มาดูกันว่าโครงการที่สนับสนุนการใช้งานระบบใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ในปี 2567 มีอะไรกันบ้าง นิติบุคคลและบุคคลธรรมดาได้ประโยชน์ทางภาษีแต่ละโครงการเป็นอย่างไร เพื่อดูว่าใช้สิทธิ์ครบถ้วนแล้วหรือยัง พร้อมกับทริคในการตรวจใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ที่ได้รับว่าเป็นใบจริงหรือใบปลอมค่ะ |
เอาหละ ตอนนี้ใครยังออกใบกำกับภาษีด้วยกระดาษอยู่ไหมคะ บทความนี้จะมาบอกเล่าว่าถึงเวลา “เปลี่ยน” เป็นวิธีใหม่เพื่อสอดรับนโยบายของภาครัฐและโลกที่หมุนด้วยเทคโนโลยีกันแล้วค่ะ
มาเข้าใจถึงประโยชน์ทางภาษีของบุคคลธรรมดาและนิติบุคคลแบบลึกซึ้งฉบับปี 2567 กันว่าทำไมเพื่อนๆ นิติบุคคลจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (“ผู้ประกอบการ”) คนอื่นๆ เริ่มหันใช้ระบบภาษีอิเล็กทรอนิกส์หรือ e-Tax Invoice กันแล้วนะ
ใครที่อยากจะทำความรู้จักความหมายและขอบเขตของใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ ติดตามได้ที่รวมทุกเรื่องที่ควรรู้ของ e-Tax Invoice ใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ ก่อนได้เลยค่ะ
สำหรับใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-Tax Invoice นั้นเป็นนวัตกรรมที่มาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการภาษีของนิติบุคคล ไม่เพียงแค่ลดความยุ่งยากในการทำงานเอกสารเท่านั้น แต่ยังมีสิทธิประโยชน์ทางภาษีหลายๆ อย่างที่นิติบุคคลสามารถใช้ประโยชน์ได้ นโยบายบางอันอาจกระตุ้นผ่านการให้สิทธิประโยชน์แก่บุคคลธรรมดาที่เลือกซื้อสินค้าหรือรับบริการจากผู้ประกอบการที่อยู่ในระบบใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ หรือบางอันก็อาจจะกระตุ้นผ่านการให้สิทธิประโยชน์โดยตรงแก่นิติบุคคลเลยก็ได้ค่ะ
ถ้าพร้อมแล้วลองมาดูทั้ง 3 นโยบายกันดังนี้ค่ะ
เลือกอ่านได้เลย!
1. Easy e-Receipt
โครงการ Easy e-Receipt ปี 2567 เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึง 15 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เป็นนโยบายใหม่ที่มาแทนโครงการช้อปดีมีคืนที่หลายๆท่านคงเคยคุ้นกันเมื่อปีก่อนๆ เข้ามาช่วยเพิ่มประโยชน์หลายประการแก่ผู้ประกอบการที่จดทะเบียนที่ขายสินค้าหรือให้บริการตามรายการที่กำหนดในระบบการออกใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax) นั่นเองค่ะ
สิ่งที่เพิ่มคุณค่าเมื่อนิติบุคคลเข้าระบบออกใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ก็คือ ลดความซับซ้อนในการจัดทำ ออกใบกำกับภาษีบนรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์แทนการใช้กระดาษ ช่วยลดต้นทุนในการพิมพ์และจัดเก็บเอกสาร แถมยังลดภาระในการจัดการระบบภาษีด้วยเพราะมีการบันทึกข้อมูลไปแล้ว ทำให้การนำส่งภาษีรายเดือนไม่ตกหล่น ทำได้รวดเร็วและถูกต้องมากขึ้น
นอกจากนั้น ผู้ประกอบการยังได้รับประโยชน์เพิ่มเติมจากการเข้าร่วมโครงการนี้ ที่เห็นได้ชัดที่สุดคือ การเพิ่มยอดขายจากลูกค้า (บุคคลธรรมดา) ที่ต้องการนำใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์มาลดหย่อนภาษีเพิ่มขึ้นค่ะ ถือเป็นการกระตุ้นการจับจ่ายของลูกค้าให้เลือกซื้อกับผู้ประกอบการเฉพาะที่สามารถออกใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ได้เท่านั้นเพื่อได้รับอานิสงค์การกระตุ้นเศรษฐกิจนี้ไปค่ะ
