สิทธิประกันสังคม เป็นกองทุนที่ให้หลักประกันแก่ผู้ที่อยู่ในระบบประกันสังคมให้ได้รับประโยชน์ทดแทน เมื่อประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย ทุพพลภาพ หรือตาย ซึ่งไม่เกิดจากการทำงาน รวมทั้งกรณีคลอดบุตร สงเคราะห์บุตร ชราภาพ และว่างงาน
เลือกอ่านได้เลย!
ให้เราอ่านให้ฟัง
ฟัง FlowAccount ในช่องทางอื่นๆ ต่อได้อีก
anchor : https://anchor.fm/flowaccount/episodes/ep-eakhc8
soundcloud : https://soundcloud.com/user-8372281/0ypsa7a85t9k
spotify : https://open.spotify.com/show/0N7luyIrhJvj6c13W7oz6q
youtube : https://youtu.be/RCmgJC5uWTc
ผู้ที่เกี่ยวข้องกับกองทุนประกันสังคม
หลักๆ มีอยู่ 3 กลุ่มด้วยกัน คือ
- ผู้ประกันตน
- นายจ้าง
- รัฐบาล
ผู้ประกันตน
ผู้ประกันตน คือ ลูกจ้างที่มีอายุไม่ต่ำกว่า 15 ปีบริบูรณ์และไม่เกิน 60 ปีบริบูรณ์ แต่ถ้าลูกจ้างอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์แต่นายจ้างยังจ้างให้ทำงานต่อให้ถือเป็นผู้ประกันตนต่อไป โดยแบ่งเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้
- กลุ่มที่ทำงานประจำ ต้องจ่ายเงินสมทบตามกฏหมาย
- กลุ่มที่เคยทำงานประจำ แต่ลาออกและไม่ได้สมัครงานประจำต่อ ซึ่งเคยจ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่ต่ำกว่า 12 เดือนตอนที่ยังทำงานประจำอยู่ และลาออกจากงานประจำไม่เกิน 6 เดือนเมื่อลาออกแล้วยังสมัครใจที่จะจ่ายเงินสมทบอยู่
- รวมไปถึงกลุ่มที่ไม่ได้ทำงานประจำ (ฟรีแลนซ์) อายุ 15-60 ปี เลือกจ่ายเงินสมทบเองเพื่อให้ได้ สิทธิ์ประกันสังคม
นายจ้าง
นายจ้าง คือ ผู้ที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 1 คนขึ้นไป เป็นผู้มีหน้าที่ต้องขึ้นทะเบียนนายจ้างพร้อมกับขึ้นทะเบียนลูกจ้างภายใน 30 วัน และเมื่อมีการจ้างลูกจ้างใหม่ต้องแจ้งขึ้นทะเบียนลูกจ้างใหม่ภายใน 30 วันเช่นกัน
เงินสมทบ
เงินสมทบ คือ เงินที่นายจ้าง ลูกจ้าง ต้องนำส่งกองทุนประกันสังคมทุกเดือน ซึ่งในบทความนี้จะขอกล่าวถึงเฉพาะเงินสมทบสำหรับผู้ประกันตนกลุ่มที่ 1 กลุ่มทำงานประจำเท่านั้น ส่วนกลุ่มอื่นๆจะกล่าวถึงในบทความต่อๆไป
กลุ่มผู้ประกันตนกลุ่มนี้จะคำนวณเงินสมทบจากค่าจ้างลูกจ้าง ซึ่งกำหนดไว้ไม่ต่ำกว่าเดือนละ 1,650 บาท และสูงสุดไม่เกินเดือนละ 15,000 บาท ซึ่งรัฐบาลจะร่วมสมทบด้วยส่วนหนึ่ง โดยลูกจ้างจะถูกนายจ้างหักเงินเดือนในอัตราร้อยละ 5 ของค่าจ้าง นายจ้างจะร่วมจ่ายสมทบด้วยในอัตราที่เท่ากัน คือร้อยละ 5 และรัฐบาลร่วมจ่ายสมทบด้วยในอัตราร้อยละ 2.75
