สูงวัยอย่างมั่นใจ ด้วยสิทธิทางภาษีของวัยเกษียณ

ภาษีวัยเกษียณ

ผู้สูงวัยนั้นมีสิทธิประโยชน์ทางภาษีหลายอย่างด้วย ซึ่งถ้าหากเราเข้าใจ ก็จะสามารถบริหารจัดการใช้สิทธิ์ประโยชน์ทางภาษีได้สูงสุดเลย เรียนรู้เรื่องสิทธิ์ประโยชน์ทางภาษีสำหรับผู้สูงอายุในบทความนี้พร้อมๆ กันดีกว่าค่า

ทุกคนรู้ไหมว่า ในขณะที่ทุกคนกำลังอ่านบทความนี้อยู่ ประเทศไทยได้เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์แล้ว หรือในขณะเดียวกันเราเองก็อาจกำลังเป็นผู้สูงวัยอยู่ก็ได้ (ฮือ…นึกแล้วก็ยิ่งเศร้า)

 

แต่ก็ใช่ว่าการเป็นผู้สูงวัยจะมีแต่เรื่องร้ายๆ เสมอไปค่ะ ทุกคนรู้มั้ยคะว่า ผู้สูงวัยนั้นมีสิทธิประโยชน์ทางภาษีหลายอย่างด้วย ซึ่งถ้าหากเราเข้าใจ ก็จะสามารถบริหารจัดการใช้สิทธิ์ประโยชน์ทางภาษีได้สูงสุดเลยน้า 

 

ในเมื่อวันนี้เราไม่สามารถห้ามกาลเวลาได้ เราลองเปลี่ยนความคิด และเรียนรู้เรื่องสิทธิ์ประโยชน์ทางภาษีสำหรับผู้สูงอายุในบทความนี้พร้อมๆ กันดีกว่าค่า 

 

อายุเท่าไหร่ ถึงเรียกว่าเป็นผู้สูงอายุ 

 

คำถามแรกก่อนเลย การเป็นสังคมผู้สูงอายุ หรือสังคมผู้สูงวัย วัดจากอะไร?

 

กรณีที่เราจะวัดว่า ประเทศใดประเทศหนึ่ง หรือพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง  เป็นสังคมผู้สูงวัยหรือไม่ ก็ต้องดูที่สัดส่วนประชากร กรณีที่สัดส่วนประชากรผู้สูงวัย เกินกว่า 20%  ของประชากรรวม 

 

นั่นก็เท่ากับว่า พื้นที่นั้นได้เข้าสู่สังคมผู้สูงวัยเรียบร้อยแล้ว ยกตัวอย่าง ประเทศญี่ปุ่น หรือประเทศไทยของเรานี่แหละ

 

คำถามต่อมา เท่าไหร่ถึงเรียกว่าเป็นผู้สูงวัย ผู้สูงอายุ?

 

ถ้าวัดตามนิยาม พระราชบัญญัติผู้สูงอายุพ.ศ 2546 (หลายคนอาจจะไม่รู้ ประเทศไทยเรามี พ.ร.บ. ผู้สูงอายุด้วยนะ ฮ่าๆ)

 

ผู้สูงอายุ หมายความว่า บุคคลซึ่งมีอายุ 60 ปีบริบูรณ์ขึ้นไปและมีสัญชาติไทย แม้ว่าหลายท่านจะยังหุ่นปึ๋งปั่ง แถมยังใบหน้าดูอ่อนเยาว์อยู่ก็ตาม แต่ถ้าเกิน 60 ปีขึ้นไป เขาก็นับว่าเป็นผู้สูงอายุแล้วนะ (T T)

 

สิทธิประโยชน์ด้านภาษีของวัยเกษียณ 

 

อย่างที่บอกว่า การเป็นผู้สูงอายุก็ไม่ได้แย่อะไรนัก แถมยังมีสิทธิประโยชน์มากมาย เพื่อช่วยเหลือ สนับสนุนผู้สูงอายุ ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี ลองมาดูกันทีละข้อค่ะว่าสิทธิประโยชน์ด้านภาษีของผู้สูงอายุมีอะไรบ้าง

 

สิทธิประโยชน์ด้านภาษีของวัยเกษียณ

 

1. ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับดอกเบี้ยเงินฝากธนาคาร

 

สิทธิ์: ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารในราชอาณาจักร เฉพาะดอกเบี้ยเงินฝากประจำที่มีระยะเวลาการฝากตั้งแต่หนึ่งปีขึ้นไป ดอกเบี้ยเงินฝากประจำทุกประเภทรวมกันมีจำนวนทั้งสิ้นไม่เกิน 30,000 บาท ตลอดปีภาษี

 

เงื่อนไข: ผู้มีเงินได้ที่ได้รับสิทธิต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 55 ปีบริบูรณ์

 

2. ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 190,000 บาท

 