นโยบายนี้เป็นการส่งเสริมให้ธุรกิจหันมาใช้เทคโนโลยีที่ช่วยในการบริหารจัดการภาษีมูลค่าเพิ่มให้มีประสิทธิภาพ สามารถตรวจสอบสถานะและข้อมูลต่าง ๆ ผ่านระบบออนไลน์ได้ตลอดเวลา เพิ่มความโปร่งใสและมั่นใจในการจัดการข้อมูลภาษีของผู้ประกอบการ
สิทธิประโยชน์สุดท้ายที่ผู้ประกอบการจะได้รับจากโครงการ Easy e-Receipt ก็คือการเพิ่มความน่าเชื่อถือและภาพลักษณ์ที่ดีให้กับธุรกิจ เพราะใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ที่สนับสนุนการทำธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเป็นแนวโน้มที่สำคัญในยุคดิจิทัล การใช้ e-Receipt ไม่เพียงแต่ช่วยในการดำเนินงานภายในองค์กร แต่ยังส่งเสริมความเชื่อมั่นจากลูกค้าและพันธมิตรทางธุรกิจในความเป็นมืออาชีพขององค์กรได้ด้วยค่ะ
2. ลดหย่อนภาษีกระตุ้นท่องเที่ยวเมืองรอง
โครงการลดหย่อนภาษีปี 2567 ระหว่างเดือนพฤษภาคม ถึง พฤศจิกายน เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวเมืองรอง ให้ประโยชน์กับ 3 ฝ่ายเลยค่ะ ทั้งผู้ประกอบการกิจการโรงแรมในจังหวัดเมืองรอง นิติบุคคลและบุคคลธรรมดาที่เป็นลูกค้าด้วยนะคะ
ในฝั่งเจ้าของกิจการโรงแรมในจังหวัดเมืองรองตามที่กำหนด 55 จังหวัดกันก่อนนะคะ หากกิจการโรงแรมนั้นอยู่ในระบบการออกใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์แล้วละก็ จะสามารถจัดโปรโมชั่นกระตุ้นความสนใจให้กับลูกค้า ให้ลูกค้า (บุคคลธรรมดา หรือ นิติบุคคล) สามารถนำค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการท่องเที่ยวในเมืองรองมาใช้ลดหย่อนภาษีบุคคลธรรมดาได้สูงสุดถึง 15,000 บาทต่อปี หรือหักเป็นค่าใช้จ่ายตามจริงได้ 2 เท่าเมื่อคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลในกรณีที่เป็นนิติบุคคล ลูกค้าเองก็จะได้ลองเปิดประสบการณ์การเที่ยวเมืองรองแบบไม่ซ้ำใครในราคาที่คุ้มค่ายิ่งขึ้น
ย้ำกันสักนิดค่ะว่า นิติบุคคลที่อยากนำค่าใช้จ่ายมาหักภาษีประจำปีได้นั้น จะต้องเป็นค่าใช้จ่ายที่พาพนักงานไปอบรมสัมมนาค่ะ (ไม่ใช่ว่าไปเที่ยวพักผ่อนเฉยๆอันนี้ไม่ได้นะคะ) สามารถนำมาหักค่าใช้จ่ายได้ 2 เท่าของที่จ่ายจริง
นอกจากนี้ การที่ผู้ประกอบการเลือกใช้ใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ทำให้กระบวนการออกเอกสารรวดเร็วและถูกต้อง ลูกค้าก็ได้รับเอกสารที่นำไปลดหย่อนภาษีแบบสะดวกสบาย เป็นการยกระดับประสบการณ์การท่องเที่ยวเมืองที่ยังไม่เป็นที่รู้จักให้ดียิ่งขึ้น
โครงการนี้จึงสร้างความสมดุลที่ดี win-win กันทั้งการสนับสนุนเจ้าของกิจการโรงแรมและสิทธิประโยชน์ทางภาษีแก่ลูกค้าที่เป็นบุคคลธรรมดาและนิติบุคคลเลยทีเดียว หวังว่าถ้าตอนนี้ใครกำลังอ่านและอยู่ในช่วงของนโยบายนี้พอดี ก็อย่าลืมจัดทริปบริษัทไปอบรมสัมมนา หรือบุคคลธรรมดาอย่างเราก็นัดเพื่อนๆ แพ็คกระเป๋าไปเที่ยวเมืองรองกันได้เลยค่ะ
3. ลงทุนระบบการออกใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์หักค่าใช้จ่าย 2 เท่า
มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการลงทุนในระบบภาษีอิเล็กทรอนิกส์ มีไว้เพื่อบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ที่เป็นภาคเอกชนโดยเฉพาะเลยค่ะ ให้สามารถ “หักรายจ่ายการลงทุนในระบบ e-Tax Invoice & e-Receipt รวมถึงหักรายจ่ายค่าบริการระบบดังกล่าวได้ 2 เท่า ของรายจ่ายที่จ่ายจริง”
