ชวนคนขายของออนไลน์ทุกคนคิดถึงเรื่องของ กำไรกับภาษี รวมถึงสิ่งที่สัมพันธ์กันจริงๆ มากกว่า เรื่องการลดภาษีจากการขายของออนไลน์ |
โดย TaxBugnoms
หนึ่งในเรื่องสำคัญของคนขายของออนไลน์ คือ เรื่องของภาษี ซึ่งหลายคนมีคำถามมากมายเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า ทำอย่างไรถึงจะประหยัดภาษีที่สุด และทำอย่างไรเราถึงจะจัดการภาษีได้ดี
แต่เชื่อไหมครับว่า ถ้าหากผมย้อนถามไปด้วยคำถามที่ว่า “ตอนนี้ธุรกิจมีกำไรเท่าไร” คนส่วนใหญ่ที่ต้องการประหยัดภาษีมักจะตอบไม่ได้ หรือไม่ก็มักจะตอบตัวเลขประมาณการกลับมา ทั้งๆ ที่เรื่องนี้คือปัจจัยสำคัญที่สุดในการทำธุรกิจ
เพราะถ้าให้เลือกระหว่างคำว่า “ทำธุรกิจให้ได้กำไรเยอะๆ” กับ “ทำธุรกิจให้เสียภาษีน้อยๆ” ผมเชื่อว่าหลายคนคงเลือกข้อแรกมากกว่าข้อหลัง เพราะการมีกำไรคือเป้าหมายสำคัญในการทำธุรกิจนั่นเอง
บทความในตอนนี้เลยอยากมาชวนคนขายของออนไลน์ทุกคนคิดถึงเรื่องของกำไรกับภาษี รวมถึงสิ่งที่สัมพันธ์กันจริงๆ มากกว่า เรื่องการลดภาษีจากการขายของออนไลน์เพียงอย่างเดียวกัน
และผมรับประกันเลยว่า เรื่องนี้สรรพากรไม่เคยบอก เพราะมันไม่ใช่เรื่องของพี่เขา แต่มันเป็นเรื่องที่เราทุกคนต้องรู้ในฐานะคนทำธุรกิจต่างหากครับ
เลือกอ่านได้เลย!
ขายของออนไลน์ ผลกระทบต่อกำไรและภาษี
เอาละครับ ถ้าพร้อมแล้ว เรามาเริ่มกันเลยดีกว่า กับตัวอย่างที่ผมภูมิใจมากๆ ในการนำเสนอครับ นั่นคือตัวอย่างนี้
นายบักหนอมเป็นหนุ่มใหญ่ขายของออนไลน์ มีรายได้ทั้งปีจากการขาย คือ 2,500,000 บาท (ยอดขายเฉลี่ยเดือนละประมาณ 200,000 บาท) นอกจากนั้นนายบักหนอมยังมีต้นทุนซื้อสินค้ามาขาย ค่าใช้จ่ายในการขายรวมถึงค่าใช้จ่ายจัดการด้านอื่นๆ อยู่ที่ 2,250,000 บาท (อันนี้ไม่เฉลี่ย เพราะมันไม่แน่นอนตลอดทั้งปี)
ตรงนี้เราจะตอบได้ทันทีใช่ไหมครับว่า นายบักหนอมมีกำไรอยู่ที่ 250,000 บาท โดยกำไรตรงนี้เป็นกำไรก่อนภาษี
ฮั่นแน่ แต่อย่าเพิ่งคิดภาษีกันไปนะครับ เพราะสิ่งที่นายบักหนอมควรจะตอบตัวเองให้ได้เพื่อใช้ในการพิจารณาต่อไปก็คือ กำไร 250,000 บาทต่อปี มันคุ้มค่าที่ลงทุนลงแรงทำธุรกิจไหม และเพียงพอต่อการใช้จ่าย การก้าวตามฝันต่างๆ พวกนี้มันไปได้หรือเปล่านะ
ถ้าคำตอบ คือ ใช่ ทีนี้เราต้องมาสนใจต่อเรื่องของต้นทุนภาษีกันบ้างแล้วครับ โดยดูในประเด็นสำคัญ 2 เรื่อง คือ ภาษีเงินได้ และ ภาษีมูลค่าเพิ่ม (สำหรับคนที่งง ลองฟังแนวคิดไปก่อนนะครับ แล้วเราค่อยมาคุยกันในตอนต่อไป แฮร่)
ภาษีเงินได้ ขึ้นอยู่กับรูปแบบของธุรกิจ
ดังนั้นจากที่เล่ามา นายบักหนอมจะต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ซึ่งนายบักหนอมก็ต้องไปคิดคำนวณต่อว่า จะเลือกทางไหนดี ระหว่างหักค่าใช้จ่ายแบบเหมา (60%) ซึ่งในกรณีนี้สามารถเลือกหักได้ เพราะเป็นการซื้อมาขายไป หรือจะเลือกหักค่าใช้จ่ายตามจริง โดยต้องดูว่ามีเอกสารหลักฐานครบถ้วนไหม
