บัญชีภาษีธุรกิจออนไลน์ ที่ต้องทำอย่างยิ่งในช่วงวิกฤตแบบนี้ คือ การเตรียมงบประมาณล่วงหน้าทั้งรายจ่ายและรายรับ เพื่อให้เห็นว่าธุรกิจจะเหลือเงินสดเท่าไร รวมถึงการจัดการหนี้สินต่างๆ ไว้ล่วงหน้า เพราะเราไม่รู้เลยครับว่า วิกฤตต่อจากนี้จะยังมีอีกไหมและจะอยู่กับเราไปอีกนานเท่าไรในอนาคต |
ปี 2020 กำลังจะผ่านไป ใครหลายคนคงกำลังทบทวนอะไรหลายอย่าง ตั้งแต่ธุรกิจ การเงิน สุขภาพ และเรื่องต่างๆ ในชีวิต เช่นเดียวกันกับคนทำธุรกิจออนไลน์หลายคนที่คงได้รับบทเรียนและข้อคิดดีๆ ที่สมหวังและผิดหวังจากการทำธุรกิจในปีที่กำลังจะผ่านไปแบบนี้เช่นเดียวกัน
แต่อย่างไรก็ดี ชีวิตทุกคนก็กำลังจะก้าวผ่านไปกับบทเรียนในตอนนี้ สู่เรื่องราวใหม่ๆ ในปี 2021 ที่กำลังจะเกิดขึ้น ซึ่งบทความในตอนนี้ของผม ก็จะฝากข้อคิดสำคัญ 3 เรื่องเกี่ยวกับ บัญชีภาษีธุรกิจออนไลน์ ที่คนทำธุรกิจต้องรู้ไว้ เพื่อให้สามารถรับมือกับปีหน้าได้อย่างสบายใจและไม่มีปัญหามากที่สุด
เอาละครับ เรามาเริ่มกันที่ข้อแรกกันเลยดีกว่า นั่นคือ…
ทำความเข้าใจกฎหมายและนโยบายหลายตัวเริ่มบังคับใช้ในปีนี้
ดังนั้นเตรียมพร้อมรับมือกันไว้ให้ดี ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ
- ธนาคารส่งข้อมูลให้กับสรรพากร ที่เริ่มบังคับใช้และต้องส่งข้อมูลแบบสมบูรณ์ภายในเดือนมีนาคม 2564 โดยกลุ่มธุรกรรมฝากหรือรับเงินที่เข้าเงื่อนไขตามที่กฎหมายกำหนดก็จะต้องถูกส่งให้ทางกรมสรรพากรพิจารณา
- ช้อปดีมีคืน คนละครึ่ง นโยบายต่างๆ เหล่านี้เป็นแง่บวกกับคนทำธุรกิจ คือสร้างโอกาสในการขายสินค้าหรือบริการให้มากขึ้น แต่ในขณะเดียวกัน ก็ส่งผลให้เจ้าของธุรกิจต้องจัดการเรื่องของรายได้ให้ถูกต้องเช่นเดียวกัน
- นอกจากนั้นยังมีเรื่องภาษีใหม่ๆ ที่อาจจะเกี่ยวกับธุรกิจได้ เช่น ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ภาษีป้าย ฯลฯ
ดังนั้นสิ่งที่ต้องเตรียมตัวก็คือ ในปี 2021 ต่อจากนี้ เจ้าของธุรกิจออนไลน์ต้องติดตามข่าวสารภาษี รวมถึงทำความเข้าใจให้ดีมากยิ่งขึ้นครับ เพื่อที่จะได้รับมือได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม
ทำความเข้าใจเรื่องข้อมูลบัญชี ภาษี และโอกาสการถูกตรวจสอบย้อนหลัง
จากผลของข้อแรก ทำให้หลายคนตั้งคำถามว่า จะมีโอกาสโดนตรวจสอบไหม ไม่ปฎิบัติตามกฎหมายแล้วจะเจออะไรบ้าง แต่สิ่งที่ผมอยากให้วางแผนและจัดการตั้งแต่ต้นปี คือ
- รู้ข้อมูลตัวเองก่อนว่า มีอะไรบ้าง เช่น ยอดขาย ต้นทุน ค่าใช้จ่าย กำไร ของธุรกิจเราเป็นเท่าไร (ผ่านการทำบัญชีรายรับรายจ่าย) ไปจนถึงใช้ข้อมูลวิเคราะห์ได้อย่างถูกต้อง เตรียมตัวไว้แต่เนิ่นๆ จะได้ไม่มีปัญหาตอนกลางและปลายปีครับ