นั่นหมายความว่า โครงการลงทุนในระบบ e-Tax นี้เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการที่จดทะเบียนสามารถหักรายจ่ายจากการลงทุนในระบบภาษีอิเล็กทรอนิกส์ได้ถึง 2 เท่า เป็นการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการปรับเปลี่ยนไปใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการจัดการภาษี การเข้าร่วมโครงการนี้ช่วยให้ผู้ประกอบการลดต้นทุนในการลงทุนระบบ e-Tax Invoice & e-Receipt ได้อย่างดีเลยค่ะ เพราะรายจ่ายนำมาหักได้ถึง 2 เท่า โดยที่การลงทุนจะต้องอยู่ในระยะเวลาที่กำหนดหรือตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2566 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2568 เลย
การลงทุนในระบบช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจ และให้ธุรกิจสามารถแข่งขันได้ดีในตลาดที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ส่งเสริมเศรษฐกิจภาพรวมให้เป็นดิจิทัล (Digital Transformation) อีกด้วยนะคะ
รายจ่ายที่สามารถนำมาหักได้ 2 เท่าเมื่อบริษัทเข้าร่วมระบบ e-Tax นั้นครอบคลุมหลายด้าน ตั้งแต่การลงทุนซื้อ รายการดังนี้
- เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบของคอมพิวเตอร์ ที่ใช้ในการจัดการภาษี
- โปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่เกี่ยวข้อง
- เครื่องบันทึกการเก็บเงิน ที่เชื่อมต่อกับระบบคอมพิวเตอร์ เช่น ระบบ POS (Point of Sale) ที่เชื่อมโยงกับการรับชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์
- เครื่องมือจัดทำลายเซ็นดิจิทัล
- อุปกรณ์จัดเก็บใบรับรองอิเล็กทรอนิกส์ ที่เป็นส่วนสำคัญในการยืนยันความถูกต้องของข้อมูล
- พื้นที่เก็บข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ เช่น ระบบ Cloud และ Server ซึ่งมีความสำคัญในการจัดเก็บข้อมูลทางภาษีอย่างปลอดภัย
- ค่าบริการที่จ่ายให้แก่ผู้ให้บริการ (Service Provider) ที่ได้รับอนุมัติจากอธิบดีกรมสรรพากรในการจัดทำ ส่งมอบ หรือเก็บรักษาใบกำกับภาษีหรือใบรับรองอิเล็กทรอนิกส์
การสนับสนุนนี้เข้ามาช่วยลดภาระทางการเงินของผู้ประกอบการในระยะสั้น แถมยังส่งเสริมให้เกิดการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัลที่จะมีผลดีต่อธุรกิจในระยะยาวด้วยค่ะ ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการจะสามารถลดความเสี่ยงจากการตรวจสอบภาษีในอนาคตแบบไม่ต้องห่วงหน้าพะวงหลัง และสร้างความเชื่อมั่นในระบบบัญชีของกิจการมากยิ่งขึ้นค่ะ
ทีนี้เมื่อรู้แล้วว่าโครงการต่างๆ ที่ส่งเสริมการออกใบกำกับภาษีอิเล้กทรอนิกส์มีอะไรกันบ้างในปี 2567 กันแล้ว ก็มาคุยกันเรื่องประโยชน์ของใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์กันแบบชัดๆ กันต่อเลยดีกว่าค่ะ
สรุป 5 ประโยชน์ของ e-Tax Invoice
เพื่อเน้นย้ำผู้ประกอบการที่กำลังตัดสินใจเปลี่ยนจากจัดทำใบกำกับภาษีแบบกระดาษมาเป็นการออกใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-Tax Invoice ในบทความนี้สรุปมาเป็นทั้งหมด 5 หัวข้อหลักๆ ดังนี้ค่ะ
- ลดต้นทุนที่เกี่ยวกับกระดาษ การใช้งาน e-Tax Invoice ช่วยลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการต่างๆลงไปได้ค่ะ เช่น ค่ากระดาษและค่าหมึกพิมพ์ ที่จำเป็นต้องใช้เมื่อจัดทำใบกำกับภาษีในรูปแบบกระดาษ หมายความว่าทำให้ธุรกิจสามารถประหยัดต้นทุนได้มากขึ้นเยอะเลยหละค่ะ
