ธุรกิจของเราต้องจ่ายภาษีเงินนิติบุคคลประจำปีด้วยอัตราเท่าไร มีเจ้าของธุรกิจคนไหนรู้เรื่องนี้บ้างไหมเอ่ย? ถ้ายังไม่รู้เรื่องนี้ ถือว่าพลาดสุดๆ เลยล่ะ เพราะการทำความเข้าใจอัตราภาษีเงินได้ของธุรกิจตัวเอง อาจะทำให้เราเปรียบเทียบได้ว่าควรจะทำธุรกิจนี้ในรูปแบบบุคคล หรือนิติบุคคลดี หรือแม้แต่กระทั่งคาดการณ์ภาษีที่ตัวเองต้องจ่ายในทุกๆ ได้แม่นยำขึ้นด้วยนะ |
สำหรับวันนี้ถ้าใครอยากเข้าใจเรื่องอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลให้มากขึ้น เรามาเรียนรู้ไปพร้อมๆ กันในบทความนี้เลยจ้า
เลือกอ่านได้เลย!
Toggle1. ภาษีเงินได้นิติบุคคลคืออะไร
ภาษีเงินได้นิติบุคคล คือ ภาษีตามกฎหมายประมวลรัษฎากร ที่จัดเก็บจากบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ที่ทำมาหาได้ หรือมีกำไรจากการประกอบธุรกิจนั่นเองค่ะ ดังนั้น ใครที่จดทะเบียนบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนจำกัดแล้ว มีหน้าที่ต้องจ่ายภาษีเงินได้นิติบุคคลจากผลกำไรเป็นประจำทุกปีนะคะ
2. อัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลมีกี่อัตรา อะไรบ้าง
ก่อนจะรู้ว่าเราต้องจ่ายภาษีนิติบุคคลที่อัตราเท่าไร อยากจะพาทุกคนมาทำความเข้าใจว่า กิจการของเราเป็นกิจการประเภทใด ประเภทกิจการที่ต่างกัน จะมีอัตราภาษีที่แตกต่างกัน ดังนี้
2.1 กิจการ SMEs
กิจการ SMEs ต้องเข้าเงื่อนไขทั้ง 2 ข้อตามที่กฎหมายกำหนด ดังนี้
- รายได้จากการขายสินค้าหรือให้บริการในรอบบัญชี ไม่เกิน 30 ล้านบาท
- ทุนจดทะเบียนที่ชำระแล้วของกิจการไม่เกิน 5 ล้านบาท
คำว่ารายได้นั้น หมายถึง “รายได้ที่ยังไม่หักค่าใช้จ่าย” ให้สังเกตในงบกำไรขาดทุนบรรทัดแรก ๆ เลยค่ะ ส่วนทุนจดทะเบียนที่ชำระแล้วของกิจการไม่เกิน 5 ล้านบาท เน้นย้ำว่าเป็นทุนที่ชำระแล้ว กิจการ SMEs ต้องเข้าเงื่อนไขทั้งสองนี้ ถ้ามีข้อใดตกหล่น จะถือว่าไม่เข้าเงื่อนไข และต้องจ่ายภาษีในอัตราที่สูงกว่า เพราะจะถือว่าเป็นกิจการทั่วไปค่ะ
สำหรับอัตราภาษีกิจการ SMEs จะเริ่มต้นตั้งแต่ยกเว้น ไปจนถึง 20% ตามตารางนี้เลย
2.2 กิจการทั่วไป
กิจการทั่วไป คือ กิจการที่ไม่เข้าเงื่อนไขเป็นกิจการ SMEs แปลง่าย ๆ ก็คือ กิจการที่มีทุนจดทะเบียนที่ชำระแล้วเกิน 5 ล้านบาท หรือ รายได้ มากกว่า 30 ล้านบาทต่อรอบบัญชี ซึ่งอัตราภาษีกิจการทั่วไป จะเป็นอัตราเดียว คือ 20%
เมื่อกิจการคำนวณกำไรสุทธิทางภาษีมาได้เท่าไร ก็นำไปคูณ 20% ได้ทันทีเลยค่ะ การคำนวณภาษีลักษณะนี้ ถือว่าเป็นการคำนวณภาษี ประเภทอัตราคงที่ (Flat Rate) หากเราเปรียบเทียบกับอัตราภาษีระหว่างกิจการ SMEs และกิจการทั่วไป ก็จะพบว่ามีจำนวนเงินแตกต่างชัดเจน ดังตัวอย่างนี้
ตัวอย่าง
