีกรมสรรพากรผ่านเว็บไซด์กรมสรรพากร ตามแบบ ก.อ.01 ด้วยนะคะ
หรืออ่านสรุปจากภาพด้านล่างนี้ก็ได้เช่นกันค่ะ
คุณสมบัติของผู้ยื่นคำขอตามระเบียบกรมสรรพากรว่าด้วยการจัดทำ ส่งมอบ และเก็บรักษาใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ แน่นอนว่าจะต้องเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มที่สามารถเป็นได้ทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคลเลยค่ะ และ “เลือกเพียงอย่างใดอย่างหนึ่ง” เท่านั้นนะคะ
ความแตกต่างระหว่าง e-Tax สองประเภท
มาเปรียบเทียบกันแบบลงลึกอีกสักนิดนะคะว่า ทั้ง 2 รูปแบบนี้มีความแตกต่างตั้งแต่การลงทะเบียน ประเภทเอกสาร การจัดทำ การรับรองเอกสาร การส่งมอบให้ลูกค้า และการนำส่งข้อมูลให้กับกรมสรรพากรอย่างไรกันค่ะ
ทีนี้เมื่อทราบแล้วว่ากิจการมีคุณสมบัติเพียงพอ และเห็นแล้วว่าการจัดทำ ส่งมอบ และเก็บรักษาใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์มีประโยชน์ต่อกิจการ ก็สามารถดำเนินการยื่นคำขอต่ออธิบดีกรมสรรพากรตามระเบียบของแต่ละฉบับได้เลย
ใบบทความนี้จะขอเน้นมาที่ e-Tax Invoice by Time Stamp กันนะคะ เพราะเชื่อว่าจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการ SMEs ค่ะ ไม่รอช้าค่ะ เราไปดูกันค่ะว่าขั้นตอนการสมัครเป็นอย่างไรกันนะคะ
วิธีสมัครเป็นผู้มีสิทธิ์ทำ e-Tax Invoice by Time Stamp
ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มที่อยากทราบวิธีดำเนินการยื่นคำขอจดทะเบียนฟังทางนี้ค่ะ อันดับแรกต้องยื่นคำขออนุมัติผ่านระบบออนไลน์ของกรมสรรพากร
ขั้นที่ 1 เตรียมเอกสาร
ผู้ขายหรือผู้ให้บริการออกใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ต้องเป็นไฟล์ PDF/A-3 เท่านั้น โดยมีข้อมูล XML ตามรูปแบบที่กำหนด
- ใบกำกับภาษี 1 ฉบับจะถูกจัดทำเป็น 1 ไฟล์เท่านั้น
- ไฟล์มีขนาดไม่เกิน 3MB และ
- ไฟล์ต้องไม่ถูกเข้ารหัส password
ขั้นที่ 2 ผู้ขายหรือผู้ให้บริการส่งใบกำกับภาษีทางอีเมล
ผู้ขายหรือผู้ให้บริการใช้ e-mail ที่ลงทะเบียนกับทางกรมสรรพากรส่งอีเมลพร้อมแนบใบกำกับภาษีตรงไปยังผู้ซื้อ (ระบุได้เพียง 1 อีเมล) และสำเนาอีเมล CC ไปยังระบบ ETDA หรือ csemail@etax.teda.th เพื่อประทับรับรองเวลา (Time Stamp)
- อีเมล 1 ฉบับจะส่งใบกำกับภาษีอิเล็กทรอกนิกส์ได้ 1 ฉบับเท่านั้น (1 ต่อ 1)
- หัวข้ออีเมล ต้องมีรูปแบบและลำดับที่ถูกต้อง
ขั้นที่ 3 ETDA ประทับรับรองเวลา
ใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ที่ ETDA ประทับรับรองเวลาเรียบร้อยแล้ว ระบบจะจัดส่งใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์นั้นไปยังผู้ขายและผู้ซื้อ ที่จะได้รับไฟล์ใบกำกับภาษีดังต่อไปนี้ค่ะ
- ใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์จะอยู่ในรูปไฟล์ PDF ที่มีการประทับรับรองเวลาอยู่ในคุณสมบัติไฟล์แล้ว
เพียงเท่านี้ก็เป็นอันว่าทุกฝ่ายได้รับเอกสารใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ที่ถูกต้องเรียบร้อยแล้วหละค่ะ เจ้าของกิจการที่ทราบเช่นนี้แล้วก็รีบเตรียมเอกสารให้พร้อม ยื่นสมัครเพื่อใช้สิทธิ์กันนะคะ
อ้างอิง
- https://www.rd.go.th/fileadmin/user_upload/eTax/manual_time_stamp_010666.pdf
- https://etax.rd.go.th/etax_staticpage/app/#/index/aboutinfo#top
- https://www.rd.go.th/publish/seminar/Seminar_190722.pdf
About Author
ผู้สอบบัญชีรับอนุญาต (CPA Thailand) เจ้าของเพจ “Chalitta Accounting” มีประสบการณ์ตรวจสอบบัญชีบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ และเป็นที่ปรึกษาด้านบัญชีและภาษีแก่ผู้ประกอบการ SMEs
ร่วมสมัครเป็นนักเขียนของ FlowAccount ได้ที่นี่