- เข้าใจเรื่องความเสี่ยงทางภาษี ว่าการไม่ยื่นถูกต้องตามกฎหมายมีความเสี่ยงและโอกาสถูกตรวจสอบย้อนหลังเสมอ ตรงนี้คือสิ่งที่หลายคนมักจะมาตั้งคำถามว่า ถ้าไม่ทำแบบนี้จะโดนตรวจไหม ทำแบบไหนไม่โดนตรวจบ้าง แต่จริงๆ แล้วสิ่งที่เราต้องทำความเข้าใจมีกรอบสั้นๆ คือ
- เรากำลังทำถูกต้องตามกฎหมายไหม ถ้าคำตอบคือไม่ แปลว่าเรามีโอกาสโดนตรวจสอบได้แน่นอนครับ
- เราไม่เข้าใจข้อมูลบัญชีภาษีตรงไหนบ้าง หรือมีตรงไหนที่ยังทำไม่ถูกต้องอยู่ คำถามนี้จะทำให้เราศึกษาหาความรู้เรื่องของบัญชีและภาษีมากขึ้น เพื่อทำความเข้าใจมากขึ้น จะได้ไม่ต้องกลัวการถูกตรวจสอบย้อนหลังครับ
อยากบอกตรงๆ ครับว่า ทางลัดที่สั้นและง่ายที่สุดในการจัดการข้อมูลบัญชีและภาษี คือ การศึกษาหาข้อมูลสิ่งที่เราไม่เข้าใจ มากกว่าตั้งคำถามว่าแบบนี้จะโดนตรวจสอบย้อนหลังไหม เพราะถ้าหากเราเข้าใจแล้ว เราจะรู้ได้ทันทีว่า ทางที่เราเลือกนั้นถูกต้องหรือไม่ถูกต้อง และทางที่ไม่ถูกต้องเท่านั้นแหละครับที่มีโอกาสถูกตรวจสอบย้อนหลัง
บริหารจัดการกระแสเงินสดให้ดี เตรียมพร้อมสำหรับวิกฤตที่อาจจะเกิด
สำหรับข้อสุดท้ายนี้ เป็นอะไรที่ผมอยากจะเตือนไว้เลยครับว่า มันอาจจะเกิดขึ้นกับเราเมื่อไรก็ได้ โดยเฉพาะในช่วงวิกฤตแบบนี้ ยิ่งจำเป็นมากๆ นั่นคือ การมีกระแสเงินสดที่เพียงพอต่อการใช้จ่าย (ในธุรกิจและชีวิตส่วนตัว) ดังนั้น อย่าลืมบริหารให้ดี โดยเฉพาะการเตรียมงบประมาณล่วงหน้าทั้งรายจ่ายและรายรับ เพื่อให้เห็นว่าธุรกิจจะเหลือเงินสดเท่าไร รวมถึงการจัดการหนี้สินต่างๆ ไว้ล่วงหน้า เพราะเราไม่รู้เลยครับว่า วิกฤตต่อจากนี้จะมีอีกไหมและจะอยู่กับเราอีกนานเท่าไรในอนาคต
ทั้งหมดนี้อาจจะไม่ใช่คำอวยพรปีใหม่ที่ดีนัก แต่เป็นคำเตือนที่ผมอยากให้ทุกคนลองพักแล้วถามตัวเองอีกสักที
เพื่อให้ปี 2021 ต่อจากนี้ ธุรกิจเราต้องรอดและเติบโตต่อไปครับ
ทำความเข้าใจการทำบัญชีและภาษีสำหรับคนขายของออนไลน์เพิ่มเติม
ขายของออนไลน์ ต้องจดทะเบียนอะไรบ้าง
ขายของออนไลน์ ผลกระทบต่อกำไรและภาษี และสิ่งที่สรรพากรไม่เคยบอก
9 ข้อที่ควรรู้ ก่อนวางแผนภาษี สำหรับคน ขายของออนไลน์
คนละครึ่ง ช้อปดีมีคืน ประเด็น ภาษีสำหรับคนขายของออนไลน์
About Author
พรี่หนอม หรือ TAXBugnoms (แทกซ์-บัก-หนอม) เป็นบล็อกเกอร์ นักเขียน และวิทยากรที่ให้ความรู้เรื่องภาษี บัญชี การเงิน มีประสบการณ์ทำงานในแวดวงบัญชี ภาษี มานานกว่า 15 ปี โดยมีแนวคิดว่า “ภาษี” ควรเป็น “เรื่องเรียบง่าย” และ “รู้สึกสบายใจ” ที่จะจ่าย