ตารางแสดงอัตราการหักเงินสมทบกองทุนประกันสังคม
สำหรับนายจ้างที่ทำธุรกิจคนเดียว หรือมีพนักงานน้อย ทำให้ต้องจัดการเงินเดือนและการหักประกันสังคมด้วยตนเอง มีวิธีที่จะช่วยย่นระยะเวลาการจ่ายเงินเดือนและการยื่นประกันสังคม โดยใช้เมนูเงินเดือนในโปรแกรมบัญชี FlowAccount ซึ่งสามารถทำสลิปเงินเดือน และดาวน์โหลดรายงานประกันสังคม เพื่อใช้ยื่นประกันสังคมออนไลน์ได้ทันที ทดลองใช้งานฟรี 30 วันได้ที่นี่ https://flowaccount.com/
สิทธิประกันสังคม ที่ผู้ประกันตนจะได้รับมีอะไรบ้าง
สำหรับสิทธิประกันสังคม ผู้ประกันตนจะได้รับสิทธิประโยชน์จากกองทุน 2 กองทุน ได้แก่ กองทุนประกันสังคม และกองทุนเงินทดแทน ซึ่งจะได้รับสิทธิประโยชน์ที่แตกต่างกันแล้วแต่กรณี ในที่นี้จะขอพูดถึงเงื่อนไขและสิทธิประโยชน์ของกองทุนประกันสังคมก่อนนะ
กรณีเจ็บป่วย
เงื่อนไขการใช้สิทธิ์ : ต้องจ่ายสมทบกองทุนประกันสังคมมาแล้วไม่น้อยกว่า 3 เดือน
สิทธิประโยชน์
สามารถสรุปการบริการทางการแพทย์ได้ตามแผนภาพดังนี้
ในกรณีเจ็บป่วยสามารถเข้ารับการรักษาในสถานพยาบาลตามบัตรรับรองสิทธิได้โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ ในกรณีที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลอื่นโดยที่ได้สำรองจ่ายค่ารักษาพยาบาลไปก่อน สามารถเบิกคืนจากสำนักงานประกันสังคมในอัตราที่กำหนดดังนี้
- เข้ารับการรักษาในสถานพยาบาลของรัฐ การรักษาทั้งอุบัติเหตุหรือเจ็บป่วย สามารถเข้ารับการรักษาได้ไม่จำกัดจำนวนครั้ง ในกรณีเป็นผู้ป่วยนอก เบิกได้เท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็น และในกรณีเป็นผู้ป่วยใน เบิกได้ตามที่จ่ายจริง ยกเว้น ค่าห้องและค่าอาหาร เบิกได้ไม่เกินวันละ 700 บาท
- เข้ารับการรักษาในสถานพยาบาลของเอกชน กรณีผู้ป่วยนอกเบิกค่ารักษาได้ไม่เกิน 1,000 บาท กรณีผู้ป่วยใน ค่ารักษาพยาบาลกรณีไม่ได้รักษาในห้อง ICU เบิกได้ไม่เกินวันละ 2,000 บาท ค่าห้องค่าอาหารไม่เกินวันละ 700 บาท ค่าห้องกรณีรักษาในห้อง ICU เบิกได้ไม่เกินวันละ 4,500 บาท กรณีต้องผ่าตัดใหญ่เบิกได้ไม่เกินครั้งละ 8,000 – 16,000 บาทตามระยะเวลาการผ่าตัด
- กรณีทันตกรรม เข้ารับบริการ ณ สถานพยาบาลที่ทำความตกลงกับสำนักงานประกันสังคม (ตรวจสอบรายชื่อสถานพยาบาลได้จาก สำนักงานประกันสังคม ) สามารถรับค่าบริการทางการแพทย์ได้ตามที่จ่ายจริงไม่เกิน 900 บาทต่อปี
กรณีคลอดบุตร
เงื่อนไขการใช้สิทธิ : ต้องจ่ายเงินสมทบกองทุนประกันสังคมมาแล้วไม่ต่ำกว่า 15 เดือน
สิทธิประโยชน์