สิทธิประโยชน์นี้เป็นที่พูดถึงกันอย่างมาก เพราะว่าคนทั่วไปจะไม่มีสิทธิ์ได้รับเลยถ้าไม่สูงอายุพอ (แม้จะอยากได้มากๆ ก็ตาม)

สิทธิ์นี้คือ การได้รับการยกเว้นภาษีบุคคลธรรมดามูลค่า 190,000 บาท

 

เงื่อนไข: เป็นผู้มีเงินได้ ซึ่งอยู่ในประเทศไทย และมีอายุไม่ต่ำกว่า 65 ปีบริบูรณ์ ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ เฉพาะส่วนที่ไม่เกิน 190,000 บาทในปีภาษีนั้น ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร ข้อ 2 (72)

 

บอกได้คำเดียวเลยว่า หวานเจี๊ยบ!! สรรพากรใจดียกเว้นภาษีให้ ตั้ง 190,000 บาท แน่ะ

 

3. จ้างงานผู้สูงอายุ หักรายจ่ายภาษีเงินได้นิติบุคคลได้ 2 เท่า

 

ข้อนี้ เป็นอีกหนึ่งสิทธิประโยชน์ทางภาษี ซึ่งอาจจะไม่ได้รับทางตรง แต่ได้รับในรูปแบบทางอ้อม สำหรับภาษีเงินได้นิติบุคคล

 

เงื่อนไข: กรณีที่บริษัท มีการจ้างงานผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นผู้มีสัญชาติไทย มีอายุ 60 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป ไม่เคยเป็นกรรมการหรือผู้ถือหุ้นของบริษัท

 

บริษัทสามารถนำรายจ่ายจากการจ้างงานผู้สูงอายุ รายที่จ้างไม่เกิน 15,000 บาทต่อเดือน มาใช้สิทธิ์  หักเป็นรายจ่าย 2 เท่าได้ เมื่อปฏิบัติตามพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 639) พ.ศ. 2560  

 

ประโยชน์ของกฎหมายฉบับนี้ ทำให้บริษัททั้งหลายยังอยากจ้างงานผู้สูงอายุ เพราะนอกจากจะมีประสบการณ์ชีวิตสูงแล้ว ในแง่บริษัทเองสามารถนำรายจ่ายนี้ไปใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีได้ 2 เท่าด้วยนะคะ

 

สิทธิประโยชน์ด้านสวัสดิการต่างๆ ของวัยเกษียณ

 

นอกจากสิทธิประโยชน์ทางภาษีแล้ว ยังมีสิทธิประโยชน์อื่นๆ ที่ผู้สูงอายุจะได้รับอีกมากมาย ลองมาดูตัวอย่างสิทธิ์ประโยชน์ ตามมาตรา 11 แห่งพระราชบัญญัติผู้สูงอายุ พ.ศ. 2546 ที่ผู้สูงอายุจะได้รับ เช่น

  1. เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ซึ่งได้รับเป็นรายเดือนตามขั้นบันได 600 - 1,000 บาท ต่อเดือน 
  2. ลดอัตราค่าโดยสารแก่ผู้สูงอายุ ยกตัวอย่างเช่น รถไฟฟ้าใต้ดิน รถไฟ เรือ เครื่องบิน รถทัวร์ (บขส.) เป็นต้น
  3. ลดหย่อนภาษีให้กับบุตร ที่เลี้ยงดูบิดามารดาจำนวน 30,000 บาท ต่อผู้สูงอายุ 1 คน
  4. ปรับสภาพที่อยู่อาศัย ซ่อมแซมบ้าน ในอัตราเหมาจ่าย  22,500 บาท หรือ 40,000 บาท
  5. กู้ยืมเงินทุนประกอบอาชีพ รายบุคคลไม่เกิน 30,000 บาท รายกลุ่มไม่เกิน 5 คน กลุ่มละไม่เกิน 100,000 บาท (ผ่อนชำระไม่คิดดอกเบี้ย ภายใน 3 ปี)
  6. สิ่งอำนวยความสะดวกสาธารณะ ยกตัวอย่างเช่น บางสถานที่ ต้องจัดให้มีที่จอดรถพิเศษ ห้องน้ำพิเศษ ลิฟท์พิเศษ เป็นต้น
  7. สิทธิทางอาชีพ ในการขอคำปรึกษา สมัครงาน อบรมฝึกอาชีพสำหรับผู้สูงอายุ
  8. สิทธิทางการศึกษานอกระบบ รายการศึกษาตามอัธยาศัย
  9. สิทธิทางการแพทย์ เช่น จัดให้มีช่องทางพิเศษสำหรับผู้สูงอายุ
  10. สิทธิการช่วยเหลือทางกฎหมาย บริการให้คำปรึกษาทางคดี และปัญหาครอบครัวผู้สูงอายุ
  11. สิทธิการยกเว้นค่าเข้าชมสถานที่ของรัฐ เช่น พิพิธภัณฑ์สถานแห่ง อุทยานแห่งชาติ เป็นต้น
  12. สิทธิ์การมีส่วนร่วมกิจกรรมในสังคม เช่น กิจกรรมท่องเที่ยว กิจกรรมนันทนาการ และกิจกรรมกีฬา เป็นต้น
  13. สิทธิ์การสงเคราะห์ช่วยเหลือ ตัวอย่างเช่น ผู้สูงอายุที่ประสบปัญหาที่พักอาศัย หรือเงินสงเคราะห์ ค่าทำศพเป็นต้น

 

กรณีออกจากงานเมื่อเกษียณอายุ สิทธิพิเศษด้านกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ / กบข. 