จะเห็นว่ากิจการ B จ่ายภาษีมากกว่ากิจการ A อยู่ 195,000 บาท มาจาก 1,000,000 บาท – 805,000 บาท ถึงแม้จะมีกำไรสุทธิทางภาษีในปีเท่ากัน
3.ภาษีเงินได้นิติบุคคลต้องจ่ายเมื่อไร
บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลมีหน้าที่ต้องคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลด้วยตัวเอง และยื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษีปีละ 2 ครั้ง ดังต่อไปนี้
3.1 ภาษีเงินได้นิติบุคคลครึ่งรอบระยะเวลาบัญชี
เราต้องจัดทำประมาณการกำไรสุทธิ หรือขาดทุนสุทธิแล้ว ให้คำนวณและชำระภาษีเงินได้นิติบุคคลจากจำนวนกึ่งหนึ่ง ของประมาณการกำไรสุทธิในรอบระยะเวลาบัญชีนั้น และนำส่งภายในสองเดือนนับแต่วันสุดท้ายของครึ่งรอบระยะเวลาบัญชี
ภาษีเงินได้นิติบุคคลครึ่งรอบระยะเวลาบัญชี ถือเป็นเครดิตในการเสียภาษีตอนสิ้นปี และกรณีที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลมีรอบระยะเวลาบัญชีแรกหรือรอบระยะเวลาบัญชีสุดท้าย น้อยกว่า 12 เดือน ไม่ต้องยื่นแบบแสดงรายการและเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลครึ่งรอบระยะเวลาบัญชีนะคะ
3.1 ภาษีเงินได้นิติบุคคลประจำปี
ทุก ๆ สิ้นรอบระยะเวลาบัญชี เราต้องคำนวณกำไรสุทธิและภาษีนิติบุคคลประจำปีอีกครั้ง โดยนำกำไรสุทธิดังกล่าวคูณด้วยอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล (ที่เราเพิ่งทำความเข้าใจไปในหัวข้อก่อน) และหักด้วยเครดิตภาษี ที่เกิดจากภาษีเงินได้นิติบุคคลครึ่งรอบระยะเวลาบัญชี และภาษีถูกหัก ณ ที่จ่าย จะได้จำนวนเงินภาษีที่ต้องจ่ายเพิ่มเติม หรือมีสิทธิ์เลือกขอคืนค่ะ ซึ่งภาษีเงินได้นิติบุคคลประจำปี ต้องนำส่งและชำระภายใน 150 วันหลังจากสิ้นรอบระยะเวลาบัญชีนะคะ
สรุป
เห็นมั้ยคะว่า การทำความเข้าใจเรื่องอัตราภาษีสำหรับนิติบุคคลนั้นไม่ยากเลย ขอเพียงแค่เราต้องรู้ว่าธุรกิจของเราเป็นกิจการประเภท SMEs หรือว่าธุรกิจทั่วไปให้ได้เสียก่อน แต่สิ่งที่ยากกว่าการเข้าใจเรื่องอัตราภาษีนั้น ก็คือ การทำบัญชีเพื่อให้รู้ชัด ๆ ว่าเรามีกำไรเท่าไรกันนะ เพราะนี่คืออีกตัวแปรในสมการ ที่จะช่วยให้เรารู้ว่าภาษีเงินได้นิติบุคคลที่เราต้องเสียในปีนั้น ๆ เป็นเท่าไร ซึ่งทั้งหมดนี้ก็เป็นการบ้านของผู้ประกอบการทั้งหลายที่จะต้องเรียนรู้ในทุก ๆ วันที่ทำธุรกิจนะคะ ขอให้ทุกท่านโชคดีค่ะ
About Author

นักบัญชี ผู้สอบบัญชี และผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ cpdacademy.co คอร์สอบรมบัญชี CPD ออนไลน์สำหรับผู้ทำบัญชีและผู้สอบบัญชี ที่มีประสบการณ์ในวิชาชีพมากกว่า 10 ปี และอยากส่งต่อความรู้เพื่อเพื่อนนักบัญชีให้มีทักษะอย่างมืออาชีพและก้าวทันโลกดิจิทัล
ร่วมสมัครเป็นนักเขียนกับ FlowAccount ได้ที่นี่