แพลตฟอร์มออนไลน์อย่าง Shopee Lazada ต้องส่งข้อมูลรายได้ร้านต้าให้สรรพากรด้วยนะ วันนี้ใครที่ขายของแล้วกังวลว่าสรรพากรจะรู้ข้อมูลเราหรือไม่ มีแพลตฟอร์มไหนที่เข้าข่ายต้องส่งข้อมูลบ้าง มาทำความเข้าใจกฎหมายพร้อมวิธีรับมือกันค่ะ |
ต่อไปขายของออนไลน์หลบรายได้ไม่ได้แล้วนะ! แม่ค้าพ่อค้าออนไลน์หลายคนได้ยินข่าวนี้แล้วรู้สึกร้อนๆ หนาวๆ กันเป็นแถว สาเหตุก็เพราะมีกฎหมายฉบับนึงที่กำหนดว่า แพลตฟอร์มออนไลน์อย่างเช่น Shopee Lazada ต้องส่งข้อมูลรายได้เจ้าของร้านให้กับสรรพากรด้วยนะ (ถึงแม้ไม่อยากส่งให้ก็ตามที)
วันนี้ใครที่ขายของแล้วกังวลว่าสรรพากรจะรู้ข้อมูลเราหรือไม่ มีแพลตฟอร์มไหนที่เข้าข่ายต้องส่งข้อมูลบ้าง FlowAccount ชวนทุกคนมาทำความเข้าใจเจ้ากฎหมายตัวนี้ พร้อมวิธีรับมือกันค่ะ
กฎหมายแพลตฟอร์มออนไลน์ นำส่งข้อมูลรายได้ของร้านค้าออนไลน์ คืออะไร บอกอะไรเราบ้าง
กฎหมายฉบับนี้เรียกว่า “ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ เรื่อง กำหนดให้อิเล็กทรอนิกส์แพลตฟอร์มมีบัญชีพิเศษ” ออกมาเมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2566 (แหม่ ของขวัญต้อนรับปีใหม่พอดี)
สาระสำคัญของประกาศฉบับนี้ กำหนดไว้ว่า เหล่าแพลตฟอร์มออนไลน์ต้องนำส่งข้อมูลรายได้ ของพ่อค้าแม่ค้าบนแพลตฟอร์มตน เข้าสู่ระบบของสรรพากร เริ่มต้น 1 มกราคม 2567 นี้
ดังนั้น พ่อค้าแม่ค้าตัวจิ๋วบางคนที่อยู่นอกระบบภาษีมาตลอด ร้อยวันพันปีไม่เคยยื่นภาษีเลย ถึงตอนนี้พี่สรรพากรก็ไม่ง้อแล้ว เพราะเค้ามีตัวกลางที่เป็นแพลตฟอร์มออนไลน์ มาส่งข้อมูลรายได้ให้แบบชิลๆ เลย (คล้ายๆ ก่อนหน้านี้ที่มีกฎหมายบังคับธนาคารส่งข้อมูลให้กับสรรพากร)
แพลตฟอร์มไหนบ้างที่ต้องนำส่งรายได้เข้าสรรพากร
ก่อนอื่นเราต้องเข้าใจความหมายขอคำว่า “อิเล็กทรอนิกส์แพลตฟอร์ม” เสียก่อน
“อิเล็กทรอนิกส์แพลตฟอร์ม” คือ ผู้ให้บริการผ่านสื่อกลางทางอิเล็กทรอนิกส์ ที่เชื่อมต่อระหว่างผู้ประกอบการกับผู้บริโภค หรือแอพที่มีการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมการขายสินค้าบนแพลตฟอร์ม เช่น Lazada, Shopee, Grab, Line ที่ให้พ่อค้าแม่ค้ามาวางขายสินค้า แล้วเก็บค่าธรรมเนียมนั่นเองค่ะ
ส่วนอิเล็กทรอนิกส์แพลตฟอร์มที่เข้าข่ายต้องส่งรายได้ให้สรรพากร ต้องเข้าเงื่อนไข 2 ข้อต่อไปนี้
- เป็นอิเล็กทรอนิกส์แพลตฟอร์ม ซึ่งจดทะเบียนจัดตั้งขึ้นในประเทศไทย
- มีรายได้ ในรอบระยะเวลาบัญชีเกิน 1,000 ล้านบาท*
*กรณีที่เข้าเงื่อนไขตามข้อ 2 คือ ยอดขายเกิน 1,000 ล้านบาทไปแล้ว ในอนาคตยอดขายต่ำกว่า 1 พันล้านบาท ก็ยังต้องส่งข้อมูลต่อสรรพากรต่อไป (ก็คือ เข้าได้ออกไม่ได้นั่นเอง)
นำส่งรายได้เมื่อไหร่ และนำส่งตอนไหน
สำหรับแพลตฟอร์มที่เข้าเงื่อนไข ต้องนำส่งข้อมูลรายได้ ตั้งแต่ 1 มกราคม 2567 เป็นต้นไป โดยส่ง ภายใน 150 วัน นับตั้งแต่วันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชี
พูดง่ายๆก็คือ ตอนนี้ที่ทุกคนกำลังอ่านบทความนี้อยู่ข้อมูลของเราก็ถูกเก็บไว้รอส่งสรรพากรเป็นที่เรียบร้อยแล้วค่ะ
แพลตฟอร์มไม่ได้จดทะเบียนในประเทศไทย ต้องนำส่งข้อมูลหรือไม่?