- ตอบรับสิทธิประโยชน์จากภาครัฐ ผู้ประกอบการที่ออกใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ได้จะได้รับสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมจากรัฐบาล เช่น มาตรการลดหย่อนภาษี อย่างในปี 2567 จะมีนโยบายตามข้างต้นของบนความนั่นเองค่ะ ช่วยส่งเสริมให้ประชาชนเลือกซื้อสินค้าจากกิจการที่ใช้ e-Tax Invoice แน่นอนเลยว่าจะส่งผลให้ยอดขายเพิ่มขึ้น
- นโยบายลดหย่อนภาษี ลูกค้าที่เป็นบุคคลธรรมดาเข้ามาซื้อเพื่อนำไปลดหย่อนภาษี เพราะสามารถนำใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ไปใช้ในการลดหย่อนภาษีตามจำนวนและโครงการกำหนดได้ค่ะ แถมเพิ่มความสะดวกสบายในการยื่นภาษีประจำปีไม่ต้องมานั่งเก็บเอกสารเป็นแผ่นๆแล้วค่ะ
- ป้องกันข้อมูลสูญหาย ระบบ e-Tax Invoice เข้ามาช่วยลดความเสี่ยงจากการจัดเก็บใบกำกับภาษีในรูปแบบกระดาษที่อาจสูญหายหรือเสียหายจากเหตุการณ์ที่คาดไม่ถึง เช่น ภัยธรรมชาติ ทำให้ข้อมูลสามารถจัดเก็บได้อย่างปลอดภัยและเป็นระบบมากขึ้น
- เข้ามาตรวจสอบความถูกต้อง โปร่งใสได้ง่าย เพราะใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมดนั้นถูกเก็บในระบบเซิร์ฟเวอร์ให้อัตโนมัติ ดังนั้นการตรวจสอบความถูกต้องก็เป็นไปได้อย่างสะดวกและรวดเร็วเลยทีเดียว สามารถตรวจสอบย้อนหลังได้ตามต้องการ
สุดท้ายนี้ด้วยความเชื่อว่าผู้ประกอบการหลายๆท่านอาจเป็นคนขี้สงสัย ว่าเอกสารใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ที่ได้รับเป็นใบจริงหรือปลอมกันนะ แถมจะต้องนำไปนี้ไปยืนยันการหักค่าใช้จ่ายเพิ่ม (นิติบุคคล) หรือ ลดหย่อนภาษี (บุคคลธรรมดา) ตามโครงการที่กำหนดกับกรมสรรพากรอีก
ครั้นถ้าหากยืนไปโดยไม่เช็คก่อน ก็คงต้องบอกว่าว้าวุ่นเลยทีนี้ ดังนั้นเวลาได้รับเอกสารลองมาทำตามขั้นตอนง่ายๆ ดังนี้กันนะคะ
วิธีตรวจสอบเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบ TEDA Web Validation
วิธีนี้เป็นการตรวจสอบผ่านเว็บไซต์ของสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ ETDA ซึ่งการตรวจสอบเอกสารมีขั้นตอนดังนี้ค่ะ
1. เข้าไปยังหน้าเว็บ https://validation.teda.th/webportal/v2/#validate
2. จากนั้นเลือกไฟล์ e-Tax ที่ได้รับจากผู้ขายที่ต้องการตรวจสอบ และกดติ๊กว่า I’m not a robot ด้วยนะคะ
3. กดปุ่มตรวจสอบ กรณีที่เอกสารถูกต้องจะแสดง เครื่องหมายติ๊กถูก ✔️ และข้อความ “ผ่าน” และ “น่าเชื่อถือ” ขึ้นมาเลยค่ะ
รวมถึงเมื่อเลื่อนลงมาดูด้านล่างแล้วพบว่า ผลการตรวจสอบโครงสร้างข้อมูล และ ผลการตรวจสอบเงื่อนไขที่กำหนด แบบ “ผ่าน” ทั้งคู่แบบนี้ก็มั่นใจได้แล้วค่ะว่าเป็นเอกสารจริง ไม่ใช่ปลอมแน่นอนค่ะ
เท่ากับว่าในบทความนี้ผู้อ่านจะรู้แล้วว่าโครงการที่กระตุ้นการใช้งานระบบใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ในปี 2567 มีอะไรกันบ้าง นิติบุคคลและบุคคลธรรมดาได้ประโยชน์ทางภาษีแต่ละโครงการเป็นอย่างไร ประโยชน์ของ e-Tax ภาพรวมมีอะไรบ้าง จนถึงขั้นตอนง่ายๆ ที่ทุกท่านสามารถตรวจสอบใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ด้วยตัวเองกันแล้วนะคะ หวังว่าจะได้รับประโยชน์จากบทความนี้กันนะค้า
About Author
ผู้สอบบัญชีรับอนุญาต (CPA Thailand) เจ้าของเพจ “Chalitta Accounting” มีประสบการณ์ตรวจสอบบัญชีบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ และเป็นที่ปรึกษาด้านบัญชีและภาษีแก่ผู้ประกอบการ SMEs
ร่วมสมัครเป็นนักเขียนของ FlowAccount ได้ที่นี่