- สามารถเบิกค่าคลอดบุตรได้ 13,000 บาทต่อการคลอดบุตร 1 ครั้ง (ไม่จำกัดจำนวนครั้ง)
- ผู้ประกันตนหญิงได้รับเงินสงเคราะห์จากการลาคลอดเหมาจ่ายในอัตราร้อยละ 50 ของเงินเดือนเป็นระยะเวลา 90 วัน (ใช้สิทธิได้เฉพาะบุตรคนที่ 1 และ 2 เท่านั้น)
- กรณีสามีและภรรยาเป็นผู้ประกันตนทั้งคู่ สามารถเลือกใช้สิทธิได้เพียงฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง
กรณีทุพพลภาพ
เงื่อนไขการใช้สิทธิ : ต้องจ่ายเงินสมทบกองทุนประกันสังคมไม่น้อยกว่า 3 เดือน
สิทธิประโยชน์
- รับเงินทดแทนขาดรายได้ร้อยละ 50 ของค่าจ้างเป็นรายเดือนตลอดชีวิตในกรณีทุพพลภาพร้ายแรง หากไม่ร้ายแรงจะได้รับตามหลักเกณฑ์และระยะเวลาตามที่ประกาศฯกำหนด
- รับค่าบริการทางการแพทย์ หากเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลของรัฐ กองทุนประกันสังคมจะจ่ายให้เท่าที่จ่ายจริงตามจำเป็นและสมควร หากเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลเอกชน ในกรณีเป็นผู้ป่วยนอก กองทุนประกันสังคมจะจ่ายให้เดือนละไม่เกิน 2,000 บาท ในกรณีเป็นผู้ป่วยใน กองทุนประกันสังคมจะจ่ายให้เดือนละไม่เกิน 4,000 บาท ในส่วนของค่ารถและค่าบริการทางการแพท์ย์ จะได้รับการเหมาจ่ายไม่เกินเดือนละ 500 บาท
- ได้รับเงินบำเหน็จชราภาพเมื่อมีมติให้เป็นผู้ทุพพลภาพ
- หากผู้ทุพพลภาพเสียชีวิต ผู้จัดการศพมีสิทธิได้รับค่าทำศพ 40,000 บาท
- ได้รับเงินสงเคราะห์เสียชีวิต หากผู้ทุพพลภาพจ่ายเงินสมทบมาแล้ว 3 ปีแต่ไม่ถึง 10 ปีจะได้รับเงินสงเคราะห์เท่ากับค่าจ้าง 2 เดือน แต่หากจ่ายเงินสมทบมาแล้วตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไปจะได้รับเงินสงเคราะห์เท่ากับค่าจ้าง 6 เดือน
กรณีเสียชีวิต
เงื่อนไขการใช้สิทธิ : สาเหตุการเสียชีวิตต้องไม่เกิดจากการทำงาน และจ่ายเงินสมทบมาแล้ว 1 เดือน
สิทธิประโยชน์
- ผู้จัดการศพสามารถขอค่าทำศพได้ 40,000 บาท
- เงินสงเคราะห์ กองทุนประกันสังคมจะจ่ายให้บุคคลที่มีชื่อระบุอยู่ในหนังสือระบุให้เป็นผู้รับเงินสงเคราะห์กรณีผู้ประกันตนเสียชีวิต หากไม่มีหนังสือระบุไว้ต้องนำมาเฉลี่ยให้ บิดามารดา หรือ สามีหรือภรรยา หรือบุตร ในจำนวนที่เท่ากัน ซึ่งจะได้เงินสงเคราะห์ดังนี้ หากผู้เสียชีวิตจ่ายเงินสมทบมาแล้วตั้งแต่ 36 เดือนขึ้นไป แต่ไม่ถึง 120 เดือนจะได้รับเงินสงเคราะห์เท่ากับค่าจ้าง 2 เดือน หากผู้เสียชีวิตจ่ายเงินสมทบตั้งแต่ไม่ 120 เดือนขึ้นไป จะได้เงินสงเคราะห์เท่ากับค่าจ้าง 6 เดือน
- ทายาทสามารถขอรับคืนเงินกรณีชราภาพได้ภายใน 2 ปี (ดูรายละเอียดที่กรณีชราภาพ)