ประกาศฉบับนี้ ครอบคลุมเฉพาะ บริษัทที่จดทะเบียนในประเทศไทย ดังนั้น ถ้าตอนนี้แพลตฟอร์มไหนที่ตั้งอยู่ต่างประเทศ เช่น Tiktok จดทะเบียนในสิงคโปร์ แต่ประกอบการในไทย แบบนี้ถือว่าไม่เข้าข่ายต้องนำส่งรายได้ตามกฎหมายกำหนดค่ะ
ข้อมูลอะไรบ้างที่ต้องถูกนำส่ง เข้าสู่ระบบของสรรพากร
“บัญชีพิเศษสำหรับอิเล็กทรอนิกส์แพลตฟอร์ม” คือ ชุดข้อมูลที่แพลตฟอร์มต้องทำและนำส่งสรรพากร โดยสรุปที่น่าจะเกี่ยวข้องกับพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ล้วนๆ ได้แก่
- เลขประจำตัวประชาชน หรือ เลขทะเบียนนิติบุคคล ของผู้ประกอบการขายสินค้า หรือให้บริการ
- คำนำหน้าชื่อ ผู้ประกอบการ
- ชื่อผู้ประกอบการ(ชื่อร้านค้า) ชื่อนิติบุคคลของผู้ประกอบการ
- ชื่อกลาง (ถ้ามี) และนามสกุลของผู้ประกอบการ
- รายได้ของผู้ประกอบการ (ที่ใช้คำนวณค่านายหน้า) รวมทุกบัญชี บนแพลตฟอร์มนั้น
- ค่านายหน้าที่คำนวณได้
- รายได้ของผู้ประกอบการ (ที่ใช้คำนวณค่าธรรมเนียม) รวมทุกบัญชี บนแพลตฟอร์มนั้น
- ค่าธรรมเนียมที่คำนวณได้
- รายได้อื่นๆ ที่รับจากผู้ประกอบการ รวมทุกบัญชี บนแพลตฟอร์มนั้น
- เลขที่บัญชี/ชื่อบัญชี/ธนาคาร ของผู้ประกอบการ
อ่านมาถึงตรงนี้คงปวดหัวตุ๊บๆ แล้วใช่ไหมคะ เรียกได้ว่าข้อมูลที่สรรพากรมี ก็คือ รายได้ทั้งปีของร้านค้า
ทางออกคืออะไร แก้ปัญหาอย่างไรดี
จากที่เล่ามาทั้งหมด หลายคนคงกังวลว่า แล้วเราจะทำอย่างไรดี ถ้าไม่เคยยื่นภาษี หรือขายของมีรายได้แบบหลบๆ ซ่อนๆ มาตลอด
ทางออกสำหรับปัญหานี้ ก็คือ ถ้าตอนนี้เราไม่สามารถเป็นผู้คุมกฎได้ สิ่งที่เราต้องทำอย่างเดียวก็คือ การทำบัญชีเพื่อให้มีข้อมูล และยื่นภาษีตามที่ควรจะเป็นค่ะ
ไม่ว่าจะเป็นร้านเล็ก หรือร้านใหญ่ ขายของรูปแบบบริษัทหรือไม่ การจดบันทึก รายรับรายจ่าย คือสิ่งจำเป็น เพราะมันจะช่วยให้ทุกคนรู้ว่าทั้งปีมีรายได้เท่าใด ต้องเข้าระบบ VAT ไหม และมีกำไรมากน้อยขนาดไหน เพื่อที่จะเสียภาษีจากการขายของตอนปลายปี
FlowAccount โปรแกรมบัญชีออนไลน์ช่วยจดบัญชีรายรับรายจ่าย
สำหรับคนไหนขายของดีจนไม่มีเวลาทำบัญชีด้วยตัวเอง FlowAccount โปรแกรมบัญชีออนไลน์เป็นอีกตัวเลือกนึงที่ช่วยให้พ่อค้าแม่ค้าจดบันทึกบัญชีรายรับ รายจ่าย ในแบบที่สะดวกขึ้น ด้วยฟังก์ชั่นการเชื่อมต่อระบบออนไลน์กับ Lazada และ Shopee (ไม่ต้องคีย์ข้อมูลหลายครั้ง) หรือนำเข้ายอดขายจากช่องทางต่างๆ เช่น Wongnai POS, Ocha POS, GrabFood, Line Man, Foodpanda, LineShopping อัพโหลดข้อมูลยอดขายได้อย่าง ไม่ต้องจดเองให้เสียเวลา
ถ้าใครสนใจดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ Link นี้เลยค่ะ https://flowaccount.com/functions/shopee-lazada
สุดท้ายนี้ หวังว่าเรื่องราวทั้งหมดน่าจะเป็นประโยชน์สำหรับพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ทุกคนนะคะ และจำไว้ว่า เริ่มต้น ทำบัญชีตั้งแต่วันนี้ รู้รายได้ กำไรขาดทุนของตัวเองก่อนดีกว่ารอให้สรรพากรมาหาถึงร้านเป็นไหนๆ ค่ะ
อ้างอิง
- https://www.rd.go.th/fileadmin/user_upload/kormor/newlaw/dgpf271266A.pdf?fbclid=IwAR1iXeGgf6JMQmtxTjAinVx-1QwrIHfKUtzR6YDUPbDZ6TnxnsQ9SX6RnVk
- https://www.rd.go.th/fileadmin/user_upload/tortor/standard/FP-04-2566_Special_Report_for_Electronic_Platform_V1.pdf
About Author
นักบัญชี ผู้สอบบัญชี และผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ cpdacademy.co คอร์สอบรมบัญชี CPD ออนไลน์สำหรับผู้ทำบัญชีและผู้สอบบัญชี ที่มีประสบการณ์ในวิชาชีพมากกว่า 10 ปี และอยากส่งต่อความรู้เพื่อเพื่อนนักบัญชีให้มีทักษะอย่างมืออาชีพและก้าวทันโลกดิจิทัล
ร่วมสมัครเป็นนักเขียนกับ FlowAccount ได้ที่นี่