ซึ่งจะเห็นว่าในกรณีนี้ หากนายบักหนอมเลือกหักค่าใช้จ่ายแบบเหมา ก็จะเสียสิทธิในการใช้ค่าใช้จ่ายจริงในการคำนวณภาษี ซึ่งตรงนี้จะทำให้เสียภาษีมากขึ้นครับ
สำหรับใครที่ยังไม่เข้าใจวิธีคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ผมแนะนำคลิปนี้ครับ
ภาษีมูลค่าเพิ่ม
จากยอดขาย 2,500,000 บาทต่อปี ซึ่งถ้าหากการขายสินค้าประเภทนี้ เป็นสินค้าที่ไม่ได้รับสิทธิยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ก็แปลว่ายอดขายตรงนี้จะต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มอีก 7%
ซึ่งถ้าหากปีนี้เป็นปีแรกที่นายบักหนอมมีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาท ก็ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มจากรายได้ส่วนที่เกินมาจำนวน 700,000 บาท นั่นเองครับ และหลังจากนี้ก็ต้องจดทะเบียนและเสียภาษีมูลค่าเพิ่มให้ถูกต้องต่อไป พร้อมกับมีการออกเอกสารหลักฐานต่างๆ รวมถึงจัดทำรายงานเกี่ยวกับเรื่องนี้เพิ่มเติมอีกด้วย
ถ้ามองคร่าวๆ แต่เพียงเท่านี้ เราจะเห็นว่าสิ่งที่สัมพันธ์จริงๆ ของการจัดการกำไรและภาษีของคนทำธุรกิจขายของออนไลน์นั้น มันมีทั้งเรื่องของกำไร และภาษีที่เกี่ยวข้องกันตั้งแต่ รายได้ ไปจนถึง กำไร ใช่ไหมครับ
แต่จะเห็นว่า การคำนวณกำไรจริงๆ ของนายบักหนอมยังไม่จบ เพราะตอนนี้นายบักหนอมยังไม่รู้ว่า ตัวเองต้องเสียภาษีเงินได้เท่าไร และ ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มแค่ไหน (อาจจะมีเบี้ยปรับ เงินเพิ่ม เพิ่มเติมอีก เพราะรายได้เกิน 1.8 ล้านบาทแล้วยังไม่เสียภาษีให้ถูกต้อง)
ซึ่งในส่วนของภาษีนั้น พี่สรรพากรเขามีหน้าที่ดูแลและจัดเก็บให้เรายื่นอย่างถูกต้อง แต่ในส่วนของการจัดการธุรกิจนั้น นายบักหนอมต้องตอบตัวเองให้ว่า หลังจากเสียภาษีแล้ว ธุรกิจเรายังมีกำไรอยู่ไหม?
เพราะถ้าหากกำไรยังไม่มี แล้วต้องเสียภาษีจนหมดตัว
แบบนี้ก็ไม่รู้ว่าจะทำธุรกิจไปทำไมจริงไหมครับ?
ทำความเข้าใจเรื่องการจดทะเบียนพาณิชย์กันต่อที่บทความ ขายของออนไลน์ ต้องจดทะเบียนอะไรบ้าง
หรือหากจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว เรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับการออกใบกำกับภาษี คลิกที่นี่
About Author
พรี่หนอม หรือ TAXBugnoms (แทกซ์-บัก-หนอม) เป็นบล็อกเกอร์ นักเขียน และวิทยากรที่ให้ความรู้เรื่องภาษี บัญชี การเงิน มีประสบการณ์ทำงานในแวดวงบัญชี ภาษี มานานกว่า 15 ปี โดยมีแนวคิดว่า “ภาษี” ควรเป็น “เรื่องเรียบง่าย” และ “รู้สึกสบายใจ” ที่จะจ่าย