จดนิติบุคคล เป็นบริษัทจำกัดคนเดียว เปิดโอกาสให้คนที่ต้องการจัดตั้งธุรกิจด้วยตนเอง สามารถจัดการและวางแผนธุรกิจได้ด้วยตัวเอง ในกรณีที่ตัดสินใจเริ่มต้นธุรกิจแบบไม่ซับซ้อนมากนัก |
สิ่งที่คนทำธุรกิจมักจะตั้งคำถามคือ จดบริษัทดีไหม ควรจดเมื่อไร และควรเลือกรูปแบบไหนดี
สำหรับคำถามสองข้อแรกนั้น บอกตรงๆ ว่ามีปัจจัยหลายข้อให้คิดและตัดสินใจมากมาย
แต่สิ่งที่ตอบได้ในบทความนี้คือ รูปแบบการจดทะเบียนนั่นเองครับ โดยคำถามที่มักถามตามมาทันทีก็คือ จดทะเบียนเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนดีกว่ากัน
จดนิติบุคคล เป็นบริษัท หรือห้างหุ้นส่วนดี?
สำหรับคำตอบของคำถามนี้ ผมอยากให้โฟกัสประเด็นสำคัญ 3 ข้อดังนี้ครับ
ประเด็น | ห้างหุ้นส่วน | บริษัท |
จำนวนผู้เริ่มก่อตั้ง | 2 รายขึ้นไป | 3 รายขึ้นไป |
ความรับผิดชอบ | หุ้นส่วนผู้จัดการ รับผิดชอบไม่จำกัด |
รับผิดชอบ แค่มูลค่าของหุ้น |
การเปลี่ยนมือ | หุ้นส่วนผู้จัดการ
ต้องได้รับความยินยอม |
ผู้ถือหุ้นทั้งหมด
สามารถโอนอย่างอิสระ |
จากข้อกำหนดทั้ง 3 ข้อที่ลิสต์มานี้ ทำให้หลายคนมองว่าการจดบริษัทนั้นมีความสะดวกและคุ้มค่ากว่า ประกอบกับค่าธรรมเนียมในการจดบริษัทและห้างหุ้นส่วนนั้นแตกต่างกันไม่มาก (ห้างหุ้นส่วน 1,000 บาท บริษัท 5,500 บาท) ดังนั้นในปัจจุบัน การจดบริษัทจึงเป็นที่นิยมมากกว่า
นอกจากนั้น การจดบริษัทยังมีแนวทางเพิ่มเติมในปี 2563 ไม่ว่าจะเป็นทางเลือกในการจดบริษัทจำกัดคนเดียว และ การเริ่มก่อตั้งบริษัทด้วยคนสองคน รวมถึงมีการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขต่างๆ ให้สะดวกต่อการประกอบธุรกิจมากยิ่งขึ้น ดังนี้ครับ
อ่านเพิ่มเติมได้ที่...
https://www.facebook.com/TaxBugnoms/photos/a.192327474126010/5326784367346936/
บริษัทจำกัดคนเดียว กับ สองคนจัดการบริษัท
โดยประเด็นสำคัญสำหรับการตั้งบริษัทคนเดียวนั้น คือการเปิดโอกาสให้คนที่ต้องการจัดตั้งธุรกิจด้วยตนเอง สามารถจัดการและวางแผนธุรกิจได้ด้วยตัวคนเดียว เพื่อความสะดวกต่างๆ ในการบริหารจัดการนั่นเองครับ
ในทางเดียวกัน การให้อำนาจคนสองคน (จากเดิมสามคน) มาจัดการและดูแลบริษัทได้ก็เป็นในทางเดียวกัน นั่นคือต้องการสนับสนุนให้ผู้ถือหุ้นรวมถึงผู้ก่อตั้งบริษัทมีความคล่องตัวเช่นเดียวกันครับ
แต่อย่างไรก็ตาม ทั้งสองแนวทางนั้นยังเป็นร่างกฎหมาย (ที่รออนุมัติ) อยู่ ซึ่งถ้าหากอนุมัติแล้ว ผมคิดว่าแนวทางในการเลือกตัดสินใจนั้นอยู่ที่ประเด็นสำคัญต่อไปนี้ครับ
- ขนาดธุรกิจ (เมื่อเริ่มต้น) ในกรณีที่ตัดสินใจเริ่มต้นธุรกิจแบบไม่ซับซ้อนมากนัก หรือต้องการขยับขยายมาจากรูปแบบของบุคคลธรรมดา ทางเลือกของบริษัทจำกัดคนเดียวอาจจะสะดวกกว่าในช่วงแรก แล้วจึงค่อยแปรสภาพในภายหลังเป็นบริษัทจำกัดก็ได้เช่นเดียวกัน
แต่ถ้าหากเริ่มต้นธุรกิจจากโครงสร้าง แนวทาง หรือ รูปแบบที่ซับซ้อน การเลือกบริษัทจำกัด อาจจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่า เพราะสุดท้ายแล้วมองว่ายังไงก็ต้องขยายอยู่ดีนั่นเองครับ
- ผู้ร่วมทุน และความต้องการเงินทุน กรณีที่เริ่มต้นด้วยเงินทุนไม่มาก หรือไม่ต้องการผู้ถือหุ้นร่วมทุนมาร่วมก่อตั้ง การเลือกบริษัทจำกัดคนเดียวก็จะทำให้เราคล่องตัวมากกว่า แต่ถ้าหากมีผู้ร่วมทุนเมื่อไรแล้ว ผมว่าการมองไปที่บริษัทจำกัดนั้นน่าสนใจกว่าครับ
- ประเด็นอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งเรื่องของกฎหมาย ความง่ายในการจดทะเบียน รวมถึงโอกาสต่างๆ ทางด้านภาษี ที่อาจจะเกิดขึ้นหลังจากกฎหมายบังคับใช้แล้ว ตรงนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งในการนำมาพิจารณากันอีกทีเหมือนกันครับว่า แบบไหนสะดวกกว่ากัน
จากข้อมูลทั้งหมดจะเห็นว่า นอกจากการรอกฎหมายแล้ว เราควรวางโครงสร้างของธุรกิจทั้งหมดให้ดีด้วย เพราะว่าสุดท้ายแล้วการเปลี่ยนแปลงทั้งหมดย่อมจะเกิดขึ้นในอีกไม่ช้าอย่างแน่นอนครับ
เริ่มต้นจัดการข้อมูลบริษัทด้วยโปรแกรมบัญชี FlowAccount ได้ฟรี 30 วันที่นี่
About Author
พรี่หนอม หรือ TAXBugnoms (แทกซ์-บัก-หนอม) เป็นบล็อกเกอร์ นักเขียน และวิทยากรที่ให้ความรู้เรื่องภาษี บัญชี การเงิน มีประสบการณ์ทำงานในแวดวงบัญชี ภาษี มานานกว่า 15 ปี โดยมีแนวคิดว่า “ภาษี” ควรเป็น “เรื่องเรียบง่าย” และ “รู้สึกสบายใจ” ที่จะจ่าย