กรณีสงเคราะห์บุตร
เงื่อนไขการใช้สิทธิ : จ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 12 เดือน เป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย ยกเว้น บุตรบุญธรรม หรือบุตรที่ยกให้เป็นบุตรบุญธรรมของคนอื่น
สิทธิประโยชน์
- ได้รับเงินสงเคราะห์บุตรเหมาจ่ายเดือนละ 400 บาท ตั้งแต่บุตรอายุแรกเกิดจนถึง 6 ปีบริบูรณ์
- สามารถขอใช้สิทธิ์ได้ไม่เกิน 3 คน
กรณีชราภาพ
แยกเป็น 2 กรณีดังนี้
กรณีบำนาญชราภาพ
เงื่อนไขการใช้สิทธิ
- ต้องจ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 180 เดือน (ไม่ต้องจ่าย 180 เดือนติดต่อกัน)
- มีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ และความเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุดลง
สิทธิประโยชน์
- ถ้าจ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 180 เดือนจะได้รับเงินบำนาญชราภาพเป็นรายเดือน ในอัตราร้อยละ 20 ของค่าจ้างเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย
- ถ้าจ่ายเงินสมทบเกิน 180 เดือนจะได้รับการปรับเพิ่มบำนาญชราภาพอีกร้อยละ 1.5 สำหรับระยะเวลาที่จ่ายเงินสมทบเกิน 180 เดือนทุกๆ 12 เดือนที่จ่ายเงินสมทบเกิน 180 เดือนนั้น
กรณีบำเหน็จชราภาพ
เงื่อนไขการใช้สิทธิ
- จ่ายเงินสมทบไม่ครบ 180 เดือน
- มีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ หรือเป็นผู้ทุพพลภาพ หรือถึงแก่ความตาย
- ความเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุดลง
สิทธิประโยชน์
- ถ้าจ่ายเงินสมทบต่ำกว่า 12 เดือน จะได้รับเงินบำเหน็จชราภาพเท่ากับจำนวนเงินสมทบที่ผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบ
- ถ้าจ่ายเงินสมทบตั้งแต่ 12 เดือนขึ้นไป จะได้รับเงินบำเหน็จชราภาพเท่ากับจำนวนเงินสมทบที่ผู้ประกันตนและนายจ้างจ่ายสมทบ พร้อมทั้งผลประโยชน์ตอบแทนที่สำนักงานประกันสังคมประกาศกำหนด
- กรณีผู้รับเงินบำนาญชราภาพถึงแก่ความตายภายใน 60 เดือนนับตั้งแต่ได้สิทธิบำนาญชราภาพ จะได้รับเงินบำเหน็จชราภาพจำนวน 10 เท่าของเงินบำนาญชราภาพรายเดือนที่ได้รับเดือนสุดท้ายก่อนเสียชีวิต
กรณีว่างงาน
เงื่อนไขการใช้ สิทธิประกันสังคม
- จ่ายเงินสมทบมาแล้ว 6 เดือน
- มีระยะเวลาว่างงานตั้งแต่ 8 วันขึ้นไป
- ผู้ประกันตนขึ้นทะเบียนเป็นผู้ว่างงานผ่าน เว็บไซต์ กรมการจัดหางาน ของรัฐภายใน 30 วันนับแต่วันที่ลาออกจากงานหรือถูกเลิกจ้าง
- รายงานตัวเป็นผู้ว่างงานผ่าน เว็บไซต์ กรมการจัดหางาน ของรัฐ ไม่น้อยกว่าเดือนละ 1 ครั้ง