 

เนื่องจากผู้สูงอายุบางท่าน มีการสะสมเงินผ่านทางกองทุนสำรองเลี้ยงชีพกับบริษัทเอกชน หรือใครที่เป็นข้าราชการ ก็สะสมผ่านกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.)

 

ภาษีวัยเกษียณ

 

ผู้สูงอายุที่มีการสะสมเงินผ่านทางกองทุนสำรองเลี้ยงชีพกับบริษัทเอกชน หรือ ใครที่เป็นข้าราชการ ก็สะสมผ่านกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) เมื่อเกษียณอายุ เงินที่ได้รับจะได้รับสิทธิประโยชน์ การยกเว้นภาษีที่มีเงื่อนไขดังนี้” แน่นอนว่าเมื่อเราเกษียณอายุ เงินที่เราได้รับ ก็จะได้รับสิทธิประโยชน์ การยกเว้นภาษีด้วย โดยมีเงื่อนไขดังนี้

 

1) กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

 

กรณีได้รับยกเว้นภาษี การรับเงินเกษียณจากกองทุนสำรองเลี้ยง ต้องอายุครบ 55 ปี และเป็นสมาชิกต่อเนื่องไม่ต่ำกว่า 5 ปี ไม่เช่นนั้นแล้ว เงินเกษียณที่เราได้รับ ต้องนำไปคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมประจำปี

 

อย่างไรก็ตาม หากเรามีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพอยู่ แต่ยังไม่ถึงเงื่อนไขที่กำหนด เราสามารถเก็บไว้ได้ยังไม่ถอนคืน จนกว่าเราจะถือเงินกองทุนนั้น ครบตามกำหนดอายุ แล้วค่อยถอนคืนแบบปลอดภาษีได้จ้า

 

2) กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ

 

กรณีที่ใครเป็นข้าราชการ และกำลังจะได้รับเงินเกษียณผ่าน กบข. เงื่อนไขจะไม่เยอะเท่ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และจะได้รับยกเว้นภาษีง่ายกว่า

 

กรณีที่เราเกษียณอายุราชการ หรือกรณีที่เราออกจากราชการ และมีอายุเกิน 50 ปี ขึ้นไป เราจะได้รับยกเว้นภาษี ไม่ต้องนำเงินที่ได้รับจาก กบข. รวมคำนวณเป็นเงินบุคคลได้ประจำปีจ้า

 

ภาษีวัยเกษียณ

 

 

สรุป

 

สำหรับใครที่กำลังกังวลใจว่าเข้าสู่วัยเกษียณจะวางแผนชีวิตอย่างไร หรือว่ามีสวัสดิการอะไรไว้รองรับบ้าง สำหรับบทความนี้น่าจะมีคำตอบสำหรับทุกท่านนะคะ แม้ว่าเราจะไม่สามารถห้ามกาลเวลาได้ แต่อย่างน้อยการทำความเข้าใจเรื่องสิทธิ์ประโยชน์ของผู้สูงอายุไว้ก็อาจทำให้เราเตรียมตัวเตรียมใจรับกับความสูงวัยได้ทัน เพื่อให้แก่ไปมีสุขภาพใจ และคุณภาพชีวิตที่ดีไม่ต่างจากวัยทำงานนะคะ 

 

อ้างอิง 

ยกเว้นดอกเบี้ย https://www.rd.go.th/22671.html

ยกเว้นภาษี 190,000 ข้อ 2 (72) https://www.rd.go.th/2502.html

บริษัทหักรายจ่ายสองเท่า จ้างงานผู้สูงอายุ https://www.rd.go.th/fileadmin/user_upload/SMEs/infographic/info_63_001.pdf

สิทธิประโยชน์อื่น กรมกิจการผู้สูงอายุ https://www.dop.go.th/th/benefits/3/835

พรบ. ผู้สูงอายุ https://www.dop.go.th/download/laws/th1616728272-832_0.pdf

สิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษี กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ https://www.sec.or.th/TH/Template3/Articles/2566/211266.pdf

About Author

ลองใช้งานFlowAccount ฟรี 30 วันได้ง่ายๆ วันนี้
ลองใช้งานฟรีได้ง่ายๆ วันนี้
สมัครเลย