- เป็นผู้มีความสามารถในการทำงานและพร้อมจะทำงานตามที่สำนักงานจัดหางานของรัฐจัดหาให้
- ไม่ปฏิเสธที่จะฝึกงาน
- จ่ายเงินสมทบมาแล้ว 6 เดือน
- ต้องไม่ถูกเลิกจ้างในกรณี ทุจริตต่อหน้าที่ หรือ จงใจให้นายจ้างได้รับความเสียหาย หรือทำผิดกฎหมายกรณีร้ายแรง หรือ ละทิ้งหน้าที่เป็นเวลา 7 วันติดต่อกันโดยไม่มีเหตุอันควร หรือ ได้รับโทษจำคุกตามคำพิพากษา และไม่ใช่ผู้ได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีชราภาพ
สิทธิประโยชน์
- ในกรณีที่ถูกเลิกจ้าง จะได้รับเงินทดแทนระหว่างการว่างงานปีละไม่เกิน 180 วันในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้างเฉลี่ย ซึ่งค่าจ้างเฉลี่ยสูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท
- ในกรณีลาออกหรือสิ้นสุดสัญญาจ้างตามระยะเวลา จะได้รับเงินทดแทนระหว่างว่างงานปีละไม่เกิน 90 วันในอัตราร้อยละ 30 ของค่าจ้างเฉลี่ยซึ่งค่าจ้างเฉลี่ยสูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท
- กรณีที่ว่างงานเพราะถูกเลิกจ้างมากกว่า 1 ครั้งใน 1 ปีจะมีสิทธิได้รับเงินทดแทนทุกครั้งรวมกันไม่เกิน 180 วัน
- กรณีว่างงานเพราะลาออกหรือสิ้นสุดสัญญาจ้างมากกว่า 1 ครั้งใน 1 ปีจะมีสิทธิได้รับเงินทดแทนรวมกันไม่เกิน 90 วัน
สำหรับเจ้าของธุรกิจที่มีพนักงานตั้งแต่ 1 คนขึ้นไป ในโปรแกรมบัญชี FlowAccount เมนูบริหารเงินเดือน นอกจากจะช่วยเจ้าของธุรกิจในเรื่องการเก็บฐานข้อมูลเงินเดือนของพนักงานแต่ละบุคคลแล้ว ยังสามารถคลิกเลือกดาวน์โหลดไฟล์ยื่นประกันสังคม และนำไฟล์นี้แนบลงในระบบออนไลน์ของประกันสังคมได้เลยทันทีตามรูปขั้นตอนด้านล่างนี้
ประกันสังคมออนไลน์ ขั้นตอนการแนบไฟล์นำส่งเงินสมทบ
ทั้งหมดนี้เป็นเงื่อนไขและสิทธิประโยชน์ที่ผู้ประกันตนจะได้รับจากกองทุนประกันสังคม ซึ่งในการขอรับสิทธิประโยชน์ของกองทุนประกันสังคมทุกครั้ง จะต้องเตรียมเอกสารและหลักฐานตามที่สำนักงานประกันสังคมกำหนด เจ้าของกิจการหรือพนักงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบในการจัดการเอกสารของลูกจ้าง สามารถทำเอกสารเหล่านี้เพื่อใช้ยื่นประกันสังคมออนไลน์ได้อย่างรวดเร็ว ด้วยเมนูเงินเดือน จากโปรแกรมบัญชีออนไลน์ FlowAccount สามารถทดลองใช้งานได้ฟรีที่นี่
ข้อมูล
ศูนย์สารนิเทศ สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน
Credits
Voice Artist พิมวิภา ป๊อกยะดา
Scriptwriter สราญรัตน์ ไว้เกียรติ
Sound Designer & Engineer อลงกรณ์ สุขวิพัฒน์